วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2563

4 คำทำนาย จีน-อเมริกายุค 2020 จะขยับโลกอย่างไร



วันก่อนผมดีใจมากที่ได้รับเชิญไปเสวนาหนังสือ “จีนเมริกา” ของอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร์ พร้อมกับ ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม นักคิดนักเขียนคนที่ผมชื่นชอบทั้งคู่
เนื่องจากอาจารย์ทั้งสองท่านได้ให้ความรู้ครอบคลุมเรื่องการค้าและการเมืองระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน ผมซึ่งเป็นคนเดียวที่มาจากภาคเอกชนจึงเน้นชวนคิดเรื่องจีนอเมริกาผ่านเลนส์ของเทคโนโลยีและการเงินจากประสบการณ์ที่เคยทำงานมาทั้งในสองวงการ
วันนี้ขอหยิบประเด็นหลักที่ได้เสนอในวันนั้นมาสรุปเป็น ‘คำทำนาย’ สี่ประการสำหรับอนาคตของการห้ำหั่นกันของจีนอเมริกาเพื่อให้ช่วยกันจับตามองเทรนด์สำคัญที่อาจจะขยับโลกในยุค 2020 ที่กำลังจะมาถึง

1. โลกเริ่มลอกลายมังกร


เมื่อก่อนคนในวงการเทคโนโลยีมักพูดว่า “America innovates. China immitates. Europe regulates.” หรือ อเมริกาคิดค้น จีนเลียนแบบ ยุโรปกำกับ แต่สมัยนี้บางคนจะเถียงว่าโลกเปลี่ยนไป กลายเป็นบางครั้ง “China innovates. America immitates.” คือจีนกลายเป็นต้นแบบนวัตกรรมใหม่ๆ อเมริกากลายเป็นคนเลียนแบบ ส่วนยุโรปยังเน้นกำกับดูแลออกกฎหมายเช่นเดิม
เทรนด์นี้แปลว่าจีนไม่เพียงเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีบางด้านเช่น 5G โดรน แพลตฟอร์มดิจิทัล เท่านั้น แต่มังกรดิจิทัลตัวนี้กลายเป็นต้นแบบที่วงการเทคโนโลยีทั่วโลกต้องจับตา เรียนรู้ และลอกลายเลียนแบบ เสมือนกับที่อเมริกาเป็นตลอดมา จากที่คนเคยเรียกบริษัทเทคโนโลยีจีน เช่น Baidu ว่า “กูเกิ้ลของจีน” Didi Chuxing ว่า “Uber ของจีน” ต่อไปคนอาจจะเรียกบริษัทในอเมริกาว่า Tencent หรือ Alibaba ของอเมริกา
แม้แต่ยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีของอเมริกาเช่น เฟซบุ๊ก วันนี้ก็ดูเหมือนจะได้แรงบันดาลใจมาจากโมเดลแพลตฟอร์มของจีนไม่มากก็น้อย เช่น การปรับฟีเจอร์ต่างๆ ของ อินสตาแกรมให้มีวีดีโอมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับ Tik Tok ของ บริษัทที่ชื่อ Bytedance สตาร์ทอัพที่มาแรงที่สุดแห่งหนึ่งของจีน
นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังมีการผลักดันเพื่อก้าวเข้าสู่ภาคการเงินอย่างเต็มที่ เช่น การสร้างระบบชำระเงินของตนเอง (เฟซบุ๊กเพย์คล้ายๆ กับวีแชทและอาลีเพย์ ให้คน2พันกว่าล้านคนที่อยู่ในระบบนิเวศน์ของตน อีกทั้งยังมีการตั้ง ‘สมาพันธ์ลิบรา‘ เพื่อสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนจนเป็นข่าวดังก้องโลก
ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นยุทธศาสตร์ที่มีกลิ่นอายของสิ่งที่ยักษ์ใหญ่อย่างจีนบุกเบิกไว้ บริษัท Tencent และ Alibaba เป็นผู้เปิดประตูแห่งความเป็นไปได้ว่าผู้ให้บริการทางการเงินอาจไม่ต้องเป็นสถาบันการเงินตั้งแต่กำเนิด ไม่ใช่บริษัทฟินเทคตอนเกิดก็สามารถ “แปลงร่าง” มาเป็นผู้ให้บริการการเงินชั้นนำได้ หากมีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลมหาศาล
โดยจะเริ่มจากการมี use case ที่คนต้องใช้เป็นประจำ อย่างอีคอมเมิร์ซอย่างเถาเป่า หรือโซเชียลแอปพลิเคชันอย่าง วีแชท เป็นฐาน แล้วค่อยสร้างบริการเพย์เมนต์หรือการชำระเงินสอดแทรกเข้าไป จนมีฐานข้อมูลใหญ่และเทคโนโลยี AI ที่พัฒนา พอจะไปสร้างบริการ สินเชื่อ การออมลงทุน และขายประกันต่อยอด เพื่อช่วยผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการการเงิน (unbanked and underbanked) ซึ่งแนวทางนี้แตกต่างจากโมเดลของแพลตฟอร์มในอเมริกาแต่เดิมที่มักจะหารายได้จากการขายโฆษณา

