วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560

เปิดพื้นที่นำร่องจัดหลักสูตรฯ เอื้อเด็กต่างด้าวได้เรียนต่อเนื่อง





เปิดพื้นที่นำร่องโรงเรียนเชื่อมการศึกษาแม่สอด-พม่า
สถิติลูกหลานแรงงานข้ามชาติในไทยสูงถึง 3 แสนคน
หนุนภาครัฐไทย-พม่าร่วมมือขยายช่องทาง
จัดหลักสูตรฯ เอื้อเด็กต่างด้าวได้เรียนต่อเนื่อง
************************************
      เมื่อเร็วๆนี้ที่วัฒนาวิลเลจ แม่สอด น.ส.ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว ผู้จัดการชุดโครงการพัฒนาแนวทางและรูปแบบการจัดการศึกษาทีเหมาะสมกับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและแรงงานข้ามชาติ(ศสร.) มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท กล่าวในการประชุม “สรุปบทเรียนและก้าวต่อไปจากการเชื่อมโยงการศึกษาแม่สอด – เมียวดี”ว่า ประเทศไทยมีลูกหลานของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชากว่า 300,000 คน ซึ่งประเทศไทยได้ให้การดูแลด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานเทียบเท่ากับเด็กไทย แต่เด็กเหล่านี้ยังประสบปัญหาในการกลับไปเข้าเรียนต่อเนื่องในประเทศของตนเอง
มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบทจึงร่วมพัฒนาและสนับสนุนการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการตามพื้นที่ โดยร่วมกับมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน และองค์การยูนิเซฟเมียนมาร์, Myanmar Literacy Resource Centre (MLRC), ศูนย์การศึกษานอกระบบระดับประถมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเมียนมาร์ และเขตการศึกษาเมียวดี จัดการศึกษาที่เชื่อมโยงระหว่างกัน 
โดยนำหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับประถมศึกษาของประเทศเมียนมาร์มาจัดการศึกษาในศูนย์การเรียน( Migrant Learning Center) นำร่องในอ.แม่สอด จ.ตาก 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การเรียนปารมี อายอนอู และตู้คะหั่นส่า ขณะเดียวกันเด็กจะลงทะเบียนเรียนไว้กับโรงเรียน 2 แห่งในเมียวดีด้วย คือ โรงเรียนอาทาก้าแควและโรงเรียนอารากูติ 
"เด็กจะได้รับวุฒิการศึกษาของเมียนมาร์และสามารถนำกลับไปเข้าเรียนต่อเนื่องในเมียนมาร์ได้ โดยในปีการศึกษา 2557 เป็นปีการศึกษาแรกมีเด็กที่จบการศึกษาตามหลักสูตรจำนวน 70 คน และดำเนินการต่อเนื่องในปีการศึกษา 2558 มีเด็กนักเรียนจำนวน 115 คน" ผจก.ชุดโครงการฯ กล่าว
ด้านนายอนันต์ ระงับทุกข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ภาพรวมของการจัดการศึกษาบริเวณชายแดน หรือรอยตะเข็บพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย รัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการมีภารกิจหน้าที่ในการจัดการศึกษาของประเทศได้พยายามส่งเสริมและเอื้อประโยชน์ที่จะจัดการศึกษาให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม รวมทั้งเด็กต่างด้าวทั้งที่เกิดและไม่ได้เกิดในประเทศไทยให้มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงกัน ซึ่งการเอื้ออำนวยทางการศึกษานี้จะกระทำได้เท่าที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และไม่ขัดต่อระเบียบและกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่มีอยู่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความร่วมมือระหว่างศูนย์การเรียนกับ การศึกษานอกระบบเมียนมาร์ ซึ่งก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถเชื่อมโยงกันได้ หากเมียนมาร์ต้องการสนับสนุนต่อเนื่องหรือขยายผลประเทศไทยให้การสนับสนุนได้หากไม่ขัดต่อระเบียบและกฎเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งยังต้องหารือวางแผนร่วมกันในระยะยาวต่อไป
ดร.ทิน โยว Vice Chairman Myanmar Literacy Resource Center กล่าวว่า การศึกษานอกระบบระดับประถมศึกษา ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลเมียนมาร์ และยูนิเซฟ ปัจจุบันโครงการสำหรับการศึกษานอกระบบนี้ได้กระจายอยู่ทั่วเมียนมาร์เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึง ซึ่งจะมีการจัดทำแผนขยายผลทุก 2 ปี สำหรับกรณีแม่สอด เมียวดี รัฐบาลที่เข้ามาสนับสนุนคือรัฐบาลของรัฐกะเหรี่ยง พบว่ามีการพัฒนาเป็นไปในทางที่ดี แต่ยังไม่สามารถขยายไปได้ทั่วถึง อย่างไรก็ดีจะนำรายงานจากการประชุมครั้งนี้ร่วมพิจารณาให้รัฐกะเหรี่ยงหันมาให้ความสนใจมากขึ้น ในอนาคตกระทรวงศึกษาธิการเมียนมาร์จะเน้นการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับต่อไป .
************************** 
https://www.isranews.org/community/comm-news/comm-education-health/43113-myanmar_43113.html