วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562

ไม่อยากให้ลูกเป็น “โรคสมาธิสั้น” ควรทำอย่างไร



ไม่อยากให้ลูกเป็น “โรคสมาธิสั้น”
หยุดหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้!!!

คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้ เลือกที่จะฝากลูกไว้กับพี่เลี้ยงจำเป็นสายเอนเตอร์เทน ที่มาพร้อมกับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน สามารถพกพาไปไหนต่อไหนก็ได้   ช่วยให้ลูกไม่วิ่งซน  อีกทั้งยังช่วยทำให้ลูกได้กินข้าวเยอะขึ้นอีกด้วย!
แต่หารู้ไม่ว่า พี่เลี้ยงคนนี้นี่ล่ะ ที่ดูเหมือนจะใจดี กลับกลายเป็นพี่เลี้ยงเลือดเย็น ที่จะมาทำร้ายลูกน้อยของเราโดยที่ไม่รู้ตัว ดังที่คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่า มีหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ที่ออกมาช่วยกันรณรงค์ให้คุณพ่อคุณแม่พยายามหยุดเลี้ยงลูกด้วยมือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ที่ดูแล้วน่าห่วงเป็นที่สุด
ด้วยวัยของพวกเขาที่กำลังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้และการพัฒนา อาจส่งผลกระทบให้ลูกต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น สายตาสั้น โรคส่วนตัวสูง มีปัญหาในการเข้าสังคม ไม่พูดจากับใคร  อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ที่สำคัญส่งผลร้ายแรงจนทำให้เด็กกลายเป็นโรคสมาธิสั้น!
จากปัญหานี้เอง ทำให้อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ต้องออกมาเตือนคุณพ่อคุณแม่ทุกคน ให้หยุดหยิบยื่นและฝากลูกไว้กับสิ่งเหล่านี้เสียที!!
อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยเด็กไทยป่วย “ไฮเปอร์” กว่า 4.2 แสนคน แถมเด็กเล็กป่วย “ไฮเปอร์เทียม” อีกเพียบ โดยต้นเหตุนั้นมาจากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยลูกไว้กับมือถือ แท็บเล็ต จนกระทบการทำงานสมอง พูด อ่าน เขียนแย่ แนะให้ลูกเลิกเล่นมือถือ และปล่อยเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่า ในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 6-15 ปี ที่มีปัญหาผลการเรียนไม่ดี เรียนไม่ทันเพื่อนนั้นมักจะพบมี 4 โรคทางจิตเวชแอบแฝงที่พบบ่อย คือ
1.ออทิสติก
2.สมาธิสั้น
3.แอลดีหรือภาวะบกพร่องในการเรียนรู้
4.สติปัญญาบกพร่อง
จากสถิติพบว่า มีเด็กป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นพบมากที่สุด ซึ่งผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตปี 2559 ร้อยละ 5.4 คาดว่ามีเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น 420,000 คน จากประชากรเด็ก 7 ล้านคน หรือพบได้ 2-3 คนต่อห้องเรียนที่มีเด็ก 40-50 คน และพบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งอาการที่แสดงออกได้แก่ ซนอยู่ไม่นิ่งขาดสมาธิ หุนหันพลันแล่น หรือมักเรียกว่า “โรคไฮเปอร์” โดยเด็กจะวอกแวก ทำงานตก ๆ หล่น ๆ ทำอุปกรณ์การเรียนหายประจำ ซุ่มซ่าม ใจร้อน วู่วาม ซึ่งเกิดจากสมองทำงานผิดปกติ และมักมีอาการชัดเจนในช่วงประถมศึกษา
นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า หากผู้ปกครองหรือครูไม่เข้าใจ และคิดว่าเป็นเด็กซน เด็กดื้อ จะทำให้เด็กขาดการรักษาที่ถูกต้อง เกิดปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมที่อาจส่งผลถึงอนาคตได้ เช่น เสี่ยงติดสารเสพติด ก่ออาชญากรรม เป็นต้น
และที่น่าห่วงมากขณะนี้ พบว่าเด็กเล็กที่ปกติกลายเป็นโรคไฮเปอร์เทียมมากขึ้น คือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์ แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ตามใจ ปล่อยให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เล่นแท็บเล็ต สมาร์ทโฟนเพื่อทำให้เด็กนิ่ง ไม่ซน แต่ในวงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกมซึ่งเปลี่ยนเร็วทุก 3 วินาที จะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่าน การเขียน การพูดของเด็กแย่ลง อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น นพ. บุญเรือง กล่าวเพิ่มเติม
ดังนั้นขอเตือนผู้ปกครองระวัง อย่าให้เด็กเล็กเล่นเกมจากอุปกรณ์เหล่านี้ หากให้หยุดเล่นได้เร็วอาการจะค่อย ๆ หายไป และควรให้เด็กได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อให้เด็กมีทักษะและพัฒนาการทุกด้าน

โรคสมาธิสั้น ADHD คืออะไร?

