วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562

รู้จักเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา


รู้จักเด็กบกพร่องทางสติปัญญา
ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา / ภาวะปัญญาอ่อน
(Intellectual Disabilities / Mental Retardation)

    ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เป็นภาวะที่มีพัฒนาการบกพร่องซึ่งทำให้มีข้อจำกัดด้านสติปัญญา
การเรียนรู้และการปรับตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันเริ่มมีการใช้คำว่า บกพร่องทางสติปัญญา
แทนภาวะปัญญาอ่อนมากขึ้น  ในองค์กรระดับนานาชาติ เช่น IASSID (International Association
for the Scientific Study of Intellectual Disabilities) WHO (World Health Organization)
WPA (World Psychiatry Association) รวมทั้ง AAMR (The American Association on Mental
Retardation) หรือสมาคมบุคคลปัญญาอ่อนแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยสหวิชาชีพจากทั่วโลก
และก่อตั้งมาเป็นเวลานาน 130 ปี ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The  American Association of  Intellectual 
and Developmental Disabilities (AAIDD) เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เพื่อเสนอแนวทางที่จะทำให้
สังคมยอมรับผู้บกพร่องทางสติปัญญามากขึ้น

คำจำกัดความของภาวะบกพร่องทางสติปัญญาหรือภาวะปัญญาอ่อน

   บุคคลบกพร่องทางสติปัญญา มักมีพัฒนาการด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ ภาษา
และสติปัญญาล่าช้ากว่าบุคคลทั่วไป
   ตามเกณฑ์ของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders,
Fourth Edition, Text Revision (DSM- IV-TR) โดย American Psychiatric
Association (APA)  ในปีพ.ศ.2543 ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาหรือภาวะปัญญาอ่อน
หมายถึง ภาวะที่มี
          1.ระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย    
          2.พฤติกรรมการปรับตนบกพร่องตั้งแต่ 2 ด้านขึ้นไป จากทั้งหมด 10 ด้าน
          3.อาการแสดงก่อนอายุ 18 ปี


เชาวน์ปัญญา
          เกณฑ์ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาด้านเชาวน์ปัญญา คือการมีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่า 70


พฤติกรรมการปรับตน
          หมายถึง การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นความสามารถของบุคคลนั้น
ที่จะสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองในสังคม ประกอบด้วย
    1. การสื่อความหมาย (Communication)
    2. การดูแลตนเอง (Self-care)
    3. การดำรงชีวิตภายในบ้าน (Home living)
    4. การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม (Social and Interpersonal Skills)
    5. การใช้แหล่งทรัพยากรในชุมชน (Use of Community Resources)
    6. การควบคุมตนเอง (Self- direction)
    7. การนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน (Functional Academic Skills)
    8. การใช้เวลาว่าง (Leisure)
    9. การทำงาน (Work)
   10. การมีสุขอนามัยและความปลอดภัยเบื้องต้น (Health and Safety)


                             


     การประเมินพฤติกรรมการปรับตนตามเกณฑ์การวินิจฉัยในปี พ.ศ.2535
ซึ่งจะต้องบกพร่องอย่างน้อย 2 ด้านจาก 10 ด้าน ในทางปฏิบัติไม่มีเครื่องมือใด
เครื่องมือหนึ่งที่จะประเมินได้ครบทั้ง 10 ด้าน ในครั้งที่ 10
     เมื่อปี พ.ศ.2545 AAMR จึงได้ปรับเกณฑ์การวินิจฉัยเรื่องพฤติกรรมการปรับตน
เป็นการปฏิบัติตนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในข้อ ก หรือ ข้อ ข ดังนี้
          ก. ทักษะด้านใดด้านหนึ่งใน 3 ด้านของพฤติกรรมการปรับตน
ได้แก่ ทักษะด้านความคิดรวบยอด (conceptual skills) ทักษะด้านสังคม (social skills)
หรือทักษะด้านการปฏิบัติตน (practical skills) หรือ
          ข. ทักษะทั้ง 3 ด้าน ตามข้อ ก โดยดูจากคะแนนรวมทั้งหมด

          ทั้งนี้การประเมินพฤติกรรมการปรับตนนี้ AAMR หรือ AAIDD ได้พัฒนาเครื่องมือ
การประเมินคือ Diagnostic Adaptive Behavior Scale เพื่อให้การประเมินมีมาตรฐานมากขึ้น


แบบประเมิน
เครื่องมือประเมินพัฒนาการและระดับเชาวน์ปัญญา
- Bayley Scales of Infant Development
- Wechsler Preschool and Primary Scale of Intelligence III
- Stanford-Binet Intelligence Scale (5th Ed)
- Kaufman Assessment Battery for Children II
- Wechsler Intelligence Scale for Children (WICS-IV)
 เครื่องมือประเมินพฤติกรรมการปรับตน
- Vineland Adaptive Behavior Scale II (VBAS II)
- AAMR Adaptive Behavior  Scales-School (ABS-s II)
- Diagnostic Adaptive Behavior Scale

