การออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์
ความหมาย
1. การออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ เป็นการเขียนแผนหรือโครงการวิจัย ที่มีตัวแปรอิสระหรือตัวแปรทดลองตั้งแต่สองตัวขึ้นไป เพื่อใช้เสมือนเป็นพิมพ์เขียวในการดำเนินงานวิจัยความสำคัญของการออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ คือ ช่วยในการควบคุมความแปรปรวนของผลการทดลอง และช่วยให้สามารถใช้แผนแบบการวิจัยควบคุมความแปรปรวนของตัวแปรเกินที่มีผลต่อตัวแปรตาม ช่วยให้ได้ผลการวิจัยที่มีความชัดเจน เที่ยงตรง และเป็นปรนัย เป็นไปตามหลัก Max-Min-Con
2 กระบวนการออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ ประกอบด้วย กิจกรรม 8 ขั้นตอน คือ การนิยามตัวแปรอิสระและตัวแปรตามที่จะศึกษา การทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษา การตั้งสมมุติฐานการวิจัย การเลือกแผนแบบการทดลอง การกำหนดกรอบประชากร และการเลือกตัวอย่าง การออกแบบและพัฒนาเครื่องมือ และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล การวางแผนการทดลองและการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวางแผนการวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดทำ ตารางหุ่น
3. กรณีศึกษากรณีตัวอย่างงานวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ จะทำให้เห็นตัวอย่างของแผนแบบการวิจัยและกระบวนการออกแบบและดำเนินงานตามแผนแบบวิจัย ทำให้ได้เห็นจุดเด่น จุดด้อยในการนำไปใช้ในบริบทจริง รวมทั้งได้ฝึกวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้มีประสบการณ์ในการที่จะนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป
แนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์
1.ความหมายของการออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์
การออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ เป็นการวางแผนและโครงสร้างของการวิจัยที่ทำเพื่อที่จะตอบคำถามวิจัย เกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผล (cause and effect) ระหว่างตัวแปร 2 ประเภทคือ ตัวแปรอิสระซึ่งเป็นตัวแปรเหตุ และตัวแปรตามหรือตัวแปรผล โดยที่ต้องการศึกษาความสัมพันธ์ในลักษณะที่มีตัวแปรอิสระมากกว่า 1 ตัว และแต่ละตัวมีระดับตัวแปรมากกว่า 1 ระดับ เป็นการกำหนดแผนและกิจกรรมในการดำเนินงานโดยแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามวิจัยที่กำหนดไว้ และเพื่อควบคุมความแปรปรวนของการวิจัยทั้งที่เกิดจากตัวแปรทดลอง ตัวแปรเกิน (extraneous variable) ตัวแปรกลาง (moderator variable) และความแปรปรวนคาดเคลื่อน
2.ความสำคัญและประโยชน์ของการออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์
ความสำคัญของการออกแบบวิจัยเชิงทดลอง เพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์อาจแบ่งได้เป็นสองลักษณะ ลักษณะแรกเป็นความสำคัญของการออกแบบวิจัยที่ดีทั่วไป คือการช่วยให้ผู้วิจัยสามารถตอบคำถามวิจัยด้วยความถูกต้อง เชื่อถือได้ เป็นปรนัย และใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ลักษณะที่สองช่วยทำให้เห็นกรอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ให้แนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งด้านเครื่องมือ วิธีการ และประเภทข้อมูลที่ต้องการ รวมทั้งแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล
สำหรับประโยชน์ของการออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์นั้น อาจมองได้ในแง่ของความตรงภายในของงานวิจัย นั่นคือ ประการแรก ทำให้สามารถแยกความแปรปรวนของตัวแปรอิสระที่มีต่อตัวแปรตามได้อย่างชัดเจนขึ้น อันเนื่องมาจากการออกแบบวิจัยที่นำตัวแปรเกินและตัวแปรกลางเข้ามาใส่ในแผนแบบวิจัย ประการที่สอง ช่วยให้สามารถควบคุมความแปรปรวนของตัวแปรเกินและเพิ่มความกระจ่างในสาเหตุของการเกิดตัวแปรตามมากกว่าการวิจัยเชิงทดลองแบบง่าย และทำให้ผลการวิจัยเป็นที่เชื่อถือได้ และนำไปใช้ได้ในบริบทที่เป็นธรรมชาติ ประการที่สอง ช่วยให้ผู้วิจัยสามารถดำเนินการทดลองในด้านการวัดตัวแปรและการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างราบรื่น ประการที่สี่ ช่วยให้เกิดการควบคุมการทดลองด้วยหลัก MaxMinCon อย่างสมบูรณ์กว่าแผนแบบวิจัยทดลองอื่น ๆ ช่วยให้ตอบคำถามวิจัยได้อย่างเที่ยงตรง เป็นปรนัย และมีความถูกต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือ ประการสุดท้าย คือ ช่วยให้ผู้สนใจ ได้นำผลการวิจัยไปใช้ได้อย่างเหมาะสม และเป็นประโยชน์มากขึ้นในทางปฏิบัติ
3.หลักการออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์
3.1หลักการออกแบบวิจัยเชิงทดลองทั่ว ๆ ไป คือ ต้องใช้หลัก Max-Min-Con มาพิจารณาในการออกแบบวิจัย ดังนี้
3.1.1ทำให้ความแปรปรวนอันเกิดจากการทดลองมีค่าสูงสุด (Maximization of Experimental Variance)
