วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตัวอย่างการเขียนหน่วยการเรียนรู้ ความเรียงขั้นสูง ม.๑

หน่วยการเรียนรู้ ความเรียงขั้นสูง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑
(Extended-Essay )


มาตรฐานการเรียนรู้ สาระที่ ๒ การเขียน

มาตรฐานที่ ๒.๑ ใช้กระบวนการเขียน เขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราว ในรูปแบบต่างๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ


ตัวชี้วัดที่ ๒. เขียนสื่อสารโดยใช้ถ้อยคำถูกต้องชัดเจน เหมาะสมและสละสลวย
๘. เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าและโครงงาน


คำอธิบายรายวิชา

เขียนชื่อเรื่อง และกำหนดประเด็นปัญหาที่ต้องการศึกษา เขียนคำนำ โดยใช้ภาษาที่สื่อความหมายชัดเจน นำเสนอข้อมูลอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเขียนบทสรุป ในส่วนของเนื้อหาการเขียนบทคัดย่อ กิตติกรรมประกาศ เขียนสารบัญ นำเสนอข้อมูลประกอบการอธิบายด้วย แผนที่ แผนภาพ แผนภูมิ ภาพประกอบและตาราง เขียนเอกสารอ้างอิง บรรณานุกรม และวิธีการนำเสนอการอ้างอิงถ้อยคำหรือความคิดเห็นอย่างถูกต้อง



หัวข้อเนื้อหาวิชา
๑. ความหมายและหลักการเขียนความเรียงขั้นสูง
๑. ความหมายของความเรียงขั้นสูง
๒. การพัฒนาทักษะการเขียน
๓. หลักการเรียบเรียงข้อความ

๒. หลักการเขียนความเรียงขั้นสูง
๑. การใช้คำและความหมายของคำ
๒. การใช้ระดับภาษาในการเขียน
๓. การใช้คำบุพบทและคำเชื่อมความ
๔. การใช้คำลักษณนาม

๓. องค์ประกอบของการเขียนความเรียงขั้นสูง
๑. การเขียนคำนำ
๒. การเขียนเนื้อเรื่อง
๓. ความสำคัญและที่มาของโครงาน
๔. วัตถุประสงค์ของโครงงาน
๕. สมมติฐานของโครงงาน
๖. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๗. ภาคผนวก



การเขียนความเรียงขั้นสูง (Extended Essay)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดว่า เป็นการเขียนในเชิงวิชาการโดยใช้ภาษาอย่างถูกต้อง เนื้อหามุ่งเน้นเกี่ยวกับองค์ประกอบที่ใช้สำหรับการเขียนรายงาน การวิจัย หรือการทำโครงงานของนักเรียนประกอบด้วย วิธีการเขียนชื่อเรื่อง การกำหนดประเด็นปัญหา การเขียนคำนำ ข้อมูลสารสนเทศ การใช้ภาษาที่สื่อความหมายชัดเจน นำเสนอข้อมูลอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการเขียนบทสรุป
ในส่วนของเนื้อหาการเขียนบทคัดย่อ การเขียนกิตติกรรม ประกาศ การเขียนสารบัญ การนำเสนอประกอบการอธิบายด้วย แผนที่ แผนภาพ แผนภูมิ ภาพประกอบและตาราง การเขียนเอกสาร อ้างอิง บรรณานุกรม รวมทั้งวิธีการนำเสนอการอ้างอิงถ้อยคำหรือความคิดเห็นอย่างถูกต้อง
ความเรียงขั้นสูงเป็นการเขียน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้เรียบเรียงมีความรอบรู้ในทางวิชาการ สามารถนำประเด็นปัญหาของโครงงาน อันเป็นที่มาของการทำงานวิจัยในอนาคตต่อไป การเขียนจึงต้องใช้เทคนิค กระบวนการด้วยภาษาเชิงวิชาการขั้นสูงได้อย่างดี

การพัฒนาทักษะการเขียนความเรียงขั้นสูง
๑. การใช้คำ การใช้คำต้องใช้ให้ถูกต้องตรงตามความหมายของคำนั้นๆ เพื่อทำให้การเขียนหรือการพูดสื่อสารไปยังผู้อื่นได้ตามที่ต้องการ คือเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน งานที่ทำบรรลุผลได้ง่าย ผู้ที่ใช้ภาษาได้ถูกต้องและดีทั้งการเขียนและพูดนั้น จะสร้างพลังทางภาษาให้เกิดขึ้นและได้รับความเชื่อถือกันทั่วไป การใช้คำที่ถูกจะสื่อความได้ชัดเจนและบรรลุผลตามที่ต้องการ หรือถ้าสื่อความได้ก็จะไม่มีความชัดเจน แต่ถ้าใช้ผิดความหมายจะไม่สื่อความ ทำให้การสื่อสารไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ เช่น หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวว่า
เด็กไทยกินเรียบภาษาไทยโอลิมปิก คำว่า กินเรียบ ความหมายตามพจนานุกรมฯ หมายถึง กินหมด ชนะหมด ในประโยคนี้หมายถึง ชนะทุกรายการ เป็นคำศัพท์ใช้เฉพาะกลุ่ม ถ้าคนที่ไม่รู้ความหมายจะไม่เข้าใจว่า ทำไมเด็กไทยจึงกินเรียบ แต่ถ้าใช้คำถูกต้องก็จะเป็นว่า เด็กไทยชนะการแข่งขันภาษาไทยโอลิมปิกทุกรายการ

นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการใช้คำที่ไม่สอดคล้องกับความหมายตามบริบทหมายถึง คำหรือข้อความแวดล้อมหรือข้างเคียงที่ช่วยให้เข้าใจความหมายของคำบางคำ เช่น

"สมจิตรกลับโคราชชาวบ้านแตกตื่นชื่นชมความสามารถ คำว่า แตกตื่น หมายถึงแห่กันไปด้วยความตื่นเต้นตกใจหรืออยากรู้อยากเห็น"

ประโยคที่ใช้คำถูกต้อง คือ สมจิตรกลับโคราชชาวบ้านตื่นเต้นชื่นชมความสามารถ
พังสารภีช้างในปางช้างจ.อยุธยาคลอดลูกแล้ว คำว่า คลอดลูก เป็นคำกริยาหมายถึง ออกหรือออกลูก ใช้แก่คนทั่วไป ภายหลังใช้ว่า คลอด ส่วนสัตว์ทั่วไปจะใช้ว่า ออก แต่ช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ต้องใช้ว่า ตกลูก

ประโยคที่ใช้คำถูกต้อง คือ พังสารภีช้างในปางช้างจ.อยุธยาตกลูกแล้ว


หรือการใช้สรรพนามที่ไม่ถูกต้อง เช่น ฉันสงสารเค้าเหลือเกิน แมวตัวนี้อุตส่าห์เลี้ยงมา ๕ ปีเค้าเสียชีวิตแล้ว แมวเป็นสัตว์ดังนั้นสรรพนามที่ใช้ต้องเป็น มัน ส่วนคำกริยาเสียชีวิตของสัตว์ต้องใช้ว่า ตาย

ประโยคที่ใช้คำถูกต้องคือ ฉันสงสารมันเหลือเกิน แมวตัวนี้อุตส่าห์เลี้ยงมา ๕ ปี มันตายแล้ว


แบบฝึกเรื่องการใช้คำให้ถูกต้อง

จงพิจารณาประโยคต่อไปนี้ว่าใช้คำใดที่ใช้ไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้วเปลี่ยนให้ถูกต้อง

๑. เรามีเพลงที่เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์เยอะที่สุด …………………………………………………………………………………………………………..
๒. ไก่ส่งเสียงร้องเจื้อยแจ้วแต่เช้าตรู่ทุกวัน …………………………………………………………………………………………………………..
๓. พี่สาวของธงชัยออกลูกเป็นชายเมื่อวานนี้ …………………………………………………………………………………………………………..
๔. ส.พ.ฐ. คลอดเกณฑ์การรับสมัครนักเรียนชั้นม.๑ และม.๔แล้ว …………………………………………………………………………………………………………..
๕. เขารู้สึกเซ็งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นปัญหาที่ไม่รู้จักจบสิ้น …………………………………………………………………………………………………………..
๖. คุณตาและคุณยายทำพระพุทธรูปมอบแก่วัดใกล้บ้าน …………………………………………………………………………………………………………..
๗. สุรพงษ์ให้เงินทุนการศึกษาแก่นักเรียนชั้น ม.๑ ๓,๐๐๐ บาท
…………………………………………………………………………………………………………..
๘. สมใจนำอาหารไปเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา …………………………………………………………………………………………………………..
๙. คุณพ่อของสมศักดิ์ทำศาลาที่พักผู้โดยสารที่หน้าปากซอย …………………………………………………………………………………………………………..
๑๐. อากาศเดือนเมษายนปีนี้ร้อนจัดมากสมชายจึงติดแอร์ลดความร้อน …………………………………………………………………………………………………………..

แหล่งที่มา: ศักดิ์ แวววิริยะ เอกสารประกอบการเรียนภาษาไทย ท21102 ส.ก.น.

คัดมาจาก: http://www.skoolbuz.com/library/content/2443

เพื่อการศึกษา ด้วยความขอบคุณค่ะ