วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

ถาม-ตอบ เรื่องระเบียบวิธีวิจัย (4)


























คำถาม

การเรียนรู้แบบแผนการวิจัยต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักวิจัย ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวนี้ และด้วยแนวคิดนี้ ท่านที่สนใจจะนำไปใช้ในการวิจัยอย่างไร


แนวคำตอบ

แบบแผนการวิจัย (research design) หมายถึง กระบวนการวางแผนที่ทำให้ผู้วิจัยสามารถตอบคำถามการวิจัยได้ด้วยความตรง (validity) มีความเป็นปรนัย (objectively) ถูกต้อง (accurately) และประหยัด (economically)

แบบแผนการวิจัยเป็นเรื่องของการวางแผนวิธีการทำวิจัย โดยเป็นการวางแผนเกี่ยวกับ

๑) การกำหนดตัวแปรและการสร้างเครื่องมือ(measurement design) (ตัวแปรที่ต้องการเก็บข้อมูล, เครื่องมือ การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ)
๒) การวางแผนการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือการออกแบบการสุ่มตัวอย่าง (sampling design) (เก็บข้อมูลจากใครบ้าง จำนวนเท่าไร เก็บอย่างไร)
๓) การออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล (analysis design) เป็นการวางแผนการวิเคราะห์ข้อมูลหลังจากที่เก็บข้อมูลได้แล้ว (วิเคราะห์อย่างไรให้ตรงวัตถุประสงค์และสมมติฐานการวิจัย ใช้สถิติอะไร แปลความหมายอย่างไร นำเสนอผลการวิเคราะห์อย่างไร)


จุดมุ่งหมายของแบบแผนการวิจัย

๑)เพื่อให้ได้แนวทางในการตอบปัญหาการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ มีความตรงทั้งความตรงภายในและความตรงภายนอก ที่ประหยัดทรัพยากร
๒)เพื่อควบคุมความแปรปรวนที่เกิดขึ้นในการวิจัย (variance control)ได้แก่
๒.๑) ทำให้ความแปรปรวนของตัวแปรที่ศึกษาหรือความแปรปรวนมีระบบ (systematic variance) มีค่าสูงสุด (to maximize the variance of the variable)
๒.๒) ลดความแปรปรวนจากความคลาดเคลื่อนหรือความแปรปรวนแบบสุ่มที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนในการวัดตัวแปรให้มีค่าต่ำสุด (to minimize the error)
๒.๓)ควบคุมความแปรปรวนที่เกิดจากตัวแปรแทรกซ้อน (to control the variance of extraneous or “unwanted” variables)



ขั้นตอนของแบบแผนการวิจัย

ขั้นตอนของแบบแผนการวิจัย ประกอบด้วยการกำหนดรูปแบบ ขอบเขต และแนวทางการวิจัย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑) การกำหนดรูปแบบการวิจัย (model) สามารถกำหนดได้หลายรูปแบบตามมิติหรือเกณฑ์ที่ใช้แบ่งแตกต่างกัน
๒) การกำหนดขอบเขตการวิจัย (delimitation) เป็นการกำหนดขอบเขตของประชากร กรอบแนวคิดในการวิจัย จำนวนตัวแปรที่ศึกษา และช่วงระยะเวลาที่ศึกษา ซึ่งควรสอดคล้องกับกรอบแนวคิดในการวิจัย
๓)การกำหนดแนวทางการวิจัย (procedures) จะครอบคลุม ๓ ส่วนหลัก ได้แก่ การออกแบบการวัดตัวแปร (measurement design) การออกแบบการสุ่มตัวอย่าง (sampling design) และการออกแบบการวิเคราะห์

ข้าพเจ้าเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดนี้ การกำหนดแบบแผนการวิจัยที่ดี ทำให้ผู้วิจัยมีทิศทางและสามารถนำมาใช้เขียนระเบียบวิธีวิจัยในโครงการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแบบแผนการวิจัยทำให้ผู้วิจัยได้คำตอบของงานวิจัยที่มีความตรงภายใน (internal validity) ความตรงภายนอก (external validity) และประหยัดทรัพยากร และข้าพเจ้าจะนำไปใช้ในการวางแผนการวิจัยของตนเอง โดยการดำเนินตามขั้นตอนของแบบแผนการวิจัยอย่างเป็นขั้นตอน ครอบคลุม ชัดเจนและทำอย่างถูกต้อง ทั้ง ๓ ประเด็น คือ (๑) การกำหนดรูปแบบการวิจัย(๒)การกำหนดขอบเขตการวิจัย (๓)การกำหนดแนวทางการวิจัย