3.1.2 ลดความแปรปรวนคลาดเคลื่อนให้เหลือน้อยที่สุด (Minimization of Error Variance)
3.1.3การควบคุมอิทธิพลของตัวแปรเกิน (Control of Extraneous Variable)
1) การควบคุมด้วยการเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มสองระดับ (randomization) หรือการจับคู่ (matching)
2) การควบคุมตัวแปรเกินที่พบว่ามีอิทธิพลต่อตัวแปรตาม
3.2 หลักการในการใช้แผนแบบการทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลของปฏิสัมพันธ์
4. แผนแบบการทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์
4.1 แผนแบบการทดลองแบบแฟคทอเรียลแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomized Factorial Design-CRF)เป็นการออกแบบการวิจัยเชิงทดลองเมื่อต้องการศึกษาอิทธิพบของตัวแปรอิสระ ตั้งแต่สองตัวขึ้นไปในขณะเดียวกัน เพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสอง การทดลองแบบนี้ ตัวแปรแต่ละตัวต้องมีระดับตั้งแต่ 2 ระดับขึ้นไป โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นในการใช้ดังนี้
4.1.1 มีตัวแปรทดลองตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
4.1.2 การกำหนดหน่วยทดลองเข้าในผลร่วม pq ทำแบบสุ่ม
4.1.3 การกำหนดระดับของตัวแปรทดลอง
4.1.4 การกำหนดหน่วยการทดลองเข้าสู่ตัวแปรทดลองร่วม
4.1.5 การเรียกชื่อแผนการทดลอง
4.1.6 ความหมายของตัวแปรทดลองคงที่และตัวแปรทดลองสุ่ม (Fixed and Random Factor)
4.2 แผนแบบการทดลองแบบสุ่มกลุ่ม (Randomized Block Factorial Design-RBF)
4.3 แผนแบบการทดลองแบบแฟคทอเรียลแยกส่วน (Split-Plot Factorial Design-SPF)
4.4 แผนแบบการทดลองแบบแฟคทอเรียลชนิดชั้นภูมิ (Hierarchical Factorial Design)
กระบวนการออกแบบวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์
กระบวนการออกแบบการทดลอง มีขั้นตอนดังนี้
1. นิยามตัวแปรอิสระและตัวแปรตามที่จะศึกษา
การนิยามตัวแปรที่จะศึกษา เป็นขั้นเริ่มต้นของการวิจัยทั่ว ๆ ไปทุกประเภท ความแตกต่างอยู่ที่การศึกษาเชิงทดลอง ต้องการะบุตัวแปรตามประเภทที่เป็นตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม ซึ่งในขั้นแรกนั้นอาจประกอบด้วยตัวแปรอิสระหลักที่ต้องการศึกษาและตัวแปรตาม
2. ทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษา
ขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการออกแบบวิจัยเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ เนื่องจากการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษานั้น นอกจากศึกษาเกี่ยวกับตัวแปรที่ต้องการศึกษาเช่นเดียวกับการวิจัยทั่วไปแล้ว การวิจัยเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์นั้น การทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ต้องเน้นที่การศึกษาถึงตัวแปรอื่น ๆ นอกจากตัวแปรอิสระที่มีผลต่อ ตัวแปรตาม
3. ตั้งสมมติฐานการวิจัย
การทดสอบนัยสำคัญทางสถิติของการออกแบบวิจัยเพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์นั้น จุดที่สนใจคือความมีนัยสำคัญของปฏิสัมพันธ์ สำหรับการตั้งสมมติฐานจึงมีการตั้งสมมติฐานทั้งที่เกี่ยวกับนัยสำคัญของผลหลัก คือ ผลของตัวแปรแต่ละตัวในแต่ละระดับของตัวแปรอีกตัว
4. เลือกแผนแบบการทดลอง
การเลือกแผนแบบการทดลองนั้น ผู้วิจัยต้องศึกษาหาความรู้ในแผนแบบที่สามารถนำมาใช้เพื่อศึกษาอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ ให้มีความรู้ในแผนแบบนั้นอย่างดี ทั้งในเรื่องของรูปแบบการจัดกลุ่มทดลองและการวัดหรือการเก็บข้อมูลจากการทดลอง
5. กำหนดกรอบประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง
กำหนดกรอบประชากรว่าเป็นใคร หรืออะไร กำหนดลักษณะของการจัดหน่วยในการทดลอง กำหนดจำนวนตัวอย่างให้เหมาะสมกับสภาพการทดลอง และการเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากประชากร และการสุ่มการทดลองให้กับกลุ่มตัวอย่าง ทั้งนี้การกำหนดกรอบประชากร การเลือกกลุ่มตัวอย่าง การกำหนดจำนวนตัวอย่าง และการจัดกลุ่มตัวอย่างนั้น ต้องให้สอดคล้องกับแผนแบบการวิจัยที่เลือกใช้
6. ออกแบบและพัฒนาเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
7. วางแผนการทดลองและการเก็บรวบรวมข้อมูล
ในการนี้ ต้องระบุระยะเวลาการทดลอง อาจต้องมีการฝึกอบรมหรือประชุมตกลงกันในการทดลอง และการเก็บข้อมูลเพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน และมีความเป็นมาตรฐานเดียวกั้น ถ้าต้องใช้ผู้ทดลองหลายคน
8. วางแผนการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำตารางหุ่น (Dummy Table)
เลือกวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลให้สอดคล้องกับแผนแบบการวิจัย การจัดทำตารางหุ่นหรือโครงสร้างการรายงานวิจัยจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกต้อง และรวดเร็วขึ้น
(มีต่อ)