วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

การออกแบบการวิจัยเชิงนโยบาย การวิจัยสถาบัน และการวิจัยเชิงปฎิบัติการ

การออกแบบการวิจัยเชิงนโยบาย การวิจัยสถาบัน และการวิจัยเชิงปฎิบัติการ

การวิจัยเชิงนโยบาย เป็นการวิจัยที่มุ่งกำหนดแนวทางการดำเนินการของแต่ละสถาบันหรือหน่วยงานจากปัจจุบันไปสู่อนาคต เพื่อมุ่งหวังให้การตัดสินใจสู่การดำเนินการดังกล่าวมีความถูกต้องเหมาะสม และเป็นไปได้มากที่สุด จัดได้ว่าเป็นเครื่องมือของการบริหารองค์การที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถค้นหาข้อเท็จจริงและแนวความคิดมาประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการบริหารได้อย่างมีประสิทธิผลและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การวิจัยสถาบันเป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแต่ละสถาบัน ทั้งนี้เพื่อนำข้อค้นพบไปประยุกต์ใช้สำหรับการวางแผนการตัดสินใจหรือการแก้ปัญหาในแต่ละสถาบันโดยเฉพาะ

กระบวนการออกแบบการวิจัยเชิงนโยบาย การวิจัยสถาบันและการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับการวิจัยทั่วไป ได้แก่ ขั้นกำหนดปัญหาการวิจัย ขั้นกำหนดสมมติฐานของการวิจัย ขั้นกำหนดวิธีการและเก็บรวบรวมข้อมูล ขั้นวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล และขั้นสรุปผลการวิจัย แต่ความสำคัญและความจำเป็นของแต่ละขั้นตอนหลักจะมีมากหรือน้อยแตกต่างกันไป และอาจมีขั้นตอนเฉพาะหรือขั้นตอนเพิ่มเติมที่เสริมจากขั้นตอนหลักด้วย



สาระสังเขป
แนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบการวิจัยเชิงนโยบาย การวิจัยสถาบัน และการวิจัยเชิงปฏิบัติการ


1. ความหมายการวิจัยเชิงนโยบาย (policy research) หมายถึง การวิจัยที่มุ่งกำหนดแนวทางการดำเนินการของแต่ละสถาบันหรือหน่วยงานจากปัจจุบันไปสู่อนาคต เพื่อมุ่งหวังให้การตัดสินใจสู่การดำเนินการดังกล่าวมีความถูกต้อง เหมาะสม และเป็นไปได้มากที่สุด

การวิจัยสถาบัน (institutional research) หมายถึง การวิจัยที่มุ่งศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแต่ละสถาบัน ทั้งนี้เพื่อนำข้อค้นพบไปประยุกต์ใช้สำหรับการวางแผนการตัดสินใจหรือการแก้ปัญหาในแต่ละสถาบันโดยเฉพาะ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research) หมายถึง การวิจัยที่มุ่งศึกษาการแก้ปัญหาการปฏิบัติงานโดยที่ผู้รับผิดชอบหรือผู้ที่ปฏิบัติงานนั้นโดยตรง เช่น การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (classroom action research) ก็เป็นการวิจัยที่ทำโดยครูผู้สอนในห้องเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน และนำผลมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนนั่นเอง

2. ความสำคัญและประโยชน์
การวิจัยเชิงนโยบายจัดได้ว่าเป็นเครื่องมือของการบริหารองค์การที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถค้นหาข้อเท็จจริง และแนวความคิดมาประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการบริหารได้อย่างมีประสิทธิผลและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผลการวิจัยนโยบายจะช่วยให้พิจารณาได้ว่านโยบายต่าง ๆ มีความถูกต้องแน่นอน และเหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริง มีความเป็นไปได้สำหรับการดำเนินการหรือไม่ เมื่อดำเนินการไปแล้วผลที่ได้จะสนองต่อวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร

3. หลักการสำคัญ
การวิจัยเชิงนโยบาย มีหลักการสำคัญดังนี้
3.1 การวิจัยเชิงนโยบาย เริ่มต้นจากปัญหาทางสังคมแล้วเปลี่ยนไปเป็นปัญหา
การวิจัย ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในขอบเขตของนโยบายและความชำนาญในระเบียบวิธีวิจัย ก่อให้เกิดความรู้ในเรื่องนั้นและส่งผลของการวิจัยจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายในที่สุด

3.2 การวิจัยเชิงนโยบาย ศึกษาได้ใน 3 ลักษณะ คือ ศึกษาตัวนโยบาย ศึกษาการนำนโยบายไปปฏิบัติ และศึกษาผลของนโยบาย