โรคสมาธิสั้นคือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กที่มีอายุก่อน 7 ปี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก กลุ่มอาการนี้ได้แก่ ขาดสมาธิ  การขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และ อาการซน เป็นต้น

วิธีการสังเกต

ไม่สามารถทำงานที่ครู หรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
ไม่ค่อยสนใจฟังเวลาที่พูดด้วย
วอกแวกง่าย
ไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อย
ทำของใช้ส่วนตัวหรือของใช้จำเป็นหายบ่อย
ยุกยิก อยู่ไม่สุข
รอคอยไม่เป็น
ชอบพูดจาแทรกเวลาที่คนอื่นกำลังพูดอยู่
ตื่นตัวตลอดเวลา และตื่นเต้นง่ายคุณพ่อคุณแม่คะ สิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่มีผลกระทบกับลูกด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อเกิดผลดีกับลูกของเรา  ควรหลีกเลี่ยง  แล้วพาลูกออกไปเรียนรู้โลกกว้างที่แท้จริงกันดีกว่าค่ะ
เครดิต: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

รู้จักแผน IEP และ แผน IIP





แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล  (Individualized Education Program: IEP) 
และแผนการสอนเฉพาะบุคคล(Individual Implementation Plan: IIP) ต่างกันอย่างไร


แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล  (IEP)  เป็นแผนการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นรายบุคคล  โดยมีแผนระยะยาวและระยะสั้น  โดยปกติจะเป็นแผนระยะ  1  ปี  และมีการทบทวนทุกภาคเรียน  การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลนั้น ๆ  ทุกฝ่ายจะมีส่วนร่วมพิจารณาในการจัดบริการทางการศึกษาให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของเด็ก  ทั้งการจัดการเรียนการสอน  การวัดประเมินผล  และบริการพิเศษ  ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา  แผนการสอนเฉพาะบุคคล  (IIP)  เป็นแผนการสอนจัดขึ้นเฉพาะเจาะจงสำหรับนักเรียนคนนั้นเพื่อช่วยให้นักเรียนบรรลุจุดประสงค์  และเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน  IEP
ในโรงเรียนหนึ่งควรรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมกี่คนจึงจะเหมาะสม จำนวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่จะเข้าไปเรียนรวมนั้น  ไม่มีเกณฑ์กำหนดตายตัวแต่โดยทั่วไปในทางปฏิบัติการให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษขึ้นมาเรียนรวมในห้องเรียนปกติห้องเรียนหนึ่งไม่ควรเกิน  3 คน หรืออาจมากกว่านั้น โดยให้คำนึงถึงประเภทระดับความพิการ และความพร้อมของเด็กด้วย
หลักสูตรและการวัดประเมินผลเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะแตกต่างกับเด็กปกติหรือไม่ เด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกคนจะต้องมีแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล  (Individualized  Education  Program  : IEP)  สำหรับเด็กปกติจะมีเกณฑ์มาตรฐานซึ่งกรมวิชาการกำหนดไว้  เด็กที่มีความต้องพิเศษมีมาตรฐานเป็นรายบุคคลเพราะมาตรฐานของเด็กที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคนไม่เท่ากัน  การจัดหลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะใช้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นศูนย์กลาง  หลักสูตรต้องสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคน  สอนตามความต้องการของเด็ก  สอนไปวัดผลไปการวัดผลเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะประเมินตามที่กำหนดไว้ใน  IEP  ประเมินความก้าวหน้าของเด็ก
การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  ควรจัดอย่างไร การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษควรจัดเป็นรายบุคคล  เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน  การศึกษาจึงควรสนองความต้องการของเด็กเด็กที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคนจึงต้องมีแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล  (IEP)  แต่การสอนอาจรวมกลุ่มสอนเป็นกลุ่มเด็ก ๆ ได้ หากเด็กมีแผนการจัดการศึกษา เฉพาะบุคคลคล้ายกัน
หลักสำคัญในการจัดการเรียนการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่ครูพึงกระทำมีอะไรบ้าง หลักสำคัญมีดังนี้  ขอให้มีน้ำใจ  โอบอ้อมอารี  และอีกประการคือ  ต้องรู้จักสังเกตพฤติกรรม  เข้าใจเด็ก  ค้นหาปัญหาของเด็กว่าอยู่ที่ไหน  ความต้องการของเด็กอยู่ที่ไหน  สิ่งไหนเด็กชอบ  สิ่งไหนเด็กไม่ชอบ  ทำอย่างไรเด็กจึงจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น  ครูปกติที่ไม่ได้รับการอบรมก็สามารถสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้  หากเป็นคนช่างสังเกตและใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม  นั่นคือ  หลักสำคัญในการสอน  การสังเกตเป็นวิธีการวิทยาศาสตร์  ถ้าครูนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนก็จะสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ทุกคน
จำเป็นหรือไม่ที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะต้องเรียนกับครูที่จบการศึกษาพิเศษโดยตรง โดยหลักการครูที่จบการศึกษาพิเศษจะมีความรู้ด้านการศึกษาพิเศษมากกว่าครูที่ไม่ได้เรียนมาด้านนี้  แต่การเป็นครูที่ดียังมีองค์ประกอบอื่นอีกหลายประการ  เช่น  การเอาใจใส่  ความช่างสังเกต  ความมั่นใจ  การตั้งใจสอน  รู้จักสังเกตพฤติกรรม  ครูที่สอนให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของเด็ก  ครูที่เอาใจใส่เด็ก ครูที่ไม่ดุเด็ก  ไม่ลงโทษเด็กโดยใช้วาจาหยาบคาย  ด่าทอ  เฆี่ยนตี  ครูที่รู้จักให้กำลังใจให้แรงเสริมเด็ก  ครูประเภทนี้จะสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ได้  พบว่า  ครูบางคนไม่จบการศึกษาพิเศษ  แต่สอนเด็กได้ดีกว่าครูที่จบการศึกษาพิเศษบางคนก็มี
การสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  เป็นหน้าที่ของครูทางการศึกษาพิเศษเท่านั้นใช่หรือไม่ การให้การศึกษาแก่เด็กเป็นหน้าที่ของทุกคนในโรงเรียนควรถือเป็นหน้าที่โดยตรง  สำหรับครูที่สอนเด็กปกติจะต้องสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนรวมในโรงเรียนเดียวกัน  หากครูที่สอนเด็กปกติไม่มีความรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ควรเป็นหน้าที่ของครูคนนั้นที่จะต้องใฝ่หาความรู้จนสามารถสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้


