วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

ถาม-ตอบ เรื่องระเบียบวิธีวิจัย (3)

























คำถาม
การวิจัยเชิงทดลองอาศัยหลักการของ Max-Min-Con และคำนึงถึงความตรงภายในกับความตรงภายนอก(Internal-External Validity)ให้อธิบายความหมายของหลักการดังกล่าว พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยเชิงทดลองที่ใช้หลักการดังกล่าว



คำตอบ

การออกแบบการวิจัยเชิงทดลอง(Experimental Research) หรือกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Design) ผู้วิจัยต้องยึดหลักการร่วมกัน คือ หลัก “ MAX–MIN–CON” ดังนี้


หลัก MAX–MIN–CON

(1) MAX ย่อมาจาก Maximized systematic variance คือการเพิ่มความแปรปรวนที่เป็นระบบให้มากที่สุด เป็นการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนโดยการเพิ่มความแปรปรวนระหว่างกลุ่ม หรือ ความแปรปรวน ที่เนื่องมาจากการทดลองให้สูงสุด ซึ่งทำได้โดยการกำหนดวิธีการทดลองให้กับกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมให้แตกต่างและเป็นอิสระจากกันและกัน ตลอดจนควบคุมเวลาและสภาวะของการทดลองให้เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจัดกระทำกับตัวแปรอิสระให้ส่งผลต่อตัวแปรตามมากที่สุด


(2) MIN ย่อมาจาก Minimized error variance คือ การลดความแปรปรวนของความคลาดเคลื่อน เป็นการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนโดยการทำให้ค่าความแปรปรวนของความคลาดเคลื่อนมีค่าน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ ซึ่งความคลาดเคลื่อน แบ่งเป็น 2 ชนิด ดังนี้

2.1 ความคลาดเคลื่อนอย่างมีระบบ (Systematic error) เป็นความคลาดเคลื่อนที่มีผลต่อกลุ่มตัวอย่าง ทั้งกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งผู้วิจัยสามารถแก้ไขความคลาดเคลื่อนนี้ได้ ดังนี้ คือ ถ้าทราบว่าเครื่องมือวัดมีความบกพร่องก็แก้ความคลาดเคลื่อนได้โดยการสร้างเครื่องมือวัดให้มีความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นสูง ตลอดจนให้มีความเป็นปรนัย และมีประสิทธิภาพสูงด้วยเช่นกัน

2.2 ความคลาดเคลื่อนอย่างสุ่ม (Random error) เป็นความคลาดเคลื่อนที่เกิดกับกลุ่มตัวอย่างบางส่วน ทำให้เกิดความไม่เท่ากันของโอกาสในการเกิดขึ้นของตัวแปรแทรกซ้อน ซึ่งความคลาดเคลื่อนชนิดนี้สามารถแก้ไขโดยใช้กฎการแจกแจงปกติ (Normal distribution law) และคำนวณหาค่าสถิติเพื่อจัดกระทำกับความคลาดเคลื่อนนี้


วิธีการลด error variance คือ

(1) พยายามให้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาในกลุ่มทดลองแต่ละกลุ่มควบคุมมีความแตกต่างกันน้อยที่สุด
(2) พยายามลดความคลาดเคลื่อนของการวัด และ
(3) พยายามให้การวัดมีความเที่ยง( Reliability) มากที่สุด


(3) CON ย่อมาจาก Control extraneous systematic variance คือการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนที่ส่งผลอย่างมีระบบ เป็นการควบคุมหรือขจัดให้ตัวแปร อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทดลองออกให้หมด เพื่อให้ตัวแปรตามที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากตัวแปรอิสระเท่านั้น ซึ่งมีวิธีการทำดังนี้

3.1 การสุ่ม (Randomization) วิธีการนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เป็นการกระทำให้กลุ่มตัวอย่างที่สุ่มออกมาจากกลุ่มประชากรมีคุณสมบัติด้านต่าง ๆ พอ ๆ กัน จึงสามารถควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนได้เป็นอย่างไร

3.2 การเพิ่มตัวแปร (Add to the design) วิธีการนี้ใช้ในกรณีที่ตัวแปรแทรกซ้อนบางตัวที่ควบคุมได้ยาก ก็ให้เอาตัวแปรนั้นเพิ่มเข้าไปโดยถือว่าเป็นตัวแปรอิสระที่ผู้วิจัยจะต้องศึกษาด้วย

3.3 การจับคู่ (Matching) เป็นวิธีการใช้กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน คือ ทำให้มีลักษณะของตัวแปรแทรกซ้อนในระดับที่เท่า ๆ กัน โดยการจับคู่มี 2 แบบ คือ

1) จับกลุ่ม (Matched group) เป็นการจัดให้ทั้ง 2 กลุ่ม มีคุณสมบัติเหมือนกัน โดยมิได้คำนึงถึงว่าสมาชิกในกลุ่มจะเท่ากันเป็นรายบุคคลหรือไม่ ทำได้โดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแต่ละกลุ่ม แล้วนำทั้ง 2 กลุ่มหรือหลาย ๆ กลุ่มมาทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (x) และความแปรปรวน (S2) ถ้าพบว่าแตกต่างกัน ก็ต้องจัดกลุ่มใหม่เพื่อได้กลุ่มตัวอย่างที่มีค่าเฉลี่ยที่ไม่แตกต่างกัน

2) จับคู่รายบุคคล (Matched subjects) เป็นการจัดให้บุคคลที่มีความเหมือนกันหรือเท่าเทียมกันมาจับคู่กัน แล้วแยกออกเป็นคนละกลุ่ม ทำเช่นนี้จนได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ ก็จะได้กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่มีคุณสมบัติทุกด้านเหมือนกัน นำ 2 กลุ่มนี้มาทดสอบดูนัยสำคัญเชิงสถิติเพื่อดูความแตกต่างของค่าเฉลี่ย และความแปรปรวนเช่นเดียวกับการจับกลุ่ม

