วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ร่วมมือปฏิรูปการศึกษา: จะทำอะไร ? อย่างไร ?




ร่วมมือปฏิรูปการศึกษา: จะทำอะไร-อย่างไร

ข้อเสนอจากเวทีเสวนา “พลังเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
 พิทักษ์ โสตถยาคม

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้จัดประชุมเสวนา “พลังเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.00-14.00 น. มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ (1) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการและผลการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาขององค์กรภาครัฐ และ(2) เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวทางการประสานความร่วมมือและรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายที่มุ่งหวังร่วมกัน การประชุมนี้มีประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์) เป็นประธานการเสวนา ผู้ร่วมประชุมมาจาก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กพฐ. ได้แก่ นายวินัย รอดจ่าย นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายปราโมทย์ แก้วสุข (2) ผู้บริหารองค์กรเครือข่าย ได้แก่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร นพ.สุภกร บัวสาย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ และ(3) ผู้บริหารระดับสูง สพฐ./ ผู้แทนสำนัก ได้แก่ น.ส.วีณา อัครธรรม ดร.เกษม สดงาม นายโสภณ โสมดี นางสุกัญญา งามบรรจง น.ส.พจนีย์ เจนพนัส นางภาวนี ธำรงเลิศฤทธิ์ ดร.ชวลิต โพธิ์นคร ดร.พีระ รัตนวิจิตร นายไกร เกษทัน นายสมยศ ศิริบรรณ นางพวงมณี ชัยเสรี นายสมควร วรสันต์ ดร.พิธาน พื้นทอง นางกมลจิตร ดวงศรี นางนุจวดี เจริญเกียรติบวร ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข นายสังคม จันทร์วิเศษ ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ น.ส.ดุจดาว ทิพย์มาตย์ นางสุดจิตร์ ไทรนิ่มนวล นายพิทักษ์ โสตถยาคม นายคู่บุญ ศกุนตนาค นางศรีนวล วรสรรพการ นายปราโมทย์ ขจรภัย นายวสันต์ สุทธาวาศ น.ส.ยมนา พินิจ น.ส.วรนุช รุ่งเรืองเจริญกุล นางรัชทิตา เชยกลิ่น น.ส.จันทิรา ทวีพลายนต์ และน.ส.จุฑารัตน์ ก๋องคำ


         
 ผู้บริหารองค์กรเครือข่าย ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)  ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้นำเสนอกระบวนการและผลการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา จากนั้นผู้บริหารองค์กรเครือข่ายและผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อเสนอเพื่อการพัฒนา ดังนี้



1. เรียนรู้จากเครือข่ายและหนุนเสริมเติมต่อ กพฐ. และ สพฐ. ควรนำสิ่งดีที่ภาคีเครือข่ายทำอยู่ มาอุดช่องว่างการทำงาน และปรับตัวในการทำงานของตนเอง เพื่อร่วมเดินทางไปด้วยกันกับองค์กรภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็น 5 องค์กรหลัก หรือสำนักต่างๆ ใน สพฐ.ด้วยกัน ต้องประสานกันอย่างเข้มข้น ควรให้ความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ แต่ประเด็นที่ สพฐ.ต้องปรับตัวอย่างมากคือเรื่องของระบบบริหารงานบุคคล ระบบIntensive และระบบ School Autonomy  นอกจากนั้น กพฐ. และ สพฐ. ควรพิจารณาให้การสนับสนุนช่วยเหลือการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย ให้สามารถดำเนินการในสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์ต่อไป ซึ่งควรนำผลการประชุมเสวนาพลังเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานครั้งนี้รายงานต่อที่ประชุม กพฐ. โดยเร็วที่สุด เพื่อทราบและร่วมขบคิดพิจารณาผลักดัน “วิธีปฏิบัติที่ดีและน่าสนใจ” ของภาคีเครือข่ายไปสู่การใช้ประโยชน์ในการจัดจัดการศึกษา

2. องค์กรตัวช่วย บทบาทหลักเกี่ยวกับการจัดการศึกษายังคงเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนภาคีเครือข่ายต่างๆ เป็นเพียงตัวช่วย และผู้หนุนเสริมภารกิจของกระทรวง ไม่ใช่แย่งงานกระทรวงไปทำ และไม่สามารถมีศักยภาพในการจัดการศึกษาทดแทนกระทรวงได้ ดังนั้น องค์กรตัวช่วยจะสามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาได้ ด้วยการแบ่งส่วนกันทำในงานตามความถนัด แล้วนำมาต่อกัน ดังนี้ หากแบ่งงานออกเป็น ขั้น ประกอบด้วย (1) ขั้นสร้างความรู้ (2) ขั้นเอาความรู้ไปทดลอง (3) ขั้นผลักดันเป็นนโยบาย และ(4) ขั้นดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งในขั้นที่ 1-2 เป็นความถนัดของภาคีเครือข่ายที่จะทำการวิจัย เมื่อได้ผลแล้วก็ส่งมอบให้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการในขั้นที่ 3-4 อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้กำหนดโจทย์การวิจัยและรองรับผลการวิจัยไปใช้ จะทำให้การทำงานของภาคีเครือข่ายและกระทรวงศึกษาธิการเชื่อมต่อกันได้อย่างดี

3. ปรับวิธีประเมินครูสู่วิทยฐานะ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำงานและความก้าวหน้าของครูไม่ก่อให้เกิดคุณภาพผู้เรียน ก็คือ การประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะที่ครูต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ก.ค.ศ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ไม่ไปในทิศทางเดียวกันกับการปฏิรูปการเรียนรู้และคุณภาพผู้เรียนที่คาดหวัง ดังนั้น จึงควรปรับแก้เงื่อนไขการประเมินครูให้เอื้อต่อคุณภาพผู้เรียนในลักษณะเช่นนี้ให้จงได้

4. ต้องการผู้นำที่เข้าใจ-เปิดใจ ผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ ในการสร้างและนำนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติ ที่ผ่านมาพบว่า ผู้นำและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ ไม่เข้าใจที่ดีพอในการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รวมทั้งไม่เปิดใจเรียนรู้และร่วมพัฒนาไปด้วยกันนัก จึงทำให้รูปแบบและวิธีการที่ดี  ไม่สามารถเกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติได้เต็มที่ ดังนั้น จึงควรสร้างความเข้าใจร่วมกันและปรับตัวขับเคลื่อนการพัฒนาไปพร้อมกันกับภาคีเครือข่าย ผู้นำระดับนโยบายควรเข้าไปเป็นเพื่อนร่วมทาง ร่วมเรียนรู้ และเป็นโค้ชให้กับผู้นำระดับปฏิบัติ ควบคู่กับการสั่งการตามปกติ รวมทั้ง เสริมพลังอำนาจ (empowerment) ให้ผู้นำในพื้นที่ให้ทำงานเต็มความสามารถ เป็น “การสร้างแม่ทัพในพื้นที่” ให้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน

5. ต้องการผู้นำที่เอาจริงและต่อเนื่อง เมื่อเอ่ยถึงผู้นำระดับนโยบาย เรามักจะนึกถึงฝ่ายการเมืองหรือรัฐมนตรี ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเช่นปัจจุบัน แต่การศึกษาจำเป็นต้องมีผู้นำระดับสูงที่เป็นหลัก มี commitment ที่จะดำเนินนโยบายและทิศทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 4-8 ปี ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คือผู้นำที่ทุกฝ่ายให้ความเชื่อมั่นและเป็นความหวังใหม่ในการทำให้ “เรือนิ่ง” และการจัดการก็จำเป็นต้อง “นิ่ง-จริงจัง-ต่อเนื่อง” ด้วยเช่นกัน เพื่อดำเนินไปสู่สภาวะความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา


6. ทำเรื่องสำคัญและจำเป็นจริงในการปฏิรูปการศึกษา สิ่งที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ควรพิจารณาดำเนินการคือ เน้นเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้จริง ที่เป็นเรื่องสำคัญบางเรื่อง แต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพโดยรวม โดยใช้วงจรการวิจัยและผลักดันเป็นนโยบาย อาทิ เรื่องคุณภาพครู เรื่องประสิทธิภาพโรงเรียน อาจลงไปทำตั้งแต่ที่มา/การเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียน การบริหารจัดการโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนมีความสามารถมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างโรงเรียนคุณภาพต่ำให้ขยับมาใกล้โรงเรียนคุณภาพสูง

7. เน้น คานงัด จากสถิติพบว่า มีเด็กจำนวนมากที่การเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็น “การเรียน(ในระบบ)ครั้งสุดท้ายในชีวิต” โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ซึ่งทิศทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาในประเทศต่างๆ พบว่า สามารถยกระดับคุณภาพได้ด้วยการให้ความใส่ใจในการเรียนรู้และการพัฒนากลุ่มเด็กด้อยโอกาสและเด็กไม่เก่ง ดังนั้น หนึ่งใน “คานงัด” ของคุณภาพการศึกษา ก็คือ การช่วยกลุ่มเด็กด้อยโอกาสนอกจากนั้น บทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาทั่วโลกยังให้ความสำคัญกับอีก 3 คานงัด ได้แก่ การช่วยครู ที่เปลี่ยนจาก training ในลักษณะ “อบรมแบบพรมน้ำมนต์” เป็น coaching and mentoring การปรับระบบวัดผล ต้องเปลี่ยนจากการสอบในลักษณะ “เดิมพันสูง” หรือเพื่อการตัดสิน ไปเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนา การสร้างระบบข้อมูลเพื่อ monitor การศึกษา โดยสร้างระบบที่เชื่อมโยงกับห้องเรียนและโรงเรียน รู้ละเอียดในสถานการณ์ของครูและนักเรียน เพื่อให้ผู้หนุนนำช่วยเหลือสามารถรู้และช่วยได้ทันท่วงที

8. คิดใหญ่ เริ่มเล็ก การเริ่มต้นดำเนินงานอาจมุ่งไปที่กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนจำนวนหนึ่งในแต่ละพื้นที่ ในลักษณะโครงการวิจัยและพัฒนา 3-5 ปี เพราะเมื่อเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาจะเป็นเสมือน “ของขลัง” ไม่มีใครมารบกวนหรือล้มเลิก ซึ่งสามารถกำหนดโจทย์การวิจัยเพื่อพัฒนา จะได้ตัวแบบ และสามารถมีcommitment ในการดำเนินการร่วมกันของภาคีเครือข่ายได้ดี อาจใช้จังหวัดบางจังหวัดที่มีการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายทับซ้อนกันอยู่ และใช้จังหวัดเหล่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างกันครั้งใหม่

9. ใช้พื้นที่เป็นฐานของความร่วมมือ การพูดคุยเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กร ควรลงไปสร้างข้อตกลงในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง แล้วพัฒนาไปสู่งาน/ โครงการที่จะลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ มีรายละเอียดต่างๆ ทั้งกิจกรรมที่จะทำ  งบประมาณที่จะใช้ หรือผลผลิตที่จะได้ ซึ่งการพูดคุยระดับหน่วยปฏิบัติจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าการพูดคุยของผู้บริหารระดับนโยบายในส่วนกลาง

10. ปรับการจัดการใหม่ ที่ผ่านมาภาพที่ปรากฏให้เห็นของกระทรวงศึกษาธิการ “ใช้เงินเยอะ ได้ผลน้อย” ต้องปรับเปลี่ยนเป็น “ใช้เงินน้อย ได้ผลเยอะ” และการบริหารจัดการแบบแนวตั้ง “แท่ง” ควรปรับเปลียนเป็นการจัดการแบบแนวนอน “ตัดขวาง” ซึ่งในการปรับเปลี่ยนควรจัดทำเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาระยะยาว เพื่อทดลองเรียนรู้รูปแบบใหม่ในการบริหารจัดการ อาจทำความร่วมมือกับ สกว. หรือ สสค. ซึ่งจะทำให้ได้ทราบปัจจัยเงื่อนไขเชิงระบบที่จำเป็นต้องเปลี่ยนจากฐานงานวิจัย


11. สร้างนโยบายใหม่บนฐานวิจัย ควรให้มีนักวิชาการของ สพฐ. และภาควิชาการ เพื่อตั้งเป็นกลุ่มPolicy Think Tank ที่มีความเป็นกลางและมีอิสระพอสมควร ในการทำหน้าที่วิจัยและพัฒนานโยบาย ทดลอง และนำเสนอนโยบายให้ สพฐ. หรือแม้แต่การวิจัยสถาบัน (Institutional Research)

12. ควรปฏิรูปทั้งโรงเรียน บทเรียนที่ได้จากความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่ผ่านมา พบว่า การพัฒนาเพียงบางประเด็น หรือมุ่งเน้นพัฒนาครูบางคน เมื่อโครงการจบ จะไม่ได้รับการสานต่อจากผู้บริหารโรงเรียน ดังนั้น ในการดำเนินการควรขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งโรงเรียน โดยผู้บริหารและครูทุกคน อย่างต่อเนื่อง จริงจัง และมุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอน

13. จุดประกายและตามไปเชียร์ ประเด็นที่สำคัญในการหนุนเสริมคนทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ก็คือ การจุดประกาย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน “ไฟติด” แล้วลงติดตามไปช่วยเชียร์ ให้เกิดความฮึกเหิมมุ่งทำสิ่งที่ได้ทำอยู่อย่างต่อเนื่องและดียิ่งขึ้น นอกจากการร่วมชื่นชม ให้กำลังใจ ให้การยอมรับในสิ่งดีที่เขาทำอยู่ หรือจะใช้สื่อสารมวลชนที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและมีแรงใจในการทำดี นอกจากนั้น การลงไปยังพื้นที่ของผู้นำระดับนโยบาย จะทำให้ได้รับทราบปัจจัยเงื่อนไขของการทำได้หรือไม่ได้ของผู้ปฏิบัติ และจะได้ข้อเสนอเพื่อนำกลับมาปรับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายให้สามารถสู่การปฏิบัติได้อย่างราบรื่น

14. ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความชื่นชม เมื่อโรงเรียนดำเนินงานโครงการที่เป็นการปลูกฝังคุณธรรม ให้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเกิดและปรากฏชัดในตัวผู้เรียน แล้วมีผู้บริหารระดับสูง ผู้นำองค์กร หรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลงไปในพื้นที่ ไปเยี่ยมชมกระบวนการและผลที่เกิดขึ้น ได้ช่วยให้ครู ผู้บริหาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความภาคภูมิใจ มีพลังแรงใจในการมุ่งมั่น ดำเนินงานต่อด้วยความมั่นใจและกระตือรือร้น ดังนั้น การให้ความสำคัญของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ การหนุนเสริมการดำเนินงาน และการลงไปชื่นชมผลที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนของผู้นำองค์กร จึงมีส่วนสำคัญยิ่งในกระบวนการพัฒนาบุคลากรและคุณภาพผู้เรียน

15. เปลี่ยนการบริหารจัดการครู อุปสรรคเชิงงบประมาณของการพัฒนาการศึกษาคือ งบบุคลากรแต่ละปีใช้ประมาณ 80ส่วนงบพัฒนามีจำกัดและมีความสัมพันธ์กับคุณภาพผู้เรียนน้อย สิ่งที่น่าสนใจในการพัฒนาครูคือ ไม่ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาครูเพียงมาตรการระยะสั้น เช่น coaching หรือ Professional Learning Community (PLC) เท่านั้น ควรให้ความสำคัญกับมาตรการระยะยาวด้วย เช่น การตั้งเป้าหมายในการลดงบประมาณจาก 80% ให้เหลือ 50ภายในเวลา 5-10 ปี เพื่อนำงบประมาณมาพัฒนาคุณภาพ หรือการจัดทำแผนระยะยาวเกี่ยวกับบริหารจัดการครูและบุคลากร (Personnel Administration Plan) มีความจำเป็นที่ต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันมีครูกี่ช่วงวัยหรือกี่รุ่น แต่ละรุ่นจะต้องเติมและพัฒนาอย่างไร รวมทั้งการรับคนที่จะเข้าไปเป็นครู และการปลดล็อคให้สามารถโยกย้ายหรือเกลี่ยครู ไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งอาจต้องมีการทำวิจัยในประเด็นเหล่านี้ก่อน


16. สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่และให้ทางเลือกแก่ครู มีครูจำนวนมากที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการสอนของตนเอง ให้เป็นไปในแนวทางปฏิรูปการเรียนรู้ แต่ปัญหาของครูคือ ครูนึกไม่ออกว่าการสอนที่ต้องการให้ครูเปลี่ยนไปนั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยเห็นและได้รับประสบการณ์ตรงของการเรียนรู้แบบActive Learning  ตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียนและการทำงานของครู ครูพบเห็นแต่การจัดการเรียนรู้แบบPassive Learning ดังนั้น การพัฒนาครูจึงควรเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่แบบ Active Learningเพื่อครูจะได้รับรู้ถึงความหมายและคุณค่าของการเรียนรู้เช่นนี้และปรับเปลี่ยนการสอนของตนเองเพื่อศิษย์ รวมทั้งการแสวงหาตัวอย่างหรือวิธีการปฏิบัติที่ดีที่หลากหลายให้ครูได้เลือกนำไปปรับใช้ในการสอน

17.ปรับวิธีการนำนโยบายสู่การปฏิบัติที่ผ่านมาจะพบเห็นวิธีการนำนโยบายสู่การปฏิบัติในpattern เดิม อาทิ จัดทำเอกสาร สั่งการ ประชุม หรือจัด Event ซึ่งพบว่าไม่ได้ผลที่น่าพอใจนัก จึงควรหานวัตกรรมของการขับเคลื่อนนโยบาย หรือแนวทาง Implement นโยบายที่สามารถคาดหวังการเปลี่ยนแปลงระดับการปฏิบัติได้จริง

18. ห้องเรียน-ครอบครัว-สังคม ร่วมพัฒนาเด็ก สิ่งที่ภาคีเครือข่ายจะร่วมด้วยช่วยพัฒนาเด็ก ไม่ควรเน้นไปที่ห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะความรู้จากห้องเรียนจะติดตัวเด็กประมาณ ใน จึงควรให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กอีก ใน ส่วน ก็คือการเรียนรู้จากครอบครัวและสังคม ดังนั้น มีความจำเป็นต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนและร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น

19. ใช้หนังสือเป็นเครื่องมือสร้างคน การหนุนเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนด้วยการมีหนังสือดีๆ ให้เด็กอ่าน เพิ่มเติมหนังสือที่เด็กอยากอ่านในโรงเรียน หรือการสนับสนุนห้องสมุดมีชีวิต รวมทั้งการย่อยผลงานวิจัยที่ดีมีประโยชน์ในรูปแบบนิทรรศการให้ไปสู่โรงเรียนและการนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้และต่อยอด

