ในแง่ปฏิบัติ เพ็ญ พิมสาร ดีกรีว่าที่รางวัลครูสอนดีของ สสค. ครูผู้ที่งัดเอานำนวัตกรรมพิเศษมาสอนเด็ก LD เพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและทักษะการเรียนรู้จนสัมฤทธิผล เล่าว่า การสอนเด็กที่เป็น LD จะเริ่มจากการตรวจสอบว่าเด็กคนนั้นเป็น LD จริงหรือไม่ ส่วนตัวแล้วจะเริ่มจากการสังเกตนักเรียนด้วยการดูจากจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การสอน การตอบคำถาม ทำแบบฝึกหัดในชั้นเรียน หากมีนักเรียนยังทำไม่ได้ก็จะสอนซ้ำพิเศษเป็นรายบุคคล ซึ่งถ้ายังไม่ได้อีกแสดงว่ามีแนวโน้มที่จะเป็น LD
ต่อมาจึงเป็นการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมต่อว่าเด็กคนดังกล่าวมีพฤติกรรมบกพร่องทางสติปัญญาหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมขี้ลืม สอนวันนี้จำได้ พรุ่งนี้ลืม อ่านหนังสือจากหลังไปหน้า อ่านหนังสือสลับบรรทัด เขียนตัวหนังสือสลับกัน เช่น ตัว "น" เป็นตัว "ม" หรือ "ถ" เป็น "ภ" ซึ่งก็พบว่าที่ รร.บ้านน้ำมวบมีเด็กนักเรียนที่เป็น LD จำนวนไม่น้อย อย่างในปีนี้มีมากถึงจาก 46 คน จากนักเรียนทั้งหมด 209 คน
ไม่นานนัก ครูเพ็ญก็พาเราไปร่วมชมสาธิตการเรียนการสอนน้อง ๆ ในห้องเรียนพิเศษของเด็กที่เป็น LD ไปพร้อม ๆ กับการอธิบายรายละเอียดด้วยว่า การสอนโดยมุ่งความสำคัญกับเด็ก LD ได้เริ่มลองผิดลองถูกทำมาตั้งแต่ปี 2542 กว่าจะมาเข้ารูปเข้ารอยในปี 2548 ซึ่งเคล็ดลับสำคัญที่สุดในการสอนเด็ก LD คือเราต้องเป็นคนที่อารมณ์ดีอยู่เสมอ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเครียดเวลาเรียนกับเรา เวลาพูดก็ต้องสื่อสารไปในเชิงบวกเชิงให้กำลังใจ "หากเขาทำไม่ได้จะไม่ด่าว่าเขาโง่เด็ดขาด แต่จะบอกหนูทำดีแล้วนะ ถ้าแก้ไขเพิ่มเติมตรงนี้หนูจะเก่งกว่านี้อีก
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดชั่วโมงเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนให้กับเด็ก LD ด้วย โดยภายในห้องเรียนพิเศษนี้จะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่วยสร้างการเรียนรู้อย่างในวิชาภาษาไทย จะมีกระจกให้เสียงปากของครูและปากของตัวเองในการพูดออกเสียงคำที่ควบกล้ำชัดเจน เช่น "ขวาง" หรือ "กว้าง" อุปกรณ์รูเล็ตจำภาษาช่วยในการจดจำตัวอักษรภาษาไทย
ส่วนในวิชาคณิตศาสตร์ที่เด็ก LD มักมีปัญหาการคูณและการทดเลข ก็จะมีการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าแท่งเนเปียร์ อุปกรณ์ช่วยคำนวณจากแนวคิดของนักคณิตศาสตร์ John Napier โดยจะมีลักษณะเป็นตารางช่องสามเหลี่ยม สีสันสวยงาม ถ้าต้องการคูณเลขใดก็นำแท่งเนเปียร์ตัวเลขนั้นมาวางเทียบกับแถวของอีกตัวเลขที่ต้องการคูณ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะตรงกับในตารางสามเหลี่ยมนั้น พร้อมกับการฝึกทำโจทย์ที่มีการแบ่งการคูณเป็นช่องหลักต่าง ๆ ชัดเจน ซึ่งวิธีเรียนเสริมเช่นนี้จะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับการเรียนการสอนแบบปกติในห้องเรียนก็จะให้เรียนเป็นแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ให้นักเรียนปกตินั่งเรียนคู่กับคนที่เป็น LD เพื่อให้เขาสามารถเรียนรู้พฤติกรรมการเรียนรู้ตามเด็กปกติ และให้เด็กปกติช่วยเสริมในสิ่งที่ไม่เข้าใจ
ครูเพ็ญยังได้ปิดท้ายว่า แรงบันดาลใจในการทำทุกสิ่งทุกอย่างนี้มาจากการที่ตนเองมีใจรักเด็ก ๆ ทุกคน อยากให้เด็กๆ ทุกคนที่มาเรียนได้มีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกัน ต้องให้เขาสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมได้ไม่แพ้คนอื่น ๆ
"อย่างไรก็ตาม อีกผู้หนึ่งที่จะช่วยเด็กเหล่านี้ได้ไม่ใช่ครู แต่เป็นผู้ปกครอง เพราะสังคมไทยเราอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจ ยอมรับในสิ่งที่เด็กเหล่านี้เป็น เด็กที่เป็น LD จะพัฒนาต่อไปไม่ได้เลยถ้าผู้ปกครองไม่เปิดใจหรืออายในสิ่งที่เด็กเป็น แต่ถ้ายอมรับได้ ใครจะรู้บางทีเขาอาจจะไปโลดเลยก็ได้"