รู้จักเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา


รู้จักเด็กบกพร่องทางสติปัญญา
ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา / ภาวะปัญญาอ่อน
(Intellectual Disabilities / Mental Retardation)

    ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เป็นภาวะที่มีพัฒนาการบกพร่องซึ่งทำให้มีข้อจำกัดด้านสติปัญญา
การเรียนรู้และการปรับตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันเริ่มมีการใช้คำว่า บกพร่องทางสติปัญญา
แทนภาวะปัญญาอ่อนมากขึ้น  ในองค์กรระดับนานาชาติ เช่น IASSID (International Association
for the Scientific Study of Intellectual Disabilities) WHO (World Health Organization)
WPA (World Psychiatry Association) รวมทั้ง AAMR (The American Association on Mental
Retardation) หรือสมาคมบุคคลปัญญาอ่อนแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยสหวิชาชีพจากทั่วโลก
และก่อตั้งมาเป็นเวลานาน 130 ปี ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The  American Association of  Intellectual 
and Developmental Disabilities (AAIDD) เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เพื่อเสนอแนวทางที่จะทำให้
สังคมยอมรับผู้บกพร่องทางสติปัญญามากขึ้น

คำจำกัดความของภาวะบกพร่องทางสติปัญญาหรือภาวะปัญญาอ่อน

   บุคคลบกพร่องทางสติปัญญา มักมีพัฒนาการด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ ภาษา
และสติปัญญาล่าช้ากว่าบุคคลทั่วไป
   ตามเกณฑ์ของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders,
Fourth Edition, Text Revision (DSM- IV-TR) โดย American Psychiatric
Association (APA)  ในปีพ.ศ.2543 ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาหรือภาวะปัญญาอ่อน
หมายถึง ภาวะที่มี
          1.ระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย    
          2.พฤติกรรมการปรับตนบกพร่องตั้งแต่ 2 ด้านขึ้นไป จากทั้งหมด 10 ด้าน
          3.อาการแสดงก่อนอายุ 18 ปี


เชาวน์ปัญญา
          เกณฑ์ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาด้านเชาวน์ปัญญา คือการมีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่า 70


พฤติกรรมการปรับตน
          หมายถึง การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นความสามารถของบุคคลนั้น
ที่จะสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองในสังคม ประกอบด้วย
    1. การสื่อความหมาย (Communication)
    2. การดูแลตนเอง (Self-care)
    3. การดำรงชีวิตภายในบ้าน (Home living)
    4. การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม (Social and Interpersonal Skills)
    5. การใช้แหล่งทรัพยากรในชุมชน (Use of Community Resources)
    6. การควบคุมตนเอง (Self- direction)
    7. การนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน (Functional Academic Skills)
    8. การใช้เวลาว่าง (Leisure)
    9. การทำงาน (Work)
   10. การมีสุขอนามัยและความปลอดภัยเบื้องต้น (Health and Safety)


                             


     การประเมินพฤติกรรมการปรับตนตามเกณฑ์การวินิจฉัยในปี พ.ศ.2535
ซึ่งจะต้องบกพร่องอย่างน้อย 2 ด้านจาก 10 ด้าน ในทางปฏิบัติไม่มีเครื่องมือใด
เครื่องมือหนึ่งที่จะประเมินได้ครบทั้ง 10 ด้าน ในครั้งที่ 10
     เมื่อปี พ.ศ.2545 AAMR จึงได้ปรับเกณฑ์การวินิจฉัยเรื่องพฤติกรรมการปรับตน
เป็นการปฏิบัติตนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในข้อ ก หรือ ข้อ ข ดังนี้
          ก. ทักษะด้านใดด้านหนึ่งใน 3 ด้านของพฤติกรรมการปรับตน
ได้แก่ ทักษะด้านความคิดรวบยอด (conceptual skills) ทักษะด้านสังคม (social skills)
หรือทักษะด้านการปฏิบัติตน (practical skills) หรือ
          ข. ทักษะทั้ง 3 ด้าน ตามข้อ ก โดยดูจากคะแนนรวมทั้งหมด

          ทั้งนี้การประเมินพฤติกรรมการปรับตนนี้ AAMR หรือ AAIDD ได้พัฒนาเครื่องมือ
การประเมินคือ Diagnostic Adaptive Behavior Scale เพื่อให้การประเมินมีมาตรฐานมากขึ้น


แบบประเมิน
เครื่องมือประเมินพัฒนาการและระดับเชาวน์ปัญญา
- Bayley Scales of Infant Development
- Wechsler Preschool and Primary Scale of Intelligence III
- Stanford-Binet Intelligence Scale (5th Ed)
- Kaufman Assessment Battery for Children II
- Wechsler Intelligence Scale for Children (WICS-IV)
 เครื่องมือประเมินพฤติกรรมการปรับตน
- Vineland Adaptive Behavior Scale II (VBAS II)
- AAMR Adaptive Behavior  Scales-School (ABS-s II)
- Diagnostic Adaptive Behavior Scale

          แบบทดสอบเชาวน์ปัญญาที่นิยมใช้เป็นมาตรฐานในประเทศไทย
ได้แก่ Stanford-Binet Intelligence Scale และ Wechsler Intelligence Scale for Children 
ส่วนเครื่องมือวัดพฤติกรรมการปรับตนที่ใช้ ได้แก่ Vineland Adaptive Behavior Scales     


http://rajanukul.go.th/new/index.php?mode=academic&group=269&id=3228&date_start=&date_end


                  *****************************  



                                                          
                         




เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

   "เด็กดาวน์ซินโดรม" เรียนหนังสือในโรงเรียนปกติได้หรือไม่ได้  แต่ต้องเลือกโรงเรียนที่มีนโยบายรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วม การส่งเด็กดาวน์ซินโดรมเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในระดับก่อนประถมศึกษาเป็นเรื่องที่เหมาะสมเพราะเน้นพัฒนาการในหลาย ๆ  ด้าน  มิใช่แต่เน้นวิชาการเท่านั้น  แต่เมื่อขึ้นระดับประถมศึกษาแล้ว  เนื้อหาวิชามากขึ้น การประเมินผลแยกย่อยมากขึ้น  ทำให้เด็กดาวน์ซินโดรมมักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ  โรงเรียนที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนใหญ่  หรือมีชื่อเสียง  อาจจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูและผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่กว้าง  เข้าใจ  เสียสละ  มีนักเรียนไม่มากนัก  โรงเรียนที่มีการใช้ระบบการเรียนการสอนสำหรับเด็กกลุ่มนี้ควรใช้แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล  (IEP)  มักเหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ แต่ต้องได้รับความสนใจจากครู วิธีการสอนต้องมีการเน้นย้ำและแยกย่อยจากง่ายไปยาก (Task Analysis)  ที่สำคัญครูต้องมีความอดทน ผู้ปกครองและครูต้องช่วยกันเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการให้เหมาะสม