3.3 การศึกษาเกี่ยวกับนโยบาย จะสนใจในประเด็นต่อไปนี้
- นโยบายเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมจึงมีนโยบายนี้
- ผลของนโยบายยาวนานแค่ไหน
- เคยมีการปรับนโยบายหรือไม่ มีการปรับเมื่อไร และทำไมจึงปรับ
- ทัศนคติในปัจจุบันที่มีต่อนโยบาย
- เปรียบเทียบนโยบายที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน
- ข้อดีและข้อเสียของนโยบาย

3.4 การวิจัยเชิงนโยบาย จะต้องพิจารณาด้วยว่านโยบายไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นทันทีทันใด แต่เกิดจากวิวัฒนาการของการสั่งสม ดังนั้นจึงมีลักษณะของกระบวนการต่อเนื่อง และทำให้ต้องอาศัยคณะนักวิจัยจากสหสาขาวิชา ทำให้การทำงานยากขึ้น

3.5 การวิจัยเชิงนโยบาย มักจะสนใจตัวแปรที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะสามารถควบคุมได้บ้างและการวิจัยจะต้องตอบสนองความต้องการของผู้ใช้โดยตรง

การวิจัยสถาบัน มีหลักการสำคัญ ดังนี้
1) การกำหนดเป้าหมาย (purpose) จะต้องมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงและชัดเจน การกำหนดเป้าหมายควรจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างการวิจัยสถาบันและการวางแผน รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายและการตัดสินใจด้วย
2) การดำเนินการวิจัยต้องให้ได้ผลที่รวดเร็ว ทันเวลาที่จะใช้ และมีคุณภาพที่เชื่อถือได้
3) การสื่อความหมาย (communication) ในการนำเสนอข้อค้นพบของการวิจัยสถาบันให้สื่อความหมายนั้นทำได้หลายรูปแบบ บางครั้งอาจจะนำเสนอปากเปล่าทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตามการนำเสนอข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพอาจต้องใช้ตาราง แผนภูมอ หรือกราฟประกอบ
4) การแปลหรือการตีความหมาย (interpretation) หมายถึง ความพยายามของผู้วิจัยที่จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยสถาบันให้ละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ยังคลุมเครืออยู่ เพื่อจะได้ตีความตรงกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนหรือเสนอแนะเพื่อการกำหนดนโยบาย และการตัดสินใจของผู้บริหารต่อไป

5) การเขียนรายงาน (written report) เป็นผลิตผลที่สำคัญของการวิจัยสถาบัน ผู้ทำการวิจัยต้องพยายามเขียนรายงานให้ถูกต้อง ในรายงานอาจมีการชี้แนะเพื่อให้ตรงกับปัญหาที่เผชิญอยู่ หลังจากเขียนรายงานและเผยแพร่แล้วควรมีการติดตามผลด้วยว่าผู้นำไปใช้มีความเข้าใจและแปลความผลการวิจัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ เพียงไร

การวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีหลักการสำคัญดังนี้
1) เป็นการวิจัยที่สะท้อนกลับของผลการปฏิบัติงานของตนเอง เช่น การวิจัยของ
ครูผู้สอนใน ชั้นเรียนที่สะท้อนกลับการทำงานของครูผู้สอนเอง

2) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนในการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานและวิพากษ์ วิจารณ์ผลที่ได้รับ เช่น ครูผู้สอนนำวิธีการแก้ปัญหาที่ตนเองคิดขึ้นไปทดลองใช้กับผู้เรียน แล้วสังเกตผลการแก้ปัญหานั้น จากนั้นนำผลและวิธีการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนครูในโรงเรียนในลักษณะของการวิจัยแบบร่วมมือ (collaborative research) วิจารณ์ผลที่ได้รับ เช่น ครูผู้สอนนำวิธีการแก้ปัญหาที่ตนเองคิดขึ้นไปทดลองใช้กับผู้เรียน แล้วสังเกตผลการแก้ปัญหานั้น จากนั้นนำผลและวิธีการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนครูในโรงเรียนในลักษณะของการวิจัยแบบร่วมมือ (collaborative research)

3) เป็นกระบวนการวิจัยที่มีการดำเนินงานเป็นวงจรต่อเนื่องและปฏิบัติให้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงาน เช่น เป็นการวิจัยที่เกิดขึ้นในห้องเรียนในขณะที่การเรียนการสอนกำลังดำเนินอยู่ เป็นการวิจัยด้วยวิธีการที่มีวงจรการทำงานต่อเนื่อง และสะท้อนกลับการทำงานของครูผู้สอนเอง

