วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

การวิจัยเชิงประเมิน

1. แนวคิดของประเด็นหลัก

1.1 การวิจัยเชิงประเมิน เป็นการศึกษาค้นคว้าในเชิงปริมาณที่เป็นระบบ ด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างคลอบคลุม ครบถ้วน เชื่อถือได้ และกำหนดเกณฑ์ในการตัดสินที่เป็นปรนัย เป็นการวิจัยประยุกต์ที่มุ่งตัดสินคุณค่าของ “ปฏิบัติการใด ๆ” ที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะเป็นการวิจัยที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อการพัฒนางาน
1.2 กระบวนการวิจับเชิงประเมิน มีขั้นตอนการดำเนินงานในลักษณะใกล้เคียงกับการวิจัยโดยทั่วไป ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ มีขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ ๆ คือ วิเคราะห์/ทำความรู้จักกับ “เป้า” หรือ “สิ่งที่ต้องการประเมิน” ระบุหลักการและเหตุผล หรือจุดมุ่งมายหลักของการประเมิน กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน กำหนดขอบเขตการประเมิน ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีแบบจำลองการประเมิน และตัวอย่างของงานประเมินต่าง ๆ ออกแบบประเมินพัฒนาเครื่องมือ เก็บรวบรวมข้อมูลในการประเมิน วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผลการประเมิน และรายงานผลการประเมินต่อผู้เกี่ยวข้อง
1.3 การประกันคุณภาพ เป็นระบบงานที่มีการกำหนดมาตรฐานของงาน มีการพัฒนาและควบคุมให้การดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐาน และมีการประเมินหรือตรวจสอบผลการดำเนินงานเป็นระยะๆ เพื่อตัดสินว่าการดำเนินงานและผลงานเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ การประเมินหรือการวิจัยเชิงประเมินจึงเป็นกิจกรรมปรือเงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งของระบบประกันคุณภาพเพื่อพัฒนาการศึกษา
1.4 การวิจัยเชิงประเมินในแต่ละกรณี จะมีการออกแบบและดำเนินในลักษณะที่มีจุดเน้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการสารสนเทศประกอบกับการตัดสนใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง



2. แนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยเชิงประเมิน

ความหมายของการประเมินและการวิจัยเชิงประเมิน

การประเมินมีความหมายที่แตกต่างกันหลานลักษณะ เช่น การประเมินเป็นการให้บริการ (Evaluation = Serviceหรือ E = S) เป็นการรวบรวมข้อมูลและใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของลูกค้าผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ การประเมินที่สอดคล้องกับกลุ่มแนวคิดนี้อย่างชัดเจน เช่น แนวคิดของ สตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam, 1968) ที่ให้คำนิยามว่า “การประเมิน คือ การรวบรวมข้อมูลและใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ” หรือแนวคิดของ แพทตัน (Patton, 1978) ผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “การประเมินโดยยืดประโยชน์ใช้สอย (Utilization-Focused Evaluation)” เป็นต้น หรือนิยามว่า การประเมินเป็นการตัดสินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ (Evaluation = Judgement หรือ E = J ) โดยตัดสินคำคุณว่า ดี-เลว มีคุณภาพ-ไม่มีคุณภาพ ฯลฯ การปฏิบัติที่สะท้อนแนวคิดนี้อย่างชัดเจน เช่น การประเมินเพื่อรับรองวิทยฐานะในอดีต การตัดสินบุคคลใด ๆ ว่าสวย-ไม่สวย โดยอาศัยความรู้สึกของตนเองเป็นเกณฑ์ เป็นต้น หรือนิยามว่า การประเมินเป็นกระบวนการที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูล และตัดสินคุณค่าขิงสิ่งต่าง ๆ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด
การวิจัยเชิงประเมิน ถือเป็นมิติหนึ่งของการพิจารณากิจกรรมการประเมินเทียบเคียงกับกระบวนการวิจัย เป็นการศึกษาค้นคว้าในเชิงประเมนที่เป็นระบบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างครอบคลุม ครบถ้วน เชื่อถือได้

การวิจัยเชิงประเมิน มีลักษณะหรือจุดเน้นที่แตกต่างจากงานวิจัยทั่วไปในหลายลักษณะ ที่สำคัญ ๆ คือ 1.) มุ่งหาสารสนเทศประกอบการตัดสินใจ ขณะที่การวิจัยทั่วไปมุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้ใหม่ 2.) มุ่งตอบสนองความต้องการสารสนเทศของผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การวิจัยทั่วไปเน้นสนองความต้องการของผู้วิจัย 3.) มุ่งตัดสินคุณค่าของสิ่งที่ต้องการประเมินเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ขณะที่การวิจัยทั่วไปเน้นหาข้อสรุปเกี่ยวกับตัวแปรในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง และ 4.) ข้อสรุปจากการประเมินมีลักษณะเฉพาะเจาะจงสูง ขณะที่การวิจัยทั่วไปสามารถสรุปพาดพิงได้ในวงกว้างกว่า



ความสำคัญของการวิจัยเชิงประเมิน

การวิจัยเชิงประเมินมีความสำคัญ เพราะก่อให้เกิดประโยชน์ที่สำคัญ ๆ ในลักษณะต่อไปนี้
1. ทำให้ได้ข้อมูล สารสนเทศต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย หรือทิศทางการ
ดำเนินงานขององค์กร
2. ได้สารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง สื่อ/ชิ้นงาน แผนงาน โครงการ ให้เหมาะสม
ก่อนนำไปปฏิบัติ ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดปัญหา อุปสรรคที่จะทำให้กิจกรรม หรือการดำเนินงานโครง
การใด ๆ ล้มเหลว
3. การประเมินความก้าวหน้าของงานในความรับผิดชอบทำให้ผู้รับผิดชอบงาน/โครงการทราบ
จุดเด่น จุดด้อยของงาน มีโอกาสที่จะปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการลดโอกาสความสูญเปล่าในการปฏิบัติงาน
4. การประเมินความสำเร็จของงาน จะทำให้ทราบว่าการปฏิบัติการใด ๆ ที่ลงทุนไปแล้ว เกิด
ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ ช่วยลดโอกาสการสูญเปล่าในการดำเนินงาน
5. การประเมินโดยเฉพาะในกรณีของการประเมินตนเอง จะทำให้ผู้รับผิดชอบงานเห็นจุดอ่อน
ของตน จะเกิดแรงจูงใจในการพัฒนางาน และเกิดการยกระดับคุณภาพงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆรวมทั้งหากบุคคลได้มีโอกาสมองเห็นความสำเร็จในการปฏิบัติงานก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ในการปฏิบัติงานได้อีกลักษณะหนึ่ง



หลักการของการวิจัยเชิงประเมิน

การวิจัยเชิงประเมินยึดหลักการที่สำคัญ ๆ ดังนี้
1. เป็นกิจกรรมการวิจัยที่มุ่งหาสารสนเทศประกอบกับการตัดสินใจในกระบวนการพัฒนางาน
2. มุ่งเสนอความต้องการสารสนเทศประกอบการตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้อง มากกว่าความต้องการ
สารสนเทศของนักวิจัยเอง
3. มุ่งแสวงหาสารสนเทศเพื่อการปรับปรุง พัฒนางานมากกว่าการตัดสินความสำเร็จหรือความ
ล้มเหลว
4. ให้ความสำคัญกับการกำหนดเกณฑ์ตัดสินคุณค่าที่มีความเป็นปรนัย สะท้อนคุณภาพ โดย
กำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ
5. ให้ความสำคัญกับการเสนอแนะทางเลือกที่หลากหลายภายหลังจากการตัดสินคุณค่า เพื่อช่วย
ให้สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นตรง โอกาสการสูญเปล่า
6. ใช้วิธีการศึกษา นคว้าอย่างเป็นระบบ โดยอิงวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ เช่นเดียวกับ
การทำวิจัยทั่วไป
7. ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการในภาวะแวดล้อมที่มีความเฉพาะเจาะจงสูง เพื่อนำข้อมูลไป
ใช้ในสถานการณ์เฉพาะ ไม่คาดหวังผลในการสรุปพาดพิงในวงกว้าง



เป้าของการประเมิน หรือสิ่งที่ต้องการประเมิน

การนำกิจกรรมการประเมินไปใช้กับเป้าหรือสิ่งที่ต้องการประเมินที่สำคัญ ๆ เช่น
1. ประเมินสื่อ/อุปกรณ์/ชิ้นงาน ระบบงาน หรือรูปแบบการทำงานใหม่ ๆ ซึ่งในกรณีนี้ใช้
2. ประเมินบุคลากร ซึ่งมักจะพบในงานบริหารบุคคล
3. ประเมินงานปกติของหน่วยงาน
4. ประเมินนโยบาย แผนงาน โครงการ และหลักสูตร
5. ประเมินองค์กรหรือหน่วยงาน ในการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานต่าง ๆ
เป้าของการประเมิน หรือสิ่งที่ต้องการประเมินแต่ละประเภท แต่ละสถานการณ์มีความซับซ้อนที่แตกต่างกัน การประเมินบางกรณีไม่ได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ครบถ้วนสมบรูณ์ เช่น กรณีการประเมินการปฏิบัติงานบุคลากรในองค์กร ในขณะที่ในกรณีของการประเมินนโยบาย แผนงานหรือโครงการ มีการเลือกกิจกรรมหรือทางเลือกที่เห็นว่าที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดแล้วนำไปปฏิบัติการพัฒนาระยะหนึ่ง เสมือนการใส่ปฏิบัติการ (treatment) ในงานวิจัยเชิงทดลอง โดยมีการตั้งสมมติฐานว่า ผลงานหรือคุณภาพงานตามตัวชี้วัดใด ๆ จะสูงขึ้นหรือดีขึ้น และในขั้นตอนสุดท้ายมีการพิสูจน์หรือตรวจสอบผลการดำเนินงาน ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้เรียกว่า การวิจัยประเมินผลโครงการ


ประเภทของการวิจัยเชิงประเมิน

การวิจัยเชิงประเมินจำแนกได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับ “เกณฑ์” ที่ใช้จำแนกได้ ดังนี้

1.จำแนกโดยเกณฑ์ “จุดมุ่งหมายและลักษณะการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ” จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 การประเมินเพื่อการปรับปรุง เป็นการประเมินเพื่อมุ่งตรวจสอบว่างานเป็นไปตาม
แผนหรือไม่ มีปัญหา อุปสรรคอย่างไรบ้าง ผลงานเริ่มเกิดขึ้นหรือไม่ หรือมีปัจจัยใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของงาน
1.2 การประเมินเพื่อสรุปผล เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นตรวจสอบผลลัพธ์ว่าเกิดผลดีหรือสัมฤทธิ์ผล
ตามความคาดหวังของโครงการหรือไม่ บางครั้งอาจเน้นตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นในระยะเสร็จสิ้นโครงการใหม่ ๆ หรืออาจเป็นการศึกษาผลทางตรงที่เกิดขึ้นในระยะยาวก็ได้

2. จำแนกโดยเกณฑ์ “การยึดวัตถุประสงค์ของการประเมิน” แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 การประเมินโดยยึดวัตถุประสงค์เป็นหลัก (Goal-Based evaluation) เป็นการประเมินที่เน้นการตรวจสอบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ของงาน/โครงการ ว่าทำได้ตามวัตถุประสงค์หรือเป็นไปตามที่คาดหวังในการปฏิบัติการหรือไม่
2.2 การประเมินที่อิสระ ไม่ยึดวัตถุประสงค์ (Goal-Free evaluation) เป็นการประเมินผลที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยนักประเมินไม่เน้นเพียงการตรวจสอบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการเท่านั้น แต่เน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลในแนวกว้างเพื่อวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นในทุกแง่มุม

3. จำแนกโดยเกณฑ์ “ระยะเวลาที่ประเมิน” จำแนกได้ ดังนี้
3.1 ประเมินก่อนเริ่มปฏิบัติการ จำแนกได้ 2 ลักษณะที่สำคัญ คือ การประเมิน
ความต้องการจำเป็น (needs assessment) เพื่อกำหนดนโยบาย กำหนดแผนงาน หรือโครงการหลังจากมีแผนงาน/โครงการเกิดขึ้นแล้วจะเกิดจากการประเมินความเหมาะสมหรือความเป็นไปได้ของโครงการ
3.2 การประเมินในระหว่างกานดำเนินงาน เป็นการประเมินการดำเนินงานเมื่อนำแผนงาน/โครงการ หรือกิจกรรมที่วางแผนไว้ไปปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อศึกษาถึงจุดเด่น จุดด้อย ปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดให้หรือไม่
3.3 การประเมินหลังการดำเนินงาน เป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบ หรือตอบคำถามว่านโยบายแผนงาน โครงการ หลักสูตรการเรียนการสอน หรือปฏิบัติการใดๆ ที่ดำเนินการแล้วเสร็จได้ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นได้จากการบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ อาจแบ่งการประเมินผลงานออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.ประเมินทันทีที่สุดโครงการ 2.การติดตามผลหรือประเมินผลกระทบจากการปฏิบัติการ ซึ่งต้องอาศัยการทิ้งช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม

4. จำแนกโดยเกณฑ์ “ลักษณะการใช้เกณฑ์ในการตัดสิน” จำแนกได้เป็น
4.1 การประเมินแบบอิงเกณฑ์ มักจะพบบ่อยในการประเมินผลการเรียน หรือการประเมินบุคลากร
โดยมีการกำหนดเกณฑ์การตัดสินผลการประเมินอย่างชัดเจนล่วงหน้า
4.2 การประเมินแบบอิงกลุ่ม มักพบบ่อยในการประเมินผลการเรียน หรือประเมินศักยภาพของบุคคล โดยเน้นการเปรียบเทียบกันเองภายในกลุ่มของผู้ถูกประเมิน แล้วตัดสินว่ากลุ่มใดจัดเป็นกลุ่มเก่ง หรืออ่อน เมื่อเทียบกับกลุ่ม


5. จำแนกตามสภาพการดำเนินงานหรือความต้องการสารสนเทศประกอบการตัดสินใจในกระบวนการ
ดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งในการบริหารจัดการเชิงระบบ จำแนกขั้นตอนการจัดการเป็น 5 ขั้นตอน คือ
5.1 ประเมินเมินสภาพปัจจุบัน/ปัญหา หรือความต้องการจำเป็น
5.2 พิจารณาค้นหาหรือพัฒนาทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพงาน และเลือกทางที่เหมาะสม
5.3 วางแผน/จัดทำแผนงาน โครงการ ตามทางเลือกที่คัดสรรแล้ว
5.4 ดำเนินงานตามแผน โดยมีการกำกับ ติดตาม ประเมินความก้าวหน้าของงาน และตัดสินใจปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง
5.5 ประเมินผลการดำเนินงานเพื่อตัดสินใจขยายขอบข่ายงาน หรือยุติแผนงาน/โครงการ ซึ่งในสภาพทางปฏิบัติ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน จะดำเนินการเป็นวงจรต่อเนื่องกัน โดยกิจกรรมการวิจัยหรือกิจกรรมการพัฒนาในลักษณะต่าง ๆ หลายลักษณะ คือ
1. การวิจัย/ประเมินสภาพปัจจุบัน/ปัญหา หรือความต้องการจำเป็น
2. การวิจัย/ประเมินประสิทธิภาพของนวัตกรรมหรือทางเลือกใหม่ ๆ
3. การวิจัย/ประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ของนโยบาย แผนงาน หรือโครงการ
4. การวิจัย/ประเมินความก้าวหน้าของนโยบาย แผนงาน หรือโครงการ
5. การวิจัย/ประเมินสรุปผลการดำเนินงาน การติดตามผล และประเมินผลกระทบต่าง ๆ



กระบวนการวิจัยเชิงประเมิน

กรณีที่เป้าของการประเมินหรือสิ่งที่มุ่งประเมินมีความซับซ้อนแตกต่างกัน เช่น ประเมินสื่อ ชิ้นงานประเมินนโยบาย แผนงาน โครงการ ประเมินหลักสูตรการเรียนการสอน ประเมินองค์กร ประเมินบุคลากร การประเมินในแต่ละกรณีอาศัยหลักการและแนวปฏิบัติที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัวอย่างแนวทางการดำเนินการวิจัยประเมินโครงการเป็นหลัก พร้อมทั้งชี้แนะในกรณีที่ “เป้า หรือสิ่งที่ต้องการประเมิน” แปรเปลี่ยนเป็นลักษณะอื่น ๆ ซึ่งโดยสรุปจะมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้


1. วิเคราะห์ทำความรู้จักกับ “เป้า หรือสิ่งที่ต้องการประเมิน”
การวิเคราะห์ทำความรู้จักกับ “เป้า หรือสิ่งที่ต้องการประเมิน” เช่น โครงการต่าง ๆ มีประโยชน์ที่สำคัญ คือ
1. ทำให้ผู้ประเมินรู้จักโครงการ หรือสิ่งที่ต้องการประเมินมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นนักประเมินภายนอก
2. ทำให้สามารถกำหนดภาพความสำเร็จของโครงการ หลักสูตร องค์กร บุคลากร หรือผลงานใด ๆได้ตลอดจนสามารถกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จในแต่ละกรณีได้อย่างชัดเจน
3. ทำให้สามารถเห็นกรอบแนวทางในการวางแผนประเมินหรือออกแบบประเมิน
4. เมื่อพบจุดเด่น จุดด้อย จุดอ่อน ข้อจำกัด ความสำเร็จ ความล้มเหลวของโครงการ หรือสิ่งที่มุ่งประเมิน นักประเมินจะสามารถอธิบายเหตุผลหรือสาเหตุได้อย่างคมขัดยิ่งขึ้น
5. เป็นประโยชน์ต่อการบรรยายโครงการ หรือบรรยายเป้าของการประเมิน หรือสิ่งที่ต้องการประเมินไว้ในรายงานการประเมิน เพื่อให้ผู้สนใจได้รับทราบธรรมชาติและลักษณะของสิ่งที่มุ่งประเมิน


2. ระบุหลักการและเหตุผล หรือจุดมุ่งหมายหลักของการประเมิน : ทำไมจึงต้องประเมิน
ในขั้นตอนนี้ต้องกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการหรือความเป็นมาของสิ่งที่ต้องการประเมิน ตลอดจนความจำเป็นและความสำคัญของการประเมินผล ผลดีของการประเมิน หรือผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าไม่ทำการประเมิน รวมทั้งจะต้องระบุจุดหมายหลักไว้ได้ว่าการประเมินในครั้งนี้จะเน้นความประเมินความก้าวหน้า ประเมินสรุปรวม หรือเป็นการศึกษาผลกระทบจากปฏิบัติการใด ๆ ผู้สนใจที่จะใช้ข้อมูลคือใคร นำข้อมูลไปใช้ตัดสินใจในลักษณะใด การระบุหลักการและเหตุผลที่ชัดเจนจะนำไปสู่การกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินที่ชัดเจนตามไปด้วย


3. กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน : ประเมินอะไรบ้าง
วัตถุประสงค์ของการประเมิน เป็นกรอบหรือทิศทางที่ทำให้ทราบว่าการประเมินครั้งนี้มุ่งศึกษาหรือมุ่งประเมินในด้านใด ศึกษาตัวบ่งชี้ใดบ้าง จะเป็นการควบคุมทิศทางการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และต้องไม่ลืมว่าจุดมุ่งหมายหลักของการประเมิน คือ หาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ดังนั้นการตั้งวัตถุประสงค์ของการประเมินจะต้องเขียนอย่างชัดเจน และชี้นำทิศทางในการประเมิน และต้องตรงกับความต้องการใช้ผลการประเมินของผู้บริหาร หรือลูกค้าที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ต้องมีความหมายเฉพาะ
เจาะจง วัดได้ ประเมินได้เป็นปรนัย และเป็นที่ยอมรับของผู้ถูกประเมิน
ในการกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน บ่อยครั้งที่ใช้โมเดลหรือแบบจำลองการประเมินเป็นกรอบในการกำหนดวัตถุประสงค์


4. กำหนดขอบเขตการประเมิน
การกำหนดขอบเขตของการประเมิน เป็นการกำหนดขอบเขตของงานว่าจะทำอย่างไร กับใครที่ไหน เมื่อไหร่ โดยทั่วไปขอบเขตของการประเมินมักจะระบุรายการต่อไปนี้ คือ
1. เป้า หรือสิ่งที่ต้องการประเมินคืออะไร โครงการคืออะไร ของหน่วยงานใด เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อใด องค์กรใด บุคลากรใด
2. ตัวแปร ตัวบ่งชี้ หรือประเด็นที่มุ่งศึกษาในการประเมินคืออะไรบ้าง
3. ช่วงระยะเวลาของการประเมิน/ช่วงระยะเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือช่วงเวลาใด


5. ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี แบบจำลองการประเมิน และตัวอย่างงานประเมินต่าง ๆ
การศึกษาแนวคิด ทฤษฎี ตัวอย่างงานประเมินที่มีลักษณะใกล้เคียงกับงานประเมินที่นักประเมินกำลังจะดำเนินการ จะทำให้นักประเมินโดยเฉพาะนักประเมินมือใหม่เห็นแนวทางในการดำเนินการประเมินได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถออกแบบการประเมินได้คมชัดยิ่งขึ้น ในกรณีที่กำลังจะดำเนินการประเมินนโยบาย แผนงาน โครงการ ควรศึกษากรณีตัวอย่างผลงานประเมินในกลุ่มนี้ หรือในกรณีที่กำลังจะประเมินองค์กรก็ควรศึกษากรณีตัวอย่างผลงานประเมินองค์กร/การประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานองค์กรต่าง ๆ หรือในกรณีที่กำลังจะประเมินการปฏิบัติงาน ก็ควรศึกษาแนวคิด แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินการปฏิบัติงาน รวมทั้งตัวอย่างผลการประเมินการปฏิบัติงาน

การศึกษาแบบจำลองการประเมิน ถือเป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้นักประเมินสามารถออกแบบการประเมินได้คมชัดมากขึ้น แบบจำลองการประเมิน คือ กรอบความคิดในการประเมินที่เสนอโดยนักประเมินอาชีพ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะบอกให้ทราบว่าในการประเมินนั้นควรพิจารณาในเรื่องใดบ้าง ในขณะเดียวกันหรือเสนอแนะด้วยว่าในการประเมินแต่ละเรื่อง แต่ละรายการควรพิจารณาหรือตรวจสอบอย่างไร เป็นลักษณะของการเสนอแนะวิธีการ


6. ออกแบบประเมิน : จะประเมินอย่างไร
ในการอกแบบการวิจัยเชิงประมาณ นักวิจัยจะต้องออกแบบหรือพิจารณาให้ครอบคลุมในเรื่องการเลือกใช้กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย (sampling design) การวัดหรือการเก็บรวบรวมข้อมูล (measurement design) และแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถิติที่ใช้ (statistical design) ซึ่งอาจจัดทำในลักษณะของการกำหนดกรอบแนวทางการประเมิน ดังตัวอย่างการกำหนดกรอบแนวทางการประเมินโครงการ ต่อไปนี้
ในการออกแบบการประเมินในแต่ละวัตถุประสงค์ นักประเมินจะต้องระบุประเด็นหรือตัวบ่งชี้ที่มุ่งประเมิน พร้อมกำหนดรายละเอียดอย่างน้อย 3 เรื่องที่สำคัญ คือ
1) เรื่องแหล่งข้อมูล หรือผู้ให้ข้อมูลหลัก(key informants) คือใคร จำนวนเท่าไร ผู้ให้ข้อมูลหลักจะต้องเป็นผู้รู้เห็น สามารถให้ข้อมูลได้อย่างชัดเจน ตรงประเดน การเลือกใช้กลุ่มตัวอย่างผู้ให้ข้อมูลในงานประเมิน มักเลือกใช้กลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling) ยกเว้นในกรณีมีผู้ที่สามารถให้ข้อมูลได้จำนวนมาก และสามารถให้ข้อมูลได้พอๆ กัน ในกรณีนี้อาจกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยอาศัยกระบวนการวิจัยทั่วไปในงานประเมินบางลักษณะ
2) เรื่องเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล จะใช้เครื่องมือชนิดใด จะพัฒนาเครื่องมือชนิดนั้นอย่างไร จะตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือด้วยวิธีใด
3) เรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล จะใช้วิธีการทางสถิติอย่างไร เกณฑ์ในการตัดสินความสำเร็จเป็นอย่างไร จะพัฒนาเกณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องอย่างไร


ในการวิจัยเชิงประเมิน กำหนดตัวบ่งชี้ (indicators) และเกณฑ์ (criteria) ในการประเมินถือเป็นเงื่อนไขสำคัญและเป็นเงื่อนไขโดดเด่นที่ทำให้งานประเมินมีลักษณะที่แตกต่างไปจากงานวิจัยโดยทั่วไป ซึ่งในการออกแบบการประเมิน นักประเมินจะต้องกำหนดตัวบ่งชี้และเกณฑ์ในการตัดสินคุณค่าอย่างชัดเจน

ตัวบ่งชี้ หมายถึงตัวแปร หรือค่าที่สามารถวัดได้ สังเกตได้ ซึ่งใช้ตัวบ่งชี้บอกสถานภาพ หรือสะท้อนลักษณะกำดำเนินงาน หรือผลการดำเนินงาน เช่น ตัวบ่งชี้ความสำเร็จในการเรียนคือเกรดเฉลี่ย (GPA) ตัวบ่งชี้ความสำเร็จในการฝึกอบรมคือ คะแนนทดสอบความรู้ ความพึงพอใจของผู้รับการอบรม พฤติกรรมหลังการอบรม ตัวบ่งชี้ของการรณรงค์เพื่อการป้องกันโรคไข้เลือดออกคือ ความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับโรคไข้เลือกออก ความตระหนักในปัญหาไข้เลือกออก พฤติกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

เกณฑ์ในการประเมิน หมายถึง สิ่งที่ใช้ในการตัดสินคุณค่าของทรัพยากร สื่อ/ชิ้นงาน การปฏิบัติ หรือคุณภาพของผลงาน เป็นการกำหนดระดับของตัวบ่งชี้ว่าควรเกิดขึ้น หรือควรปรากฏในลักษณะใด ระดับใดจึงจะถือว่าเป็นที่ยอมรับเกณฑ์ที่ใช้อาจกำหนดแตกต่างกันได้หลายวิธีโดยทั่วไปจำแนกเกณฑ์ในการประเมินได้ 2 ลักษณะ คือ
1) เกณฑ์สัมบูรณ์ เป็นการกำหนดเกณฑ์โดยหลักเหตุผลหรือจากการวิจัยเชิงประจักษ์
2) เกณฑ์สัมพัทธ์ เป็นการเปรียบเทียบกับปกติวิสัย เปรียบเทียบกับกลุ่มที่หลายลักษณะ
โดยทั่วไป หลังจากจบขั้นตอนที่ 6 แล้ว นักประเมินจะจัดทำเป็นรายละเอียดโครงการประเมิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการของบประมาณสนับสนุนในการประเมิน รวมทั้งจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมองเห็นกรอบและแนวทางการดำเนินการประเมินที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและเป็นที่เข้าใจตรงกันรวมทั้งจะเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการพัฒนา และโอกาสความสำเร็จในการประเมินได้อีกทางหนึ่งด้วย


7. พัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลในการประเมิน

การพัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล โดยทั่วไปมักจะทำหลังจากที่โครงการประเมินได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว สิ่งที่นักประเมินจะต้องทำคือ ตรวจสอบว่าเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินมีหรือยัง จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วหรือจะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลจะต้องสร้างให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการประเมิน ข้อคำถามควรเฉพาะเจาะจงเป็นปรนัย ควรผ่านการตรวจสอบ ความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ มีการทดลองใช้ และตรวจสอบคุณภาพขั้นพื้นฐานของเครื่องมือ
ในทางปฏิบัติ ผู้ประเมินควรใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลหลายวิธีประกอบกัน เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจและน่าจะสอดคล้องกับธรรมชาติของการประเมิน เช่น การวิเคราะห์ผลงาน การทอสอบฝีมือ/ความสามารถในการปฏิบัติงานการประชุม สัมมนาผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งการใช้สถานการณ์จำลอง การอภิปรายเป็นคณะ การใช้เทคนิคเดลฟาย การสังเกตแบบมีส่วนร่วม ฯลฯ อีกทั้งนักประเมินควรคำนึงถึงแหล่งข้อมูลประเภทแหล่งทุติยภูมิ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงแหล่งปฐมภูมิ บ่อยครั้งที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้แล้วในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง นักประเมินควรเลือกใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการประเมิน


8. เก็บรวบรวมข้อมูล
การเก็บรวบรวมข้อมูลจะต้องมีการวางแผนอย่างดี ในกรณีที่มีเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนหลายฉบับ และต้องการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ให้ข้อมูลจำนวนมาก ควรจัดทำคู่มือการเก็บรวบรวมข้อมูล ปฏิทินการเก็บรวบรวมข้อมูล และประสานงานกับแหล่งข้อมูลเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความละเอียดสมบูรณ์ ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง
ในกรณีของการประเมินองค์กร หรือการประเมินบุคลากร ควรเน้นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการประเมิน ระบบฐานข้อมูลที่ดี หรือมีการจัดระบบแฟ้มสะสมงานที่ดี จะนำไปสู่ระบบการประเมินที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้สามารถสรุป ประเมินผลงานขององค์กรหรือบุคลากรได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างแท้จริง


9. วิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัยเชิงประเมิน นักประเมินไม่จำเป็นต้องเน้นวิธีการทางสถิติที่หรูหราซับซ้อน ควรเลือกใช้วิธีการทางสถิติที่ง่ายต่อการสื่อความหมาย แต่สามารถตอบคำถามในการประเมินได้อย่างชัดเจน สถิติที่ใช้อาจเป็นสถิติภาคบรรยาย (Descriptive Statistics) เช่น การวิเคราะห์ความถี่ ร้อยละ การวิเคราะห์ค่ากลาง และดัชนีชี้การกระจายต่าง ๆ หรือสถิติอ้างอิง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้เนื่องจากมีโปรแกรมสำเร็จรูปจำนวนมากที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นปัญหาเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับนักประเมิน
กระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูลอาจใช้วิธีการเชิงสถิติบ้างตามความจำเป็น เช่นถ้าเป็นข้อมูลเชิงปริมาณก็สามารถนำมาวิเคราะห์โดยสถิติต่าง ๆ เช่น แจกแจงความถี่ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน อัตราส่วน ร้อยละ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ การทอสอบความแตกต่างด้วยสถิติทดสอบที หรือสถิติทดสอบเอฟ เป็นต้น ข้อควรระวังคือ จะใช้สถิติใดต้องตรวจสอบว่าข้อมูลเป็นไปตามข้อตรงลงหรือไม่ ส่วนข้อมูลที่ไม่ใช่ปริมาณนั้นสามารถวิเคราะห์ได้โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา
การวิเคราะห์ข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลกับเกณฑ์ หากการเปรียบเทียบ ปรากฏผลที่สอดคล้องกัน หรือผ่านเกณฑ์ หรือแตกต่างกันอย่างชัดเจน การตัดสินคุณค่าก็อาจทำได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าเป็นกรณีที่ข้อมูลมีลักษณะไม่แตกต่างกันชัดเจนนัก การตัดสินคุณค่าจะยากลำบากมากขึ้นและในกรณีดังกล่าว อาจต้องดูข้อมูลสภาพแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย


10. สรุปผลการประเมิน และรายงานผลการประเมินต่อผู้เกี่ยวข้อง

เป้าหมายปลายทางของการวิจัยเชิงประเมินคือ การนำข้อมูลผลการประเมินไปใช้เพื่อการวินิจฉัยสั่งการ หรือตัดสินใจในการปรับปรุงและพัฒนางาน และถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการประเมิน ดังนั้นในขั้นตอนนี้นักประเมินจะต้องจัดทำรายงานการประเมินเพื่อนำเสนอให้ผู้บริหารได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจรายงานการประเมินสามารถทำได้ใน 2 ลักษณะ คือ รายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร เป็นรายงานการสรุปผลการประเมินที่สั้น กะทัดรัด ปกติมีความยาว 1-5 หน้า ให้สารสนเทศที่ใช้ประกอบการตัดสินใจสำหรับผู้บริหารได้ ลักษณะของการรายงานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ วัตถุประสงค์ของการคำนวณ ผลการประเมิน และข้อเสนอแนะ




การวิจัยเชิงประเมินกับการประกันคุณภาพเพื่อพัฒนาการศึกษา

1. ความหมายของการประกันคุณภาพการศึกษา
อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มแนวความคิดเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา โดยได้นำแนวความคิดเกี่ยวกับการประกันคุณภาพไปใช้ในสถานศึกษาในปี ค.ศ. 1988 ต่อมาแนวคิดนี้จึงได้แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย แนวคิดในเรื่องของการประกันคุณภาพการศึกษายังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เริ่มมีการดำเนินงานอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2537 เมื่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้เสนอหลักการแนวทาง และวิธีการในการประกันคุณภาพทางวิชาการอย่างเป็นระบบในมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก และมีผู้ให้คำนิยามด้านการประกันคุณภาพการศึกษาไว้ในความหมายต่างๆ กัน ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้
สำนักมาตรฐานอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย (2541 : 1) ให้ความหมายของการประกันคุณภาพการศึกษาว่าคือ กิจกรรมหรือการปฏิบัติใดๆ ที่หากได้ดำเนินการตามระบบและแผนที่ได้วางไว้แล้ว จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าจะได้บัณฑิตที่มีคุณภาพตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์

กรมวิชาการ (2539) กำหนดว่า การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นมาตรการหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า สถานศึกษาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ผู้จบการศึกษามีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (2540) กำหนดว่า การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นวิธีการหรือกลยุทธ์ที่กำหนดแนวปฏิบัติหรือแนวทางการดำเนินงานในการจัดการศึกษาที่เป็นหลักประกันว่า นักเรียนมีคุณภาพมาตรฐานการศึกษา และเป็นที่ยอมรับของสังคม
สถาบันส่งเสริมการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ (2543) ให้ความหมายของการประกันคุณภาพการศึกษาว่า เป็นการบริหารจัดการ และการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติของสถานศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการทางการศึกษา ทั้งผู้รับบริการโดยตรง และผู้รับบริการทางอ้อม ว่าการดำเนินงานของสถานศึกษาจะมีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด

โดยสรุป การประกันคุณภาพทางการศึกษา เป็นกระบวนการหรือระบบการดำเนินงานเพื่อควบคุมหรือพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการทางการศึกษาว่าการดำเนินงานของสถานศึกษาที่กำหนด ลักษณะสำคัญของระบบประกันคุณภาพการศึกษาคือ มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่กำหนด มีการพัฒนางานให้ได้ตามมาตรฐาน มีการควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพ และประเมินผลการพัฒนาเป็นระยะๆ เพื่อตรวจสอบว่าได้เกิดคุณภาพมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่


2. ความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด และเมื่อมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จะทำให้คุณภาพการจัดการศึกษามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล หรือก้าวสู่ความเป็นเลิศได้
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดการประกันคุณภาพไว้ในหมวดที่ 6 ว่าด้วยการมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยได้กำหนดให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วยระบบประกันคุณภาพภายในและระบบประกันคุณภาพภายนอก สำหรับการประกันคุณภาพภายใน ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก โดยในมาตรา 49 กำหนดให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษามีฐานะเป็นองค์กรมหาชน ทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์ วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษา เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา ให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยในหนึ่งครั้งในทุกห้าปีนับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ (2549) กล่าวว่า การประกันคุณภาพการศึกษามีความสำคัญ 3 ประการ คือ
1) ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลคุณภาพการศึกษาที่เชื่อถือได้ เกิดความเชื่อมั่น และสามารถตัดสินใจเลือกใช้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน
2) ป้องกันการจัดการการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเกิดความเสอมภาคในโอกาสที่จะได้รับการบริการการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
3) ทำให้ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษามุ่งบริหารจัดการศึกษาสู่คุณภาพและมาตรฐานอย่างจริงจัง ซึ่งมีผลให้การศึกษามีพลังที่จะพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง การประกันคุณภาพการศึกษาจึงเป็นการบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการการศึกษา ทั้งยังเป็นการป้องกันการจัดการการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ และสร้างสรรค์การศึกษาให้เป็นกลไกที่มีพลังในการพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น

ในทางปฏิบัติ การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. เป็นการตรวจสอบยืนยันสภาพจริงในการดำเนินงานของสถานศึกษา
2. ช่วยให้ได้ข้อมูลซึ่งช่วยสะท้อนให้เห็นจุดอ่อน จุดแข็งของสถานศึกษา
3. ช่วยเสนอแนะแนวทางปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา
4. ช่วยส่งเสริมให้สถานศึกษามีการพัฒนาเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน
5. ช่วยให้ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการวางแผนและดำเนินการเพื่อพัฒนา
คุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
6. รายงานผลการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้หน่วยงานที่
เกี่ยวข้องและสาธารณชนทราบ
7. เพิ่มความมั่นใจและคุ้มครองประโยชน์ให้ผู้รับบริการทางการศึกษา


3. ประเภทของการประกันคุณภาพของการศึกษา
ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาอาจจำแนกได้เป็น 2 ส่วน คือ การประกันคุณภาพภายใน และการประกันคุณภาพภายนอก
3.1 การประกันคุณภาพภายใน หมายถึงกิจกรรมการควบคุมคุณภาพภายในสถาบัน โดยการดำเนินการของสถานบันเอง เพื่อให้มีความมั่นใจว่าสถานบันได้ดำเนินการามภารกิจหลักอย่างมีคุณภาพ กระบวนการประกันคุณภาพภายใน ประกอบด้วย การวบคุมคุณภาพ การตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินคุณภาพ
3.2 การประกันคุณภาพภายนอก หมายถึงการดำเนินการตามระบบควบคุมคุณภาพ พร้อมทั้งการตรวจสอบและการประเมินผลทั้งระบบ โดยหน่วยงานภายนอก เพื่อประกันว่าสถาบันการศึกษาได้ดำเนินการภารกิจหลักได้อย่างมีคุณภาพ กระบวนการประกันคุณภาพภายนอก ประกอบด้วย การตรวจสอบคุณภาพที่ผ่านกระบวนการประกันคุณภาพภายใน การประเมินคุณภาพ และการให้การรับรอง


4. การวิจัยเชิงประเมิน ในกระบวนการประกันคุณภาพเพื่อพัฒนาการศึกษา
ตามที่ได้สรุปในตอนต้นว่า ลักษณะสำคัญของระบบประกันคุณภาพการศึกษา คือมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพการจัดการศึกษา มีการพัฒนางานให้ได้ตามมาตรฐาน มีการควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพ และประเมินผลการพัฒนาเป็นระยะๆ เพื่อตรวจสอบว่าได้เกิดคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ ตามนัยนี้ จะเห็นว่าการประเมินอย่างเป็นระบบด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้ หรือการวิจัยเชิงประเมิน ถือเป็นกิจกรรมสำคัญในระบบประกันคุณภาพการศึกษา หรือหากวิเคราะห์ระบบประกันคุณภาพการศึกษา จะพบว่ามีภารกิจหลักที่สำคัญ 4 ส่วน ซึ่งต้องแยกบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน คือ
1) การกำหนดมาตรฐาน หรือหลักเกณฑ์ของระบบการประกันคุณภาพ เป็นหน้าที่ส่วนกลาง เช่น กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นต้น
2) การประเมินภายใน เป็นหน้าที่ของสถานศึกษา หรือหน่วยงานต้นสังกัดในการพัฒนาระบบการประเมินภายใน โดยดึงชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ในการประเมินภายใน สถานศึกษาหรือหน่วยงานต้นสังกัดสามารถเพิ่มเติมมาตรฐานการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้
3) การประเมินภายนอก ให้องค์กรอิสระในรูปองค์การมหาชนทำหน้าที่การประเมินภายนอก การที่ให้องค์กรอิสระทำหน้าที่นี้เพราะต้องการให้อิสระจากฝ่ายราชการ และต้องทำหน้าที่ระบบประเมินทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน
4) การรำผลการประเมินไปใช้เพื่อการปรับปรุง เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารการศึกษา
ตามภารกิจของระบบดังกล่าวนี้ จะเห็นว่าการประเมินไม่ว่าจะเป็นการประเมินภายในหรือการประเมินจากภายนอก ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบประกันคุณภาพการศึกษา


5. แนวปฏิบัติในการดำเนินงานประกันคุณภาพเพื่อพัฒนาการศึกษา
การดำเนินงานประกันคุณภาพของสถานศึกษา สามารถดำเนินการได้ตามแนวปฏิบัติต่อไปนี้ (สถานบันส่งเสริมการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ 2543)

กิจกรรมที่ 1 การเตรียมความพร้อม เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ เจตคติที่ดีของบุคลกรในสถานศึกษา สร้างแรงจูงใจและแต่งตั้งคณะทำงาน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการประกันคุณภาพภายใน เช่น งบประมาณเพื่อการดำเนินงาน ปฏิทินการดำเนินงาน

กิจกรรมที่ 2 การศึกษาสภาพและผลการดำเนินงานของสถานศึกษาที่ผ่านมา เป็นการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานรวมทั้งผลการดำเนินของสถานศึกษาที่ผ่านมาแล้ว มาแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทราบ เพื่อพิจารณาตัดสินใจในการกำหนดแนวทางการประเมินและการพัฒนาสถานศึกษาของตนเอง

กิจกรรมที่ 3 การทำความเข้าใจกับบุคลากรในสถานศึกษา เกี่ยวกับสภาพและผลการดำเนินงานของสถานศึกษา เป็นการนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของสถานศึกษาให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน และพร้อมที่จะร่วมมือกันดำเนินงาน ตรวจสอบว่าสถานศึกษาดำเนินการเกี่ยวกับการประกันคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาหรือไม่

กิจกรรมที่ 4 การกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน มาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่จะใช้ในการประเมิน เป็นการกำหนดเป้าหมายที่บุคลากรทุกคนในสถานศึกษารับรู้และร่วมกันจัดทำว่าจะมีการตรวจสอบการทำงานของตนเองในด้านใด เรื่องใดบ้าง

กิจกรรมที่ 5 การกำหนดกรอบการประเมิน เป็นการกำหนดแนวทางการทำการประเมินผลว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อใด และใครเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องใด ซึ่งวิธีการประเมินจะขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวบ่งชี้

กิจกรรมที่ 6 การกำหนดเกณฑ์การประเมิน ซึ่งมีกิจกรรมย่อยคือ กำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินตัวบ่งชี้ และตรวจสอบความเหมาะสมของเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินตัวบ่งชี้

กิจกรรมที่ 7 การกำหนดวิธีการที่ใช้ในการประเมิน เป็นการเลือกวิธีการเครื่องมือ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลรูปแบบสอบถาม โครงสร้างคำถามที่จะใช้ และสร้างเครื่องมือประเมินโดยเริ่มตั้งแต่สร้างคำถาม ตรวจสอบคุณภาพ ทอลองใช้ ปรับปรุงก่อนนำมาใช้จริง

กิจกรรมที่ 8 การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการกำหนดแนวทางในการวิเคราะห์ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เลือกวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสม ทำการวิเคราะห์ข้อมูล และกำหนดวิธีการนำเสนอข้อมูล

กิจกรรมที่ 9 การวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของสถานศึกษา เป็นการนำผลการประเมินมาใช้วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ประเมินความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองของสถานศึกษาต่อไป

กิจกรรมที่ 10 แนวทางการพัฒนาสถานศึกษา เป็นการนำจุดอ่อนที่ค้นพบมาวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อทำการปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนาสถานศึกษาให้เข้าสู่มาตรฐานต่อไป


กิจกรรมที่ 11 การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง
เป็นการจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รู้ และเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพนอก

กิจกรรมที่ 12 การใช้ประโยชน์จากการประเมินตนเอง เป็นการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาปรับปรุงตนเองของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


ในทางปฏิบัติการประกันคุณภาพเพื่อการพัฒนาการศึกษาอาจดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
1) สร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักในความสำคัญ/ความจำเป็นของการประกันคุณภาพงานในองค์กร
2) กำหนดมาตรฐานคุณภาพงานขององค์กรให้ครอบคลุมภารกิจขององค์กร และครอบคลุมมาตรฐานการประกันคุณภาพจากภายนอก ทั้งนี้มาตรฐานการศึกษา อาจประกอบด้วย มาตรฐานด้านปัจจัย เช่น ความพร้อมของครู ศักยภาพของผู้บริหารสถานศึกษา เป็นต้น มาตรฐานด้านกระบวนการ เช่น การบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นมาตรฐาน การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นต้น และมาตรฐานด้านผลผลิตหรือผู้เรียน เช่น ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
3) ประเมินสภาพปัจจุบัน/ปัญหา หรือความต้องการจำเป็นเร่งด่วนเกี่ยวกับงานที่ต้องดำเนินการพัฒนาก่อนหลังโดยใช้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน พร้อมทั้งวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งขององค์กร
4) จัดทำแผน/โครงการเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางานให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันปัญหาขององค์กร
5) มอบหมายให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนางานตามแผนโดยมีระบบในการกับติดตามงานที่มีประสิทธิภาพ
6) ประเมินความก้าวหน้าของงานเป็นระยะๆ โดยมีการปรับปรุง พัฒนางานของสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นลำดับ
7) ประเมินประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จัดทำรายงานผลการประเมินเสนอผู้เกี่ยวข้อง
8) หากพิจารณาเห็นว่าสถานศึกษามีความพร้อมหรือผ่านการประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด ก็สามารถขอให้องค์กรภายนอกเข้ามาทำการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานได้