วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563

Top 5 Blockchain Trend in 2020




Top 5 Blockchain Trend in 2020

ต่อจากบทความที่แล้วว่า บล็อกเชน เกี่ยวอะไร ยังไงกับชีวิตเรา ซึ่งผมอยากจะบอกว่าในปี 2020 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่สำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชน เพราะเราอยู่ในจุดที่เรียกว่าเทคโนโลยีมีความพร้อม เหลือเพียงแค่การใช้งานที่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และจะกระทบคนทั่วไปได้มากแค่ไหนเท่านั้น
 
ผมจึงขออนุญาตสรุปแนวโน้มสำคัญ
ของเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี
ออกเป็น
5 เรื่องหลักๆ นะครับ
 
เรื่องที่ 1 Federated Blockchain
Federated Blockchain หรือที่หลายคนเรียกว่า Consortium Blockchain คือการพัฒนาไปอีกขั้นของ Private Blockchain ซึ่งใน Private Blockchain นั้นเป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ภายในบริษัท เพื่อจุดประสงค์หลักในการลดค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติงานในบริษัทเท่านั้น แต่ Federated Blockchain จะเป็นการพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในกลุ่มบริษัท แบ่งปันข้อมูลบางส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และผู้ที่จะเข้ามาร่วมในกลุ่มจะต้องได้รับอนุญาตจากกลุ่มเท่านั้น ซึ่งต่างจาก Public Blockchain ที่ข้อมูลทุกอย่างจะถูกแบ่งให้กับใครก็ได้ที่มาร่วม ตัวอย่างของ Federated Blockchain นั้นเริ่มมีให้เห็นในหลากลุ่มอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น
กลุ่มของ MarcoPolo Network ที่เป็นการรวมกลุ่มของสถาบันการเงิน 17 บริษัท เพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินงานและเพิ่มความโปร่งใสในด้านการบริการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trade Finance

กลุ่มของ B3i ที่เป็นการรวมกลุ่มของบริษัทประกันภัยกว่า 40 บริษัททั่วโลกโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ และลดปัญหาในการถ่ายโอนความเสี่ยงของบริษัทในอุตสาหกรรมประกันภัย

กลุ่มของ IBM Food Trust ที่เป็นการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของอาหารแต่ละชนิด

กลุ่ม BCI ของเมืองไทย ที่เกิดจากความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย 22 แห่ง เพื่อให้บริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยมีเป้าหมายในการลดขั้นตอนการทำงานและเปลี่ยนความยุ่งยากในกระบวนการรับส่งเอกสารไปมาให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
 
เรื่องที่ 2 Blockchain as a Service (BaaS)
เทคโนโลยีบล็อกเชนจะไม่ไกลตัวอีกต่อไป เพราะจะมีผู้ให้บริการรายใหญ่ทั่วโลกให้บริการบล็อกเชนแบบพร้อมใช้ โดยบริการ BaaS นี้จะเป็นส่วนเชื่อมระหว่างบล็อกเชนแพลตฟอร์มต่างๆ และบริษัทหรือนักพัฒนาที่ต้องการใช้บล็อกเชน โดยไม่ต้องไปเสียเวลาในการเรียนรู้ใหม่ตั้งแต่ต้น จะทำให้นักพัฒนาสามารถต่อยอดเพื่อสร้างบล็อกเชนแอปพลิเคชันได้อย่างง่ายดายผ่าน Cloud Service ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดการใช้งานบล็อกเชนในวงกว้างผ่านแต่ละบริษัท ปัจจุบันผู้ให้บริการ BaaS รายใหญ่ๆ ได้แก่ Microsoft Azure, Amazon Web Services (AWS), IBM Cloud, Oracle Blockchain และ VMWare

เรื่่องที่ 3 ยุคทองของ Stable Coin
Stable Coin คือ เหรียญหรือ Token อีกรูปแบบของคริปโตเคอเรนซีโดยใช้บล็อกเชนที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความผันผวนของราคา และจะมีราคาคงที่โดยที่แต่ละเหรียญจะมีการอ้างอิงกับสินทรัพย์บางประเภท เพื่อให้ราคาคงที่ เหมาะสำหรับนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันได้มี Stable Coin อยู่แล้วหลายเหรียญ ไม่ว่าจะเป็น Tether ซึ่งเป็นเหรียญที่อ้างอิงกับ US Dollar หรือเหรียญ JPM Coin ของ JP Morgan บริษัททางการเงินชื่อดังที่นำมาใช้ภายใน Ecosystem ของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามในปี 2020 จะมี Stable Coin เด่นๆ ที่มีแผนจะออกมาอีก คือ

Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือเหรียญดิจิทัลที่จะออกโดยธนาคารของแต่ละประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมา The Bank of International Settlements (BIS) ได้มีการทำการสำรวจและพบว่า มากกว่า 63 ธนาคารกลางทั่วโลก ได้มีการทำการทดลองและพิจารณาที่จะออก CBDC โดยประเทศที่โดดเด่นที่สุดก็หนีไม่พ้นประเทศจีน ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้มีการประกาศแล้วว่า จีนจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนของโลก และมีความคาดหวังว่า Chinese Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ที่เป็นองค์กรที่ดูแลโดยตรงของจีน จะประกาศใช้งานเงินดิจิทัลของจีนผ่านแพล็ตฟอร์มชื่อดังของจีน ไม่ว่าจะเป็น Alipay หรือ Wechat ที่มีคนใช้อยู่แล้วหลายร้อยล้านคน โดยเหรียญดิจิทัลของรัฐบาลกลางนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถตรวจสอบที่มาที่ไป การใช้จ่ายของคนได้ดียิ่งขึ้นในแบบที่ไม่เคยทำได้มาก่อนบนเงินแบบกระดาษ

Libra อีกหนึ่งเหรียญที่น่าตื่นตาตื่นใจ ที่ถึงแม้จะมีแรงต้านจากหลายๆ ส่วน รวมถึงการถอนตัวของหุ้นส่วนหลักๆ หลายราย แต่ด้วยจำนวนผู้ใช้งานของ Facebook กว่า 4 พันล้านคนทั่วโลก ทำให้เหรียญ Libra ยังเป็นที่น่าจับตามอง และน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Facebook สามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้นอีก รวมถึงนำเสนอบริการทางการเงินให้กับสมาชิกของ Facebook ทั่วโลกในแบบที่ธนาคารแบบปกติได้แต่มองตาปริบๆ

Stable Coin จากผู้ให้บริการระดับโลกเหล่านี้ จะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกได้เข้ามาใช้งานดิจิทัลเคอเรนซี และจะก่อให้เกิดการใช้งานใหม่ๆ อีกมากมาย ถือเป็นหนึ่งในจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ระดับเดียวกับที่ Netscape เคยทำให้คนทั่วโลกสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบายเลยทีเดียว
 
เรื่องที่ 4 การพัฒนาครั้งสำคัญของ Bitcoin และ Ethereum
การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ 2 เหรียญหลักของคริปโตเคอร์เรนซี เริ่มจาก Lightning network ซึ่งเป็นการพัฒนา layer 2 ของบิตคอยน์เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและลดค่าธรรมเนียมในการโอนเหรียญซึ่งเป็นปัญหาหลักในการใช้งานของบิตคอยน์ โดยใช้การทำงานนอกเชนหลัก ก็เริ่มมีการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะเห็นแอปพลิเคชันหรือการใช้งานใหม่ๆ มากขึ้นในปี 2020 นี้

และในปี 2020 ก็จะเกิด Bitcoin halving ที่จะลดจำนวนผลตอบแทนจากการขุดลงครึ่งหนึ่งตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาที่น่าจับตามอง