3.4 การใช้สถิติ (Statistical control) เป็นการใช้เทคนิควิธีการทางสถิติที่สามารถนำมาควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนได้ คือการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (Analysis of covariance) ซึ่งจะสามารถปรับคุณสมบัติที่แตกต่างกันของกลุ่มตัวอย่างได้ ทำให้ผลที่ปรากฏเป็นผลจากการทดลองเท่านั้น

3.5 การตัดทิ้ง (Elimination) เป็นการขจัดตัวแปรที่คิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทดลองออกไป เช่น ถ้าคิดว่าความสนใจเกี่ยวข้องกับการทดลองและจะไม่เอามาเป็นตัวแปรอิสระ จำเป็นจะต้องตัดตัวแปรนี้ออกไป วิธีการก็คือเลือกเอากลุ่มตัวอย่างที่มีความสนใจเหมือน ๆ กัน เป็นต้น



ตัวอย่างงานวิจัย

(3) ตัวอย่างงานวิจัยที่ใช้หลักการของการวิจัยเชิงทดลองที่ใช้หลัก Mac – Min - Con


ชื่องานวิจัย การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยภูมิปัญญาล้านนา สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ชื่อผู้วิจัย นางวัชราภรณ์ วัตรสุข


วัตถุประสงค์(1)เพื่อสร้างและใช้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยภูมิปัญญาล้านนา สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
(2)เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยด้านการอ่านออกเสียงและอ่านจับใจความของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยภูมิปัญญาล้านนากับเรียนโดยใช้แผนการสอนปกติ

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2543 โรงเรียนวัดแม่กำปอง และ โรงเรียนวัดห้วยแก้ว สำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 19 คน กลุ่มควบคุม จำนวน 19 คน โดยกลุ่มทดลองเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดย ภูมิปัญญาล้านนา กลุ่มควบคุมเรียนโดยใช้แผนการสอนปกติ


เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1)แผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยภูมิปัญญาล้านนาด้านการใช้ปริศนาคำทายล้านนา สุภาษิตล้านนา นิทานพื้นบ้านล้านนา เพลงพื้นบ้านล้านนา และคำอู้บ่าว–อู้สาวล้านนา (คำเกี้ยวสาว) จำนวน 13 แผน

2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทย ด้านการอ่านออกเสียง จำนวน 1 ฉบับ 5 ชุด เป็นแบบทดสอบการอ่านออกเสียงของนักเรียนเป็นรายบุคคลที่ผ่านการวิเคราะห์หาคุณภาพด้วยการให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา

3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยด้านการอ่านจับใจความเป็นแบบทดสอบก่อนและหลังเรียนแบบปรนัยเลือกตอบ จำนวน 1 ฉบับ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.88

การนำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยภูมิปัญญาล้านนาไปใช้พื่อพัฒนาทักษะการอ่าน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนประถมศึกษาที่เป็นศูนย์พัฒนากิจกรรมส่งเสริม การอ่าน ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ (การขยายผลการวิจัย) อำเภอละ 1 โรงเรียน รวม 24 โรงเรียน มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ร่วมเรียนรู้จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยภูมิปัญญาล้านนา รวมทั้งสิ้นจำนวน 639 คน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2544

การนำเสนอข้อมูลกระทำในรูปของคำบรรยายประกอบตาราง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t – test) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC


ผลการวิจัยพบว่า

1. กิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยภูมิปัญญาล้านนา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อในการฝึกทักษะด้านการอ่านออกเสียงและการอ่านจับใจความของนักเรียน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาล้านนา” ด้านภาษาได้แก่ ปริศนาล้านนา สุภาษิตล้านนา นิทานพื้นบ้านล้านนา เพลงพื้นบ้านล้านนา และคำอู้บ่าว – อู้สาวล้านนา (คำเกี้ยวสาว) เป็นเนื้อหาของการจัดกิจกรรม กำหนดจุดประสงค์หลักให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกทักษะการอ่าน กระบวนการจัดกิจกรรมและวิธีการวัดผลประเมินผลจัดอย่างหลากหลายตามแนวปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และเหมาะสมกับวัยและความสนใจของผู้เรียน สื่อที่ใช้ประกอบการจัดกิจกรรมมีความน่าสนใจ และมีการสอดแทรกแนวคิด ข้อเตือนใจ คุณธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกแผนการจัดกิจกรรม

2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยด้านการอ่านออกเสียงของนักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีระดับคุณภาพต่างกัน โดยกลุ่มทดลองมีระดับคุณภาพของการอ่านออกเสียงสูงกว่ากลุ่มควบคุม

3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยด้านการอ่านจับใจความของนักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 แสดงว่านักเรียนที่เรียนรู้ด้วย กิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยภูมิปัญญาล้านนามีผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านจับใจความสูงขึ้น และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยด้านการอ่านจับใจความก่อนเรียนและหลังเรียนของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001

การนำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยภูมิปัญญาล้านนา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ไปใช้ในโรงเรียนศูนย์พัฒนากิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 24 โรงเรียน นักเรียน จำนวน 639 คน ผลปรากฏว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าในการอ่าน โดยมีระดับคุณภาพของการอ่านออกเสียงหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยด้านการอ่านจับใจความหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001



หมายเหตุงานวิจัยเรื่องนี้ ผู้วิจัยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2542 จำนวน 40,000 บาท และได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลวิจัย ระดับชาติ เนื่องในการประชุมสัมมนาเสนอผลวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีพุทธศักราช 2545 ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 8 เมษายน 2545 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร