วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

Made in China 2025: จีนกับแผนกลยุทธ์เพื่อก้าวสู่ผู้นำเทคโนโลยี




Made in China 2025: จีนกับแผนกลยุทธ์
เพื่อก้าวสู่ผู้นำเทคโนโลยี

        เมื่อพูดถึง Tech Scene ในประเทศจีน นอกเหนือจากบริษัทไอทีรายใหญ่แล้ว ส่วนหนึ่งที่ช่วยเร่งการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศจีนคือภาครัฐผู้ออกนโยบายผลักดัน ซึ่งนโยบายที่น่าสนใจที่สุดหนีไม่พ้น Made in China 2025 ที่ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยการค้นคว้าเทคโนโลยี Deep Technology เป็นการเฉพาะแล้ว Made in China 2025 มีจุดแข็งและลักษณะสำคัญอย่างไร Digital Ventures จะขอพาไปทำความรู้จักนโยบายนี้กัน



แรงบันดาลใจของ Made in China 2025
อุตสาหกรรมจีนตามแผนพัฒนาเชิงรุกด้านเทคโนโลยี ( Made  in China 2025) ได้รับแรงบันดาลใจจากแผนอุตสาหกรรม 4.0 ของเยอรมนี มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ครองตลาดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของโลกผ่าน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แผนดังกล่าวทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งด้านเศรษฐกิจนวัตกรรมทัดเทียมกับประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมอย่างสหรัฐฯ

จุดแข็งของแผนพัฒนาเชิงรุกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศจีน

ผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาทำให้ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศจีนถูกนำมาวิเคราะห์จากหลายประเทศถึงการพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของวงการเทคโนโลยีประเทศจีน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าผลประกอบการด้านธุรกิจนวัตกรรมของจีนมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด สวนทางกับการเป็นประเทศรับจ้างผลิตที่หลายคนรู้จัก โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
  • จีนมีจุดแข็งในเรื่องฐานผู้บริโภคจำนวนมากติดอันดับโลก จากการจัดอันดับจำนวนประชากรแต่ละประเทศในปี 2019 โดย Worldometers ประเทศจีนยังคงเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกที่ 1,400 ล้านคน จำนวนประชากรเป็นจุดสำคัญทั้งในแง่ของบุคลากรที่จะเข้ามาใน Tech Scene และในแง่ฐานผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล
  • เข้มงวดกับธุรกิจเทคโนโลยีต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ จีนเป็นประเทศที่เข้มงวดกับบริษัทต่างชาติที่ต้องการทำธุรกิจในประเทศจีนอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยีซึ่งปัจจุบัน บริษัทไอทีรายใหญ่ของโลกอย่าง Google หรือ Facebook ยังติดเงื่อนไขหลายประการจนไม่สามารถเข้าดำเนินธุรกิจในจีนได้เต็มที่นัก
     
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้จีนผลักดันบริการรูปแบบเดียวกันในประเทศจีนได้ง่าย ซึ่งช่วยผลักดันนวัตกรรมของประเทศไปในตัว เช่น E-Commerce ของ Alibaba, Social Media ของ Tencent หรือ Digital Service จาก Baidu

กลยุทธ์พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทางการค้า
ประเทศจีนนอกจากเป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนเทคโนโลยีให้กับหลายแบรนด์ชั้นนำระดับโลกแล้ว ยังนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในปัจจุบัน จากรายงานของ SCB Economic Intelligence Center ได้วิเคราะห์รูปแบบการพัฒนานวัตกรรมของประเทศจีนไว้ 4 กลยุทธ์ ดังนี้
  • ผลิตตามต้นแบบ (Adopter) ในหลายปีที่ผ่านมาประเทศจีนเป็นกลุ่มประเทศที่รับจ้างผลิตอุปกรณ์ให้หลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยี ทำให้มีความรู้จากการผลิตตามต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดได้  
  • ปรับเปลี่ยนต้นแบบเพื่อผลิตเอง (Adapter)  เมื่อได้ความรู้และรูปแบบการผลิต การสร้างผลิตภัณฑ์จึงสามารถทำได้ไม่ยากรวมถึงการผลิตเอง
  • สังเคราะห์และพัฒนาเพิ่มเติมจากต้นแบบ (Applier) จุดนี้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันในเกิดนวัตกรรมที่ประเทศจีนสามารถทำได้ดี การพัฒนาเพิ่มเติมจากต้นแบบ จากองค์ความรู้ที่มีและการผลิตแบบดั้งเดิมเพื่อเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ให้เหนือกว่าต้นแบบ
  • คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovator)  การต่อยอดจากสิ่งที่มีโดยสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตทางเทคโนโลยีเราจะเห็นได้จากปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศจีน เช่น การพัฒนาระบบ AI โดยการนำความสามารถมาต่อยอดในหลายธุรกิจ รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์

