วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Teach less Learn More ตอน 3 : การออกแบบการเรียนรู้โดยใช้แนวคิด "สอนน้อยเรียนมาก"

การออกแบบการเรียนรู้
โดยใช้แนวคิด “สอนน้อย เรียนมาก”
Teach Less, Learn More



การออกแบบหน่วยการเรียนรู้แบบย้อนกลับ (Backward  Design)
ความหมาย
        หน่วยการเรียนรู้แบบย้อนกลับ (Backward Design) หมายถึงการออกแบบหน่วยการเรียนรู้จากหลังมาหน้าซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนขึ้นมาก่อนแล้วจึงกำหนดภาระงาน (Tasks) และวิธีการประเมิน หรือหลักฐานผลการเรียนแล้วนำมาเขียนแผนจัดประสบการณ์การเรียนรู้    ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้และวัดประเมินผลได้สอดคล้องกับเป้าหมายและมาตรฐาน    การเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
          การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามแนวการออกแบบหน่วยการเรียนรู้แบบย้อนกลับนิยมใช้กับหลักสูตรแบบอิงมาตรฐานและการออกแบบหน่วยการเรียนรู้นี้มีไว้เพื่อส่งเสริมการทำหน่วยการเรียนรู้เชิงบูรณาการ      โดยคำนึงถึงภาพรวมมากกว่าการสอนบทเรียนแต่ละบทเป็นเอกเทศ
          การสร้างหน่วยการเรียนรู้ อาจเริ่มจากการตั้งชื่อหน่วย กำหนดระดับชั้น เวลาและกำหนดความคิดรวบยอด (Concept) อาจมาจากแก่นเรื่อง (Theme) ประเด็นปัญหา (Issue)   แนวคิดหลัก (Core Concept)  ทฤษฎี  (theory) หรือหลักการ (principle)  ที่เป็นเพลาขับเคลื่อน  องค์ความรู้ ซึ่งเมื่อได้ความคิดรวมยอดให้วิเคราะห์ว่าฝังอยู่ในมาตรฐานใดบ้าง หลังจากนั้นจึงนำมาทำเป็นตัวบ่งชี้(Performance indicator) โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าผู้เรียนต้องรู้อะไร สามารถทำอะไรได้ในบริบทใด หรืออาจจะเริ่มจากการกำหนดมาตรฐานแล้วจึงวิเคราะห์เพื่อกำหนดความคิดรวบยอดและทักษะที่ฝังอยู่ในมาตรฐานนั้น นอกจากนี้แล้วครูผู้สอนสามารถนำเรื่องที่ผู้เรียนสนใจมาสร้างเป็นหน่วยการเรียนรู้ แต่ต้องคำนึงว่าเรื่องนั้นมีคุณค่าต่อผู้เรียนและสังคม ประกอบด้วยความคิดรวบยอดของสาขาวิชา และสามารถนำความคิดรวบยอด มากำหนดภาระงานที่มองเห็นเป็นรูปธรรมและท้าทายความรู้ความสามารถของผู้เรียน

          กระบวนการสร้างหน่วยการเรียนรู้แบบย้อนกลับ  มีขั้นตอนดังนี้
          1.  กำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอน ประกอบด้วย 4 ลักษณะ
                   1.1  ความเข้าใจที่คงทน  (Enduring understandings)                
1.2  ความรู้และทักษะเฉพาะวิชา  (Subject specific standards)
                   1.3  ความรู้และทักษะคร่อมวิชา  (Trans-disciplinary skill standards)
                   1.4 จิตพิสัย  (Disposition standards) หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์

2.  หลักฐานผลการเรียน นำเป้าหมายการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ คือ ความเข้าใจที่คงทน    จิตพิสัย ความรู้และทักษะเฉพาะวิชา ทักษะคร่อมวิชามากำหนดเป็นภาระงาน (Tasks)  และวิธีการประเมิน   
          3.  แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับภาระงานและวิธีการประเมินที่กำหนดไว้ กำหนดทรัพยากรหรือสื่อ และ แบ่งเวลาให้เหมาะสมกับแต่ละกิจกรรมแล้วนำกิจกรรมที่กำหนดไว้มาเรียงลำดับก่อนหลัง เพื่อนำไปจัดกระบวนการเรียนรู้ต่อไป
  
การออกแบบหน่วยการเรียนแบบ Backward design
หลักการของ  Backward  Design

กระบวนการออกแบบแบบย้อนกลับ (Backward  Design) ของ Wiggins และ McTighc เริ่มจากคิด   ทุกอย่างให้จบสิ้นสุด จากนั้นจึงเริ่มต้นจากปลายทางที่ผลผลิตที่ต้องการ (เป้าหมายหรือมาตรฐานการเรียนรู้) สิ่งนี้ได้มาจากหลักสูตร เป็นหลักฐานพยานแห่งการเรียนรู้  (Performances) ซึ่งเรียกว่า มาตรฐานการเรียนรู้ แล้วจึงวางแผนการเรียนการสอนในสิ่งที่จำเป็นให้กับนักเรียนเพื่อเป็นเครื่อง มือที่นำไปสู่การสร้างผลงานหลักฐานแห่งการเรียนรู้นั้นได้
กระบวนการออกแบบการสอนของครูเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1   การกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์               
ขั้นตอนที่ 2   การกำหนดหลักฐานที่แสดงว่าผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์
ขั้นตอนที่  3   การวางแผนประสบการณ์การเรียนรู้และการสอน

แต่ละขั้นตอนประกอบด้วยคำถามที่ว่า
ขั้นตอนที่  1  อะไรคือความเข้าใจที่ต้องการและมีคุณค่า
ขั้นตอนที่  2  อะไรคือพยานหลักฐานของความเข้าใจ
ขั้นตอนที่ 3 ประสบการณ์การเรียนรู้และการสอนอะไรที่จะสนับสนุนทำให้เกิดความเข้าใจ  ความสนใจ และความยอดเยี่ยมในหลักฐานนั้นๆ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ.กรุงเทพฯ : เอกสารประกอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2544  คู่มือการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ. โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์. 2544 
เฉลิม  ฟักอ่อน. เอกสารประกอบการประชุมปฏิบัติการออกแบบการสอนตามแนว Backward
Design. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1.อัดสำเนา. 2550.
เพ็ญนี  หล่อวัฒนพงษา. เอกสารประกอบการประชุมปฏิบัติการออกแบบการสอนตามแนว
Backward Design.
สำนักงานพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. อัดสำเนา.2550

วันที่ 24 เมษายน 2556



Teach less Learn More ตอน 2 : ทักษะครูไทยในศตวรรษที่ 21



6  ปัญหาสำคัญของครูไทย

      ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ นักวิชาการยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กล่าวว่า  เนื่องในวันครูแห่งชาติ ปี 2556  สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ได้สำรวจความเห็นของครูสอนดี  จำนวน 210 คน  โดยกลุ่มตัวอย่างกระจายใน 4 ภูมิภาคของประเทศ  เพื่อสอบถามถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคของการทำหน้าที่ครูและแนวทางการส่งเสริมครูให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งพบ  6  ปัญหาสำคัญที่กลายเป็นอุปสรรคของการทำหน้าที่ครู ประกอบด้วย 

     1)   ภาระหนักนอกเหนือจากการสอน  22.93% 

     2)   จำนวนครูไม่เพียงพอ สอนไม่ตรงกับวุฒิ  18.57% 

     3)   ขาดทักษะด้านไอซีที  16.8% 

     4)   ครูรุ่นใหม่ขาดจิตวิญญาณ  ขณะที่ครูรุ่นเก่าไม่ปรับตัว  16.49% 

     5)   ครูสอนหนัก ส่งผลให้เด็กเรียนมากขึ้น  14.33% 

     6)   ขาดอิสระในการจัดการเรียนการสอน  10.88% 

     ดร.รุ่งนภา กล่าวว่า  สำหรับปัจจัยส่งเสริมการทำหน้าที่ของครูให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น  พบว่า

  • การอบรม แลกเปลี่ยน และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้  19.32%

  • การพัฒนาตนเองในเรื่องไอซีที  19%,

  • การเพิ่มฝ่ายธุรการ  18.01%

  • ปรับการประเมินวิทยฐานะ  17.12%

  • การลดชั่วโมงการเรียนการสอนของครูและการเรียนของเด็ก 13.42%

  • การปลดล็อคโรงเรียนขนาดเล็ก  13.13%


         จะเห็นได้ว่า  ปัจจัยฉุดรั้งการทำงานของครูไทย  มีทั้งปัจจัยที่มาจากครูผู้สอน และปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบ   อย่างไรก็ตาม   ปัจจัยส่งเสริมที่ครูต้องการ  พบว่า   39% เป็นปัจจัยเพื่อการพัฒนากระบวนการสอน เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  จึงสะท้อนให้ถึงจิตวิญญาณของความเป็นครู


    

 นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่า การสอนของครูในปัจจุบันพบว่า ครูเกือบ 100% ยังถ่ายทอดความรู้แบบสอนวิชา ส่งผลให้เด็กมีคุณสมบัติที่น่ากลัวที่สุด คือ ขาดภาวะผู้นำ เด็กจะมีทักษะความเป็นผู้นำได้ก็ต่อเมื่อมีความมั่นใจในตัวเอง มีความคิดเป็นของตัวเอง วิธีการเรียนรู้ของเด็กในยุคใหม่จึงต้องเรียนโดยลงมือทำ ฝึกให้ปฏิบัติจริงและมีการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น แต่ไม่ควรปล่อยให้เด็กเรียนเอง ครูต้องออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็ก  สามารถประเมินลูกศิษย์แต่ละคนได้ว่ามีพื้นความรู้เพียงใด เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน และประเมินความก้าวหน้าของเด็กแต่ละกลุ่มเป็น


     ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงบทบาทครูไทยยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ว่า ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้เป็นผู้อำนวยความรู้ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงทักษะของเด็กในศตวรรษที่ 21 แต่ยังไม่มีคู่มือประกอบแนวทางการพัฒนาทักษะครูให้พร้อมต่อการเรียนการสอนในยุคสมัยใหม่ ครูไทยจำนวนมากจึงเหมือนถูกปล่อยอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก


แนวทางในการพัฒนาทักษะครูไทยในศตวรรษที่ 21 

ประกอบด้วยทักษะ 7 ด้าน ได้แก่ 


     1.ทักษะในการตั้งคำถาม เพื่อช่วยให้ศิษย์กำหนดรู้เป้าหมายและคิดได้ด้วยตนเอง

     2.ทักษะที่สอนให้เด็กหาความรู้ได้ด้วยตัวเองและด้วยการลงมือปฏิบัติ

     3.ทักษะในการคัดเลือกความรู้ ตามสภาพแวดล้อมจริง

     4.ทักษะในการสร้างความรู้ ใช้เกณฑ์การทดสอบและตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อทำ

       ให้ศิษย์เกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้ง

     5.ทักษะให้ศิษย์คิดเป็น หรือตกผลึกทางความคิด

     6.ทักษะในการประยุกต์ใช้ 

     7.ทักษะในการประเมินผล

ซึ่งครูยุคใหม่จำเป็นต้องมีทักษะทั้ง 7  ด้านในการเป็นผู้อำนวยความรู้ให้เด็กแทนที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เหมือนก่อน


ขอบคุณข้อมูล จาก