นักวิทยาศาสตร์ในโครงการทดลองควอนตัมระดับอวกาศ (QUESS) ของจีน ประสบความสำเร็จในการสร้างช่องทางรับส่งข้อมูลผ่านอนุภาคควอนตัมด้วยดาวเทียมม่อจื๊อ (Micius) ซึ่งล่าสุดสามารถสื่อสารข้อมูลด้วยวิธีนี้ได้เป็นระยะทางไกลถึง 1,200 กิโลเมตร โดยเข้ารหัสและถอดรหัสข้อมูลได้อย่างถูกต้องปลอดภัยไร้การรบกวนจากแฮกเกอร์
ดาวเทียมม่อจื๊อถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพื่อทดลองเรื่องการรับส่งข้อมูลด้วยควอนตัมผ่านดาวเทียม ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นวิธีการสื่อสารข้อมูลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในอนาคต โดยใช้หลักการพัวพันเชิงควอนตัม (Quantum entanglement) ที่ระบุว่าคู่ของอนุภาคซึ่งมีความพัวพันกันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองตามกันในทันทีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงกับอนุภาคใดอนุภาคหนึ่ง ไม่ว่าทั้งสองจะอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกันไปเท่าใดก็ตาม
- จีนเตรียมทดลองปลูกมันฝรั่งบนดวงจันทร์
- ยานเสบียงจีนเทียบท่าห้องปฏิบัติการทางอวกาศสำเร็จ
- 2 นักบินอวกาศจีนกลับโลกแล้ว
มีการตีพิมพ์รายละเอียดผลการทดลองล่าสุดในวารสาร Science โดยระบุว่า ดาวเทียมม่อจื๊อสามารถสร้างคู่อนุภาคโฟตอนหรืออนุภาคของแสงที่มีความพัวพันกันขึ้นมา และยิงส่งไปยังสถานีรับสัญญาณสองแห่งบนพื้นโลกที่ตั้งอยู่ห่างกัน 1,200 กิโลเมตรในประเทศจีนได้ โดยคู่อนุภาคโฟตอนนี้จะเป็นสื่อรับส่งข้อมูลระหว่างระยะทางดังกล่าวต่อไป โดยความพัวพันเชิงควอนตัมของอนุภาคทั้งสองจะไม่เปิดโอกาสให้มัลแวร์หรือนักเจาะล้วงข้อมูลเข้ามาแทรกแซงกระบวนการเข้ารหัสและถอดรหัสข้อมูลในระหว่างนั้นได้
ก่อนหน้านี้มีความพยายามพัฒนาการรับส่งข้อมูลด้วยควอนตัมมาแล้วบนพื้นโลก แต่ต้องประสบปัญหาการส่งสัญญาณซึ่งมักไปได้ไม่เกิน 100 กิโลเมตร ทำให้การสร้างคู่อนุภาคโฟตอนด้วยดาวเทียมเป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้วิธีรับส่งข้อมูลด้วยควอนตัมทำได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น
ในขั้นต่อไปนักวิทยาศาสตร์จีนจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเวียนนาในออสเตรีย เพื่อทดลองการรับส่งข้อมูลด้วยควอนตัมที่มีระยะทางไกลข้ามทวีป ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะเป็นการปูทางสู่การวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตควอนตัมที่ปราศจากการเจาะล้วงข้อมูลได้ทั่วโลก
https://www.bbc.com/thai/international-40311775
https://www.bbc.com/thai/international-40311775