นับได้ว่าแผนการพัฒนา 4 กลยุทธ์  เป็นต้นแบบด้านการพัฒนาวงการเทคโนโลยีในเอเชียที่ประสบความสำเร็จ แต่กลยุทธ์ดังกล่าวอาจไม่เพียงพอกับอนาคต จีนจึงมีแผนการพัฒนาที่ไปไกลกว่านั้นด้วยการหันมาพัฒนานวัตกรรมจาก Deep Technology ด้วยตัวเอง


10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (Made in China 2025)
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีนได้ริเริ่มตั้ง “แผนพัฒนาเชิงรุกด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ( Made in China 2025)” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างนวัตกรรมภายใต้แนวคิดผลักดันการผลิตด้วยนวัตกรรมชั้นสูงที่มุ่งสร้างคุณภาพมากกว่าปริมาณ การผลิตที่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์สินค้าจีน การบ่มเพาะบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวม และการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้  Made in China 2025  มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาในอนาคตทั้งหมด 10 อย่าง ได้แก่
  • อุตสาหกรรมสารสนเทศ ที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีความเร็วสูงโดยการนำความสามารถของ Deep Tech อย่าง Quantum Computing และ Artificial Intelligence เข้ามาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
  •  อุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์อัจฉริยะ สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติและฉลาดขึ้นโดยสามารถคิดวิเคราะห์รวมถึงเข้าใจภาษาของมนุษย์มากขึ้น
  •  อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินและยานอวกาศ ตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้นำการผลิตนวัตกรรมเครื่องบินและยานอวกาศที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก
  •  อุตสาหกรรมนวัตกรรมการต่อเรือ การสร้างเรือจากเทคโนโลยี Deep Tech เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
  •  อุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ การผลิตเทคโนโลยีไฟฟ้าความเร็วสูงด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย
  •  อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ การผลิตยานยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือกใหม่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
  •  อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์พลังงาน เป้าหมายคือการค้นคว้าและวิจัยเพื่อสร้างพลังงานทางเลือกใหม่ให้เกิดขึ้นและนำมาใช้ได้จริง
  •  อุตสาหกรรมการเกษตร โดยสร้างเกษตรนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์การผลิตและเศรษฐกิจ
  •  อุปกรณ์การผลิตวัตถุดิบใหม่ โดยสร้างนวัตกรรมการผลิตที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ในยุคเทคโนโลยี
  •  อุตสาหกรรมทางการแพทย์  พัฒนายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

แผนการพัฒนาเชิงรุกด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ( Made in China 2025) ทำให้จีนเป็นประเทศที่น่าจับตามองยิ่งขึ้น ซึ่งที่มีแนวโน้มในทางที่ดีด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐอันเป็นผู้วางแผนงานใหญ่เช่นนี้นั่นเอง หากมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับแผนการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศจีนอีก Digital Ventures จะนำเสนอให้ได้ติดตามกันในบทความต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก scbeic.com,  worldometers.com, china-briefing.com และ nytimes.com

แหล่งข้อมูล
http://dv.co.th/blog-th/Made-in-China-2025/

จีน: มหาอำนาจ Blockchain ในอนาคต





จีน: มหาอำนาจ Blockchain ในอนาคต
ความเดิมจากตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงทิศทางของคริปโทในอนาคต ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของรัฐบาลจีน
โดยผู้เขียนได้เกริ่นว่า ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเพียงประการเดียวที่ทำให้จีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในด้านเทคโนโลยีของโลก แต่จีนยังมีแนวนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีภายในประเทศ รวมไปถึงการออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อรองรับเทคโนโลยีเข้ารหัส หรือ Cryptography Law ซึ่ง Cryptography หรือ เทคโนโลยีเข้ารหัสเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการพัฒนาระบบ Blockchain นั่นเอง

DCEP สกุลเงินดิจิทัลของจีน
DCEP หรือ Digital Currency Electronic Payment คือ สกุลเงินดิจิทัลของจีนที่ทำงาน
บนระบบ 
Private Blockchain ซึ่งเป็นระบบที่จำกัดผู้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูล (แบบวงปิด) ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลจีนต้องการจำกัดกลุ่มคนในการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลที่รันอยู่บนระบบ

ในด้านคุณลักษณะ แม้ DCEP จะอิงอยู่กับสกุลเงินหยวนในอัตราส่วน 1:1 ซึ่งรูปแบบดังกล่าวคล้ายการสร้าง Stable Coin ของบริษัทเอกชนต่าง ๆ แต่ในกรณีของ DCEP ผู้ออกและกำหนดนโยบายในการกำกับดูแลจะเป็นรัฐบาลจีน (โดยธนาคารกลางเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากกรณีของ Stable coin สกุลอื่น ๆ ที่ออกโดยเอกชนแต่ใช้สกุลเงินหยวนของจีนมาค้ำประกันไว้ เช่น 