          แบบทดสอบเชาวน์ปัญญาที่นิยมใช้เป็นมาตรฐานในประเทศไทย
ได้แก่ Stanford-Binet Intelligence Scale และ Wechsler Intelligence Scale for Children 
ส่วนเครื่องมือวัดพฤติกรรมการปรับตนที่ใช้ ได้แก่ Vineland Adaptive Behavior Scales     


http://rajanukul.go.th/new/index.php?mode=academic&group=269&id=3228&date_start=&date_end


                  *****************************  



                                                          
                         




เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

   "เด็กดาวน์ซินโดรม" เรียนหนังสือในโรงเรียนปกติได้หรือไม่ได้  แต่ต้องเลือกโรงเรียนที่มีนโยบายรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วม การส่งเด็กดาวน์ซินโดรมเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในระดับก่อนประถมศึกษาเป็นเรื่องที่เหมาะสมเพราะเน้นพัฒนาการในหลาย ๆ  ด้าน  มิใช่แต่เน้นวิชาการเท่านั้น  แต่เมื่อขึ้นระดับประถมศึกษาแล้ว  เนื้อหาวิชามากขึ้น การประเมินผลแยกย่อยมากขึ้น  ทำให้เด็กดาวน์ซินโดรมมักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ  โรงเรียนที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนใหญ่  หรือมีชื่อเสียง  อาจจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูและผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่กว้าง  เข้าใจ  เสียสละ  มีนักเรียนไม่มากนัก  โรงเรียนที่มีการใช้ระบบการเรียนการสอนสำหรับเด็กกลุ่มนี้ควรใช้แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล  (IEP)  มักเหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ แต่ต้องได้รับความสนใจจากครู วิธีการสอนต้องมีการเน้นย้ำและแยกย่อยจากง่ายไปยาก (Task Analysis)  ที่สำคัญครูต้องมีความอดทน ผู้ปกครองและครูต้องช่วยกันเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการให้เหมาะสม

   ก่อนนำ"เด็กดาวน์ซินโดรม" เข้าสู่ระบบโรงเรียนควรมีการเตรียมการอย่างไร ผู้ปกครอง  "เด็กดาวน์ซินโดรม"  ควรเตรียมให้เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่ม (Early Intervention) ซึ่งเด็กจะได้รับการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านร่างกาย-ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่  กล้ามเนื้อมัดเล็ก ด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน  เช่น  การรับประทานอาหาร  การรักษาความสะอาด และการขับถ่าย ด้านสติปัญญา  และภาษา  -  ควรฝึกให้เด็กฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง  และสอนคำศัพท์ที่ควรทราบ  ถ้าเป็นไปได้ควรมีการสื่อสารกับผู้อื่นได้บ้างก่อนเข้าสู่ระบบโรงเรียน ด้านอารมณ์และสังคม  -  ควรฝึกให้เด็กรู้จักมีปฎิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น  เคารพกติกาสังคม  รู้จักการรอคอย  การแบ่งปัน  และมีน้ำใจ


     "เด็กดาวน์ซินโดรม" หรือ "เด็กปัญญาอ่อน" ควรเข้าเรียนเมื่ออายุเท่าไร ไม่มีข้อกำหนดขึ้นอยู่กับความพร้อมในด้านต่าง ๆ  ที่กล่าวมาแล้ว และที่สำคัญคือ  ควรให้เด็กมีความพร้อมพื้นฐาน  เช่น  เดินได้  รับประทานอาหารเองได้  ควบคุมการขับถ่ายได้  และมีความเข้าใจภาษาบ้างแม้ว่าจะพูดไม่ชัด  แต่สื่อสารกับครูและเพื่อนได้เข้าใจ
       ถ้าเด็กมีความพร้อม พื้นฐานเหล่านี้แล้วสามารถนำนักเรียนเข้าเรียนในระดับอนุบาลได้ ในห้องเรียนที่มี  "เด็กดาวน์ซินโดรม" และเด็กพิการประเภทอื่นอยู่ร่วมกัน ควรจัดการเรียนการสอนอย่างไรดี...?

