วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554
กระบวนการสังเคราะห์งานวิจัย
กระบวนการสังเคราะห์งานวิจัย
การสังเคราะห์งานวิจัยด้วยวิธีการวิเคราะห์เมตา มีขั้นตอนเหมือนกับการวิจัยโดยทั่วไปซึ่งประกอบด้วย
1. การกำหนดปัญหาวิจัย
การกำหนดปัญหาวิจัยของการสังเคราะห์งานวิจัย มีวิธีการกำหนดปัญหาเช่นเดียวกับปัญหาวิจัยโดยทั่วไป เนื่องจากคำว่า “ปัญหาวิจัย” ก็คือข้อสงสัยที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ฉะนั้นปัญหาวิจัยของการสังเคราะห์งานวิจัยก็คือ สิ่งที่ยังเป็นข้อสงสัยที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากในปัจจุบันมีงานวิจัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และงานวิจัยดังกล่าวส่วนใหญ่จะศึกษาตัวแปรที่มีลักษณะเหมือนกันหรือตัวแปรเดียวกัน แต่ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นผลการวิจัยจึงมีทั้งสอดคล้องกันและขัดแย้งกัน ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติ และผู้ที่จะนำผลการวิจัยดังกล่าวไปใช้ก็ไม่สามารถจะนำผลไปใช้ได้ เมื่อกำหนดปัญหาวิจัยแล้วจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย
2. การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ในการวิจัยโดยใช้วิธีการสังเคราะห์งานวิจัยก็มีลักษณะเหมือนกับการวิจัยโดยทั่วไป กล่าวคือหลังจากผู้วิจัยได้ทราบถึงปัญหาที่จะทำการวิจัยแล้ว สิ่งที่ผู้วิจัยควรดำเนินการต่อไปก็คือศึกษาปัญหาที่จะทำการวิจัยอย่างรอบคอบ โดยการศึกษาจากทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัย ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ปัญหาการวิจัยชัดเจนขึ้นและจะได้เป็นแนวทางในการกำหนดขอบเขตการวิจัยและสมมติฐานการวิจัยต่อไป
3. การดำเนินการสังเคราะห์งานวิจัย
ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์เมตา ซึ่งประกอบด้วย
3.1 การเสาะค้นงานวิจัย หลังจากที่ผู้วิจัยกำหนดปัญหาและวิเคราะห์การวิจัยที่จะสังเคราะห์งานวิจัยแล้ว สิ่งที่ผู้วิจัยจะต้องดำเนินการต่อไปคือ การเสาะค้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัยนั้นๆ ซึ่งกลาส (Glass,1981:62-63) ได้กล่าวถึงแหล่งเสาะค้นงานวิจัยที่จะนำมาวิเคราะห์เมตาว่าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ก. แหล่งปฐมภูมิ (primary sources) หมายถึงแหล่งที่ผู้วิจัยจะเก็บข้อมูลวิจัยจากงานวิจัยนั้นโดยตรง อันได้แก่ รายงานการวิจัยที่พิมพ์เผยแพร่เป็นเล่ม และพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างๆ วิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์ของนิสิตและนักศึกษา รายงานการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนงานประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการวิจัย และอื่นๆ เป็นต้น
ข. แหล่งทุติยภูมิ (Secondary sources) หมายถึงแหล่งข้อมูลที่ผู้วิจัยไม่ได้เก็บข้อมูลผลการวิจัยจากรายงานการวิจัยนั้นโดยตรง แต่เป็นข้อมูลผลการวิจัยที่ผู้วิจัยเก็บรวบรวมจากรายงานสรุป และในวารสารต่างๆ อันได้แก่ Review of Educational Research, Sociological Review, Abstracts in Anthropology, Dissertation Abstracts International, Educational Index, Psychological Abstracts, Sociological Abstracts เป็นต้น
