วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สรุปเรื่อง "หยวนดิจิทัล" แบบเข้าใจง่ายๆ

สรุปเรื่อง "หยวนดิจิทัล" แบบเข้าใจง่ายๆ พฤษภาคม 22, 2020
ตั้งแต่จีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจในยุค เติ้ง เสี่ยวผิง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ทำให้เศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมจีนขยายตัวเรื่อยมา จนขึ้นชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก
ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น และเติบโตแข็งแกร่ง ทำให้เงินสกุลหยวนของจีนมีความสำคัญมากขึ้น จนในปี 2015 IMF ได้รับรองให้หยวนเป็นสกุลเงินที่ 5 ที่ได้บรรจุในตะกร้า SDRs หรือตะกร้าเงินสำรองระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน จีนในยุค สี จิ้นผิง มีวิสัยทัศน์พาจีนก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและก้าวเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกับเงินหยวนอีกครั้ง ด้วยการพยายามเปลี่ยนให้เงินหยวนเป็นเงินดิจิทัลสกุลแรกของโลก
หยวนดิจิทัล” มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ
หยวนดิจิทัล ถูกพัฒนาโดยกลุ่มวิจัย Digital Currency Research Institute ที่ร่วมกันก่อตั้งโดยรัฐบาลและเอกชนในปี 2017
หยวนดิจิทัลมีลักษณะเป็น Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกและควบคุมโดยธนาคารกลาง
หยวนดิจิทัลเป็นรูปแบบ Stable Coin คือมูลค่าจะถูกหนุนหลังด้วยเงินหยวนในอัตราส่วน 1:1 หมายความว่าทุกการออกเงิน 100 หยวนดิจิทัล จะต้องมี 100 หยวนเก็บไว้ในบัญชีธนาคารกลางของจีนเสมอ
กระเป๋าที่ใช้เก็บหยวนดิจิทัล คือแอปพลิเคชันที่ต้องดาวน์โหลดลงมือถือของแต่ละคนโดยไม่ต้องผูกกระเป๋ากับบัญชีธนาคาร ซึ่งต่างจากแอปพลิเคชันในการจ่ายเงินอื่นในจีน เช่น WeChat หรือ Alipay ที่ต้องผูกกับบัญชีธนาคาร
หรือพูดให้เข้าใจง่าย คือการย้ายกระเป๋าเงินจากโลกปัจจุบันไปไว้ในโลกออนไลน์แทน
จุดเด่นอีกเรื่องที่สำคัญคือ การรับ-จ่ายเงินแบบออฟไลน์ ในขณะที่มือถือไม่ได้เชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ต ระบบจะใช้เทคโนโลยี Near Field Communication (NFC) ในการจับคู่อุปกรณ์และรับส่งข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นในขณะออฟไลน์ คล้ายกับการแตะบัตรจ่ายเงินตาม BTS หรือศูนย์อาหาร และส่งข้อมูลเข้าระบบอีกครั้งในภายหลังเมื่ออุปกรณ์มีสถานะออนไลน์
การควบคุมปริมาณเงิน และตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติเป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารกลางของจีน (PBOC) โดยการนำเงินหยวนดิจิทัลเข้าระบบจะเริ่มส่งกระจายผ่านธนาคารพาณิชย์หลัก 4 แห่ง คือ ICBC, CCB, ABC และ BOC ที่จะมีแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลด e-wallet ส่วนภาคเอกชนอย่าง WeChat หรือ Alipay ก็มีช่องทางการใช้หยวนดิจิทัลในแอปพลิเคชันของตัวเอง
ระบบที่ดูแลเชื่อมต่อธุรกรรมทางการเงินเป็นเทคโนโลยี Blockchain ที่อาจใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้การกำกับดูแลของธนาคารกลางมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของสกุลเงินดิจิทัลอื่นที่เน้นการใช้ Blockchain เพียงอย่างเดียวเพื่อลดการแทรกแซงจากองค์กรต่างๆ เช่น รัฐบาล หรือธนาคารกลาง
หยวนดิจิทัลอยู่ในช่วงการทดสอบใน 4 เขตพื้นที่พิเศษ คือ ซูโจว เซินเจิ้น สงอัน และ เฉิงตู โดยมีการทดลองจ่ายเงินเดือนข้าราชการ พนักงานบริษัทบางส่วนเป็นหยวนดิจิทัล และให้ประชาชนนำไปใช้จ่ายตามร้านค้าที่เข้าร่วมการทดสอบในพื้นที่ เช่น McDonald, Subway, Starbucks
โดยภาพรวม จีนไม่ได้พยายามสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมา แต่เป็นการพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินใหม่ที่รัฐบาลตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ง่ายขึ้นในโลกดิจิทัล
และด้วยการระบาดของ Covid-19 ในปัจจุบัน คนกังวลเรื่องการใช้ธนบัตรหรือการสัมผัสกันทางอ้อมมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมผลักดันให้คนเริ่มใช้หยวนดิจิทัลได้ง่ายขึ้น
ท่ามกลางความสนใจของธนาคารกลางหลายประเทศที่กำลังศึกษาวิจัยสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงภาคเอกชนอย่างเช่น สกุล Libra ของ Facebook ที่กำลังเดินหน้าในเรื่องนี้ ยิ่งน่าสนใจว่าหยวนดิจิทัลจะสามารถประกาศใช้อย่างเป็นทางการทั่วประเทศได้เมื่อใด
ต้องติดตามกันต่อไปว่า หยวนดิจิทัลจะเป็นที่แพร่หลายและแผ่อำนาจไปตามยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ของจีนที่เน้นการลงทุนตามเส้นทางสายไหมในประเทศตั้งแต่โลกตะวันออกทอดยาวไปตะวันตกได้มากแค่ไหน
แต่ที่แน่ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้
กระเป๋าสตางค์อาจไม่จำเป็นแล้วสำหรับคนจีนก็เป็นได้..