วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

การวิจัยการศึกษา

ระเบียบวิธีและกระบวนการวิจัยทางการศึกษา

1. ความหมายของการวิจัย
คำว่า "การวิจัย" ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "RESEARCH" RE มีความหมายว่า "อีก" SEARCH แปลว่า "การค้นหา" ดังนั้น คำว่า การวิจัย (RESEARCH) จึงแปลว่า การค้นหาแล้วค้นหาอีก ความหมายของคำว่า "การวิจัย" มีผู้ให้ความหมายไว้หลายอย่าง เช่น
พจนานุกรมฉบับนักเรียน (2536 :470) ได้ให้ความหมายของการวิจัยว่า การสะสมการรวบรวม การค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา
เบสท์ (Best, 1981 อ้างถึงใน บุญเรียง ขจรศิลป์ , 2533 : 5) ได้ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่าเป็นวิธีการที่เป็นระบบระเบียบ และมีจุดมุ่งหมายในการวิเคราะห์ และคิดบันทึกการสังเกตที่มีการควบคุมเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปอ้างอิง หลักการหรือทฤษฎีซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานและการควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้
ผ่องพรรณ ตรัยมงคลกูล (2543 : 21) สรุปความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัยคือการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบระเบียบเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและแสวงหาคำตอบ เป็นกระบวนการที่อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
บุญเรียง ขจรศิลป์ (2533 : 5) ได้ให้ความหมายของคำว่า การวิจัยทางด้านวิชาการ หมายถึง กระบวนการเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ หรือกระบวนการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อตอบปัญหาที่มีอยู่อย่างมีระบบ และมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
จากที่กล่าวมาข้างต้น พอสรุปได้ว่าการวิจัย หมายถึง กระบวนการแสวงหาความรู้ความจริง ที่มีระบบและวิธีการที่น่าเชื่อถือเพื่อนำความรู้ความจริงที่ได้นั้นไปใช้ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา หรือก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ดังนั้น การวิจัยทางการศึกษาจึงหมายถึง กระบวนการเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ๆที่เป็นความจริงเชิงตรรกะ(Logical)หรือความจริงเชิงประจักษ์(Empirical) เพื่อตอบปัญหาทางการศึกษาอย่างมีระบบและมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอนโดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก


2.ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาการศึกษา
ความสำคัญของการวิจัย ก็คือ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆทางวิชาการ เป็นการแสวงหาความรู้ หรือความจริงเพื่อสร้างเป็นกฎ สูตรทฤษฎี ในแต่ละสาขาวิชา และเพื่อนำไปประยุกต์หรือใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ มีจุดมุ่งหมายในการนำผลการวิจัยไปใช้ในเชิงปฏิบัติโดยตรง

การวิจัยและพัฒนาการศึกษา เป็นการพัฒนาการศึกษาโดยพื้นฐานการวิจัย (RESEARCH BASED EDUCATION DEVELOPMENT) เป็นกลยุทธ์หรือวิธีการสำคัญหนึ่งที่นิยมใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการศึกษา โดยเน้นหลักเหตุผลและตรรกวิทยา เป้าหมายหลัก คือ ใช้เป็นกระบวนการในการพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการศึกษา (EDUCATION PRODUCT) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 24(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียน อาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ มาตรา 30
…ส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ได้กล่าวถึงการวิจัย ในกระบวนการจัดการศึกษา ของผู้เกี่ยวข้อง ดังเช่น ศึกษา ค้นคว้า วิจัยเพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน…
...ให้ผู้สอนนำกระบวนการวิจัยมาผสมผสานหรือบูรณาการใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนและเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้...
สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ระยะที่ 9 ได้เน้นย้ำมุ่งให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่สร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน คิดเป็น ทำเป็น มีเหตุผลสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต รู้จักใช้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาตนเอง ซึ่งการจะหล่อหลอมให้เกิดคุณลักษณะดังกล่าวได้ ต้องฝึกให้รู้จักใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อถือได้ และกระบวนการที่สร้างความรู้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบคือ การวิจัย ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 9 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การวิจัยเป็นแนวทางดำเนินการหนึ่งที่นำไปสู่การสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 9 ดังกล่าว กระบวนการวิจัยเกี่ยวข้องทั้งนักเรียน ครู และผู้จัดการศึกษาทุกระดับ จึงจะทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง โดยมีเป้าหมายมุ่งการปฏิรูปการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นสำคัญ โดยให้นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบและยั่งยืน นำเอากระบวนการวิจัยไปพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง เช่น มีความคิดใหม่ๆ จัดทำโครงงาน สร้างสื่ออุปกรณ์ สิ่งประดิษฐ์ ผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้หรือสร้างสรรค์ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหา ตรวจสอบความรู้ของตนเอง แสวงหาความรู้ใหม่ต่างๆ เกิดการบริโภคนิยมเชิงสร้างสรรค์ ครูผู้สอนในฐานะนักการสอน นักพัฒนาหลักสูตร นักวิจัยทำการวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพโดยใช้กระบวนการวิจัยในการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนาตนเอง โดยทำการวิจัยควบคู่กับการพัฒนาการเรียนการสอน โดยทำการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ในแผนการเรียนรู้ การหาความรู้หรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ของการเรียนการสอนในชั้นเรียน ทักษะที่ควรประเมินจากการประเมินตามสภาพจริง

3. จุดมุ่งหมายของการวิจัย
จุดมุ่งหมายของการวิจัยเมื่อพิจารณาตามเป้าหมายในการวิจัยแบ่งได้ 2 ประการคือ
1. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ ทางวิชาการ เป็นการแสวงหาความรู้ หรือความจริงเพื่อสร้างเป็นกฎ สูตรทฤษฎี ในแต่ละสาขาวิชา ไม่คำนึงถึงเรื่องการนำผลการวิจัยไปใช้ เพราะการวิจัยแบบนี้มีจุดมุ่งหมายเพียงต้องการรู้เรื่องราวต่าง ๆ เท่านั้น เช่น การวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติการโคจรของดาวหางเป็นต้น
2. เพื่อนำไปประยุกต์หรือใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ มีจุดมุ่งหมายในการนำผลการวิจัยไปใช้ในเชิงปฏิบัติโดยตรง เช่น การวิจัยแก้ปัญหาการจราจรการวิจัยปัญหาการเรียนการสอน การวิจัยเพื่อศึกษาขวัญและกำลังใจในการทำงานเป็นต้น

4. ประโยชน์ของการวิจัยและการวิจัยทางการศึกษา
การวิจัยเมื่อดูตามเป้าหมายจะมี 2 ลักษณะ คือ การวิจัยพื้นฐาน (Pure Research or Basic Research) และการวิจัยประยุกต์ (Applied Research) โดยการวิจัยพื้นฐานมีเป้าหมายที่จะแสวงหาความรู้ความจริง เพื่อสร้างกฎ สูตร ทฤษฎีในแต่ละสาขาวิชา เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อไป ส่วนการวิจัยประยุกต์ มุ่งนำผลจากการวิจัยไปใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ
การวิจัยทางการศึกษา มีทั้งการวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์จึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่าง ๆ
1.ได้ข้อความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เช่น ผลการวิจัยทำให้เราทราบว่ามนุษย์แต่ละคนมีความถนัดในการเรียนวิชาการสาขาต่างๆ แตกต่างกันออกไป การศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการสอน ทำให้ทราบว่าเทคนิคการสอนที่ต่างกันนั้น ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน แตกต่างกันไปอย่างไร
2. ช่วยให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุดจากการได้ความรู้และ ความเข้าใจต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทำให้นักการศึกษาสามารถที่จะจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้
3. ก่อให้เกิดประดิษฐ์กรรมและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการศึกษา ผลของการวิจัยในทางการศึกษาส่วนหนึ่งก่อให้เกิดแนวคิด วิธีการเครื่องมือ ตลอดจนวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการศึกษาให้ดีขึ้น

5. ขั้นตอนการวิจัย
การดำเนินการวิจัย ยึดถือและปฏิบัติตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นหลักมีลำดับขั้นของการทำวิจัย 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 การกำหนดปัญหา(Problem Identification) เมื่อต้องการศึกษาเรื่องใด ต้องตั้งปัญหาที่จะศึกษาให้ชัดเจนซึ่งในขั้นนี้ผู้วิจัยจะต้องตั้งชื่อเรื่อง และนิยามปัญหาที่จะวิจัย ว่าในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายอย่างไรการที่จะนิยามปัญหาได้ชัดเจน ต้องมีการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ
ขั้นที่ 2 การตั้งสมมุติฐาน (Formulation Hypothesis) การตั้งสมมุติฐานเป็นการทำนายผลการวิจัย เป็นการเดาว่าเรื่องต่าง ๆ ที่ศึกษานั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร
ขั้นที่ 3 การรวบรวมข้อมูล(Collection of Data) ผู้วิจัยจะต้องวางแผนว่าจะใช้วิธีการใดเก็บรวบรวมข้อมูลและหาวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อที่จะนำข้อมูลมาใช้ในการตอบสมมุติฐานที่ตั้งไว้
ขั้นที่ 4 การวิเคราะห์ข้อมูล(Data Analysis) ผู้วิจัยจะต้องใช้ วิธีการทางสถิติ เพื่อวิเคราะห์ผลการวิจัยและแปลความหมายของข้อมูล
ขั้นที่ 5 การสรุปผล (Conclusion) เป็นการสรุปผลว่าการวิจัยครั้งนี้ได้ผลอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งอภิปรายผล และให้ข้อเสนอแนะ แล้ว ทำเป็นรายงานการวิจัย เพื่อเป็นเอกสารแสดงผลการศึกษาค้นคว้า


6. ประเภทของการวิจัย
การวิจัยแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

1. แบ่งตามวิธีการวิจัย
1.การวิจัยแบบบรรยาย (DESCRIPTIVE RESEARCH)
2.การวิจัยแบบสำรวจ (SURVEY RESEARCH)
3.การวิจัยแบบทดลอง (EXPERIMENTAL RESEARCH)
4.การวิจัยแบบสหสัมพันธ์(CORRELATIONAL RESEARCH)
5.การวิจัยแบบประเมิน (EVALUATIVE RESEARCH)
6.การวิจัยและพัฒนา (RESEARCH & DEVELOPMENT RESEARCH)
7.การวิจัยรายกรณี (CASE STUDY RESEARCH)
8.การวิจัยเอกสาร (DOCUMENTARY RESEARCH)
9.การวิจัยประวัติศาสตร์ (HISTORICAL RESEARCH)
2.แบ่งตามจุดมุ่งหมาย
1.การวิจัยบริสุทธิ์ (PURE RESEARCH)
2.การวิจัยประยุกต์ (APPLIED RESEARCH)
3.แบ่งตามลักษณะข้อมูล
1.การวิจัยเชิงปริมาณ (QUANTITATIVE RESEARCH)
2.การวิจัยเชิงคุณภาพ (QUALITATIVE RESEARCH)
4.แบ่งตามประเภทข้อมูล
1.การวิจัยเอกสาร (DOCUMENTARY RESEARCH)
2.การวิจัยเชิงประจักษ์ (EMPIRICAL RESEARCH)

7. กระบวนการวิจัย
1. กำหนดปัญหาวิจัย
2. กำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย
3. การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
4. กำหนดกรอบแนวคิดการวิจัย
5. กำหนดสมมติฐานการวิจัย
6. การออกแบบวิจัย
6.1 Sampling design
6.2 Measurement design
6.3 Analysis design
7. การเก็บรวบรวมข้อมูล
8. การประมวลผลและวิเคราะห์
9. การเขียนรายงานการวิจัย