ในส่วนของ Ethereum เหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่ประกาศแผนงานของ Etheruem 2.0 ที่จะเปลี่ยนวิธีการ Consensus หรือการยืนยันธุรกรรมจาก Proof of Work ที่เสียพลังงานมากในการแข่งขันเพื่อได้รับค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ไปใช้ Proof of Stake ที่เป็นการแบ่งค่าธรรมเนียมแทน รวมถึงการพัฒนาระบบให้มีการใช้งานได้รวดเร็วยิ่งขึันอีกและลดค่าธรรมเนียมลง ซึ่งตามแผนงานก็จะเริ่มได้เห็นความก้าวหน้าในปี 2020 นี้

ซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของทั้งสองเชนนี้ก็จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจต่อผู้ถือเหรียญ ผู้ใช้งาน และผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ได้มีการสร้างต่อยอดอีกมากมาย และถือเป็นระบบนิเวศน์ทางด้านบล็อกเชนที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก
 
เรื่องที่ 5 Defi และ Open Finance
เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เพราะถือเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการคริปโตเคอร์เรนซีในปลายปี2019 ที่ผ่านมา คือ Defi หรือ Decentralized Finance ซึ่งเป็นระบบการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่แบบไร้คนกลางโดยใช้ความสามารถของ Smart Contract ที่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ได้ล่วงหน้าบน Public Blockchain ซึ่งสามารถตรวจสอบได้และไม่จำเป็นต้องมีคนกลางหรือพนักงานมาจัดการ รวมถึงเป็นการให้บริการได้แบบ 24/7 และสามารถทำงานได้ทันทีทั่วโลก เป็น Open Finance หรือการเงินระบบเปิดแบบไร้คนกลางอย่างแท้จริง โดย Defi แรกๆ ที่เริ่มเป็นที่รู้จัก คือ ระบบกู้ยืมแบบ Peer 2 Peer บนคริปโตเคอร์เรนซีที่สามารถให้คนมาปล่อยกู้และรับดอกเบี้ย ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ดอกเบี้ยมากกว่าธนาคารในปัจจุบัน และมีความเสี่ยงน้อยมาก เพราะผู้กู้จะต้องนำหลักทรัพย์หรือคริปโตเคอร์เรนซีมาค้ำประกัน และได้เงินกู้ในจำนวนที่ต่ำกว่าสิ่งที่นำมาค้ำ

การเติบโตของ Defi ดูได้จากคริปโตเคอร์เรนซีที่ถูกล็อคไว้เพื่อนำมาค้ำประกัน ซึ่งในวันที่ 3 มกราคม 2563 มีจำนวนมากถึง 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจาก https://defipulse.com/) และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปเรื่อยๆ ตัวอย่างของ Defi ที่ให้บริการกู้ยืมหลักๆได้แก่ MakerDAO, Compound Finance, Instadapp เป็นต้น ซึ่งถึงแม้จะเป็นตัวเลขไม่มากเมื่อเทียบกับภาพใหญ่ของวงการเงินระดับโลก แต่ก็ทำให้เราเริ่มเห็นแนวโน้มสำคัญกับธุรกิจการเงินรูปแบบใหม่ที่จะมาแทนรูปแบบที่เราเคยชินในอนาคตอันใกล้

จากแนวโน้มของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่กล่าวมา ปี 2020 ถือเป็นปีสำคัญที่เราจะเริ่มเห็นการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ของบล็อกเชนมากขึ้นเรื่อยๆ และไปได้ไกลกว่าเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีที่เราเห็นก่อนหน้า เทคโนโลยีจะเริ่มวิ่งใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ แบบไม่เคยเป็นมาก่อน ทุกธุรกิจและชีวิตประจำวันของเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ความคิดความเข้าใจแบบเดิมๆ จะเริ่มถูกปรับเปลี่ยน มาร่วมสังเกตการณ์และเตรียมความพร้อมร่วมกันนะครับ

สวัสดีปีใหม่ 2020 ครับ.
โดย วรพจน์ ธาราศิริสกุล
:CTO บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด
8 มกราคม 2563