2. อาเซียนจะเนื้อหอม

  
.. 2018 เป็นปีประวัติศาสตร์ที่สัดส่วนชาวอินเทอร์เน็ตในประชากรโลกได้ข้ามเส้น 50% เป็นครั้งแรก เท่ากับเราได้เข้าสู่ “ครึ่งหลัง” ของโลกอินเทอร์เน็ตที่บริษัทดิจิทัลทั้งหลายต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาลูกค้าใหม่ และในโลกที่สองขั้วอำนาจจีนอเมริกากำลังแข่งขันแย่งบัลลังก์การเป็นจ้าวแห่งเทคโนโลยี การเสาะหาตลาดใหม่ยิ่งเข้มข้นขึ้น ในมุมนี้อาเซียนเปรียบเสมือน ‘ดินแดนเขียวขจีที่ยังไม่ค่อยมีคนจับจอง’ ภูมิภาคนี้มีประชากรกว่า 650 ล้านคน เกินครึ่งอายุน้อยกว่า 30 ปี การบริโภคแม้จะชะลอลงบ้างก็ยังถือเป็นแห่งหนึ่งที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก
แม้จะมีคนใช้อินเตอร์เน็ตแล้วถึง 360 ล้านคน ในอาเซียน 6 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนามสัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมเทียบกับ GDP โดยรวมก็ยังถือว่าน้อยมาก อยู่ต่ำกว่า 4% เทียบกับอเมริกาที่สัดส่วนอยู่ที่ 6.5% ในปี 2016 (ปัจจุบันน่าจะสูงกว่านั้นตามรายงานของ Google และ Temasek 2019
หากไปเจาะในภาคอีคอมเมิร์ซที่รายงานดังกล่าวคาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดและโตเร็วสุดในภูมิภาค (มีสัดส่วนเกินครึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจะยิ่งเห็นว่าอุตสาหกรรมนี้ยัง ‘เยาว์วัยนัก‘ โดยสัดส่วนของอีคอมเมิร์ซยังอยู่แค่ประมาณ 3% ของการค้าปลีก เทียบกับจีนที่สูงเกิน 20%
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจทัลของอาเซียนยังมีช่องให้เติบโตอีกมากและทำให้เป็นภูมิภาคที่เนื้อหอม ดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกรวมทั้งจากอเมริกาและจีนอย่างที่เราได้เห็นมาบ้างแล้ว ตั้งแต่ปี 2015 จนถึง ครึ่งแรกของปี 2019 มีเม็ดเงินลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนรวม 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ยังไม่นับการที่อาเซียนอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อทั้งแผน ‘หนึ่งแถบหนึ่งทาง‘ (Belt and Road Initiative) ของจีน และยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific) ของอเมริกา หรือการที่สงครามการค้าได้ผลักการย้ายโรงงานบางส่วนเข้ามาที่ภูมิภาคนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของห่วงโซ่การผลิต ซึ่งยิ่งทำให้อาเซียนมีบทบาทสำคัญมากขึ้น
แต่ประเทศไหนในอาเซียนจะสามารถตักตวงจาก ”โอกาส” ที่เกิดขึ้น พร้อมกับความวิตกกังวลด้านสงครามเทคโนโลยี คงขึ้นอยู่กับความเก๋าเกมและยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ

3. กำเนิด “พหุภพ” ในโลกดิจิทัล


แต่ในทางกลับกันนักลงทุนที่เข้ามาขยายธุรกิจในอาเซียนก็จะต้องพบกับความจริงที่ว่าการทำธุรกิจในภูมิภาคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และจะเข้าใจว่าทำไมอาเซียนถึงยัง ‘เขียวขจี‘ อยู่ในเชิงเศรษฐกิจดิจิทัล
ยุทธศาสตร์แบบ one size fits all หรือการเอาโมเดลธุรกิจที่เคยสำเร็จในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือแม้แต่จีนมาใช้ในอาเซียน มักไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร หากไม่มีการทำ hyper-localization หรือการปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศอย่างเข้มงวด
ข้อหนึ่ง อาเซียนไม่ใช่ตลาดเดียวแต่เป็น 10 ตลาดที่มีความแตกต่างกันมาก ทั้งภาษา วัฒนธรรม โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และแต่ละแห่งก็มีความท้าทายของตนเองในการทำธุรกิจ
ข้อสอง ในเชิงนโยบาย ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนไม่สามารถขยับตัวได้รวดเร็วเท่ากับจีน (ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย)
ข้อสาม วัฒนธรรมการแข่งขันก็แตกต่าง อาเซียนมักจะมีการประนีประนอมหาทางร่วมมือกันมากกว่า บ่อยครั้งที่เราจะเห็นการจับมือกันระหว่างคลื่นรุ่นใหม่ (บริษัทเทคโนโลยีและคลื่นรุ่นเก๋า (บริษัทใหญ่ที่อยู่มานานมากกว่าในตะวันตกหรือในจีน
ข้อสี่ ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คนในอาเซียนส่วนใหญ่คุ้นเคยและใช้ชีวิตคลุกคลีกับการใช้แพลตฟอร์มเครือเฟซบุ๊ก กูเกิ้ล ในขณะที่จีนจะมีระบบนิเวศน์ของตนเอง
หนังสือ “จีนเมริกา” พูดไว้อย่างน่าสนใจว่าต่อไปอาจเกิด “ทวิภพ” ในโลกอินเทอร์เน็ต ที่แบ่งกันเป็นสองขั้วระหว่างเทคโนโลยีและระบบนิเวศน์ดิจิทัลของจีนและอเมริกา คล้ายกับที่ในปัจจุบันจีนมีโซเชียลมีเดียของตนเองแตกต่างจากที่อื่นในโลก
แต่ผมขอเสริมว่า ด้วยความแตกต่างของแต่ละภูมิภาค hyper-localization ที่ว่านี้อาจผลักดันให้เกิดผู้เล่นและระบบนิเวศน์ระดับภูมิภาค (Ecosystem) มากขึ้น ซึ่งไม่ได้เหมือนระบบอเมริกาหรือจีน อย่างน้อยในบางเซ็คเตอร์ เช่น อีคอมเมิร์ซ การเงิน ฯลฯ ก็เป็นได้ อาจคล้ายกับในโลกของการค้าการเงินระหว่างประเทศที่แต่ละภูมิภาคมีกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีลักษณะเด่นเป็นของตัวเอง (เช่น อาเซียนมี AEC และ กรอบความร่วมมือทางการเงินเช่น Chiang Mai Initiative ที่ไม่เหมือนที่อื่น)
ทั้งหมดนี้อาจทำให้โลกอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มแบ่งออกได้มากกว่าแค่สองขั้ว เกิดเป็นโลกดิจิทัลแบบ “พหุภพ