ในการดำเนินการวิจัยผู้วิจัยจะต้องทำการวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อให้งานวิจัยเป็นไปอย่างมีแบบแผน ซึ่งสามารถแยกขั้นตอนทั้งการวางแผนและลงมือปฏิบัติจริงได้ ดังนี้

1. การกำหนดปัญหาการวิจัย เป็นการกำหนดของงานวิจัยว่า จะทำการศึกษาในเรื่องใดสาขาวิชาใด มีขอบเขตกว้างขวางแค่ไหน ปัญหาที่ทำการวิจัยนั้นต้องมีคุณค่าและเหมาะสมกับความสามารถ เวลาและเงินทุนสำหรับการวิจัย เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการวิจัยและนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากในการทำวิจัย ผู้วิจัยจำเป็นต้องกำหนดประเด็นปัญหาที่ต้องการศึกษาวิจัยให้ชัดเจน ถามตนเองว่ามีความสนใจในเรื่องใด ต้องการตอบปัญหาอะไรหรือต้องการคำตอบอะไร การศึกษาในปัญหาที่แคบแต่ลึกจะทำให้เกิดความชัดเจนในการทำวิจัยมากกว่าศึกษาปัญหาที่กว้างจนจับอะไรไม่ได้ ก่อนอื่นผู้วิจัยต้องสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาหรือเรื่องที่จะศึกษานั้นๆว่ามีข้อมูลเพียงพอหรือไม่ นั่นก็หมายความว่าผู้วิจัยต้องกำหนดปัญหาและวางแผนการวิจัยก่อน

2.การกำหนดปัญหาการวิจัย
ในการกำหนดปัญหาการวิจัยมีหลักการกำหนดปัญหา ดังนี้
1. ศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาที่จะศึกษา
2. เป็นประเด็นที่น่าสนใจ
3. เลือกปัญหาใหม่ไม่ซ้ำกับปัญหาเดิมที่มีผู้วิจัยไว้แล้ว หากมีความจำเป็นอาจศึกษาซ้ำโดยเปลี่ยนระเบียบวิธีวิจัยใหม่
4. กำหนดขอบเขตของปัญหาให้ชัดเจน
5. ใช้ภาษาที่เป็นทางวิชาการ ไม่ใช่ภาษาพูด มีความกะทัดรัดและใช้คำถูกต้อง
6. ไม่ยืดยาวจนน่าเบื่อหน่าย
7. มีข้อมูลอ้างอิงทำให้น่าเชื่อถือ
8. จัดลำดับประเด็นปัญหาให้เป็นขั้นตอนต่อเนื่องกัน
9. เป็นประเด็นที่น่าเป็นประโยชน์ ผลการวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
10. อยู่ในวิสัยที่ผู้วิจัยสามารถที่จะทำได้ทั้งในแง่ของเวลาและค่าใช้จ่าย


3. การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยต้องศึกษาทฤษฎี หลักการ ความรู้พื้นฐานผลงานวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เห็นแนวทางในการวิจัย

3.1 ความสำคัญของการวิจัยเอกสารเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
1. ช่วยให้ผู้วิจัยได้ทราบถึงสภาพขององค์ความรู้ (state of the art) ในเรื่องที่จะทำการวิจัย คือจะได้ทราบว่าในหัวข้อเรื่องที่ผู้วิจัยสนใจหรือมีข้อสงสัยใคร่หาคำตอบนั้น ได้มีผู้ศึกษาหาคำตอบได้เป็นความรู้ไว้แล้วในแง่มุมหรือประเด็นใดแล้วบ้าง การจะศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบในเรื่องนั้นต่อไปควรจะได้ทราบเสียก่อนว่าเรารู้อะไรกันแล้วบ้างเกี่ยวกับเรื่องนั้นความรู้เหล่านั้นมีความชัดเจนเพียงใด ยังมีข้อความรู้ที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกันบ้างหรือไม่ ประเด็นใดที่ยังไม่มีคำตอบบ้าง การทราบถึงสถานภาพขององค์ความรู้ในเรื่องที่จะทำวิจัยจะช่วยให้ผู้วิจัยมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความรู้ใหม่ที่จะได้จากการวิจัยของตนเองนั้นจะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในเรื่องนั้น จะเป็นความรู้ใหม่ที่มีคุณค่าหรือความสำคัญเพียงใด และจะเข้าไปจัดระเบียบอยู่ในองค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างผสมกลมกลืนได้อย่างไร