20. พัฒนาทักษะการเรียนรู้-สร้างแรงบันดาลใจ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไม่ควรมุ่งเน้นเพียงผลสัมฤทธิ์ หรือคุณธรรมจริยธรรมเท่านั้น ควรให้ความสำคัญกับทักษะการเรียนรู้ด้วย ควรส่งเสริมให้ครูให้ความสำคัญในมิติการจัดการเรียนรู้ศิลปะ ดนตรี กีฬา และเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้เด็ก เพราะไม่ควรมุ่งไปที่การสอนของครูเป็นหลัก ควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีความอยากรู้อยากเรียน มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่ดี ก็จะทำให้เกิดคุณภาพที่ต้องการได้ง่าย ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญของการปรับเปลี่ยนความคิด เจตคติในการเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแรงหนุนสำคัญให้เกิดคุณภาพการศึกษา

------------------------------------------

คัดจาก http://ajpitak.blogspot.com/
ขอบคุณบทความดีๆ เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

                                                         วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย : จากบ้านช่างฝีมือสู่ชุมชนการค้า


จากบ้านช่างฝีมือสู่ชุมชนการค้า 
ยุวรี โชคสวนทรัพย์ 
นักวิจัยในโครงการ “100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย” 
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 
YcUn1py@hotmail.com

“กรุงเทพมหานคร” เป็นเมืองหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นกลางทำให้แบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือ บางกอกฝั่งตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า “ฝั่งพระนคร” และบางกอกฝั่งตะวันตก หรือที่เรียกกันว่า “ฝั่งธนบุรี” เมืองบางกอกมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มอันเกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำ จึงมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้อ่าวไทยซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ความรุ่งเรืองด้านการค้าของกรุงศรีอยุธยา ทำให้บางกอกในฐานะเมืองด่านขนอนเต็มไปด้วยผู้คนและพ่อค้าชาติต่างๆ ดังเช่นที่ เดอ ลา ลูแบร์ ระบุว่าชาวมอญเป็นชนพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่ชาวจีนอาศัยอยู่ในบางกอกมากกว่าชนชาติอื่น ต่อมาเมื่อบางกอกกลายเป็นราชธานีแห่งใหม่ ผู้คนจากกรุงศรีอยุธยารวมถึงชนชาติต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานสำคัญในกิจการของรัฐ ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่รวมกันมากขึ้น ทำให้ “กรุงเทพมหานคร” กลายเป็นย่านชุมชนและพัฒนาเป็นบ้านช่างฝีมือในที่สุด 
  
การประกอบสัมมาอาชีพของชุมชนต่างๆ ในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นลักษณะของการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อการยังชีพ เมื่อมีผลิตภัณฑ์เหลือใช้จึงนำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันจนเกิดเป็นกิจกรรมทางการค้า การผลิตสินค้าตามความชำนาญของคนแต่ละชุมชน กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและใช้เป็นชื่อเรียกขานชุมชนนั้นๆ เรื่อยมา นอกจากนั้น สินค้าต่างๆ จากย่านชุมชนยังสามารถสะท้อนวิถีชีวิตของชาวกรุงเทพมหานคร ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย 

ฝั่งธนบุรี เป็นพื้นที่แรกๆ ที่ผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาอพยพมาตั้งถิ่นฐานในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ซึ่งในปัจจุบันยังคงหลงเหลือชุมชนช่างฝีมือจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ อาทิ 
  
บ้านช่างหล่อ บริเวณถนนพรานนก เป็นชุมชนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ประกอบอาชีพปั้นและหล่อพระพุทธรูปสืบมา นอกจากนี้ ช่างฝีมือจากบ้านช่างหล่อยังมีความสามารถทางการช่างอื่นๆ อาทิ ช่างปั้น ช่างเททอง ช่างขัด ช่างลงรักปิดทอง และช่างติดกระจก เป็นต้น 
บ้านบุ ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ใกล้กับวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) เป็นชุมชนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาและมีอาชีพเป็น “ช่างบุ” คือเป็นช่างที่มีความชำนาญในงานฝีมือที่นำโลหะมาตีให้เข้ารูป เป็นชุมชนที่ผลิตภาชนะเครื่องใช้โลหะ อาทิ พาน จาน ชาม และขันลงหินที่มีชื่อเสียง ซึ่งทำด้วยโลหะทองแดงผสมกับดีบุก ขันประเภทนี้ช่วยให้น้ำเย็นกว่าปกติ 

บ้านเนิน อยู่ถัดลงไปจากบ้านบุ บ้างเรียกกันว่าบ้านบุล่าง เป็นชุมชนช่างฝีมือซึ่งอพยพเข้ามาในเวลาเดียวกันกับชุมชนบ้านบุและมีความชำนาญแบบเดียวกัน มีผลิตภัณฑ์สินค้าลงหินอันเลื่องชื่อเช่นกัน แต่เป็นประเภทเครื่องดนตรีไทย อาทิ ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น 

บ้านลาว บริเวณถนนอิสรภาพ หรือที่นิยมเรียกกันว่าชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ เป็นชุมชนชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชุมชนบ้านลาวมีความสามารถในการทำเครื่องดนตรีขลุ่ยและแคน 

ชุมชนบ้านเนินและบ้านลาวนั้นยังสะท้อนให้เห็นการผสมผสานความบันเทิงระหว่างชุมชนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต 
  
บ้านปูน บางยี่ขัน เป็นชุมชนที่มีอาชีพเผาปูนขาว เพื่อใช้ทำปูนแดงกินกับหมากพลู ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนสมัยก่อน จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากการประพาสยุโรป ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยทัดเทียมกับชาวตะวันตก จึงรณรงค์ให้เลิกเคี้ยวหมากเพื่อให้มีฟันที่ขาวสะอาด การเผาปูนขาวจึงค่อยๆ ลดความสำคัญลงและเลิกอาชีพไปในที่สุด ฝั่งธนบุรีนี้ยังมีตลาดพลู ริมคลองบางหลวง มีชาวมุสลิมทำสวนพลูในระยะแรก ต่อมาชาวจีนนิยมทำสวนพลูขึ้นบ้างจนกลายเป็นตลาดซื้อขายพลู และเกิดเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เรียกกันว่าตลาดพลูมาตั้งแต่บัดนั้น แต่ปัจจุบันจะไม่ปรากฏลักษณะของสวนพลูแล้ว 

บ้านข้าวเม่า ถนนพรานนก เป็นชุมชนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาและตั้งบ้านเรือนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ทำข้าวเม่า ข้าวเหนียวแดง และขนมกวนต่างๆ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประกอบสำรับคาวหวานในงานทางศาสนาและงานมงคลจำหน่าย 

