วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

Made in China 2025: จีนกับแผนกลยุทธ์เพื่อก้าวสู่ผู้นำเทคโนโลยี




Made in China 2025: จีนกับแผนกลยุทธ์
เพื่อก้าวสู่ผู้นำเทคโนโลยี

        เมื่อพูดถึง Tech Scene ในประเทศจีน นอกเหนือจากบริษัทไอทีรายใหญ่แล้ว ส่วนหนึ่งที่ช่วยเร่งการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศจีนคือภาครัฐผู้ออกนโยบายผลักดัน ซึ่งนโยบายที่น่าสนใจที่สุดหนีไม่พ้น Made in China 2025 ที่ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยการค้นคว้าเทคโนโลยี Deep Technology เป็นการเฉพาะแล้ว Made in China 2025 มีจุดแข็งและลักษณะสำคัญอย่างไร Digital Ventures จะขอพาไปทำความรู้จักนโยบายนี้กัน



แรงบันดาลใจของ Made in China 2025
อุตสาหกรรมจีนตามแผนพัฒนาเชิงรุกด้านเทคโนโลยี ( Made  in China 2025) ได้รับแรงบันดาลใจจากแผนอุตสาหกรรม 4.0 ของเยอรมนี มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ครองตลาดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของโลกผ่าน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แผนดังกล่าวทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งด้านเศรษฐกิจนวัตกรรมทัดเทียมกับประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมอย่างสหรัฐฯ

จุดแข็งของแผนพัฒนาเชิงรุกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศจีน

ผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาทำให้ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศจีนถูกนำมาวิเคราะห์จากหลายประเทศถึงการพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของวงการเทคโนโลยีประเทศจีน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าผลประกอบการด้านธุรกิจนวัตกรรมของจีนมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด สวนทางกับการเป็นประเทศรับจ้างผลิตที่หลายคนรู้จัก โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
  • จีนมีจุดแข็งในเรื่องฐานผู้บริโภคจำนวนมากติดอันดับโลก จากการจัดอันดับจำนวนประชากรแต่ละประเทศในปี 2019 โดย Worldometers ประเทศจีนยังคงเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกที่ 1,400 ล้านคน จำนวนประชากรเป็นจุดสำคัญทั้งในแง่ของบุคลากรที่จะเข้ามาใน Tech Scene และในแง่ฐานผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล
  • เข้มงวดกับธุรกิจเทคโนโลยีต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ จีนเป็นประเทศที่เข้มงวดกับบริษัทต่างชาติที่ต้องการทำธุรกิจในประเทศจีนอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยีซึ่งปัจจุบัน บริษัทไอทีรายใหญ่ของโลกอย่าง Google หรือ Facebook ยังติดเงื่อนไขหลายประการจนไม่สามารถเข้าดำเนินธุรกิจในจีนได้เต็มที่นัก
     
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้จีนผลักดันบริการรูปแบบเดียวกันในประเทศจีนได้ง่าย ซึ่งช่วยผลักดันนวัตกรรมของประเทศไปในตัว เช่น E-Commerce ของ Alibaba, Social Media ของ Tencent หรือ Digital Service จาก Baidu

กลยุทธ์พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทางการค้า
ประเทศจีนนอกจากเป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนเทคโนโลยีให้กับหลายแบรนด์ชั้นนำระดับโลกแล้ว ยังนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในปัจจุบัน จากรายงานของ SCB Economic Intelligence Center ได้วิเคราะห์รูปแบบการพัฒนานวัตกรรมของประเทศจีนไว้ 4 กลยุทธ์ ดังนี้
  • ผลิตตามต้นแบบ (Adopter) ในหลายปีที่ผ่านมาประเทศจีนเป็นกลุ่มประเทศที่รับจ้างผลิตอุปกรณ์ให้หลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยี ทำให้มีความรู้จากการผลิตตามต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดได้  
  • ปรับเปลี่ยนต้นแบบเพื่อผลิตเอง (Adapter)  เมื่อได้ความรู้และรูปแบบการผลิต การสร้างผลิตภัณฑ์จึงสามารถทำได้ไม่ยากรวมถึงการผลิตเอง
  • สังเคราะห์และพัฒนาเพิ่มเติมจากต้นแบบ (Applier) จุดนี้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันในเกิดนวัตกรรมที่ประเทศจีนสามารถทำได้ดี การพัฒนาเพิ่มเติมจากต้นแบบ จากองค์ความรู้ที่มีและการผลิตแบบดั้งเดิมเพื่อเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ให้เหนือกว่าต้นแบบ
  • คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovator)  การต่อยอดจากสิ่งที่มีโดยสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตทางเทคโนโลยีเราจะเห็นได้จากปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศจีน เช่น การพัฒนาระบบ AI โดยการนำความสามารถมาต่อยอดในหลายธุรกิจ รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์

นับได้ว่าแผนการพัฒนา 4 กลยุทธ์  เป็นต้นแบบด้านการพัฒนาวงการเทคโนโลยีในเอเชียที่ประสบความสำเร็จ แต่กลยุทธ์ดังกล่าวอาจไม่เพียงพอกับอนาคต จีนจึงมีแผนการพัฒนาที่ไปไกลกว่านั้นด้วยการหันมาพัฒนานวัตกรรมจาก Deep Technology ด้วยตัวเอง


10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (Made in China 2025)
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีนได้ริเริ่มตั้ง “แผนพัฒนาเชิงรุกด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ( Made in China 2025)” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างนวัตกรรมภายใต้แนวคิดผลักดันการผลิตด้วยนวัตกรรมชั้นสูงที่มุ่งสร้างคุณภาพมากกว่าปริมาณ การผลิตที่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์สินค้าจีน การบ่มเพาะบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวม และการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้  Made in China 2025  มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาในอนาคตทั้งหมด 10 อย่าง ได้แก่
  • อุตสาหกรรมสารสนเทศ ที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีความเร็วสูงโดยการนำความสามารถของ Deep Tech อย่าง Quantum Computing และ Artificial Intelligence เข้ามาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
  •  อุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์อัจฉริยะ สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติและฉลาดขึ้นโดยสามารถคิดวิเคราะห์รวมถึงเข้าใจภาษาของมนุษย์มากขึ้น
  •  อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินและยานอวกาศ ตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้นำการผลิตนวัตกรรมเครื่องบินและยานอวกาศที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก
  •  อุตสาหกรรมนวัตกรรมการต่อเรือ การสร้างเรือจากเทคโนโลยี Deep Tech เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
  •  อุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ การผลิตเทคโนโลยีไฟฟ้าความเร็วสูงด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย
  •  อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ การผลิตยานยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือกใหม่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
  •  อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์พลังงาน เป้าหมายคือการค้นคว้าและวิจัยเพื่อสร้างพลังงานทางเลือกใหม่ให้เกิดขึ้นและนำมาใช้ได้จริง
  •  อุตสาหกรรมการเกษตร โดยสร้างเกษตรนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์การผลิตและเศรษฐกิจ
  •  อุปกรณ์การผลิตวัตถุดิบใหม่ โดยสร้างนวัตกรรมการผลิตที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ในยุคเทคโนโลยี
  •  อุตสาหกรรมทางการแพทย์  พัฒนายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

แผนการพัฒนาเชิงรุกด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ( Made in China 2025) ทำให้จีนเป็นประเทศที่น่าจับตามองยิ่งขึ้น ซึ่งที่มีแนวโน้มในทางที่ดีด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐอันเป็นผู้วางแผนงานใหญ่เช่นนี้นั่นเอง หากมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับแผนการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศจีนอีก Digital Ventures จะนำเสนอให้ได้ติดตามกันในบทความต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก scbeic.com,  worldometers.com, china-briefing.com และ nytimes.com

แหล่งข้อมูล
http://dv.co.th/blog-th/Made-in-China-2025/