เหรียญ
 CNHT ของ Tether หรืออาจกล่าวได้ว่า วัตถุประสงค์ในการออก DCEP นั้นไม่ได้ต่างจากการออกธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ในแบบเดิม แต่ DCEP คือ การทำหยวนให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลและให้มีค่าไม่ต่างจากเงินในรูปแบบ Physical form ซึ่งร้านค้าและประชาชนทั่วไปสามารถใช้แทนกันได้ในระบบการเงินของประเทศจีน

ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักของ DCEP คือ การสร้างระบบการเงินแบบดิจิทัลที่สามารถส่งเสริมการทำธุรกรรมแบบ Real-time และการเพิ่มความสามารถในการเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงทีอันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งผ่านนโยบายทางการเงินของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการลดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการโอนเงินผ่านระบบชำระเงินในแบบเดิม รวมถึงแก้ปัญหาความล่าช้าของระบบ SWIFT ที่ใช้ในระบบการชำระเงินระหว่าง Inter-Bank

สำหรับผู้เขียน เชื่อว่าคุณสมบัติที่โดดเด่นของสกุลเงินดิจิทัล เช่น การเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างและทำงานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยให้ DCEP ของจีนสามารถหมุนเวียนอยู่ในระบบการเงินทั่วโลกได้ไม่ยากนัก เหล่านี้ คือ แนวทางของจีนในการปูทางไปสู่การเป็น Digital global currency ในอนาคต

กฎหมาย Cryptography law
ที่ผ่านมา หากไม่นับโครงการ DCEP ของรัฐบาลจีน การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในจีน เช่น Cryptocurrency Trading และ ICO นั้น ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลจีนมาโดยตลอด เนื่องจากจีนมองว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างความเสี่ยงทางการเงินอย่างหนึ่งให้กับประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อ ต.ค. ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศแผนพัฒนา Blockchain โดยประธานาธิบดีสีได้กล่าวชัดเจนว่า การพัฒนา Blockchain คือแผนยุทธศาสตร์หลักที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว และ Cryptography law คือ หนึ่งในกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2020  



ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลที่เปิดเผยโดยรัฐบาลจีน พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ประเด็นแรก มุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ กฎหมายฉบับนี้มุ่งส่งเสริมการศึกษาและวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการค้นคว้า วิจัย และทดลอง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเข้ารหัสและนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ (เช่น สร้างผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการในรูปแบบใหม่) ทั้งนี้ การพัฒนาดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการละเมิดผลประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ใด และไม่เป็นการสร้างผลิตภันฑ์หรือบริการที่กระทบต่อความมั่นคงของภาครัฐ ดังนั้น ก่อนการขายสินค้าหรือนำเสนอบริการโดยใช้ Cryptography ผู้ประกอบการจะต้องเข้าสู่ระบบตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด โดยหากนำเสนอสินค้าโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวบสอบดังกล่าวจะมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้

ประเด็นที่สอง การให้ความคุ้มครองข้อมูลและการสร้างความปลอดภัยให้กับระบบ
กล่าวคือ เมื่อกฎหมายมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ Cryptography แล้ว กฎหมายยังได้ระบุให้มีการคุ้มครองข้อมูลที่ได้มาจากการพัฒนานั้น ซึ่งได้มีการระบุชัดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสจะต้องไม่บังคับให้ผู้พัฒนาระบบเปิดเผยข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหรือข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจให้กับตน (เช่น ข้อมูล Source Codes) นอกจากการนี้ กฎหมายยังกำหนดให้การพัฒนา Cryptography ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมาย Cybersecurity Law อีกด้วย

ประเด็นที่สาม บทกำหนดโทษในกรณีมีการกระทำโดยมิชอบ เช่น กรณีที่มีการขโมยข้อมูลการเข้ารหัส (Encrypted Information) การ hack ระบบความปลอดภัยของระบบเข้ารหัสของบุคคลอื่น การใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้หากภาครัฐตรวจพบบุคคลที่มีความเสี่ยงในการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถสั่งให้บุคคลนั้นกำหนดนโยบายหรือปรับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันเหตุร้ายอันอาจเกิดขึ้นได้

นโยบายสนับสนุน Blockchain
ธนาคารกลางของจีนได้มีการประกาศเกณฑ์ Certification of FinTech Products (CFP) โดยเป็นการเร่งให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการ digital payment ที่นำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการให้บริการ ซึ่งการออกเกณฑ์ใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินเพื่อรองรับสกุลเงินดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ที่มายื่นขอรับใบอนุญาตดังกล่าว เช่น ผู้ให้บริการ point-of-sale mobile terminal และผู้พัฒนา Trusted Execution Environment (TEE) หรือ เทคโนโลยีที่จะช่วยในการสร้าง Consortium Blockchain Network ซึ่งจะเป็นโครงข่ายที่สำคัญในการ Verify การทำธุรกรรมทางการเงินบนระบบ Blockchain

ท้ายที่สุด รัฐบาลจีนไม่ได้สนับสนุนการใช้ Blockchain ในภาคธุรกิจเพียงอย่างเดียว
แต่รัฐบาลยังได้จัดให้มีวิดีโอสื่อการสอนจำนวน 
25 รายการเพื่อให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับ Blockchain โดยยังรวมไปถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคริปโทสกุลต่าง ๆ เช่น Ethereum และ BitCoin อีกด้วย .... สำหรับผู้เขียน นี่คือตัวอย่างที่น่าเลียนแบบในการส่งเสริมรัฐบาลและประชาชนในยุค5G อย่างแท้จริง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]

ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648722

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563

COVID-19 กับการจัดระเบียบโลก Reordering The World Order


COVID-19 กับการจัดระเบียบโลก
Reordering The World Order 

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแบบถาโถมในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้กลายเป็นบททดสอบสำคัญของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19

เอาเข้าจริง เราแทบจะไม่เจอความท้าทายในระดับมหภาค
มานานแล้ว นั่นหมายถึงว่า ปัญหามักจะเกิดแค่บางที่ ส่วนที่ยังแข็งแรงอาจจะช่วยเหลือกันได้ แต่สถานการณ์ตอนนี้ทุกที่โดนหมด ต้องช่วยตัวเอง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ใน

โลกกำลังจัดระเบียบตัวเองใหม่

ความไม่ปกติของโลกเกิดขึ้นมาซักระยะแล้ว โลกในวันนี้เป็นโลกซึ่งเรารู้จักน้อยมาก ตอบไม่ได้เลยว่า พรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น มันอาจจะดีหรือร้าย ทัศนคติและวิธีการมองโลกจึงมีบทบาทสำคัญ

ผมพยายามสรุปความเข้าใจมาให้ทุกท่านได้ลองนั่งคิดกับตัวเองว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามนี้ เราจะต้องดำเนินชีวิตกันอย่างไรต่อ ก้าวต่อไปนับจากนี้จะไม่สามารถอ้างอิงหลักการเดิมได้ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ และอาจจะต้องกลับมาคิดใหม่อยู่เรื่อย ๆ  ...ลองดูนะครับ 


1.การเปลี่ยนขั้วอำนาจ จากตะวันตกสู่ตะวันออก (West to East)

ปีที่แล้วเราได้เห็นจีนผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจในโลกธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นชาติมหาศาลอำนาจที่เหนือกว่าทั้งในมิติของเศรษฐกิจและสังคม แต่แน่นอนว่าเศรษฐกิจไม่ได้เป็นแค่เรื่องเดียวที่ทั้งโลกสนใจแล้วในปัจจุบัน

ล่าสุด จีน (และอีกหลายประเทศในเอเชีย) ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความสามารถในการบริหารจัดการเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่าง COVID-19 ได้ดีเพียงใด ในขณะที่ชาติตะวันตกดูจะมีความเปราะบางมากกว่า เมื่อจีนเองมีความโดดเด่นทั้งในมิติของการเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการภาครัฐ ก็ไม่น่าแปลกใจที่หลังจากนี้ 

เราจะเห็นโลกที่มังกรผงาดของจริง เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น



2.แนวคิดประเทศนิยม (Nationalism) เติบโต และความเปราะบางของภาครัฐในยุค Socialized Capitalism 

ในภาวะวิกฤต มักจะสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของแต่ละประเทศในการพึงพาตนเอง ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในบริบทของ Globalization จะทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศเติบโตผ่านการส่งออก (ไทยเป็นหนึ่งในนั้น) จนลืมมองไปว่า แล้วเรานำเข้าอะไรบ้าง (เวเนซูเอล่าเป็นกรณีศึกษาที่ดี) เราพึ่งพาตนเองได้แค่ไหน โดยเฉพาะในเวลาที่เรา

ปิดประเทศ 

เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นชนวนสำคัญที่หลายประเทศจะหันมาดำเนินนโยบายแบบ Nationalism มากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่มันจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของรัฐในการบริหารจัดการสภาวะวิกฤตเท่านั้น มันยังเป็นการตอบรับเสียงเรียกร้องของประชาชน ที่อยากจะเห็นรัฐให้ความสำคัญกับพวกเขาก่อนเป็นอันดับแรกอีกด้วย

การโคจรมาพบกันของอำนาจเงินและเสียงของประชาชนทำให้เราพูดได้เต็มปากว่าเราอยู่ในยุคที่ชื่อ Socialized Capitalism และนี่ก็เป็นอีกโลกที่เราไม่คุ้นเคย


3.เศรษฐกิจไม่ล่มสลาย แต่โครงสร้างธุรกิจเปลี่ยน (Economics Structure) 

หลายคนตั้งคำถามว่าในสภาวะที่ทุกคนหวาดกลัว จะเกิดอะไรขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ แน่หล่ะครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกย่อมไม่ใช่สัญญานที่ดี ราคาน้ำมันตกฮวบย่อมไม่ใช่สัญญานที่ดี แต่ทั้งหมดนั้นมันไม่ได้บ่งบอกถึงความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจหรอก มันแค่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญก็เท่านั้นเอง

การที่ผู้คนไม่ได้เดินห้าง ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่จับจ่ายใช้สอย พวกเขาแค่เปลี่ยนวิธี
การรุมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคสะท้อนให้เห็นว่าในสภาวะวิกฤต ผู้คนกำลังกลับเข้าสู่ปัจจัยพื้นฐาน
ธุรกิจสายการบินจะเกิดการปรับตัวครั้งสำคัญหลังจากนี้  การเดินทางระหว่างประเทศจะไม่กลับมาคึกคักเหมือนแต่ก่อน

ธุรกิจโรงแรมจะไม่สามารถดำรงอยู่ด้วย Business Model ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวได้เพียงอย่างเดียว
ผู้คนเริ่มสับสนว่าจะถือหลักทรัพย์ (ซึ่งกระทบหนักในสภาวะวิกฤต) หรือจะถือเงินสด (ซึ่งมีสภาพคล่องที่สุดและมั่นคงที่สุด)

ธุรกิจสุขภาพจะถูกทดสอบด้วยจริยธรรมอย่างรุนแรงทั้งในมิติของราคาและการให้บริการ
กิจกรรมที่มีการร่วมตัวกัน (Social Gathering) จะต้องถูกออกแบบใหม่
และอื่น ๆ อีกมากมาย

ต้องเข้าใจซะก่อนว่าในวิกฤตนั้น เงินไม่ได้หายไปจากระบบ แต่มันเปลี่ยนเส้นทางออกจากกระเป๋าคนหนึ่ง (ธุรกิจที่เคยโต) ค้างไว้ในกระเป๋าอีกคน (เจ้าของเงิน) และไปยังกระเป๋าอีกคนหนึ่ง (ธุรกิจที่โตในช่วงวิกฤต) แค่นั้น ไม่ง่ายที่หลังจากวิกฤต ธุรกิจขั้วเก่าจะกลับมา และ ก็ไม่ง่ายที่ธุรกิจที่กำลังเติบโตจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ที่แน่ ๆ โครงสร้างของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเปลี่ยนแน่นอน และมันจะอยู่ในรูปแบบที่เราไม่คุ้นเคยเช่นกัน


4.ธรรมชาติ สู่การเยียวยาตัวเอง (Natural Recovering) 

ก่อนที่ COVID-19 จะเกิดขึ้น เราเคยตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ใช่ธรรมชาติ อะไรจะเยียวยาปัญหาที่มนุษย์สร้างและสั่งสมไว้มาอย่างยาวนาน เรานึกภาพไม่ออกเลยว่าเราจะ ลดปริมาณการปล่อย Carbon ลงได้อย่างไร ในเมื่อกิจกรรมทางธุรกิจยังคงดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และ Carbon Emission ยังเป็นปัจจัยสำคัญในทุกห่วงโซ่ แต่สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงก็มาเกิดขึ้นเพราะ

ฝีมือธรรมชาติเอง 


ถึงแม้ว่า COVID-19 จะเกิดขึ้นได้ไม่นาน เราได้เห็นการลดลงของ Carbon Footprint อย่างมีนัยสำคัญ เหตุการณ์ในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นโดยมีเจตนาของมันเอง เราไม่ได้บอกว่าเรายินดีไปกับมัน แต่เราต้องมองอย่างเข้าใจว่าผลกระทบของมันในหลายเรื่องได้แก้ปัญหาที่เกิดจากพวกเราผู้สร้างได้อย่างเบ็ดเสร็จ  จนอดนึกไม่ได้ว่า เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในอีกหลายมิติ ซึ่งสะท้อนสิ่งที่มนุษย์ได้ทำกับโลกไว้ก่อนหน้านี้


5.ค่านิยมเชิงสังคมกับบททดสอบมหภาค (Social Values)

ถามว่าสังคมของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมขนาดไหน ผมคิดว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงแทบจะหน้ามือเป็นหลังมือ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเราซักเท่าไหร่ เอาเข้าจริง ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระดับบุคคลด้วยซ้ำ ค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้นจึงไม่ถูกให้ความสำคัญจนกระทั่งวันที่สังคมและพวกเราทุกคนโดนทดสอบ

จะบอกว่ามนุษย์มีความเป็นปัจเจกมากขึ้นก็คงจะไม่ผิด เรามีวิธีคิดในแบบของเรา เชื่อในแบบของเรา ทำในแบบของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นผลดีต่อการบริหารจัดการมหภาคในสภาวะวิกฤต ซึ่งต้องการผู้ฟังที่ดีและผู้ตามที่ดี ในขณะที่ค่านิยมใหม่ในสังคม ทุกคนมีสิทธิและมีเสียงในการพูด COVID-19 เป็นเครื่องพิสูจน์สถานการณ์นี้เป็นอย่างดี  ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง และความเป็นจริง คือ ระบบสาธารณสุขไม่มีทางรองรับทุกคนได้

ก็น่าสนใจว่า นับจากนี้ หากเกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นอีก เราจะขับเคลื่อนในเชิงสังคมได้อย่างไร ในวันที่ความเป็นสังคมนั้น ไม่ได้มีอยู่จริงอีกต่อไป ทุกคนแค่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกันแบบต่างคนต่างอยู่ นี่คือโลกอีกแบบที่มันไม่ได้เดินไปในทางเดียวกันเหมือนแต่ก่อน


6.กลับสู่การดำรงชีวิตแบบนอกระบบ (Off Grid) 

การดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สภาวะพึ่งพาก็กำลังถูกทดสอบเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในสังคมมนุษย์ ที่พวกเราจะต้องดำรงอยู่ได้โดยพึ่งพาตัวเอง (สมัยปู่ย่าเราก็ชัดเจน) แต่ความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นจากโลกธุรกิจและเทคโนโลยีทำให้เราห่างหายจากการพึ่งพาตนเอง จนแทบจะเรียกได้ว่ามา พึ่งพา ระบบโดยสมบูรณ์แบบ (On Grid)

เรากินข้าวนอกบ้าน
ส่งลูกไปโรงเรียน
พึ่งพาไฟฟ้า
พึ่งพายานพาหนะ
พึ่งพาเครื่องมือที่ช่วยในการทำงาน
ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย (แต่ซ่อมเองไม่ได้)
แม้กระทั่งการซักผ้าเรายังต้องพึ่งพาระบบ

การพึ่งพาระบบก่อให้เกิดปัญหาสองอย่าง
อย่างแรก คือ ความกลัวต่อระบบล่ม
และสองความไม่สามารถพึงพาตนเองได้
ทั้งสองสิ่งนี้จะเห็นได้ชัดในช่วงที่เกิดวิกฤตต่าง ๆ


COVID-19 เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ทำให้เราเห็นปัญหาดังกล่าวชัดเจนขึ้น เมื่อต้องออกมาใช้ชีวิตแบบ Off Grid  เราจึงเริ่ม

กลัวที่จะไม่มีของอุปโภคบริโภค
กลัวที่จะไม่ได้เดินทางไปไหนมาไหน
กลัวที่จะดำรงอยู่ไม่ได้โดยไม่มีสิ่งเหล่านี้เหล่านั้น
กลัวจะต้องตัดขาดจากโลกภายนอก

และท้ายที่สุด ความกลัวนี่แหละครับที่นำไปสู่ปัญหาที่แท้จริง เพราะเมื่อผู้คนกลัว การแย่งชิงทรัพยากรจะเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลานั้น กลไกการตลาดจะทำงานด้วยตัวมันเอง มองในมิติของสินค้า ถ้าสินค้าหมด ผู้คนจะยิ่งอยากได้ ถ้าสินค้าไม่หมด มันก็จะถูกผลักดันให้ราคาสูงจนมีแค่บางกลุ่มคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึง

การเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ทั้งในโลก Off Grid และ On Grid จึงเป็นเรื่องสำคัญ และมันเป็นพฤติกรรมใหม่ที่เราควรจะมีในโลกที่ไม่คุ้นเคย


7.การเข้าสู่สังคมดิจิทัล (Digital Society) โดยสมบูรณ์

วิธีที่เดียวที่จะทำให้ผู้คนดำรงอยู่แบบ Off Grid และไม่ตัดขาดจากโลกภายนอก คือ การเข้าสู่โลกดิจิทัล แน่นอนว่า ถ้าไม่ใช่พิบัติภัยทางธรรมชาติ การติดต่อสื่อสารและการเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตจะยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ จากเดิมที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลประมาณหนึ่ง ควบคู่ไปกับกิจกรรมในด้านอื่น ๆ เช่น การทำงาน การเดินทางไปข้างนอก

คราวนี้พวกเขาจะมีเวลาอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่กิจกรรมดิจิทัลจำนวนหนึ่ง ซึ่งรอเข้ามาแทนที่พฤติกรรมปกติ เช่น การซื้อสินค้าออนไลน์ การสั่งอาหาร การสร้างความคุ้นเคยกับการไม่ใช่เงินสด จะแทรกซึมเข้ามาสู่ชีวิตเราโดยสมบูรณ์ การเข้ามาของพฤติกรรมเหล่านั้นจะเข้ามาแทนที่พฤติกรรมก่อนหน้า เป็นไปได้ว่าในอนาคต เราอาจจะไม่เห็นผู้คนทานข้าวในร้านอาหาร แต่ทุกคนสั่งมาทานที่บ้านกันหมด และคนที่อยู่ที่ร้านอาหารอาจจะเป็น Messenger ทั้งหมด

การดูหนัง ซีรี่ย์ หรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จะยิ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น เพราะผู้คนสามารถให้เวลากับมันได้มากขึ้น ทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรหลังจากที่เราผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ นา ๆ ไปแล้ว มันจะกลับไปสู่สภาวะเดิม หรือเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง แต่ที่แน่แน่ความเป็นสังคมดิจิทัลจะฝังรากลึกกว่าเดิมแน่นอน และมันจะยิ่งทำให้แต่ละช่วงอายุของคนมีความแตกต่างกันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


8.สถานการณ์แบบ Set Zero 

วิกฤตที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 เป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต ย้ำว่าทุกชีวิต นั่นแปลว่าทุกคนกำลังกลับเข้ามาสู่การเล่นในเกมส์เดียวกันอีกครั้ง ยักษ์ใหญ่สามารถล้มได้ รายเล็กที่มองเห็นโอกาสก็เติบโตได้ รัฐบาลมีโอกาสได้แสดงฝีมือ พฤติกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เช่นกัน สถานการณ์แบบนี้ เป็นได้ทั้งวิกฤตและโอกาส

ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนในการจะไขว่คว้า จนถึงเวลานี้ ความพร้อมและทัศนคติจึงถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะสะท้อนให้เห็นถึง Resilience หรือความสามารถในการกลับมา (หลังจากผ่านความยากลำบาก) ของแต่ละคน การมีสติและการตั้งคำถามที่ถูกต้องจะช่วยให้เราได้มุมคิดในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนได้


9.คลื่นลูกที่ 5 และสิ่งที่เกิดจะคาดเดา 

ท้ายที่สุด อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ต่อไป ไม่มีใครตอบได้ เพราะเพียงแค่ 3 เดือน เราเจอเรื่อง Surprise กันแบบไม่หยุดหย่อน เรื่องข้างหน้า จึงเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะคาดเดา เรากำลังเผชิญหน้ากับคลื่นลูกที่ 5 ซึ่งไม่มีสัญญานใด ๆ ทุกอย่างพร้อมที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ และกำลังทดสอบว่า มนุษย์ มีความสามารถแค่ไหนและที่สำคัญ พวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากแค่ไหน

แน่นอนครับ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่มีทางหายไปโดยง่าย มันจะวนอยู่กับเราและคำถามสำคัญ คือ เราจะ“อยู่กับมัน” ได้อย่างไร การปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ไม่ว่าอะไรก็ตามและไม่ว่าโครงสร้างและระเบียบของโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เราก็ยังมั่นใจได้ว่า มนุษย์จะสามารถเอาตัวรอด และเจริญก้าวหน้าต่อไปได้

นี่แหละครับ มนุษย์ ความสามารถในการดำรงอยู่ คือ พื้นฐานที่ทุกคนมี 

ขอให้โชคดีกับโลกใบใหม่ (ในขวดใบเดิม)
ปิยะชาติ (อาร์ม)

ขอบคุณภาพจาก Google

Credit Line

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563

วิเคราะห์และสรุป โอกาสการลงทุนของนักลงทุนจีนในย่านอาเซียน หลังเหตุการณ์แพร่ระบาดCOVID-19



วิเคราะห์และสรุป
โอกาสการลงทุนของนักลงทุนจี

ในย่านอาเซียน หลังเหตุการณ์
แพร่ระบาดCOVI
D-19

*******************

วันที่ 6 มีนาคม 2563

เมื่อเช้านี้ผมมีโอกาสได้อ่านบทความของ South China Morning Post สื่อชื่อดังของฮ่องกง เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จีนต้องเผชิญอันมาจากการระบาดหนักของ COVID-19

โดยในบทความนั้นสรุปไว้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปี 2020 จะปรับลดลง โดยIMF คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของจีนจะลดต่ำลงกว่า 5.6%

ในแง่ของ PMI ( Purchasing Managers’ Index) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เป็นอีกหนึ่งดัชนีบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการ ซึ่งในจีน Caixin Media Company Ltd. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำดัชนี

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Caixin เผยว่า PMIของจีนลดลงจาก 51.8% เดือนมกราคม เหลือ 26.5% เนื่องจากกำลังผลิตส่วนใหญ่ได้รับการผลกระทบโดยตรงจากCOVID-19 จึงมีการปิดโรงงาน โดยภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ก็ได้รับกระทบหนัก จากนโยบายจีนปิดเมือง เพื่อสู้ศึกCOVID-19

แต่ล่าสุดจีนได้อัพเดทสถานการณ์ในจีนต่อIMF โดยระบุว่า ณ ขณะนี้ กำลังการผลิตในจีนเริ่มเพิ่มขึ้นทะลุ 60% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

แม้ว่าในภาพรวม เศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดในครั้งนี้ แต่ภายใต้ วิกฤติ มีโอกาสซ่อนไว้อยู่เสมอ

อย่างในครั้งนี้ ที่เห็นชัด ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล - การขับเคลื่อนโดยการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ในขณะที่ประชาชนไม่ออกจากบ้าน

ตัวอย่างเช่น 9วันแรกของเทศกาลตรุษจีน (ตั้งแต่ 25 ม.ค. 63) ยอดสั่งซื้อสินค้าอาหารสดและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำผ่านแพลทฟอร์ม JD.com มีการเติบโตถึง 215% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า

ขณะที่ 每日优鲜 หรือ Miss Fresh สตาร์ทอัพ Food Deliveryที่มาแรงมากในจีน (มี Tencent Holdings เป็นแบ็กอัพในการลงทุน) ก็เติบโตอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงแรกของการระบาด ซึ่งจำนวนรายการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 300% เลยทีเดียว

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากจีนเริ่มมีสถานการณ์ดีขึ้นและผ่อนปรนนโยบายปิดเมืองอู่ฮั่น :หลังจากร้านต่างๆเริ่มกลับมาเปิดให้บริการประมาณ57% เมื่อวันที่ 25 ก.พ.63 พบว่าแค่วันนั้นเพียงวันเดียว ก็มียอดสั่งอาหารออนไลน์ในเมืองอู่ฮั่น 130,000รายการ

ตัวอย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างได้อย่างดีว่า แม้วิกฤติจะเริ่มผ่านพ้น แต่คนจีนทุกช่วงวัยได้คุ้นชินกับการใช้บริการออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

นี่คือเหตุผลที่ "จีนกำลังจะขยับขยายมาย่านอาเซียนมากขึ้น เนื่องด้วยเหตุผลการเติบโตของธุรกิจที่ปรับจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์"

ในช่วงเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว (2019) มีรายงานจาก GlobalTimesสื่อจีนว่า ย่านอาเซียน ASEAN กำลังเป็นย่านที่นักลงทุน Venture Capital จีน หอบเงินมาลงทุนมากที่สุด

3ปีมานี้ ที่Venture Capitalจีน เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดอาเซียน และมีแนวโน้มลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างในครึ่งแรกของปีนี้ 2019 ก็มีการลงทุนในภูมิภาคนี้ไปแล้วกว่่า 667ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สูงถึง 350%

3ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนในธุรกิจ Startupภูมิภาคอาเซียน 2.6หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยครึ่งหนึ่ง มาจาก VCจีน

เหตุผลหลักที่ VCจีน หันมาลงทุนย่านอาเซียน เพราะมองเห็นโอกาสของตลาดอาเซียน โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ที่มีจำนวนผู้ใช้งานออนไลน์กว่า 350ล้านคน จากประเทศกลุ่มอาเซียน อาทิ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, ไทย และเวียดนาม โดยธุรกิจที่มีแรงดึงดูดกลุ่มทุนจีนมากที่สุด คือ กลุ่มเทคโนโลยีใหม่ (AI, FinTech, blockchain) และธุรกิจสุขภาพ-การแพทย์

จากการพูดคุยกับเพื่อนๆชาวจีนที่เป็นนักธุรกิจและนักลงทุน พบว่า นอกจากกลุ่มทุนจีนจะมาลงทุนในธุรกิจstartup ยังเลือกมาลงทุนในบริษัท-องค์กรที่ดำเนินธุรกิจมาสักระยะใหญ่ๆและมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีในอนาคต อย่างบริษัทหลายแห่งในไทยโดยเฉพาะสายดิจิทัล-ออนไลน์ ก็มีกลุ่มทุนจีน-บริษัทยักษ์ใหญ่ในจีนมาร่วมลงทุน

.

อ้ายจงอ้างอิงจาก

http://www.xinhuanet.com/english/2020-02/11/c_138774617.htm
https://www.scmp.com/news/china/money-wealth/article/3065082/coronavirus-imf-again-cuts-2020-china-growth-forecast-covid
- GlobalTimes

#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
https://www.blockdit.com/articles/5e61b50db0543a043e2637c8/#