หลังจากสิ้นสุดสมัยกรุงธนบุรีเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายมาอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังบริเวณชุมชนจีน และให้ชาวจีนเหล่านั้นขยับขยายบ้านเรือนออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณย่านสำเพ็ง การสร้างศูนย์กลางของพระนครแห่งใหม่จำเป็นต้องเพิ่มประชากรในเมืองหลวงให้มากขึ้น เพื่อความมั่นคงของเมืองและป้องกันปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงมีการกวาดต้อนผู้คนหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน เกิดเป็นบ้านช่างฝีมือเช่นเดียวกับฝั่งธนบุรี 

เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดมหาสุทธาวาสขึ้น (ปัจจุบันคือวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร) พร้อมกับโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้า เพื่อเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์กลางเมือง ต่อมาได้เกิด “ตลาดเสาชิงช้า” ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นตลาดที่มีสินค้าประเภททองเหลืองที่ทำเลียนแบบทองรูปพรรณในราคาถูกจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านเรียกขานกันติดปากว่า “ทองเสาชิงช้า” นอกจากนั้นชุมชนรอบๆ เสาชิงช้ายังเป็นย่านช่างฝีมือที่ผลิตเครื่องไทยธรรมต่างๆ เพื่อส่งมาจำหน่ายยังตลาดอีกด้วย 
  
b>บ้านบาตร บริเวณสี่แยกเมรุปูน ถนนบำรุงเมือง ชุมชนตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เพราะปรากฏคำบอกเล่าที่แตกต่างกันไป บ้างว่าคนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาอพยพมาตั้งแต่เมื่อครั้งเสียกรุงฯ บ้างว่าเป็นชุมชนที่เพิ่งมาตั้งถิ่นฐานเมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นชุมชนที่มีฝีมือในการทำบาตรพระมาช้านาน ในอดีตผลผลิตที่ได้จะส่งไปจำหน่ายที่ตลาดย่านเสาชิงช้าและย่านสำเพ็ง ปัจจุบันเหลือบ้านทำบาตรพระเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้น 

บ้านสาย ตรงข้ามวัดเทพธิดาราม ติดถนนมหาไชย เป็นชุมชนช่างฝีมือถัก-ทอสายรัดประคด หรือที่คาดเอวของพระภิกษุ นอกจากนี้ ชุมชนบ้านสายยังผลิตถุงตะเคียวสำหรับหุ้มบาตรพระอีกด้วย เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะส่งจำหน่ายที่ตลาดย่านเสาชิงช้า กระบวนการผลิตมีความซับซ้อน เริ่มตั้งแต่ย้อมสี ตีเกลียว จับไจไหม ม้วนด้าย เดินด้าย ค้นสาย ทอ ถัก ปักทำพู่ ฯลฯ เมื่อมีเครื่องจักรที่ผลิตได้เร็วกว่าเข้ามาแทนที่ งานฝีมือที่ต้องอาศัยเวลาและความพยายามเช่นนี้จึงเลือนหายไป 

บ้านตีทอง ข้างวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นชุมชนลาวจากเวียงจันทน์และหลวงพระบาง อพยพมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่างตีทองคำเปลวสำหรับปิดพระพุทธรูป รวมทั้งใช้ในการตกแต่งงานศิลปกรรมต่างๆ การตีทองนั้นจะนำทองคำแท่งมารีดให้เป็นแผ่นบาง หลังจากนั้นช่างตีทองสองคนต้องใช้ค้อนขนาดใหญ่ช่วยกันตีให้แผ่นทองกลายเป็นแผ่นบางแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขั้นตอนในการทำยากลำบากและใช้เวลามาก ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง ภายหลังเมื่อทองวิทยาศาสตร์เข้ามาทำให้การตีทองเริ่มลดลง 

บ้านดินสอ หรือ ถนนบ้านดินสอบริเวณใกล้เคียงโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า สันนิษฐานว่าที่มาของชื่อบ้านดินสอมีอยู่สองประการ ประการแรกเป็นชุมชนที่ผลิตดินสอพอง ซึ่งใช้ทาแก้พิษ ผดผื่นคัน ใช้ทำความสะอาดเครื่องเงิน เป็นต้น ประการที่สองเป็นชุมชนทำดินสอที่ใช้เขียนกระดานตามคำสันนิษฐานของพระยาอนุมานราชธน 
  
บ้านหม้อ ตั้งถัดมาจากบ้านลาว เป็นชุมชนชาวญวนที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบอาชีพทำหม้อและภาชนะหุงต้มต่างๆ ต่อมาเมื่อมีภาชนะสมัยใหม่เข้ามาแทนจึงได้เลิกอาชีพนี้ไป ภายหลังกลายเป็นย่านขายเครื่องเพชร อัญมณี และเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงของพระนคร ปัจจุบันเป็นแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเสียงจำนวนมาก 

บ้านกระบะ หรือบ้านลาว ถนนเจริญกรุงใกล้สี่กั๊กพระยาศรี เป็นชุมชนของชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยสงครามเจ้าอนุวงศ์ มีอาชีพทำกระบะ เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารคล้ายๆ กล่องข้าว ดังที่หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ อธิบายว่ากระบะ เป็น “ของทำด้วยไม้เปนสี่เหลี่ยมบ้าง รีๆ บ้าง, สำหรับใส่กับเข้า เปนของคนจนใช้” 

บ้านช่างฝีมือที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของพระนครอยู่รอบภูเขาทอง หรือชุมชนรอบวัดสระเกศ ฝั่งคลองโอ่งอ่าง เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญแห่งหนึ่งของพระนคร ชุมชนช่างฝีมือในละแวกนี้ได้แก่

บ้านดอกไม้ เป็นชุมชนผลิตดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล 

ชุมชนโรงไม้หลังวัดสระเกศ การชักลากซุงมาตามลำคลองเพื่อเข้าสู่พระนครในอดีตจะต้องผ่านมาทางบริเวณนี้ ในหน้าน้ำหลาก ซุงจะถูกนำมาเก็บไว้เพื่อรอซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด เมื่อต้องนำซุงมาผ่าใช้เรื่อยๆ จึงมีธุรกิจโรงเลื่อยซุงเกิดขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดช่างแกะสลักและฉลุลายไม้ ภายหลังจึงกลายมาเป็นธุรกิจโรงไม้แปรรูป 
  
