วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

การออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล

การออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล

การออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล มีประเด็นสาระในการศึกษารวม 3 ประเด็น ดังนี้

1.แนวคิดหลักของการออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล
2.กระบวนการออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล
3.วิเคราะห์กรณีตัวอย่างงานวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล


สรุปโดยสังเขป ดังนี้

1.แนวคิดหลักของการออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล

1.1 ความหมายของการออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล เป็นการจัดทำแผนหรือโครงการวิจัยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ทั้งในทางทฤษฎีและจากงานวิจัยเชิงประจักษ์ในอดีต เพื่อจัดทำโครงสร้าง(construct) ทางทฤษฎีที่ใช้เป็นตัวแทนแนวคิดบางอย่าง โดยที่โครงสร้างนั้นประกอบด้วยชุดตัวแปรที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันเชิงเหตุและผลและเชิงปริมาณ มีความสำคัญในการได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยในอดีตมาศึกษาในเชิงอภิมาน ทำให้ได้เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะช่วยให้สามารถนำไปใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ในสังคมและนำไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมปรากฏทางสังคมต่อไป

1.2 ความสำคัญและประโยชน์ของการออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล คือการยอมให้นำตัวแปรที่ได้ศึกษาย้อนหลังและพบว่ามีความสัมพันธ์กันในเชิงเหตุและผลมาบูรณาการกับทฤษฎีเกี่ยวกับตัวแปรทั้งหลายที่พบ และนำมาจัดระบบ สร้างแบบแผน โครงสร้าง ให้เห็นเป็นโมเดลของความสัมพันธ์และผลของความสัมพันธ์ และผลของความสัมพันธ์นั้นต่อปรากฏการณ์ในสังคม ในแง่เศรษฐกิจ คือ ลดการวิจัยซ้ำซ้อนโดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย เป็นการประหยัดทรัพยากร ลดเวลาที่จะใช้ในการวิจัยเชิงทดลอง และแก้ปัญหาความซับซ้อนของการทดลองที่ต้องใช้ตัวแปรในการทดลองหลายๆตัว

1.3ประโยชน์ของการออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล คือ
(1) ช่วยทำให้เกิดแนวคิดในการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวแปรเชิงเหตุและผลโดยไม่ต้องใช้การทดลอง แต่ใช้ในการศึกษางานวิจัยในประเด็นเดียวกันย้อนหลังหรือการวิเคราะห์อภิมาน
(2) ช่วยให้มีการนำผลการวิจัยในอดีตมาบูรณาการและใช้ประโยชน์
(3) ทำให้ได้โมเดลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยการทดลองใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์
(4) ช่วยให้แนวทางในการวิจัยที่เชื่อถือได้ และได้ผลการวิจัยที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงในการนำไปใช้ในบริบทที่เป็นธรรมชาติ

1.4 หลักการออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล การวิจัยลักษณะนี้ จะกระทำได้ผู้วิจัยต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้วิจัยต้องมีความรู้ความสามารถในการออกแบบวิจัย
(2) ผู้วิจัยต้องรู้จักประเภทและเข้าใจธรรมชาติของตัวแปรในการวิจัยเป็นอย่างดี
(3) ผู้วิจัยต้องมีความรู้เป็นอย่างดีในตัวแปรที่นำมาใส่ในแผนแบบการวิจัย
(4) ผู้วิจัยต้องมีความรู้ในเรื่องของโมเดลที่เหมาะสมในการที่จะพัฒนาขึ้น
(5) ผู้วิจัยต้องมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการตรวจสอบโมเดล
(6) ผู้วิจัยต้องมีความเปิดกว้าง ยอมรับทฤษฎีใหม่ๆและงานวิจัยใหม่ๆที่มีผู้ทำขึ้นมา
(7) งานวิจัยต้องมีตัวแปรเกินและตัวแปรกลางที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรตามที่ศึกษา
(8) ต้องมีการออกแบบวิจัยที่สามารถควบคุมความแปรปรวนได้อย่างเหมาะสม
(9) ต้องมีขั้นตอนในการตรวจสอบความถูกต้อง(validate) ของโมเดลที่พัฒนาขึ้น


2.กระบวนการออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล
กระบวนการหรือขั้นตอนของการออกแบบวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล มีขั้นตอนในการดำเนินงาน คือ
(1) การกำหนดปัญหาวิจัย/ชื่อเรื่องการวิจัย
(2) การทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษา
(3) การศึกษางานวิจัยหรือสภาพปัจจุบันของสิ่งที่ศึกษา
(4) การตั้งสมมุติฐานการวิจัย เป็นการบรรยายถึงตัวแปรทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เป็นการทำนายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่มีข้อมูลสนับสนุน
(5) การกำหนดวิธีตรวจสอบความกลมกลืนหรือความตรงหรือความเป็นไปได้ของโมเดล
(6) การกำหนดกรอบประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
(7) การออกแบบและพัฒนาเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
(8) วิเคราะห์ข้อมูลและการปรับปรุงและนำเสนอโมเดลที่ปรับปรุงแล้ว
(9) ปรับปรุงและนำเสนอโมเดลที่ปรับปรุงแล้ว

3. กรณีตัวอย่างงานวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล
การศึกษางานวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล จะทำให้เข้าใจลักษณะและรูปแบบการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ได้เห็นจุดเด่นและจุดด้อยของการออกแบบในงานวิจัยที่นำมาเสมอ การได้ศึกษาจากเนื้อหาที่นำเสนอในเอกสาร การอภิปรายและวิเคราะห์จากผู้เขียนจะทำให้เห็นแนวทางในการศึกษาและวิเคราะห์งานวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดลอื่นๆได้อย่างถูกต้องตามหลักการทางวิชาการ

(จะหาตัวอย่างมาเพิ่มค่ะ)