 4. ‘เวทีสงคราม’ กลับไปที่การเงิน

  
ปัจจุบันมีสามเครื่องยนต์ขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ คือการ ‘เชื่อมโยง‘ ของโลกการค้า การเงิน และข้อมูล (ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของเทคโนโลยี AI ) ศึกชิงบัลลังก์ของมหาอำนาจจะห้ำหั่นกันอย่างเข้มข้นในสามสมรภูมินี้ แต่วันนี้คนกลับพูดถึงแต่สงครามการค้า เทคโนโลยี ระหว่างจีนอเมริกา แต่มักจะลืมสงครามการเงินซึ่งมีความสำคัญมาก
แม้ว่าในด้านการค้าจีนจะได้เปรียบในฐานะเป็นจ้าวแห่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภครายใหญ่ของสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ด้านการเงิน อเมริกา หรือพูดให้ถูกคือ “ดอลลาร์” ยังเป็นผู้ครองบัลลังก์อย่างชัดเจน ถึงแม้หยวนของจีนจะได้เข้ามาอยู่ในตะกร้าเงิน SDR ของ IMF เสมือนได้รับการยอมรับจากวงการการเงินระหว่างประเทศแล้วระดับหนึ่ง แต่การใช้หยวนนอกจีนยังถือว่าน้อยมาก
ประมาณ 60% ของเงินสำรองต่างประเทศที่แบงค์ชาติต่างๆ ดูแลยังอยู่ในสกุลดอลลาร์ (เทียบกับหยวนอยู่ที่ประมาณ2%) 40% ของหนี้ทั่วโลกอยู่ในสกุลดอลลาร์ ราคาสินค้าส่วนใหญ่ทั่วโลกยังถูกตั้งในสกุลดอลล่าร์ อาจพูดได้ว่าสินค้าส่งออกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอเมริกาไม่ใช่เทคโนโลยีแต่เป็นดอลลาร์ การที่รัฐบาลอเมริกาเป็นคนพิมพ์เงินดอลลาร์แปลว่าสามารถกู้ยืมจากคนทั่วโลกได้โดยง่าย แม้หนี้รัฐบาลต่อ GDP จะสูงถึงประมาณ 80% ก็ตาม
แต่ในอนาคตนั้นไม่แน่
ไม่นานมานี้จีนเพิ่งประกาศการสร้างเงินดิจิทัลของตัวเองชื่อว่า Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ 
หนึ่ง DCEP ไม่ได้สร้างเงินสกุลใหม่ แต่เป็นแค่เงินหยวนเดิมที่อาจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สอง แม้มีการพูดกันว่า DCEP อาจจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแบบเดียวกันกับเงินคริปโต แต่คาดว่าน่าจะเป็นระบบปิดและรวมศูนย์ ไม่ใช่ระบบเปิดและกระจายศูนย์อย่างบิทคอยน์ ซึ่งแปลว่าอำนาจในการ “พิมพ์เงิน” จะไม่ได้กระจายอำนาจให้ผู้อื่น แต่น่าจะยังอยู่กับธนาคารกลางและอาจทำให้แบงค์ชาติจีนมีอำนาจในการสอดส่อง ควบคุม ดูแลการเงินมากขึ้นด้วยซ้ำ
สาม จีนอาจผลักดันให้คนใช้เงินดิจิทัลของรัฐบาลง่ายกว่าประเทศอื่นๆ มาก เพราะจีนมีความเป็น ‘สังคมไร้เงินสด‘ สูงกว่าที่อื่นอยู่แล้ว คนจีนใช้อาลีเพย์และวีแชทเพย์ ซึ่งแตกต่างจากประเทศที่รัฐบาลต้องไปต่อสู้กับการที่คนใช้เงินสดเป็นหลัก
แม้วันนี้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับ DCEP มากนักแต่สิ่งที่พอเห็นได้คือ การที่เทคโนโลยีใหม่ๆ อาจเข้ามาพลิกเวทีการแข่งขันเรื่องการเงินระหว่างดอลลาร์หยวนให้เข้มข้นและคาดเดาได้ยากขึ้น เป็นอีกสมรภูมิที่สำคัญในยุค 2020
ผมเชื่อว่าทั้ง 4 ข้อนี้จะเป็นคลื่นยักษ์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก อาเซียน และที่สำคัญ ประเทศไทย อย่างมีนัยยะสำคัญตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไปจะมีทั้งความเสี่ยงที่ต้องระวัง ทั้งโอกาสที่ไม่ควรพลาด ขอเพียงเรารู้เท่าทันโลกและเดินหมากอย่างมีสติ