ประเทศจีนประสบความสำเร็จการในการส่งข้อมูลควอนตัมชุดแรกจากดาวเทียมที่โคจรอยู่ในอวกาศมาสู่โลก โดยระบุว่าเป็นโค้ดข้อความที่ “ไม่สามารถแฮ็คได้” นับเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งการเข้ารหัสข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยี Quantum Cryptography
เดือนสิงหาคมปี 2016 ประเทศจีนได้ปล่อยดาวเทียมสื่อสารเชิงควอนตัมลำแรกของโลกเข้าสู่วงโคจร เพื่อเตรียมทดสอบหลักการพื้นฐานเชิงกลศาสตร์ควอนตัมในอวกาศครั้งแรกของโลก ดาวเทียมดังกล่าวมีชื่อว่า Quantum Science Satellite หรือชื่อเล่นว่า Micius หรือ Mozi (ภาษาจีนคือ 墨子) ซึ่งระบบสื่อสารของดาวเทียมนี้ถูกออกแบบมาให้ต่อต้านการแฮ็ค โดยสามารถส่งกุญแจสำหรับเข้ารหัสที่ไม่สามารถแคร็กหรือดักฟังได้จากอวกาศสู่พื้นโลก
ล่าสุด นักวิทยาศาสต์ชาวจีนที่ Quantum Experiments at Space Scale (QUESS) สามารถส่งกุญแจเข้ารหัสลับ “Quantum Key Distribution (QKD)” โดยการยิงโฟตอนจากอวกาศไปสู่สถานีภาคพื้นเป็นระยะทางไกลถึง 1,200 กิโลเมตรได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งคาดว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าใช้ใยแก้วนำแสงที่ระยะทางเท่ากันถึง 20 เท่า ส่งผลให้ Quantum Science Satellite กลายเป็นเครือข่าย Quantum Key Distribution แรกของโลกที่สามารถใช้ส่งกุญแจเข้ารหัสลับได้อย่างมั่นคงปลอดภัยและไม่ถูกแฮ็ค ซึ่งหลังจากนี้จีนหวังที่จะยกระดับการสื่อสารผ่านการเข้ารหัสเชิงควอนตัมให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นภายในปี 2030
ในเชิงทฤษฎีแล้ว การใช้วิทยาการเข้ารหัสลับเชิงควอนตัม หรือ Quantum Cryptography ถือว่ามีความมั่นคงปลอดภัยจากการถูกดักฟัง เนื่องจากข้อมูลจะถูก Encode ในรูปของโฟตอนซึ่งถ้ามีสิ่งใดมารบกวนหรือยุ่งเกี่ยวกับระบบดังกล่าว จะทำให้ข้อมูลนั้นถูกทำลายทันที ผู้ที่สนใจเรื่อง Quantum Cryptography สามารถอ่านบทความเชิงวิชาการภาษาไทยเพิ่มเติมได้ที่: https://www.techtalkthai.com/quantum-key-distribution-part-1/