3.2 การคัดเลือกงานวิจัย หลังจากที่ผู้วิจัยได้เสาะค้นหางานวิจัยจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งปฐมภูมิหรือแหล่งทุติยภูมิแล้ว สิ่งที่ผู้วิจัยจะต้องดำเนินการต่อไปก็คือ การคัดเลือกงานวิจัย ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น เลือกมาทั้งหมด ใช้วิธีการสุ่มมา ใช้วิธีการคัดเลือก อย่างไรก็ตาม ไลท์ (Light and Pillemer,1984:31-38) ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการคัดเลือกงานวิจัยในกรณีที่เลือกมาทั้งหมด กับการเลือกเฉพาะผลงานที่มีการพิมพ์ ดังนี้
ก. การเลือกมาทั้งหมด วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด กล่าวคือ เป็นการรวบรวมผลการวิจัยทุกเรื่องเท่าที่จะหาได้ ทั้งงานวิจัยที่มีการพิมพ์และงานวิจัยที่ไม่มีการพิมพ์ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอก รายงานการวิจัยเท่าที่จะหาได้จากองค์กรต่างๆ เช่น Rand Operation, Urban Institute และสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ วิธีนี้สามารถทำให้หลีกเลี่ยงการเลือกเรื่องที่จะนำมาศึกษาหรือการตัดสินใจที่ว่าทำไมจึงเลือกบางเรื่องมาศึกษา
ข. การเลือกเฉพาะผลงานที่มีการตีพิมพ์ วิธีนี้เป็นการนำเสนอเฉพาะผลงานที่มีการตีพิมพ์ เท่านั้นมารวมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะวิทยานิพนธ์และเอกสารการประชุมเท่านั้น เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในห้องสมุดและสามารถหาได้แทบทุกแห่ง การไม่นำรายงานที่ไม่มีการตีพิมพ์มาพิจารณาจะเป็นการทุ่นเวลา งบประมาณ และยังสามารถควบคุมคุณภาพของงานวิจัยได้ด้วย
แต่การคัดเลือกงานวิจัยเฉพาะที่มีการตีพิมพ์มาเสนอนั้นก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ โรเซนทาล (Rosenthal, 1978 อ้างถึงใน Light and Pillemer, 1984) ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสิ่งตีพิมพ์ที่มีความลำเอียง โดยสรุปว่าผลงานวิจัยที่นำมาอ้างในวารสารจะเป็นผลงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ ก็จะมีการยอมรับมากกว่าข้อค้นพบที่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นในการคัดเลือกงานวิจัย ถ้าผู้วิจัยคัดเลือกเฉพาะผลงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ ก็จะทำให้ผลที่ได้สูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งในเรื่องนี้ สมิธ (Smith, 1980 อ้างถึงใน Light and Pillemer,1984) ได้ศึกษาผลงานวิจัย 10 เรื่องที่เสนอในวารสารกับผลงานวิจัยที่ได้มาจากแหล่งอื่นๆ ผลปรากฏว่าค่าที่ได้จากผลงานวิจัย หากเลือกเฉพาะผลงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์จะทำให้ได้ข้อสรุปที่มีความคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นจึงควรหันมาพิจารณาเอกสารอื่นๆที่ไม่มีการตีพิมพ์ แต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง เนื่องจากการรวบรวมผลงานวิจัยจากแหล่งต่างๆ โดยละเว้นผลงานที่ไม่มีการตีพิมพ์ จะทำให้ข้อสรุปที่ได้จาการศึกษามีความลำเอียงไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม ในการคัดเลือกงานวิจัย ไม่ว่าผู้วิจัยจะคัดเลือกโดยวิธีใดก็ตาม ผู้วิจัยจะต้องตรวจสอบคุณภาพของงานวิจัยก่อนว่ามีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่ง อุทุมพร จามรมาน (2527:22) ได้เสนอเกณฑ์การประเมินงานวิจัย ดังนี้
เกณฑ์การประเมินงานวิจัย ดังนี้
1) ความชัดเจนในปัญหาวิจัย สมมติฐาน ข้อตกลง ความจำกัดของการวิจัย ความไม่สมบูรณ์ของการวิจัย
2) คำจำกัดความที่ใช้ในรายงานได้รับการระบุอย่างชัดเจนหรือไม่
3) การออกแบบการวิจัยมีการบรรยายอย่างครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่
4) ประชากร กลุ่มตัวอย่าง และการสุ่มตัวอย่าง ถูกต้องหรือไม่
5) เครื่องมือวิจัยมีความเที่ยงตรงหรือไม่
6) เทคนิคการรวบรวมข้อมูลเหมาะสมกับงานวิจัยครั้งนี้
7) เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล ถูกต้อง เหมาะสม ตรงตามกระบวนการข้อมูลตัวแปร และวัตถุประสงค์การวิจัยหรือไม่
8) การเสนอผลวิจัยครบถ้วน ไม่ลำเอียง และถูกต้อง
9) การสรุปผลวิจัยชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน และอ่านง่าย
3.3 การรวบรวมผลงานวิจัยและการลงรหัสข้อมูล
หลังจากที่ผู้วิจัยได้เลือกงานวิจัยโดยใช้เกณฑ์การประเมินงานวิจัยแล้ว สิ่งที่ผู้วิจัยต้องดำเนินการต่อไป คือ การรวบรวมผลงานวิจัย โดยการศึกษางานวิจัยอย่างละเอียด เพื่อนำค่าสถิติต่างๆ ซึ่งเป็นข้อค้นพบจากงานวิจัยทุกเรื่องไปวิเคราะห์เมตา ในการรวบรวมผลงานวิจัย ผู้วิจัยจะต้องสร้างเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากรายงานการวิจัย โดยทั่วไปแล้วเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมผลงานวิจัยหรือที่เรียกว่า แบบสรุปงานวิจัย
แบบสรุปงานวิจัยจะประกอบด้วย
1) ข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะของงานวิจัย ได้แก่ ชื่อผู้วิจัย ชื่องานวิจัย ปีที่พิมพ์ สถาบันที่ทำการวิจัย เนื้อเรื่องที่ทำวิจัย สมมติฐาน ตัวแปร กลุ่มตัวอย่าง วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือการวิจัย การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
2) ข้อมูลเกี่ยวกับผลการวิจัย ได้แก่ ค่าสถิติต่างๆ
4. การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิเคราะห์ข้อมูลของงานวิจัยโดยทั่วไป ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์จะเป็นข้อมูลที่ได้จากการวัดหรือการสังเกต ซึ่งอยู่ในรูปของคะแนน แต่ในการวิเคราะห์เมตานั้น สำหรับการวิจัยเชิงทดลองข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ค่าดัชนีมาตรฐาน เรียกว่า ค่าขนาดอิทธิพล (Effect Size) ใช้ตัวย่อว่า E.S. หรือ d แต่ถ้าเป็นการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ ค่าดัชนีมาตรฐานที่ได้ คือ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ใช้ตัวย่อว่า r
5. การเสนอผลการสังเคราะห์งานวิจัย ในขั้นนี้เป็นการสรุปผลการวิเคราะห์และจัดทำรายงาน สำหรับการสรุปผลการวิเคราะห์นอกจากจะต้องมีการสรุปผล การอภิปรายผลเชื่อมโยงผลการวิจัยกับความรู้ในอดีต และความรู้ทางทฤษฏีแล้ว ยังต้องให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะทางวิชาการด้วย และผลการวิเคราะห์ต้องให้ข้อค้นพบที่ลึกซึ้งเหนือชั้นกว่างานวิจัยแต่ละเรื่องที่นำมาสังเคราะห์ และข้อสรุปรวมทั้งข้อเสนอแนะต้องมีความกว้างขวางโดยทั่วไป (generality) มากกว่างานวิจัยปกติ (นงลักษณ์ วิรัชชัย 2542:98-99)