4) ผลที่ได้จากการวิจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงาน เช่น เป็นการแสวงหาวิธีการแก้ไข ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน


สาระสังเขป
กระบวนการออกแบบการวิจัยเชิงนโยบาย การวิจัยสถาบัน และการวิจัยเชิงปฏิบัติการ


กระบวนการออกแบบการวิจัยทั้งการวิจัยเชิงนโยบาย การวิจัยสถาบัน และการวิจัยเชิงปฏิบัติการต่างก็ยังคงใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ ขั้นกำหนดปัญหาการวิจัย ขั้นกำหนดสมมติฐานของการวิจัย ขั้นกำหนดวิธีการและเก็บรวบรวมข้อมูล ขั้นวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล และขั้นสรุปผลการวิจัย ซึ่งอาจมีการกำหนดกระบวนการออกแบบที่ละเอียดลงไปเป็น 9-10 ขั้นตอน

1. กระบวนการออกแบบการวิจัยเชิงนโยบาย
ผู้วิจัยเชิงนโยบายต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เพียงพอที่จะพิจารณาทิศทางการวิจัย เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ จึงต้องศึกษาบริบทของการจัดทำนโยบายก่อน ได้แก่ ศึกษากระบวนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย การเลือกใช้กลไกของนโยบาย ได้แก่ เป็นกฎหมาย เป็นมาตรการในการควบคุม เป็นแรงจูงใจด้านงบประมาณ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงกลุ่มคนที่มีส่วนในการตัดสินใจกำหนดนโยบายด้วย อีกทั้งต้องศึกษาถึงชนิดของแนวข้อเสนอนโยบายที่จะเป็นประโยชน์และเป็นไปได้ เพื่อช่วยในการประเมินทางเลือกต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาของผู้กำหนดนโยบายด้วย

กระบวนการออกแบบการวิจัยเชิงนโยบาย มีขั้นตอนสำคัญที่เป็นขั้นตอนเฉพาะและเสริมจาก 5 ขั้นตอน
1.1 ขั้นกำหนดปัญหาการวิจัย มีหลักการดังนี้
1.1.1 เลือกปัญหาสังคม
1.1.2 ระบุประเด็นที่สำคัญจากนโยบาย
1.1.3 วิเคราะห์ข้อกฎหมายในอดีตของประเด็นนโยบายนั้น
1.1.4 ติดตามความก้าวหน้าในเรื่องนั้น ๆ จากงานวิจัยอื่น ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
1.1.5 ศึกษาเกี่ยวกับสายงานการตัดสินใจในองค์กร
1.1.6 ร่างรูปแบบของกระบวนการจัดทำนโยบาย
1.1.7 สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง
1.1.8 สังเคราะห์สารสนเทศที่ได้รับ

1.2 ขั้นกำหนดขอบเขตของปัญหา
เมื่อทราบถึงประเด็นปัญหาในการวิจัยแล้ว งานขั้นต่อไปคือ การกำหนดขอบเขตของปัญหา ซึ่งเป็นการจัดทำปัญหาการวิจัยที่เฉพาะเจาะจง มีหลักการดำเนินการดังนี้
1.2.1 ตัดสินใจเกี่ยวกับผลกระทบที่คาดหวัง
1.2.2 เลือกแง่มุมของปัญหาสังคม ถ้าลักษณะของแง่มุมเป็นพหุมิติ ผลของการวิจัยจะได้ผลที่มีความหมายมากขึ้น
1.2.3 ระบุตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
1.2.4 จัดทำปัญหาการวิจัย

1.3 ขั้นกำหนดวิธีการและเก็บรวบรวมข้อมูล
เป็นขั้นตอนการให้นิยามเชิงปฏิบัติการกับตัวแปร การกำหนดระเบียบวิธีในการศึกษา โดยเลือกระเบียบวิธีที่เหมาะกับปัญหา ควรมีความยืดหยุ่น สามารถปรับได้ในระหว่างการดำเนินการวิจัย มีการเลือกใช้เครื่องมือและวิธีการเก็บข้อมูลที่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องเวลาและต้นทุนด้วย อีกทั้งแผนการวิจัยต้องมีความตรง ตอบสนองผู้ที่ต้องการใช้ และมีศักยภาพต่อการเปลี่ยนปลงในอนาคต

1.4 ขั้นวิเคราะห์ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัย
เป็นส่วนที่แตกต่างไปจากการวิจัยประเภทอื่น คือ การวิจัยนโยบายจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะของการวิจัย ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.4.1 การวิเคราะห์ตัวแปรที่มีผลต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ หมายถึง ผู้ที่รับผิดชอบในการนำนโยบายไปปฏิบัติ หรือคุณลักษณะขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้น ๆ เช่น เสนอแนะให้เห็นถึงจำนวนทรัพยากรที่ผู้รับผิดชอบสามารถนำไปใช้ได้ ความสามารถของผู้ที่รับผิดชอบในการบริหารทรัพยากรเหล่านั้น โครงสร้างขององค์กรในการปฏิบัตินโยบาย กลไกที่จำเป็นต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นต้น
1.4.2 การคาดการณ์ถึงศักยภาพของข้อเสนอแนะ เช่น ผลที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจในข้อเสนอแนะผลกระทบของข้อเสนอแนะที่มีต่อนโยบายอื่น ผลที่จะเกิดหากข้อเสนอแนะไม่ถูกนำไปใช้ เป็นต้น
1.4.3 การคาดการณ์ความน่าจะเป็นในการนำไปปฏิบัติ เป็นการพิจารณาถึงโครงสร้างทางอำนาจของผู้รับผิดชอบ และโครงสร้างขององค์กรที่จะสามารถนำข้อเสนอแนะไปปฏิบัติ การนำข้อเสนอแนะไปใช้นี้ขึ้นกับสารสนเทศที่ผู้วิจัยเสนอแนะไว้เป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องพิจารณาในเรื่องของเวลาและความน่าจะเป็นในการตัดสินใจเป็นหลักใหญ่
1.4.4 การเตรียมข้อเสนอแนะในขั้นสุดท้าย เป็นข้อสำคัญที่สุดของการพิจารณาความเป็นไปได้ และปรับปรุงข้อเสนอแนะที่เหมาะสม หลังจากวิเคราะห์และคาดการณ์ในประเด็น 1.4.1-1.4.3 เป็นอย่างดีแล้ว
1.5 ขั้นการติดต่อสื่อสารระหว่างนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบาย
ขั้นการติดต่อสื่อสารนี้จะเป็นประเด็นที่นอกเหนือจากระบวนการออกแบบการวิจัยทั่วไป อาจจะกล่าวได้ว่าไม่น่าจะอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยก็น่าจะได้


2. กระบวนการออกแบบการวิจัยสถาบัน
มีประเด็นเสริมสำคัญตามกระบวนการวิจัยหลักโดยสังเขป ดังนี้
2.1 ขั้นกำหนดปัญหาการวิจัย
เพื่อให้ได้ข้อค้นพบไปประยุกต์ใช้สำหรับการวางแผนการตัดสินใจ หรือการแก้ปัญหาในสถาบัน ซึ่งปัญหาอาจครอบคลุมหลายหน่วยงานย่อยในสถาบันหรือผลการวิจัยส่งผลไปยังหน่วยงานย่อย ดังนั้นการกำหนดปัญหาการวิจัยอาจได้มาจากการมองปัญหาของคณะกรรมการที่มาจากหน่วยงานย่อย ต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมประเด็นที่ต้องการแนวคิดที่หลากหลาย ดังนั้นการวิจัยสถาบันจึงมักดำเนินการ ในรูปแบบของคณะกรรมการวิจัย
2.2 ขั้นกำหนดวิธีการและการเก็บรวบรวมข้อมูล
ขั้นนี้ก็คงไม่แตกต่างไปจากกระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ทั่ว ๆ ไป แต่มีข้อควรคำนึง คือขั้นการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะต้องเก็บข้อมูลจากบุคคลในหน่วยงาน บางครั้งข้อคำถามอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าถูกประเมิน หรือเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน หรือความรู้สึกว่าถูกรบกวน ถูกเพิ่มงาน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะมีผลต่อความสมบูรณ์ของข้อมูลในการวิจัยเป็นอย่างมาก
2.3 ขั้นการนำเสนอผลการวิจัย
การนำเสนอหรือเผยแพร่ผลการวิจัยสถาบันจะแตกต่างจากผลงานวิจัยทางวิชาการทั่ว ๆ ไป โดยการวิจัยเชิงวิชาการเป็นเรื่องการค้นพบข้อความรู้ใหม่ จึงมุ่งเผยแพร่โดยทั่วไปให้กว้างขวางที่สุด แต่การวิจัยสถาบันเป็นเรื่องราวที่เกิดในสถาบัน มุ่งนำผลไปใช้เพื่อตัดสินใจ การวางแผนและการบริหาร ดังนั้นการเผยแพร่งานวิจัยจึงต้องคำนึงถึงนโยบายและผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนใหญ่แล้วการเผยแพร่ จึงมักจะเป็นลักษณะการนำเสนอผู้บริหารหรือคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาโดยตรง มากกว่าจะเป็นรายงานที่เผยแพร่ได้ทั่วไป


3. กระบวนการออกแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
กระบวนการออกแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้จะมุ่งไปที่การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการวิจัยที่ทำโดยครูผู้สอนในห้องเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน และนำผลมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน จึงมีกระบวนการออกแบบที่เป็นขั้นตอนเฉพาะเสริมจาก ๕ ขั้นตอนหลัก กล่าวคือ

Freeman (1996 อ้างถึงใน สุวิมล ว่องวาณิช 2544:23) ได้เสนอขั้นตอนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.เป็นการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสภาพที่เกิดขึ้น
2.เป็นการกำหนดปัญหาวิจัยหรือคำถามวิจัยที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งเป็นคำถามที่สามารถวิจัยได้
3.เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล
4.เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบคำถามวิจัย
5.เป็นการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
6.เป็นการนำข้อค้นพบไปเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและใช้ประโยชน์

3.1 ขั้นกำหนดปัญหาของการวิจัย
กำหนดจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน คือ ปรากฎการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลให้การเรียนการสอนไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนด สิ่งที่สังเกตจะนำไปสู่การกำหนดข้อสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้น สิ่งนั้นก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เป็นต้น ข้อสงสัยที่กำหนดนี้ทำให้ครูผู้วิจัยเกิดความสนใจที่จะค้นหาคำตอบและทำการศึกษาเพื่อให้ตนเองมีความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงนำไปสู่ประเด็นปัญหาของการวิจัย

3.2 ขั้นกำหนดสมมติฐานของการวิจัย
การวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนที่ต้องการแก้ปัญหาคุณภาพการเรียนการสอน เช่น การใช้วิธีการสอนแบบใหม่แทนวิธีสอนแบบเดิม การเปรียบเทียบคุณภาพของวิธีสอนแบบหนึ่งกับอีกแบบหนึ่ง การใช้สื่อนวัตกรรมในกระบวนการเรียนการสอนแทนของเดิม เป็นต้น ซึ่งผู้วิจัยต้องตั้งสมมติฐานการวิจัยที่คาดหวังว่าวิธีสอน สื่อนวัตกรรมที่นำมาใช้ใหม่ หรือที่เชื่อว่าดี มีคุณภาพ จะส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่ดีขึ้น

3.3 ขั้นกำหนดวิธีการและการเก็บรวบรวมข้อมูล
เป็นขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนที่กำหนด ซึ่งครูผู้วิจัยต้องจัดทำเป็นแผนการสอน (lesson plan ) แล้วนำไปใช้ตามแบบแผนการวิจัยที่กำหนด เช่น การวิจัยเชิงทดลองที่เปรียบเทียบการสอน 2 วิธี ที่แบ่งกลุ่มนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็จะมีแผนการสอนที่แตกต่างกันออกไป

3.4 ขั้นวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล
เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ มักใช้ข้อมูลดิบโดยการแจงนับเป็นความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และการนำเสนอข้อมูลก็มักใช้กราฟหรือแผนภูมิ เพื่อให้เข้าใจง่าย ส่วนการวิเคราะห์เชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์โดยจัดกลุ่มจากความสัมพันธ์ของข้อมูลที่มีหรือจำแนกข้อมูลให้เข้าตามกลุ่มที่กำหนดไว้แล้ว

3.5 ขั้นการสะท้อนผล
เพื่อให้เกิดการวิพากษ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เกี่ยวข้องร่วมกัน เป็นขั้นตอนเฉพาะของการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน มีการดำเนินการ 4 ระดับ ดังนี้
3.5.1ระดับการบรรยายสภาพที่เกิดขึ้น เป็นการวิพากษ์ในเนื้อหาที่เกี่ยวกับสภาพที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนและข้อค้นพบต่าง ๆ
3.5.2 ระดับการประเมินข้อค้นพบ เป็นการวิพากษ์เชิงประเมินว่าสิ่งที่ดำเนินการหรือสิ่งค้นพบดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะอะไร
3.5.3 ระดับการอธิบายข้อค้นพบในระดับที่สูงขึ้นกว่าระดับการประเมิน เป็นการวิพากษ์เพื่อหาคำอธิบายต่อสิ่งที่ค้นพบ
3.5.4 ระดับการประยุกต์ใช้สิ่งที่ค้นพบ เป็นการวิพากษ์เพื่อนำผลที่ค้นพบไปใช้ประโยชน์หรือปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติในครั้งต่อไป