   ก่อนนำ"เด็กดาวน์ซินโดรม" เข้าสู่ระบบโรงเรียนควรมีการเตรียมการอย่างไร ผู้ปกครอง  "เด็กดาวน์ซินโดรม"  ควรเตรียมให้เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่ม (Early Intervention) ซึ่งเด็กจะได้รับการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านร่างกาย-ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่  กล้ามเนื้อมัดเล็ก ด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน  เช่น  การรับประทานอาหาร  การรักษาความสะอาด และการขับถ่าย ด้านสติปัญญา  และภาษา  -  ควรฝึกให้เด็กฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง  และสอนคำศัพท์ที่ควรทราบ  ถ้าเป็นไปได้ควรมีการสื่อสารกับผู้อื่นได้บ้างก่อนเข้าสู่ระบบโรงเรียน ด้านอารมณ์และสังคม  -  ควรฝึกให้เด็กรู้จักมีปฎิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น  เคารพกติกาสังคม  รู้จักการรอคอย  การแบ่งปัน  และมีน้ำใจ


     "เด็กดาวน์ซินโดรม" หรือ "เด็กปัญญาอ่อน" ควรเข้าเรียนเมื่ออายุเท่าไร ไม่มีข้อกำหนดขึ้นอยู่กับความพร้อมในด้านต่าง ๆ  ที่กล่าวมาแล้ว และที่สำคัญคือ  ควรให้เด็กมีความพร้อมพื้นฐาน  เช่น  เดินได้  รับประทานอาหารเองได้  ควบคุมการขับถ่ายได้  และมีความเข้าใจภาษาบ้างแม้ว่าจะพูดไม่ชัด  แต่สื่อสารกับครูและเพื่อนได้เข้าใจ
       ถ้าเด็กมีความพร้อม พื้นฐานเหล่านี้แล้วสามารถนำนักเรียนเข้าเรียนในระดับอนุบาลได้ ในห้องเรียนที่มี  "เด็กดาวน์ซินโดรม" และเด็กพิการประเภทอื่นอยู่ร่วมกัน ควรจัดการเรียนการสอนอย่างไรดี...?

     

     ที่จริงแล้วในห้องเรียนหนึ่งไม่ควรมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษหรือเด็กพิการมากกว่า  1-2คน  แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้  การจัดการเรียนการสอนควรเป็นกลุ่มเล็ก  (Small  Group)  จัดชั้นเรียนเป็นมุมให้นักเรียนมีอิสระในการเรียนรู้ ค้นคว้า ต้องสร้างความสนใจด้วยกิจกรรมและสื่อการสอน  มีการเสริมแรงสม่ำเสมอ  ครูต้องดูในจุดเด่นจุดด้อยของเด็กแต่ละคน  แล้วส่งเสริมให้ถูกทาง  ครูต้องมีความอดทน  เสียสละ  และหาความรู้ในอาการ  ข้อจำกัดที่เด็กมีและความต้องการของเด็กแต่ละประเภทอยู่เสมอ 

    ลูกเป็น  "เด็กดาวน์ซินโดรม" เคยเรียนร่วมในโรงเรียนปกติมักได้รับปฏิกิริยาต่อต้านจากผู้ปกครองเด็กปกติ ควรทำอย่างไร เป็นเรื่องปกติที่จะพบประสบการณ์เช่นนี้ในสังคมไทย  การที่มีผู้แสดงปฏิกิริยาดังกล่าวเนื่องจาก  "ความไม่รู้จริง"  ของผู้นั้นคิดว่าความพิการเป็นสิ่งน่าสังเวช  น่ารังเกียจ  และอาจติดต่อคล้ายโรคติดต่อ  สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้  ความเข้าใจ  เกี่ยวกับความพิการ  หรือความผิดปกติต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทั้งการแพทย์  การสาธารณสุข  และการศึกษาที่จะเปิดวิสัยทัศน์และทัศนคติเกี่ยวกับความพิการแก่คนในสังคมให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่  และภาพพจน์ของผู้พิการที่สำแดงออกมาสู่สาธารณชนนั้น  ควรก่อให้เกิดกำลังใจมากกว่าให้เกิดความสมเพชเวทนา 
 