     

     ที่จริงแล้วในห้องเรียนหนึ่งไม่ควรมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษหรือเด็กพิการมากกว่า  1-2คน  แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้  การจัดการเรียนการสอนควรเป็นกลุ่มเล็ก  (Small  Group)  จัดชั้นเรียนเป็นมุมให้นักเรียนมีอิสระในการเรียนรู้ ค้นคว้า ต้องสร้างความสนใจด้วยกิจกรรมและสื่อการสอน  มีการเสริมแรงสม่ำเสมอ  ครูต้องดูในจุดเด่นจุดด้อยของเด็กแต่ละคน  แล้วส่งเสริมให้ถูกทาง  ครูต้องมีความอดทน  เสียสละ  และหาความรู้ในอาการ  ข้อจำกัดที่เด็กมีและความต้องการของเด็กแต่ละประเภทอยู่เสมอ 

    ลูกเป็น  "เด็กดาวน์ซินโดรม" เคยเรียนร่วมในโรงเรียนปกติมักได้รับปฏิกิริยาต่อต้านจากผู้ปกครองเด็กปกติ ควรทำอย่างไร เป็นเรื่องปกติที่จะพบประสบการณ์เช่นนี้ในสังคมไทย  การที่มีผู้แสดงปฏิกิริยาดังกล่าวเนื่องจาก  "ความไม่รู้จริง"  ของผู้นั้นคิดว่าความพิการเป็นสิ่งน่าสังเวช  น่ารังเกียจ  และอาจติดต่อคล้ายโรคติดต่อ  สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้  ความเข้าใจ  เกี่ยวกับความพิการ  หรือความผิดปกติต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทั้งการแพทย์  การสาธารณสุข  และการศึกษาที่จะเปิดวิสัยทัศน์และทัศนคติเกี่ยวกับความพิการแก่คนในสังคมให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่  และภาพพจน์ของผู้พิการที่สำแดงออกมาสู่สาธารณชนนั้น  ควรก่อให้เกิดกำลังใจมากกว่าให้เกิดความสมเพชเวทนา 
 
       ถ้าผู้ปกครอง  "เด็กดาวน์ซินโดรม"  จะนำเด็กเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ  ควรจะต้องศึกษาก่อนนำลูกเข้าเรียนว่าโรงเรียนนั้นมีนโยบายรับเด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติหรือไม่  ถ้าไม่มีนโยบายนั้นก็ควรเปลี่ยนโรงเรียนให้เหมาะสม  แต่ถ้าโรงเรียนยืนยันว่ามีนโยบายเรียนร่วม  ผู้บริหารก็ควรทำความเข้าใจกับเด็กปกติและผู้ปกครอง  และขอความร่วมมือให้มีการปรับตัว  เปิดวิสัยทัศน์  และทัศนคติที่มีต่อเด็กพิการให้ดีขึ้นอย่างไรก็ดี  ผู้ปกครองเด็กดาวน์ซินโดรมต้องมีความหนักแน่นไม่หวั่นไหวต่อปฏิกิริยาของคนรอบข้าง  อีกทั้งควรจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอาการของลูกให้ชัดเจน  เพื่อสามารถอธิบายให้เป็นวิทยาทานแก่ผู้ไม่เข้าใจได้ "เด็กดาวน์ซินโดรม" หรือ "เด็กปัญญาอ่อน" เรียนได้สูงสุดระดับใด 

     ความจริงแล้วความสามารถทางด้านวิชาการของเด็กดาวน์ซินโดรมนั้นมีข้อจำกัด    
แต่ทั้งนี้ศักยภาพของเด็กและประสบการณ์ในการเลี้ยงดูไม่เหมือนกัน เป็นการยากที่จะกำหนดกฎเกณฑ์เป็นทฤษฎี  ออกมาว่าเด็กดาวน์ซินโดรมเรียนได้สูงสุดแค่ไหน  ทั้งนี้ต้องดูลึกในประเภทของอาการดาวน์  ความพิการซ้ำซ้อน  การเลี้ยงดูของครอบครัว  และเด็กได้รับการส่งเสริมการศึกษาแตกต่างกันไป  โดยทั่วไปเด็กดาวน์ซินโดรมมักจะได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้น  บางรายเรียนได้ระดับมัธยม  หรืออาชีวศึกษา  แต่ปัจจุบันมีการศึกษานอกระบบ  และการส่งเสริมการศึกษาตามครอบครัว  ชุมชน  โฮมสกูล  (Home  School)  เด็กอาจจะได้รับการศึกษาถึงระดับอุดมศึกษาได้   แต่สถาบันนั้นต้องมีการปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น  และเน้นทักษะวิชาให้เหมาะสมกับความถนัดของเด็กแต่ละบุคคล 
       ถึงอย่างไรผู้ปกครองไม่ควรคาดหวังว่าลูกที่มีความพิการเรียนได้ระดับสูง  เพราะค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับใบปริญญามากกว่าประสบการณ์ในการดำรงชีวิต  การช่วยเหลือตนเอง  ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น  บำเพ็ญตนเป็นคนดี  เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ  และที่สำคัญคือผู้ปกครองควรยอมรับว่าแม้ว่ามีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมก็สามารถทำให้ครอบครัวมีความสุข  มีความอบอุ่นได้  และทำประโยชน์ต่อสังคมได้


https://www.songkhlahealth.org/paper/361