แนวปฏิบัติในการดำเนินงานประกันคุณภาพเพื่อพัฒนาการศึกษา
การดำเนินงานประกันคุณภาพของสถานศึกษา สามารถดำเนินการได้ตามแนวปฏิบัติต่อไปนี้ (สถานบันส่งเสริมการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ 2543)
กิจกรรมที่ 1 การเตรียมความพร้อม
เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ เจตคติที่ดีของบุคลกรในสถานศึกษา สร้างแรงจูงใจและแต่งตั้งคณะทำงาน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการประกันคุณภาพภายใน เช่น งบประมาณเพื่อการดำเนินงาน ปฏิทินการดำเนินงาน
กิจกรรมที่ 2 การศึกษาสภาพและผลการดำเนินงานของสถานศึกษาที่ผ่านมา
เป็นการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานรวมทั้งผลการดำเนินของสถานศึกษาที่ผ่านมาแล้ว มาแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทราบ เพื่อพิจารณาตัดสินใจในการกำหนดแนวทางการประเมินและการพัฒนาสถานศึกษาของตนเอง
กิจกรรมที่ 3 การทำความเข้าใจกับบุคลากรในสถานศึกษา
เกี่ยวกับสภาพและผลการดำเนินงานของสถานศึกษา เป็นการนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของสถานศึกษาให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน และพร้อมที่จะร่วมมือกันดำเนินงาน ตรวจสอบว่าสถานศึกษาดำเนินการเกี่ยวกับการประกันคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาหรือไม่
กิจกรรมที่ 4 การกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน
มาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่จะใช้ในการประเมิน เป็นการกำหนดเป้าหมายที่บุคลากรทุกคนในสถานศึกษารับรู้และร่วมกันจัดทำว่าจะมีการตรวจสอบการทำงานของตนเองในด้านใด เรื่องใดบ้าง
กิจกรรมที่ 5 การกำหนดกรอบการประเมิน
เป็นการกำหนดแนวทางการทำการประเมินผลว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อใด และใครเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องใด ซึ่งวิธีการประเมินจะขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวบ่งชี้
กิจกรรมที่ 6 การกำหนดเกณฑ์การประเมิน
ซึ่งมีกิจกรรมย่อยคือ กำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินตัวบ่งชี้ และตรวจสอบความเหมาะสมของเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินตัวบ่งชี้
กิจกรรมที่ 7 การกำหนดวิธีการที่ใช้ในการประเมิน
เป็นการเลือกวิธีการเครื่องมือ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลรูปแบบสอบถาม โครงสร้างคำถามที่จะใช้ และสร้างเครื่องมือประเมินโดยเริ่มตั้งแต่สร้างคำถาม ตรวจสอบคุณภาพ ทอลองใช้ ปรับปรุงก่อนนำมาใช้จริง
กิจกรรมที่ 8 การวิเคราะห์ข้อมูล
เป็นการกำหนดแนวทางในการวิเคราะห์ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เลือกวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสม ทำการวิเคราะห์ข้อมูล และกำหนดวิธีการนำเสนอข้อมูล
กิจกรรมที่ 9 การวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของสถานศึกษา
เป็นการนำผลการประเมินมาใช้วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ประเมินความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองของสถานศึกษาต่อไป
กิจกรรมที่ 10 แนวทางการพัฒนาสถานศึกษา
เป็นการนำจุดอ่อนที่ค้นพบมาวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อทำการปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนาสถานศึกษาให้เข้าสู่มาตรฐานต่อไป
กิจกรรมที่ 11 การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง
เป็นการจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รู้ และเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพนอก
กิจกรรมที่ 12 การใช้ประโยชน์จากการประเมินตนเอง
เป็นการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาปรับปรุงตนเองของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ในทางปฏิบัติ การประกันคุณภาพเพื่อการพัฒนาการศึกษาอาจดำเนินการตามขั้นตอน ต่อไปนี้
1) สร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักในความสำคัญ/ความจำเป็นของการประกันคุณภาพงานในองค์กร
2) กำหนดมาตรฐานคุณภาพงานขององค์กรให้ครอบคลุมภารกิจขององค์กร และครอบคลุมมาตรฐานการประกันคุณภาพจากภายนอก ทั้งนี้มาตรฐานการศึกษา อาจประกอบด้วย มาตรฐานด้านปัจจัย เช่น ความพร้อมของครู ศักยภาพของผู้บริหารสถานศึกษา เป็นต้น มาตรฐานด้านกระบวนการ เช่น การบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นมาตรฐาน การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นต้น และมาตรฐานด้านผลผลิตหรือผู้เรียน เช่น ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
3) ประเมินสภาพปัจจุบัน/ปัญหา หรือความต้องการจำเป็นเร่งด่วนเกี่ยวกับงานที่ต้องดำเนินการพัฒนาก่อนหลังโดยใช้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน พร้อมทั้งวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งขององค์กร
4) จัดทำแผน/โครงการเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางานให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันปัญหาขององค์กร
5) มอบหมายให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนางานตามแผนโดยมีระบบในการกับติดตามงานที่มีประสิทธิภาพ
6) ประเมินความก้าวหน้าของงานเป็นระยะๆ โดยมีการปรับปรุง พัฒนางานของสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นลำดับ
7) ประเมินประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จัดทำรายงานผลการประเมินเสนอผู้เกี่ยวข้อง
8) หากพิจารณาเห็นว่าสถานศึกษามีความพร้อมหรือผ่านการประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด ก็สามารถขอให้องค์กรภายนอกเข้ามาทำการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานได้