วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

การวิจัยแบบผสมและการวิจัยแบบบูรณาการ

การวิจัยแบบผสมและการวิจัยแบบบูรณาการ

แนวคิดหลัก

1. แนวคิดเกี่ยวกับความหมายของการวิจัยแบบผสมและการวิจัยแบบบูรณาการ การวิจัย แบบผสมเป็นการใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพร่วมกันในงานวิจัยเดียวกัน การวิจัยแบบบูรณาการเน้นใช้วิธีวิทยาการจากหลากหลายสาขาวิชา เพื่อหาคำตอบในการวิจัยเรื่องหนึ่ง ๆ แบบองค์รวม การวิจัยทั้งสองแบบมีความสำคัญที่ทำให้สามารถหาคำตอบของการวิจัยอย่างมีความครอบคลุมหรือเป็นองค์รวมมากกว่าการใช้วิธีการวิจัยเดียวหรือวิทยาการวิจัยเดียว

2. แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการของการวิจัยแบบผสมและการใช้วิจัยแบบบูรณาการ ขั้นตอนใหญ่ ๆ กระบวนการของการวิจัยแบบผสม และการวิจัยแบบบูรณาการเหมือนกับการวิจัยทั่วไป คือ ดำเนินการตามขั้นตอนวิทยาศาสตร์ 5 ขั้น แต่เนื่องจากเป็นการผสมผสานระหว่าง 2 วิธีการ หรือเป็นการบูรณาการจากหลายสาขาวิชา การดำเนินการแต่ละขั้นตอนจึงอาจมีความซับซ้อนและมีกิจกรรมที่มากขึ้น

การวิจัยแบบผสม กิจกรรมสำคัญอยู่ที่การผสมผสานระหว่างวิธีการวิจัยเชิงปริมาณกับวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ
การวิจัยแบบบูรณาการ กิจกรรมสำคัญอยู่ที่การบูรณาการปัญหาวิจัย และการใช้วิธีวิทยาของสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแต่ละขั้นตอนของการวิจัย



สาระสังเขป
แนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยแบบผสม และการวิจัยแบบบูรณาการ


การวิจัยแบบผสม
1.ความหมาย การวิจัยแบบผสม (mixed research) หมายถึง การวิจัยที่ได้นำเอาวิธีการเชิงปริมาณ(quantitative) กับวิธีการเชิงคุณภาพ (qualitative)มาผสมผสานใช้ในงานวิจัยเดียวกันโดยลักษณะการใช้อาจเป็นแบบใช้สองวิธีคู่ขนานกัน หรือใช้คน ละช่วงเป็นลำดับก่อนหลัง

2.ความสำคัญและประโยชน์ของ การวิจัยแบบผสม (mixed research) หากยึดแนวความคิดที่ว่าวิธีการวิจัยดีที่สุด ก็คือวิธีการที่ให้คำตอบของการวิจัยได้ดีที่สุด (เที่ยงตรง เชื่อมั่นได้) และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการสรุปอ้างอิง (generalization) วิธีการวิจัยแบบผสมอาจมีความเหมาะสมกว่าจะใช้วิธีการเชิงปริมาณ หรือวิธีการเชิงคุณภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะการรวมเอาวิธีการวิจัยทั้งสองวิธีมาไว้ในงานวิจัยเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดประเภทข้อมูล วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล หรือทุกอย่างที่กล่าวเข้าด้วยกันจะช่วยทำให้ผลการวิจัยมีความถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

3. หลักการ การวิจัยแบบผสม เป็นการใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพร่วมกันในงานวิจัยเดียวกัน โดยมีหลักการ ดังนี้ (1) เน้นการใช้วิธีการวิจัย เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพประกอบกัน (2) การผสมระหว่างวิธีการทั้งสองอาจมีได้หลายแบบ เช่น ใช้วิธีการเชิงปริมาณบางขั้นตอน ใช้วิธีการเชิงคุณภาพบางขั้นตอน หรือใช้ทั้งสองวิธีการไปพร้อม ๆ กัน และการใช้สองวิธีการดังกล่าวอาจเป็นลักษณะที่วิธีหนึ่งมีบทบาทเด่น อีกวิธีหนึ่งมีบทบาทด้อย หรือทั้งสองวิธีมีบทบาทเท่าๆ กันก็ได้ (3)การผสมเน้นการผสมวิธีการ มิใช่การผสมเนื้อหาหรือสาขาวิชาการ


การวิจัยแบบบูรณาการ
1.ความหมาย การวิจัยแบบบูรณาการ (Integrated research) หมายถึง การวิจัยที่ใช้ความรู้ แนวคิด ทฤษฎี และวิธีวิทยาการจากสาขาต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อแสวงหาคำตอบการวิจัยเรื่องหนึ่ง โดยมุ่งให้ได้คำตอบที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ แบบองค์รวม

2.ความสำคัญและประโยชน์ การวิจัยแบบบูรณาการมีความสำคัญอย่างน้อยสามประการ คือ (1) การวิจัยแบบบูรณาการ เป็นการเชื่อมโยงคำตอบ องค์ความรู้ที่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ตอบคำถามของการวิจัยได้หลายด้าน หรืออาจตอบได้ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกด้าน (2)การใช้ศาสตร์หรือวิธีวิทยาจากหลายสาขาวิชาในงานวิจัยเดียวกัน ทำให้เกิดการเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกัน เกิดพลัง และความสมบูรณ์มากกว่าการแยกส่วน หรือใช้ศาสตร์ /วิธีวิทยาจากสาขาวิชาเดียว (3) การวิจัยแบบบูรณาการเป็นความร่วมมือกันจากนักวิชาการฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช้ความรู้ ทฤษฎี วิธีวิทยา จากสาขาวิชาต่างๆ แบบผสมผสาน ทำให้ได้ผลผลิตที่เป็นองค์รวม และยังได้พลังความร่วมมือทางวิชาการ รวมทั้งความสมานฉันท์อีกด้วย

3.หลักการ การวิจัยแบบบูรณาการจเป็นการมุ่งให้ได้คำตอบที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์แบบองค์รวม (holistic) การวิจัยแบบบูรณาการระหว่างสาขาวิชาที่มิได้เน้นเป้าหมายให้ได้คำตอบถึงระดับที่เป็นองค์รวมเป็นสำคัญ เรียกการวิจัยแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary research) หรืออาจว่าการวิจัยแบบสหวิทยาการนั้นเป็นการวิจัยแบบบูรณาการแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามในการวิจัยเรื่องหนึ่ง ๆ นักวิจัยย่อมพยายามที่จะแสวงหาคำตอบของปัญหาการวิจัยในเรื่องนั้น ๆ ให้ได้ถูกต้อง เที่ยงตรง และครอบคลุมที่สุด โดยที่คำตอบนั้นจะได้ความเป็นองค์รวมหรือไม่ก็ตาม

1) บูรณาการแบบพหุวิทยาการ(multidisciplinary) เป็นการรวมตัวกัน ระหว่างวิทยาการสองสาขาวิชาขึ้นไป โดยไม่มีการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบของศาสตร์
2) บูรณาการแบบอเนกวิทยาการ (pluridisciplinarity) เป็นการรวมตัวกันระหว่างวิทยาการที่มีจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกัน และเป็นวิทยาการระดับเดียวกัน ผลจากการบูรณาการได้เป็นวิชาใหม่ที่มีขอบเขตกว้างกว่าเดิมและก้าวหน้ามากขึ้น
3) บูรณาการแบบสหวิทยาการ(Interdisciplinarity)เป็นการผสมผสานของวิทยาการในอุดมคติของวิทยาการทั้ง 4 แบบ มีการผสมผสานองค์ประกอบของวิทยาการเข้าเป็นระบบเดียวกัน ได้เป็นวิทยาการสาขาใหม่ที่ครอบคลุมมวลวิทยาการเดิมและความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาการเดิมด้วย


สาระสังเขป
กระบวนการวิจัยแบบผสม และการวิจัยแบบบูรณาการ


กระบวนการวิจัยแบบผสม และกระบวนการวิจัยแบบบูรณาการ สามารถแยกพิจารณาได้เป็นสองส่วน คือ กระบวนการวิจัยในส่วนที่เหมือนกันกับกระบวนการวิจัยแต่ละแบบ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงกระบวนการส่วนที่เหมือนกันจึงกล่าวไปพร้อมกันได้ แต่เมื่อกล่าวถึงกระบวนการเฉพาะ ควรที่กล่าวถึงกระบวนการของการวิจัยแต่ละแบบแยกจากกัน

1. กระบวนการวิจัยในส่วนที่เหมือนกัน
กระบวนการวิจัยที่ใช้ในการวิจัยแบบผสมกับที่ใช้ในการวิจัยแบบบูรณาการ ส่วนที่เหมือนกันคือการวิจัยทั้งสองแบบคงใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย ๕ ขั้นตอน คือ ขั้นกำหนดปัญหาของการวิจัย ขั้นกำหนดสมมติฐานของการวิจัย ขั้นกำหนดวิธีการและเก็บรวบรวมข้อมูล ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล ขั้นสรุปผลการวิจัย สำหรับกระบวนการวิจัยแบบผสมหรือแบบบูรณาการที่เป็นทางการศึกษา อาจมีการกำหนดกระบวนการหรือขั้นตอนที่ละเอียดลงไป เป็น ๙-๑๐ ขั้นตอน


2. กระบวนการการวิจัยที่เป็นลักษณะเฉพาะของการวิจัยแต่ละแบบ

2.1 กระบวนการวิจัยที่เป็นลักษณะของการวิจัยแต่ละแบบ
ขั้นตอนที่เฉพาะเจาะจงหรือขั้นตอนเพิ่มเติมที่อาจแทรกเสริมจาก 5 ขั้นตอนหลักของการวิจัยแบบผสมนี้ ได้แก่

1) ขั้นกำหนดปัญหาของการวิจัย ในการวิจัยแบบผสมนั้น เมื่อนักวิจัยมีความชัดเจน ปัญหาวิจัยแล้ว นักวิจัยจะต้องพิจารณาว่าการวิจัยนั้นเหมาะสมที่จะใช้วิธีการผสมหรือไม่ ในขั้นตอนนี้เป็นการพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการแบบผสม กล่าวคือพิจารณาว่าปัญหานั้นเหมาะสมที่จะใช้วิธีการแบบผสมหรือไม่ นักวิจัยมีทักษะทั้งสองวิธีการเพียงพอหรือไม่ มีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ เป็นความต้องการของผู้ใช้งานวิจัยนั้นด้วยหรือไม่

2) ขั้นกำหนดสมมติฐานของการวิจัย นักวิจัยจะต้องกำหนดคำตอบหรือคาดคะเนผลของการวิจัย โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ด้วยวิธีเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตามในส่วนที่เป็นเชิงคุณภาพหากมีหลักฐาน แนวโน้ม ที่ชัดเจน นักวิจัยก็อาจตั้งสมมติฐานได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประมวลเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในการวิจัยแบบผสมอาจมีสมมติฐานที่ต้องตรวจสอบด้วยข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงวิจัยคุณภาพประกอบกันด้วยก็ได้

3) ขั้นกำหนดวิธีการและเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยจะต้องกำหนดแผนหรือขั้นตอนปฏิบัติการว่าเมื่อใดจะเก็บรวบรวมข้อมูลชนิดใด ใช้วิธีการอะไร (เชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ) สิ่งที่ต้องมีความชัดเจนในขั้นนี้ก็คือ ในส่วนของวิธีเชิงปริมาณ นักวิจัยต้องกำหนดประชากร จำนวนและวิธีการเลือกตัวอย่าง นิยามปฏิบัติการของตัวแปร รวมถึงวิธีการรวบรวมข้อมูล ในส่วนของวิธีเชิงคุณภาพนักวิจัยต้องกำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ เทคนิคหรือเครื่องมือที่ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูล วิธีการรวบรวมข้อมูล รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือและวิธีการรวบรวมข้อมูล

เมื่อใดจะเก็บรวบรวมข้อมูลชนิดใด ใช้วิธีการอะไร (เชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ)
สิ่งที่ต้องมีความชัดเจนในขั้นนี้ก็คือ ในส่วนของวิธีเชิงปริมาณ นักวิจัยต้องกำหนดประชากร จำนวนและวิธีการเลือกตัวอย่าง นิยามปฏิบัติการของตัวแปร รวมถึงวิธีการรวบรวมข้อมูล ในส่วนของวิธีเชิงคุณภาพนักวิจัยต้องกำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ เทคนิคหรือเครื่องมือที่ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูล วิธีการรวบรวมข้อมูล รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือและวิธีการรวบรวมข้อมูล

4) ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล นักวิจัยจะต้องคำนึงถึงการวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละชนิดที่รวบรวมได้ในแต่ละขั้นตอนของการวิจัย โดยอาจวิเคราะห์แบบแยก คือ เชิงปริมาณส่วนหนึ่ง เชิงคุณภาพส่วนหนึ่ง หรือวิเคราะห์แบบรวมกัน คือวิเคราะห์ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แล้วนำผลที่ได้บูรณาการหรือเสริมกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแบบการวิจัยที่ใช้

ขั้นตอนของการวิจัย โดยอาจวิเคราะห์แบบแยก คือ เชิงปริมาณส่วนหนึ่ง เชิงคุณภาพส่วนหนึ่ง หรือวิเคราะห์แบบรวมกัน คือวิเคราะห์ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แล้วนำผลที่ได้บูรณาการหรือเสริมกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแบบการวิจัยที่ใช้

5) ขั้นสรุปผลการวิจัย ในการวิจัยแบบผสมการสรุปผลการวิจัยอาจทำเป็นตอน ๆ (ถ้าการวิจัยแบ่งเป็นตอน เชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ) หรือสรุปผลการวิจัยแบบผสมระหว่างผลที่พบจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพประกอบกัน

นอกจากการดำเนินการ 5 ขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ในการเขียนรายงานวิจัยของการวิจัยแบบผสม ก็มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งอาจมีสองลักษณะ คือ เขียนแยกส่วน เป็นส่วนเชิงปริมาณ กับส่วนเชิงคุณภาพ อีกลักษณะหนึ่ง คือ ในแต่ละตอนของการรายงานได้รวมทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการตั้งคำถามการวิจัย


2.2 กระบวนการวิจัยที่เป็นลักษณะเฉพาะของการวิจัยแบบบูรณาการ

ขั้นตอนที่เฉพาะเจาะจงหรือขั้นตอนเพิ่มเติม พิจารณาแทรกเสริมจาก 5 ขั้นตอนหลักของการวิจัยแบบบูรณาการนี้ ได้แก่
1) ขั้นกำหนดปัญหาของการวิจัย ในการวิจัยแบบบูรณาการต้องพิจารณาว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาที่มีลักษณะบูรณาการของสาขาวิชาตั้งแต่สองสาขาวิชาขึ้นไปหรือไม่ ถ้าใช่มีสาขาวิชาอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง ปัญหาดังกล่าวอาจเรียกว่า ปัญหาหลักของการวิจัย จากปัญหาหลักนักวิจัยจะวิเคราะห์แยกเป็นปัญหารองของการวิจัย ซึ่งแต่ละปัญหารองอาจเป็นแบบบูรณาการปัญหาจากหลายสาขาวิชา หรือเป็นปัญหาของเฉพาะแต่ละสาขาวิชา

2) ขั้นกำหนดสมมติฐานของการวิจัยสมมติฐานของการวิจัยแบบบูรณาการจะกำหนดให้สอดคล้องกับปัญหาย่อยหรือวัตถุประสงค์ของการวิจัย กล่าวคือเป็นสมมติฐานแบบบูรณาการสาขาวิชาหรือเฉพาะสาขาวิชา สมมติฐานอาจมีจำนวนเท่ากันหรือมากกว่าจำนวนวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้

3)ขั้นกำหนดวิธีการและเก็บรวบรวมข้อมูล ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของการวิจัยแบบบูรณาการ นักวิจัยต้องพิจารณาวิธีวิทยาของสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำมาใช้อย่างเหมาะสม นักวิจัยต้องประชุมปรึกษากันว่าจะผสมผสานระหว่างวิธีวิทยาหรือจะใช้แต่ละวิธีวิทยากับแต่ละปัญหาย่อยของการวิจัย

4)ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิจัยแบบบูรณาการนักวิจัยจะวางแผนที่สอดรับกับสมมติฐานและปัญหาย่อยของการวิจัย รวมทั้งข้อมูลที่รวบรวมได้ด้วย ในขั้นนี้ก็เช่นกันที่นักวิจัยจะต้องนำวิธีวิทยาในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการกับข้อมูลของแต่ละสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมาใช้อย่างเหมาะสม

5)ขั้นสรุปผลการวิจัย ขั้นนี้นักวิจัยจะต้องนำผลการวิเคราะห์ข้อมูล และผลการวิจัยที่พบไปตรวจสอบกับปัญหาวิจัย โดยตรวจสอบปัญหาย่อย และบูรณาการคำตอบทั้งหมดเพื่อตอบปัญหาหลักของการวิจัย