CBDC เงินดิจิทัลของจีนที่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและเตรียมพร้อมรับมือให้ดี
09.05.2020
ธนาคารกลางจีนประกาศแผนการออกเงินสกุลดิจิทัลที่กำกับโดยธนาคารกลาง
หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ในเร็ววันนี้ โดย CBDC ของจีนจะเป็น Retail CBDC ที่ให้ประชากรจีนทั่วไปใช้แทนเงินสด
และมีเงินหยวนรองรับในอัตรา 1:1 ซึ่งจะมีธนาคารกลางผลิตและจำหน่ายหน่วยเงินดิจิทัลให้แก่ธนาคารพาณิชย์และผู้เล่นสำคัญอื่นในระบบการเงินดิจิทัลของจีน
เพื่อให้ธนาคารและผู้เล่นอื่นเหล่านั้น
สามารถให้บริการฝากถอนเงินในรูปแบบเงินดิจิทัลแก่ประชาชนทั่วไปได้
แม้ CBDC ได้ชื่อว่าเป็นเงินดิจิทัล อาจทำให้ดูเหมือนอาจมีความคล้ายคลึงกับ Bitcoin หรือคริปโตเคอร์เรนซีรายอื่น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า CBDC นั้น แตกต่างจากเหรียญเหล่านั้นในมิติสำคัญสองประการ
ประการแรก การทำธุรกรรมด้วย CBDC น่าจะไม่ได้ใช้ Blockchain เป็นตัวรองรับทั้งหมด
เนื่องจากการที่ทางการจีนมีแผนใช้ระบบรองรับ ซึ่งสามารถรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมากได้ดีกว่า Blockchain ทั่วไป เช่น ในกรณี Blockchain ที่ถูกใช้รองรับ Bitcoin เป็นต้น แต่ได้มีการตั้งเป้าไว้ว่า ระบบรองรับ CBDC จะต้องรองรับปริมาณธุรกรรมได้ถึง 300,000 ธุรกรรมต่อวินาที
ประการที่สอง การบริหารอุปทานของ CBDC ไม่ได้มีการกระจายศูนย์ แต่ถูกผลิตและบริหารโดยธนาคารกลางจีนแต่โดยผู้เดียว อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความได้เปรียบของระบบบริหารสองชั้นคือ ทางการจีนจะสามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชากรทั่วไปได้
สาเหตุที่ทางการจีนต้องลุกขึ้นมาออก CBDC มีแรงจูงใจอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรก ทางการจีนพยายามจะให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก เป็นหนึ่งในแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจจีนมานานแล้ว แต่การที่ Facebook มีแผนการจะออกคริปโตเคอร์เรนซี Libra เมื่อต้นปี 2563 ก็คงเป็นหนึ่งแรงผลักดันให้ทางการจีนเร่งพัฒนาเงินดิจิทัลของตนให้มีความแพร่หลาย
เพราะหากทางการจีนสามารถส่งเสริมให้มีการใช้ระบบ CBDC อย่างแพร่หลายภายในประเทศ รวมถึงโดยผู้ประกอบการจีนด้วย นี่ก็จะเป็นก้าวแรกที่สาคัญในการให้ผู้ประกอบการต่างชาติเปิดให้บริการทางธุรกรรมผ่าน CBDC ซึ่งจะทำให้เงินหยวนถูกใช้อย่างแพร่หลายขึ้นทั่วโลก
ด้านประเด็นที่สอง ณ ปัจจุบัน สาธารณรัฐประชาชนจีนประสบปัญหาจากการฟอกเงินในระดับหนึ่ง โดยมีการประเมินว่าได้มีเม็ดเงินรวมมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐถูกลักลอบนำออกจากประเทศจีนในช่วง 18 เดือนจาก ปี 2558-2559
การใช้เงินดิจิทัลที่มีทางการเป็นผู้ดูแลแทนที่เงินสด ก็เป็นหนึ่งวิธีช่วยจัดการกับประเด็นดังกล่าว แต่สิ่งสำคัญคือ การที่ทางการจีนจะใช้ CBDC จำกัดช่องทางการฟอกเงินได้นั้น CBDC ต้องมีการใช้อย่างแพร่หลายแทนที่เงินสด และแอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เงินดิจิทัล CBDC จากธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มจะได้รับการยอมรับสูงโดยผู้บริโภคและผู้ประกอบการจีน และถูกใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากทางการจีนได้เตรียมการรับมือประเด็นทางเทคโนโลยีและการกระจายเงินไว้อย่างดี บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เอื้ออำนวยต่อการใช้เงินดิจิทัล
สำหรับผู้ประกอบการ นี่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะเมื่อเทียบกับช่องทางการทำธุรกรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน (CIPS) การทำธุรกรรมระหว่างประเทศผ่านระบบ CBDC ซึ่งใช้ระบบกลางที่บริหารโดยธนาคารกลาง และเข้าถึงได้โดยธนาคารพาณิชย์ทุกราย มีความได้เปรียบในด้านความเร็วและต้นทุน ซึ่งจุดนี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการจีนพยายามเปิดช่องทางธุรกรรมผ่าน CBDC กับคู่ค้าต่างชาติ และช่วยส่งเสริมให้เงินหยวนถูกใช้อย่างแพร่หลายขึ้นทั่วโลก
มีรายงานข่าวว่า ธนาคารกลางจีนมีแผนจะส่งเสริมการใช้ CBDC ด้วยการให้ธนาคารหลักในประเทศ 4 ราย และ 2 ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซคือ Alibaba และ Tencent รวมถึงยักษ์ใหญ่ธุรกิจธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิส์ UnionPay10 แลก CBDC กับธนาคารกลางจีนอีกด้วย และให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นกระจาย CBDC ผ่านการให้บริการถอนฝากแก่ผู้บริโภคและร้านค้าทั่วไป ซึ่งการที่ทางการจีนได้รับความร่วมมือจากผู้เล่นสำคัญที่ต่างมีฐานผู้ใช้ระบบธุรกรรมจำนวนมาก จะเพิ่มโอกาสที่ CBDC จะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย
ดังนั้นผู้ประกอบการไทยหรือผู้มีธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ควรศึกษาและเตรียมพร้อมรับมือและรองรับให้ดี
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
https://thestandard.co/cbdc-chinese-digital-money/
ขอบคุณแหล่งข้อมูล