บ้านพานถม ย่านบางขุนพรหม ปรากฏคำบอกเล่าว่า เป็นบ้านช่างฝีมือที่ประกอบอาชีพทำเครื่องถมประเภทขันน้ำและพานรองเป็นหลัก แต่ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้แน่นอนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด เครื่องถมของชุมชนนี้ได้รับเอารูปแบบมาจากกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองนครศรีธรรมราช จึงเรียกกันทั่วไปว่า “ถมนคร” ปัจจุบันไม่หลงเหลืออยู่แล้ว 

บ้านลาน ย่านบางขุนพรหม บริเวณใกล้เคียงกับบ้านพานถม เป็นชุมชนมอญที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและรับใบลานมาผลิตคัมภีร์ใบลานสำหรับใช้จารหรือเขียนเพื่อให้พระใช้ในการเทศน์ 

บ้านช่างทองตรอกสุเหร่า บริเวณวัดชนะสงคราม เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่อพยพมาจากหัวเมืองปักษ์ใต้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความชำนาญในการทำเครื่องทองด้วยฝีมืออันประณีตวิจิตร 

บ้านนางเลิ้ง หรือ บ้านอีเลิ้ง คำว่า อีเลิ้ง เป็นภาษามอญ หมายถึง ตุ่มหรือโอ่ง สันนิษฐานว่าเป็นการนำเอาตุ่มและภาชนะดินเผาอื่นๆ จากบ้านสามโคก ปทุมธานี ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญเข้ามาค้าขายในพระนครตามเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ภายหลังพัฒนาเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

บ้านครัว ริมคลองมหาราช เป็นชุมชนชาวจามที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อาชีพดั้งเดิมของชาวจามก็คือการทำประมง และเป็นชุมชนช่างฝีมือที่ชำนาญการทอผ้า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2488) ชาวอเมริกันชื่อ จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) ได้พัฒนาลวดลายผ้าให้ทันสมัยจนเป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีคุณภาพและนำไปจำหน่ายจนมีชื่อเสียงโด่งดัง 
  
หลังจากการทำสนธิสัญญาค้าขายกับชาติตะวันตก ทำให้สยามปรับเปลี่ยนประเทศสู่ความทันสมัย ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น พร้อมกับการขยายตัวของเมือง การตัดถนนหนทางทำให้ย่านการค้าเก่าพัฒนารูปแบบไปตามสมัยนิยม พร้อมกับการเกิดย่านการค้าแห่งใหม่ อาทิ 

ถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่สี่กั๊กเสาชิงช้าไปถึงสำราญราษฎร์ เป็นย่านจำหน่ายเครื่องอัฏฐบริขารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ รวมถึงเครื่องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาประเภทอื่นๆ 
ถนนเฟื่องนคร แบ่งเป็นสองช่วง คือ บริเวณสี่กั๊กพระยาศรี และสี่กั๊กเสาชิงช้า เรื่อยมาทางบ้านตะนาว ปรากฏห้างฝรั่ง ห้างจีน ห้างแขกเปอร์เซีย และห้างจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศของชาวสยามมาจนถึงแหล่งผลิตเพชรพลอยย่านบ้านหม้อ 

ถนนอุนากรรณ บริเวณหลังวังบูรพา ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าของชาวอินเดีย จำหน่ายสินค้านำเข้าจากยุโรป อาทิ เครื่องแก้ว น้ำหอม เป็นต้น 
  
ถนนเจริญกรุงตอนใน มีทั้งร้านค้าของชาวตะวันตกและชาวญี่ปุ่น จำหน่ายสินค้านานาชนิด รวมถึงร้านถ่ายภาพและร้านเครื่องจักร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดสร้างตลาดบำเพ็ญบุญขึ้นบริเวณสะพานถ่าน ตลาดเป็นอาคารสองชั้น ชั้นบนเป็นโรงระบำ ส่วนชั้นล่างเป็นตลาดสด 

ถนนเจริญกรุงตอนนอก ถัดมาจากเชิงสะพานดำรงสถิต เป็นที่ตั้งของเวิ้งนครเขษม ซึ่งจำหน่ายของเก่าตลอดจนโบราณวัตถุต่างๆ ทั้งยังมีห้างขายยาทั้งของฝรั่งและจีนปะปนกัน 

ถนนเยาวราช เป็นย่านการค้าที่สำคัญของชุมชนชาวจีน สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่นำเข้ามาจากเมืองจีน ต่อมาเป็นย่านจำหน่ายทองรูปพรรณที่มากที่สุดแห่งหนึ่งของพระนคร 

ย่านการค้าของชาวตะวันตกนอกเขตพระนคร อยู่ในย่านที่อยู่อาศัยของชาวตะวันตกถัดจากชุมชนชาวจีนย่านตลาดน้อยลงไป ตั้งแต่ถนนสี่พระยาเรื่อยไปตามถนนบางรักจนถึงวัดพระยาไกร ตามริมแม่น้ำมักเป็นโรงแรม ห้างร้าน โกดังสินค้า อู่ต่อเรือ เป็นต้น 

ทุกวันนี้การเติบโตของกรุงเทพมหานคร ทำให้ย่านชุมชน บ้านช่างฝีมือและย่านการค้า ซึ่งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนแบบเดิมค่อย ๆ เลือนหายไปในที่สุดจนเหลือไว้เพียงภาพแห่งความทรงจำ 
แหล่งที่มา : ประชาคมวิจัย    ฉบับที่ : 109    หน้าที่ : 20    จำนวนคนเข้าชม : 147   คน
http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id_colum=2963

“วิถีชีวิตชาวเชียงใหม่” ในสายตาของกัปตัน วิลเลียม แม็กคลายด์



“วิถีชีวิตชาวเชียงใหม่” 
ในสายตาของกัปตัน วิลเลียม แม็กคลายด์ 

ธิษณา วีรเกียรติสุนทร 
นักวิจัยในโครงการ “100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย” 
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 
wtissana@yahoo.com

เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสำคัญ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 จนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณหนึ่งล้านคนต่อปี ก่อนที่นักเดินทางจะเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นในปัจจุบัน เคยมีนักเดินทางคนสำคัญเข้ามาหลายราย บางคนเข้ามาด้วยภารกิจทางการเมือง บางคนเข้ามาเพื่อการศึกษาค้นคว้าต่างๆ รวมทั้งกัปตัน วิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ (Captain William C. McLeod) นายทหารอังกฤษ ซึ่งเดินทางเข้ามาในล้านนาใน ค.ศ. 1837 

กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1805 ณ เมืองปองดิเชอร์รี (Pondicherry) ในอินเดีย ครอบครัวของแม็กคลายด์เป็นครอบครัวทหาร ทำให้เขาได้เข้ารับราชการในกองทัพแห่งมัทราสตั้งแต่อายุ 15 ปี ใน ค.ศ. 1834 กัปตันแม็กคลายด์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยข้าหลวงที่เมืองมะริด และอีกสองปีต่อมาจึงได้รับภารกิจให้ไปราชการที่เมืองเชียงตุง โดยใช้เส้นทางผ่านล้านนา ใน ค.ศ. 1863 แม็กคลายด์รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารอังกฤษประจำหงสาวดี ซึ่งพม่าเสียให้แก่อังกฤษภายหลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 2 (Second Anglo-Burmese War ค.ศ. 1851-1852) หลังจากปลดประจำการแล้ว เขาได้รับแต่งตั้งเป็นพันตรีใน ค.ศ. 1877 ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรม ณ กรุงลอนดอนในอีกสามปีต่อมา

กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ เป็นชาวตะวันตกคนที่ 4 ต่อจากราล์ฟ ฟิตช์ (Ralph Fitch ค.ศ. 1586-1587) โทมัส ซามูแอล (Thomas Samuel 1612-1613) และนายแพทย์เดวิด ริชาร์ดสัน (David Richardson ค.ศ. 1829-1830, 1834, 1835-1836, 1839) ที่เดินทางมายังเชียงใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากในปลาย ค.ศ. 1836 เอ็ดเวิร์ด บลันเดลล์ (Edward Blundell) ข้าหลวงอังกฤษที่ตะนาวศรี ต้องการรื้อฟื้นเส้นทางการค้าสายยูนนานคือ เส้นทางจีนตอนใต้กับชายฝั่งพม่า เส้นทางการค้าสายสำคัญที่มีมาตั้งแต่ต้นคริสตกาล และต้องการส่งเสริมให้พ่อค้าฮ่อมาค้าขายที่มะละแหม่งด้วย 

แม็กคลายด์ออกเดินทางจากเมืองมะละแหม่งพร้อมกับริชาร์ดสันในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1836 มุ่งหน้าสู่ลำพูน เชียงใหม่ เชียงรุ่งและเชียงตุงต่อไป ที่เมืองเชียงใหม่ แม็กคลายด์ได้เข้าเฝ้าเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (ค.ศ. 1826-1846) เพื่อขอพระราชทานพระราชานุญาตเดินทางผ่านไปยังเชียงตุง แต่พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยตามลำพัง ทำให้แม็กคลายด์รอคอยในเชียงใหม่เป็นเวลานาน ก่อนที่เจ้าหลวงจะทรงอนุญาต

ระหว่างการเดินทาง แม็กคลายด์บันทึกเรื่องราวที่เขาพบเห็นไว้อย่างละเอียด โดยเน้นไปที่การเจรจาความเมืองกับชนชั้นปกครองในเมืองต่างๆ ต่อมาจดหมายเหตุฉบับนี้เป็นเอกสารที่ทรงคุณค่ายิ่ง เพราะผู้เขียนได้บันทึกการสำรวจเส้นทางในภาคพื้นทวีปตอนบนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม 
  

  ในกรณีการศึกษาเรื่องสังคมเชียงใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 จดหมายเหตุการเดินทางของแม็กคลายด์ได้ให้ภาพที่น่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพของเมือง จำนวนประชากร ลักษณะของชาวเชียงใหม่ รวมถึงขนบธรรมประเพณีต่างๆ และชนชั้นนำในเชียงใหม่ด้วย แม็กคลายด์เล่าว่า เชียงใหม่หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่า ซิมเม (Zimmé) ตามอย่างชาวพม่า ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มทางฝั่งขวาของแม่น้ำปิง เป็นเมืองที่มีกำแพงอิฐล้อมรอบสองชั้น และมีกำแพงดิน ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลพระยามังรายหลวง (ค.ศ. 1264-1311) แต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 พบว่า กำแพงอิฐที่ล้อมรอบเชียงใหม่นั้น เหลือเพียงกำแพงชั้นเดียว อันเนื่องมาจากการขยายเมืองเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่มีประชากรอาศัยอยู่ แต่จะมารวมตัวกันอย่างหนาแน่นทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของเมือง เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับการทำกสิกรรม กำแพงเมืองด้านนอก เป็นที่ประทับของบรรดาเจ้าฟ้าเชื้อพระวงศ์ และไพร่พลทางตอนเหนือ ซึ่งเจ้าหลวงเชียงใหม่กวาดต้อนเข้ามาในยุคที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ส่วนกำแพงเมืองด้านในเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นที่ตั้งคุ้มของเจ้านายเชียงใหม่ต่างๆ 
  

กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ อธิบายสถานที่ในเชียงใหม่ในยุคก่อนการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty ค.ศ. 1855) ไว้อย่างละเอียดสามแห่ง ได้แก่ ตลาด พระเจดีย์หลวงและพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่มีตลาดอยู่แถบกำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งสันนิษฐานว่าต่อมาคือตลาดวโรรส ลักษณะของตลาดเชียงใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นค่อนข้างคล้ายคลึงกับตลาดในยุคปัจจุบัน มีกระท่อมหลังเล็กๆ ตั้งอยู่เรียงราย พ่อค้าแม่ขายจำนวนมากนิยมขายสินค้าบนเสื่อที่ปูไว้กับพื้น พ่อค้าแม่ค้ามาจากหลายที่ และมีหลายชนชาติ ผู้ประกอบการค้าคนสำคัญจะเป็นผู้หญิงและเป็นพ่อค้าฮ่อจากยูนนาน ผู้ชายเชียงใหม่จะค้าเฉพาะเนื้อสัตว์เท่านั้น ส่วนพระเจดีย์หลวงในสมัยที่แม็กคลายด์เข้ามา องค์ระฆังด้านบนได้พังลงมาแล้ว แต่ความโดดเด่นของพระเจดีย์ก็ยังคงอยู่ เพราะเมื่อขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพ จะมองเห็นพระเจดีย์หลวงได้อย่างชัดเจน แม้เมฆหมอกจะปกคลุมทัศนียภาพก็ตาม 


เรื่องจำนวนประชากร แม็กคลายด์ได้ประเมินว่า ในเชียงใหม่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นมีประชากรประมาณ 40,000 คน เป็นพวกฉาน พม่า มอญ จีนและชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่มาอาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งต่อมาภายหลังในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี (Daniel McGilvery) หมอศาสนาและครอบครัวได้เข้ามาเผยแผ่พระคริสต์ธรรมในล้านนา ชาวตะวันตกจึงเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเชียงใหม่มากขึ้น แม็กคลายด์บรรยายลักษณะของชาวเชียงใหม่ไว้ว่า ผู้ชายมักรูปร่างสูง ล่ำสันและมีท่าทางกระฉับกระเฉง บรรดาเจ้านายจะดูภูมิฐาน สูง จมูกโด่งและดวงตาสีอ่อน ในขณะที่ผู้หญิงมีรูปร่างสูง ได้สัดส่วน และงดงามมาก เสียแต่เพียงจมูกของพวกเธอนั้นแบน 
  

ประเพณีวัฒนธรรมของเชียงใหม่เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมสยามกับพม่า แต่อิทธิพลของพม่าจะเด่นชัดกว่า เป็นผลมาจากการที่ล้านนาตกเป็นเมืองประเทศราชของพม่าหลายร้อยปี ผู้ชายนิยมนุ่งโสร่ง บ้างก็ใส่เสื้อ บ้างก็ไม่ใส่ ผู้หญิงนิยมเกล้ามวย และนุ่งผ้าถุงไว้ที่ราวนม บางคนใส่เสื้อ บางคนไม่ใส่ ทำให้หมอสอนศาสนาที่เข้ามาเชียงใหม่ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 พยายามส่งเสริมให้สตรีสวมเสื้อที่ทอจากผ้ามัสลินสีขาวจากอินเดีย ชาวเชียงใหม่ทั้งหญิงชายนิยมใส่ตุ้มหู แต่คนที่มีฐานะยากจนจะประดับด้วยช่อดอกไม้หรือบุหรี่ พวกเขานิยมเคี้ยวหมากและสูบบุหรี่ขี้โย ซึ่งแม็กคลายด์วิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งเหล่านี้ได้ทำลายความงามของสตรีเสียสิ้น 
กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ บรรยายว่า สิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวเชียงใหม่มีอยู่สองประการ คือ การนับถือภูตผีและพุทธศาสนา ในกรณีพุทธศาสนานั้น ปัจจุบันคนไทยทราบข่าวเรื่องพระสงฆ์ประพฤติย่อหย่อนพระวินัยจากสื่อต่างๆ อยู่เสมอ เป็นวิกฤตในวงการสงฆ์ แต่จดหมายเหตุ กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องภิกษุนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แม็กคลายด์เล่าว่าแม้ในเชียงใหม่จะมีภิกษุอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากเปรียบเทียบกับภิกษุในพม่านั้น สงฆ์ในเชียงใหม่ย่อหย่อนต่อพระวินัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกท่านมักหมดเวลาไปกับสิ่งไร้สาระ ปนเปไปกับฝูงชน นั่งอยู่ในตลาด สนทนาใกล้ชิดกับสีกา เข้าไปในบ้านพักส่วนตัว ขี่ช้าง ฉันอาหารหลังเพล ดื่มสุรา เล่นการพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นชนไก่ และพระภิกษุน้อยรูปเท่านั้นที่เดินด้วยเท้าเปล่า การปฏิบัติดังกล่าวของภิกษุในเชียงใหม่นี้ยังปรากฎอีกหลายครั้งในจดหมายเหตุของนักเดินทางตะวันตก โดยเฉพาะผู้ที่คุ้นชินกับการปฏิบัติตนของภิกษุในพม่าที่เคร่งครัดเป็นอย่างยิ่ง 
  

เนื่องจาก กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ เข้ามาในเชียงใหม่เพื่อเจรจาความเมือง ดังนั้น เขาจึงบันทึกเรื่องชนชั้นปกครองเชียงใหม่ไว้พอสมควร ชนชั้นปกครองในเชียงใหม่ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดมีห้าตำแหน่งหรือที่เรียกว่า เจ้าขั้นห้าตน ได้แก่ เจ้าหลวง เจ้าหอหน้า เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตรและเจ้าบุรีรัตน์ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดที่พบในบันทึกฉบับนี้ คือ แม้บรรดาเจ้าเชียงใหม่จะมีพระราชอำนาจอย่างสูง แต่เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ พระองค์จะนำบริวารและพระราชวงศ์ไปร่วมด้วย เช่นการทำนา ในขณะที่กษัตริย์ในกรุงเทพมหานครจะร่วมแค่พิธีแรกนาขวัญ อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ธรรมเนียมดังกล่าวของชนชั้นนำในล้านนาสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมเกษตรกรรมของรัฐแห่งนี้อย่างชัดเจน 

      แม้กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์จะเข้ามาในเชียงใหม่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่จดหมายเหตุการเดินทางของเขากลับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่งในฐานะหลักฐานที่สะท้อนสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิตและประเพณีพิธีกรรมในเชียงใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งแทบจะไม่ปรากฎในเอกสารสยาม แม้ภาพวิถีชีวิตหลายๆ แง่มุมตามบันทึกของแม็กคลายด์จะเสื่อมลง พร้อมกับการเข้ามาของวัฒนธรรมสยามในยุคปฏิรูปการปกครอง และต่อมาความเจริญทางด้านเทคโนโลยี และการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกยิ่งทำให้ความเป็นล้านนาแทบจะสูญหายไปจากเมืองเชียงใหม่

     ธรรมเนียม และวิถีชีวิตหลายๆ ด้าน เช่น สีสันในตลาดของเชียงใหม่ก็ยังคงปรากฏร่องรอยอยู่บ้าง จดหมายเหตุแม็กคลายด์ยังทิ้งข้อคิด และแนวทางการปฏิบัติที่ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน การให้ความร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการทำกิจกรรมของชุมชน กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมในยุคที่ต่างคนต่างอยู่ นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นมรดกสำคัญจากอดีตที่สังคมควรเรียนรู้ นั่นคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่มีความแตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ยอมรับ และความเข้าใจความแตกต่างระหว่างกัน 
แหล่งที่มา : ประชาคมวิจัย    ฉบับที่ : 109    หน้าที่ : 17    จำนวนคนเข้าชม : 73   คน
http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id_colum=2962

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Teach Less Learn More ตอน 9 : กิจกรรม Professional Learning Communities (PLC) ครูผู้สอนครือข่าย อ.เมืองเชียงใหม่ สพป.ชม.1


































ข้อมูลวันที่ไม่ถูกต้องค่ะ..วันที่ปฏิบัติงานจริงวันพุธที่ 14  สิงหาคม 2556
ขอโทษค่ะ..ศน.อ้วน