2. ช่วยให้ผู้วิจัยสามารถหลีกเลี่ยงการทำวิจัยซ้ำซ้อนกับผู้อื่น การวิจัยเป็นเรื่องของการแสวงหาความรู้ใหม่ นักวิจัยไม่นิยมแสงหาความรู้เพื่อที่จะตอบปัญหาเดิมโดยไม่จำเป็น เพราะจะเป็นการเสียเวลา สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ สิ่งใดที่รู้แล้วมีผู้หาคำตอบไว้แล้ว นักวิจัยจะไม่ทำวิจัยเพื่อหาคำตอบในเรื่องนั้นซ้ำอีก ดังนั้นนักวิจัยจึงพยายามหลีกเลี่ยงการทำวิจัยซ้ำกับที่ผู้อื่นได้ทำไว้แล้วซึ่งถือเป็นจรรยาบรรณอย่างหนึ่งของนักวิจัย และทำให้การวิจัยนั้นด้อยคุณค่าลง การทบทวนเอกสารวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างถี่ถ้วนและรอบคอบจะทำให้นักวิจัยได้ทราบว่าประเด็นที่ตนเองสนใจจะทำวิจัยนั้นได้มีผู้หาคำตอบไว้แล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วก็จะได้เลี่ยงไปศึกษาในประเด็นอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้มีผู้ศึกษาเอาไว้ต่อไป

3. ช่วยให้ผู้วิจัยได้มีแนวคิดพื้นฐานเชิงทฤษฎีในเรื่องที่จะทำการวิจัยอย่างเพียงพอ การจะทำวิจัยในเรื่องใดนั้นผู้วิจัยจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่พอสมควร โดยเฉพาะกรอบแนวคิด เชิงทฤษฎี (Theritical หรือ Conceptual framwork) เกี่ยวกับเรื่องนั้นจะต้องชัดเจน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้วิจัยกำหนดประเด็นปัญหาในการวิจัยได้อย่างชัดเจน สามารถกำหนดแนวทางในการศึกษาได้อย่างเหมาะสม เข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องที่วิจัยได้อย่างแจ่มแจ้ง

4. ช่วยให้ผู้วิจัยได้เห็นแนวทางในการดำเนินงานวิจัยของตน จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่ทำให้นักวิจัยได้ทราบว่าเรื่องที่สนใจนั้นได้มีผู้วิจัยอื่นได้ค้นคว้าหาคำตอบไว้อย่างไรแล้วเท่านั้น ยังจะได้ทราบด้วยว่านักวิจัยคนอื่น ๆ เหล่านั้นได้มีวิธีการหาคำตอบเอาไว้อย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรในการทำวิจัยในเรื่องนั้น คำตอบที่ได้มามีความชัดเจนแจ่มแจ้งเพียงใด คำตอบสอดคล้องหรือขัดแย้งกันหรือไม่ เอกสารเชิงทฤษฎีต่าง ๆ ได้ชี้แนะแนวทางในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างไร สารสนเทศเหล่านี้นักวิจัยจะนำมาใช้ตัดสินใจกำหนดแนวทางในการวิจัยของตนเริ่มตั้งแต่ การกำหนดประเด็นปัญหาที่เหมาะสม การกำหนดขอบเขตและข้อสันนิษฐานการวิจัยอย่างสมเหตุสมผล ออกแบบวิจัยเพื่อดำเนินการหาคำตอบซึ่งจะเกี่ยวกับการเลือกระเบียบวิธีวิจัย การเลือกตัวอย่าง การสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์หรือประมวลผลข้อมูล ตลอดจนการสรุปและรายงานผลการวิจัย นักวิจัยจะวางแผนการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาอุปสรรคที่จะทำให้งานวิจัยนั้นล้มเหลวได้ ช่วยให้โอกาสที่จะทำงานมีวิจัยนั้นให้สำเร็จอย่างมีคุณภาพมีสูงขึ้น

5. ช่วยให้ผู้วิจัยได้มีหลักฐานอ้างอิงเพื่อสนับสนุนในการอภิปรายผลการวิจัย เมื่อผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยจนได้ข้อสรุปหรือคำตอบให้กับปัญหาแล้ว ในการรายงานผลการวิจัยผู้วิจัยจะต้องแสดงความคิดเห็นเขิงวิพากษ์วิจารณ์ผลการวิจัย การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบถี่ถ้วนจะช่วยให้ผู้วิจัยมีข้อมูลอ้างอิงประกอบการแสดงความเห็นได้อย่างสมเหตุสมผลและมีความหนักแน่นน่าเชื่อถือ

6. ช่วยสร้างคุณภาพและมาตรฐานเชิงวิชาการให้แก่งานวิจัยนั้น การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนั้นจะต้องประมวลมาเป็นรายงานสรุปใส่ไว้ในรายงานการวิจัย หรือเค้าโครงร่างของการวิจัย(Research proposal)ด้วย การไปทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องมาอย่างกว้างขวางครอบคลุมในเรื่องที่ศึกษาและนำมาเรียบเรียงเอาไว้อย่างดี จะทำให้รายงานหรือโครงร่างการวิจัยนั้นมีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป็นการแสดงถึงศักยภาพของนักวิจัยได้ทางหนึ่งว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะทำวิจัยในเรื่องนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ ในการพิจารณาโครงร่างการวิจัยส่วนหนึ่งที่กรรมการมักจะพิจารณาเป็นพิเศษก็คือ รายงานการประมวลเอกสารที่เกี่ยวข้องนี่เอง

3.2 จุดมุ่งหมายของการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง
โดยทั่วไปนักวิจัยจะทำการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อเพื่อจุดมุ่งหมายประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการดังนี้
1. เพื่อแสวงหาแนวคิดพื้นฐานเชิงทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะทำวิจัย
2. เพื่อสำรวจสถานภาพขององค์ความรู้ในเรื่องที่จะทำวิจัย
3. เพื่อแสวงหาสารสนเทศที่จะช่วยตัดสินใจกำหนดแนวทางการวิจัย
4. เพื่อแสวงหาหลักฐานอ้างอิงมาสนับสนุนความคิดเห็นในการอภิปรายผลการวิจัย


4. กำหนดกรอบแนวคิดการวิจัยในขั้นตอนนี้ดำเนินการหลังจากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยแล้ว ทำให้ผู้วิจัยมองเห็นความสัมพันธ์ของตัวแปรได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งลักษณะการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรจากการศึกษาเออกสารและงานวิจัยนี้เป็นกระบวนการสร้างมโนทัศน์ (Conceptualization) ผลจากการสร้างมโนทัศน์จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สิ่งที่ได้ก็คือ กรอบความคิดเชิงทฤษฏี (Theoretical Framework) ซึ่งสามารถเขียนเป็นโมเดลแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งหมดในลักษณะเป็นโครงสร้าง จากกรอบความคิดเชิงทฤษฏีนี้เราอาจจะไม่สามารถนำตัวแปรทั้งหมดมาศึกษาได้ เราอาจเลือกบางตัวแปรเข้ามาศึกษา (ด้วยเหตุผลเชิงวิชาการ)ทำให้เราสามารถลดจำนวนตัวแปรจากกรอบความคิดเชิงทฤษฏีเหลือเพียงตัวแปรที่เราจะศึกษาจริงๆซึ่งก็คือ กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual Framework) นั่นเอง กรอบแนวคิดในการวิจัยจะทำให้ผู้วิจัยและผู้อ่านงานวิจัยได้มองเห็นภาพรวมงานวิจัยของตนเองได้ชัดเจนขึ้น มองเห็นความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา

4.1 การนำเสนอกรอบแนวคิดในการวิจัย สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. การเขียนบรรยาย โดยระบุตัวแปรที่ศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวแปร
2. การเขียนแบบจำลองหรือสัญลักษณ์และสมการ
3. การเขียนแผนภาพ แสดงตัวแปรต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวแปร
4. การเขียนแบบผสมผสาน
4.2 หลักเกณฑ์ในการเขียนกรอบแนวคิดในการวิจัย
1. ตัวแปรที่เลือกมาศึกษาหรือที่นำเสนอไว้ในกรอบแนวคิดในการวิจัยต้องมีพื้นฐานเชิงทฤษฏีว่า
มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการศึกษา
2. มีความตรงประเด็นในด้านเนื้อหาสาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านตัวแปรอิสระหรือตัวแปรที่ใช้
ควบคุม
3. มีรูปแบบสอดคล้องกับความสนใจ หรือ วัตถุประสงค์ของการวิจัย
4. ระบุรายละเอียดของตัวแปรและสามารถแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรได้ชัดเจนด้วยสัญลักษณ์หรือแผนภาพ


5. กำหนดสมมติฐานการวิจัย
การกำหนดสมมติฐานในการวิจัย เป็นขั้นตอนของการคาดคะเนหรือคาดเดาคำตอบของปัญหาการวิจัย การคาดเดาคำตอบมีประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการหาข้อมูล เพื่อตรวจสอบปัญหาการวิจัย เป็นการ คาดเดาคำตอบอย่างมีเหตุมีผล ผู้วิจัยควรตั้งสมมติฐานการวิจัยหลังจากที่ได้ศึกษาทฤษฎี เอกสารต่าง ๆ ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จนผู้วิจัยมีแนวความคิดเพียงพอที่จะคาดเดา โดยอาศัยเหตุผลเหล่านั้น ได้อย่างสมเหตุสมผล สมมติฐานในการวิจัยเป็นคำกล่าวที่แสดงความถึงความสัมพันธ์ที่คาดการณ์หรือเดาระหว่างตัวแปรสองตัวขึ้นไป คำกล่าวนี้จะต้องแสดงทิศทางของความสัมพันธ์ว่าเป็นเช่นไรเช่นเป็นบวกหรือลบและเป็นคำกล่าวที่จะต้องพิสูจน์ต่อไปว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่

6. การออกแบบวิจัย และเขียนเค้าโครงการวิจัยเพื่อให้การวิจัยดำเนินไปตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ผู้วิจัยจะต้องเขียนรายละเอียดของกระบวนการวิจัยไว้ล่วงหน้าว่าจะต้อง ทำอะไรบ้าง ตามลำดับแต่ต้นจนจบ โดยมีปฏิทินการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งกำหนดค่าใช้จ่ายเครื่องมือในการวิจัยไว้ด้วย

7. การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนที่ทำหลังจากเขียนเค้าโครงการวิจัย เรียบร้อยแล้ว ก็มีการนำเครื่องมือไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดไว้ในเค้าโครงการวิจัย

8. การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีที่กำหนดไว้ในเค้าโครงการวิจัย พร้อมสรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ ขั้นนี้เป็นการสรุปผลที่ได้จาก การวิเคราะห์ข้อมูลรวมทั้งให้ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่จะทำการวิจัย ในลักษณะคล้าย คลึงกันหรือนำผลการวิจัยไปใช้

9. การเขียนรายงานการวิจัย งานวิจัยจะเสร็จสมบูรณ์ต้องมีการรายงานวิจัยออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร โดยขั้นนี้จะรายงานข้อเท็จจริงที่ค้นพบตามแนวการเขียนรายการวิจัย เพื่อสะดวกแก่ผู้ที่มาศึกษาค้นคว้าต่อไป