       ถ้าผู้ปกครอง  "เด็กดาวน์ซินโดรม"  จะนำเด็กเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ  ควรจะต้องศึกษาก่อนนำลูกเข้าเรียนว่าโรงเรียนนั้นมีนโยบายรับเด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติหรือไม่  ถ้าไม่มีนโยบายนั้นก็ควรเปลี่ยนโรงเรียนให้เหมาะสม  แต่ถ้าโรงเรียนยืนยันว่ามีนโยบายเรียนร่วม  ผู้บริหารก็ควรทำความเข้าใจกับเด็กปกติและผู้ปกครอง  และขอความร่วมมือให้มีการปรับตัว  เปิดวิสัยทัศน์  และทัศนคติที่มีต่อเด็กพิการให้ดีขึ้นอย่างไรก็ดี  ผู้ปกครองเด็กดาวน์ซินโดรมต้องมีความหนักแน่นไม่หวั่นไหวต่อปฏิกิริยาของคนรอบข้าง  อีกทั้งควรจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอาการของลูกให้ชัดเจน  เพื่อสามารถอธิบายให้เป็นวิทยาทานแก่ผู้ไม่เข้าใจได้ "เด็กดาวน์ซินโดรม" หรือ "เด็กปัญญาอ่อน" เรียนได้สูงสุดระดับใด 

     ความจริงแล้วความสามารถทางด้านวิชาการของเด็กดาวน์ซินโดรมนั้นมีข้อจำกัด    
แต่ทั้งนี้ศักยภาพของเด็กและประสบการณ์ในการเลี้ยงดูไม่เหมือนกัน เป็นการยากที่จะกำหนดกฎเกณฑ์เป็นทฤษฎี  ออกมาว่าเด็กดาวน์ซินโดรมเรียนได้สูงสุดแค่ไหน  ทั้งนี้ต้องดูลึกในประเภทของอาการดาวน์  ความพิการซ้ำซ้อน  การเลี้ยงดูของครอบครัว  และเด็กได้รับการส่งเสริมการศึกษาแตกต่างกันไป  โดยทั่วไปเด็กดาวน์ซินโดรมมักจะได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้น  บางรายเรียนได้ระดับมัธยม  หรืออาชีวศึกษา  แต่ปัจจุบันมีการศึกษานอกระบบ  และการส่งเสริมการศึกษาตามครอบครัว  ชุมชน  โฮมสกูล  (Home  School)  เด็กอาจจะได้รับการศึกษาถึงระดับอุดมศึกษาได้   แต่สถาบันนั้นต้องมีการปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น  และเน้นทักษะวิชาให้เหมาะสมกับความถนัดของเด็กแต่ละบุคคล 
       ถึงอย่างไรผู้ปกครองไม่ควรคาดหวังว่าลูกที่มีความพิการเรียนได้ระดับสูง  เพราะค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับใบปริญญามากกว่าประสบการณ์ในการดำรงชีวิต  การช่วยเหลือตนเอง  ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น  บำเพ็ญตนเป็นคนดี  เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ  และที่สำคัญคือผู้ปกครองควรยอมรับว่าแม้ว่ามีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมก็สามารถทำให้ครอบครัวมีความสุข  มีความอบอุ่นได้  และทำประโยชน์ต่อสังคมได้


https://www.songkhlahealth.org/paper/361

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562

รู้จักเด็กออทิสติก



 
เด็กออทิสติก


       ออทิสติก จัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติที่เรียกว่า กลุ่มโรคออทิสติก (autism spectrum disorders หรือ ASDs) ออทิสติก และ ASDs อื่นๆ   เป็นความผิดปกติด้านพัฒนาการ ซึ่งหมายความว่ามันสร้างความเสียหายต่อความสามารถในการเติบโตและมีพํฒนาการได้ตามปกติของเด็ก 
             กลุ่มโรคออทิสติก ประกอบด้วย
1.แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger Syndrome)
2.กลุ่มที่พบมีความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน แต่ไม่ครบตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคชนิดเฉพาะใดๆ (PDD-NOS หรือ atypical autism)
3.โรคออทิสติก (ออทิสติกดั้งเดิม)

ตามนิยามแล้ว กลุ่มโรคออทิสติกส่งผลกระทบต่อโดเมนหลักของการสั่งการของเด็ก 3 โดเมน ซึ่งโดเมนที่คนรู้สึกเป็นศูนย์กลางมากที่สุดคือส่วนที่เป็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เด็กที่เติบโตอย่างปกติจะมีการสนทนากับผู้คนหรือมีการแลกเปลี่ยนทางสังคม ซึ่งส่วนนี้จะเป็นความบกพร่องเกือบตลอดเวลาของเด็กที่เป็นออทิสติก ส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการอีก 2 ส่วนที่พบในเด็กที่เป็นออทิสติกคือปัญหาด้านการพูดภาษาและมีความสนใจ ความคิดและพฤติกรรมต่อบางอย่างซ้ำๆ ตามนิยามแล้ว อาการเหล่านี้จะปรากฏในช่วงอายุ 3 ปี และพวกเขาจะมีระดับปัญญาโดยรวมไม่สมส่วนกันตามระดับของเด็กทั่วไป เด็กที่ปัญญาอ่อนจะมีอาการไม่ปกติบางอย่าง แต่นั่นก็เป็นปกติเมื่อเทียบกับอายุจิตทางปัญญาของพวกเขา

อาการทั่วไปของออทิสติก ประกอบด้วย
·                 ขาดความสนใจ ต่อผู้คนหรือการตอบสนองต่อผู้คน
·                 มีความสนใจมากเกินไป กับวัสดุหรือสิ่งของมากกว่าผู้คน
·                 หลีกเลี่ยงการสบตา
·                 ล้มเหลวในการจดจำหรือขานรับ ชื่อของตัวเอง
·                 ล้มเหลวในการแสดงออกหรือมีความรู้สึกสงสารผู้อื่น
·                 พฤติกรรมทำซ้ำๆ เช่น หมุนหรือโยก
·                 พูดตอบช้าตอบสนองต่อสิ่งอื่นๆช้า

การจัดการศึกษาสำหรับเด็ก/บุคคลออทิสติก จะมีวิธีการอย่างไร

การจัดการศึกษาสำหรับเด็ก/บุคคลออทิสติกนั้น
  เพื่อที่เด็กจะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ  เหมือนปกติทั่วไปในสังคมมนุษย์  ตั้งแต่ชั้นอนุบาลควรใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กปกติ  เพียงแต่ปรับให้เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละคน มีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP)  และแผนการสอนรายบุคคล  (IIP)  มีเกณฑ์การวัดและประเมินผลตาม  IEP  มีจิตวิทยาในการเรียนการสอน  และรู้ธรรมชาติของเด็กออทิสติก  ก็จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนรู้ได้
      การฝึกอาชีพการประกอบอาชีพสำหรับเด็กและบุคคลเหล่านี้กระทำได้หรือไม่ ทำได้  เด็กบางคนมีความสามารถพิเศษในบางเรื่อง  ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองและครูควรพยายามสังเกตเด็กว่ามีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องใดและทำกิจกรรมใดได้ดีตามศักยภาพของเด็กและบุคคลออทิสติกที่มีอยู่  มีอาชีพหลายอย่างที่คนเหล่านี้ทำได้  ยกตัวอย่างเช่น  จิตรกร  นักดนตรี  นักเขียนโปรแกรม  คอมพิวเตอร์  ผู้ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  นักเขียน  งานฝีมือต่าง ๆ  เป็นต้น      
แหล่งข้อมูล https://www.honestdocs.co/autism

ใช้ “นิทาน” ช่วยพัฒนาการเด็กออทิสติก



จิตอาสาใช้นิทานช่วยพัฒนาการเด็กออทิสติก
ช่วยเด็กอยู่นิ่งมากขึ้น พูดคุยกับบุคคลอื่น แนะพ่อแม่อย่าท้อ
ต้องช่วยกันกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก


นางสกุลศรี บุญโชติอนันต์ คณะทำงานโครงการนิทานสร้างได้ กล่าวภายในงานมหกรรมวันคนพิการสากลปี 2558 ว่า คณะทำงานดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากกิจกรรมเล่านิทานของสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ที่เล่านิทานให้แก่เด็กออทิสติก เพื่อเสริมทักษะให้เด็กกลุ่มนี้ โดยตนเป็นหนึ่งในแม่ที่นำลูกมาบำบัดรักษาที่สถาบันราชานุกูล และได้เห็นว่าลูกมีพัฒนาการดีขึ้นจากการรับฟังนิทาน คือ เริ่มนิ่งขึ้น จากปกติเด็กกลุ่มนี้จะเคลื่อนไหวตลอด และไม่นิ่ง รวมทั้งเริ่มพูดคุยกับบุคคลอื่นนอกจากแม่ ซึ่งการเล่านิทานจะมีวิธีต่าง ๆ มากมายที่เสริมสร้างตรงนี้ได้ แต่ต้องใช้เวลา โดยลูกของตนเริ่มเล่านิทานให้ฟังตั้งแต่อายุ 2 ขวบ จนอายุ 6 ขวบเริ่มมีอาการดีขึ้น และทุกวันนี้ลูกของตนก็สามารถเล่านิทานได้เองด้วย จึงเกิดความคิดว่าหากมีการเล่านิทานไปยังเด็กออทิสติกคนอื่น ๆ ก็จะช่วยให้พวกเขามีพัฒนาการดีขึ้น

“พวกเราจึงรวมตัวกันในกลุ่มแม่ ๆ ทั้งหมด 7 คน และก่อตั้งเป็นโครงการนิทานสร้างได้ เพื่อเป็นอาสาสมัครในการเล่านิทานให้แก่เด็กออทิสติกโดยเฉพาะ โดยทำงานแบบจิตอาสาเชิงรุก นำกิจกรรมการใช้สื่อนิทานเพื่อสร้างเสริมพัฒนาการ และปรับพฤติกรรมเด็ก ๆ โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาลเด็ก โรงพยาบาลที่มีกลุ่มเด็กออทิสติก รวมไปถึงศูนย์การศึกษา ศูนย์สังคมสงเคราะห์” นางสกุลศรี กล่าว
นางสกุลศรี กล่าวว่า อยากเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกป่วยเป็นออทิสติก อย่าท้อแท้ ต้องช่วยกันกระตุ้นพัฒนาการ และปรับพฤติกรรมของลูก ๆ อย่าปล่อยให้เป็นเพียงหน้าที่ของหมอ ครู นักจิตวิทยา โรงเรียน หรือศูนย์ฝึกพัฒนาการ เพียงเพราะคิดว่าต้องทำไม่ได้แน่ ๆ จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ที่สำคัญ การอ่านนิทานเป็นเรื่องง่ายมาก เริ่มแรกให้อ่านนิทานภาพก่อน จากนั้น 2 - 3 เดือน จึงเป็นนิทานตัวหนังสือ กระทั่งเมื่อเด็กสนใจก็ให้พวกเขามาร่วมกิจกรรมในการอ่านนิทานร่วมกัน สิ่งสำคัญพ่อแม่ต้องอดทนในการทำ อย่าท้อแท้เป็นพอ

https://mgronline.com/qol/detail/9580000134914




เจาะใจออทิสติกไร้ขีดจำกัด



วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562

โครงสร้างเวลาเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ

ข้อมูลประกอบการเรียนรายวิชา EED 209

การจัดทำโครงสร้างรายวิชาตามหลักสูตรแกนกลางฯ


การจัดทำโครงสร้างรายวิชา
เมื่อได้รายวิชาลงโครงสร้างของหลักสูตรสถานศึกษาเรียบร้อยแล้ว ครูผู้สอนจัดทำโครงสร้างรายวิชาโดยดำเนินการ ดังนี้
1.กำหนดชื่อหน่วยการเรียนรู้
โดยพิจารณาคำ/ข้อความสำคัญ (Key words) หรือเนื้อหาในตัวชี้วัดของรายวิชามาจัดกลุ่ม โดยนำตัวชี้วัดที่มีเนื้อหาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หรือเป็นเรื่องเดียวกัน มารวมกันจัดเป็น 1 หน่วยการเรียนรู้ ซึ่งใน 1 รายวิชาจะมีหลายหน่วยฯ และแต่ละหน่วยฯ จะมีตัวชี้วัดซ้ำหรือไม่ซ้ำกันก็ได้ อยู่ในดุลพินิจของผู้สอน แต่เวลาที่ใช้จัดการเรียนรู้รวมทั้งหมด ต้อง ไม่เกินจำนวนชั่วโมงที่กำหนดในโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา แล้วตั้งชื่อหน่วยให้น่าสนใจสำหรับผู้เรียน
2.ระบุมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด
ที่นำมาจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้แต่ละหน่วยการเรียนรู้ โดยเขียนรหัสมาตรฐาน ระดับชั้น และตัวชี้วัดที่นำมาจัดทำหน่วยฯ ทั้งหมด
3.กำหนดสาระสำคัญ สำหรับแต่ละหน่วยการเรียนรู้ เป็นข้อความที่ระบุว่าผู้เรียนรู้อะไร
มีทักษะอะไร (อาจจะมีคุณลักษณะอย่างไรด้วย) และหน่วยนี้มีคุณค่าต่อผู้เรียนอย่างไรในระยะสั้นและระยะยาว  โดยร้อยเรียงข้อมูลของทุกตัวชี้วัด และเขียนเป็น Concept  ภาพรวมของหน่วยฯ ที่ต้องการให้เป็นองค์ความรู้ เป็นความเข้าใจที่ฝังติดตัวผู้เรียนไปเป็นเวลานาน และสามารถนำมาใช้ได้เมื่อต้องการ
4. กำหนดระยะเวลา (จำนวนชั่วโมง) สำหรับแต่ละหน่วยการเรียนรู้ รวมทุกหน่วยฯ แล้วมีจำนวนชั่วโมงเท่ากับจำนวนชั่วโมงของรายวิชา
5.  กำหนดน้ำหนักคะแนนของแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ตามความสำคัญของแต่ละหน่วยฯ
เพื่อการกำหนดคะแนนสำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ของแต่ละหน่วยฯ ให้เหมาะสมตามความ สำคัญของแต่ละหน่วยฯ

ข้อมูลประกอบการเรียนรายวิชา EED 209