วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหลักสูตรท้องถิ่น


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหลักสูตรท้องถิ่น
หลักสูตรท้องถิ่นได้รับการผลักดันให้มีบทบาทในระบบการจัดการศึกษาของไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2533-2542 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วม   ในการพัฒนาหลักสูตร 

1. ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น
    หลักสูตรท้องถิ่น เป็นหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนที่ต้องใช้หลักสูตรนั้นๆ นอกจากนี้ยังเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น  เนื่องจากหลักสูตรแกนกลางยังคงมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ (เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน)
    ความหมายตามลักษณะการสร้างหลักสูตรโดยใช้เกณฑ์ที่มาของหลักสูตร สามารถจัดกลุ่มของหลักสูตรท้องถิ่นได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1. หลักสูตรท้องถิ่นในความหมายที่อิงหลักสูตรแม่บทเป็นสำคัญ   หลักสูตรท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรแม่บท เกิดจากการปรับ เพิ่มและขยายหลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรแม่บททั้งสิ้น
2. หลักสูตรท้องถิ่นในความหมายที่อิงสภาพปัญหาและการตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสำคัญ
       หลักสูตรท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท้องถิ่น และไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าหลักสูตรท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรแม่บท โดยให้ความหมายว่าเป็นหลักสูตรที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็ง ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นในท้องถิ่น 

หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง หลักสูตรที่สร้างขึ้น หรือการพัฒนามาจากหลักสูตรแกนกลาง โดยการปรับ ขยาย เพิ่มหรือสร้างหลักสูตรย่อยขึ้นมาโดยมีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของตน เรียนรู้อาชีพและวัฒนธรรมในท้องถิ่นเพื่อนำไปแก้ปัญหา พัฒนาชีวิตของตนเอง ครอบครัวและท้องถิ่นได้

2. ความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
         ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น มีผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย โรงเรียน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทุกฝ่ายจะช่วยกันกำหนดและพัฒนาหลักสูตร ขั้นตอนความเหมาะสมและความต้องการของตน ผ่านการบริหารในรูปแบบคณะกรรมการโรงเรียน
      การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากในแต่ละท้องถิ่นมีสภาพที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ ประกอบกับการที่ได้นำหลักสูตรแม่บทหรือหลักสูตรจากส่วนกลางที่มีลักษณะกว้าง มีการกำหนดจุดมุ่งหมายเป็นค่านิยมทางการศึกษามากกว่าแนวปฏิบัติไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในระดับท้องถิ่น จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาหรือปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพ และความต้องการของแต่ละท้องถิ่นที่ใช้หลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตจริงในท้องถิ่นของตน รวมทั้งการได้รับประสบการณ์ตรงกับชีวิต

3. ลักษณะการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่ได้ดำเนินการมีหลายลักษณะ เช่น การปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือจัดกิจกรรมเสริม การปรับรายละเอียดของเนื้อหา การปรับปรุงและเลือกใช้สื่อ การจัดทำสื่อการเรียนขึ้นมาใหม่ การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในประเทศไทย สามารถกระทำได้ 3 ลักษณะ ดังนี้
      1. การปรับหลักสูตรแม่บทให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น โดยการปรับ เพิ่ม และ/หรือขยายเนื้อหาสาระวิชา กิจกรรมการเรียนการสอนในหลักสูตรแม่บท และการปรับ/เพิ่มจัดทำสื่อการเรียนการสอนขึ้นใหม่
      2. การสร้างหลักสูตรหรือรายวิชาใหม่ที่ไม่ได้ปรากฏในหลักสูตรแม่บทให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น โดยที่มีหลักสูตรแม่บทเป็นกรอบในการกำหนด
      3. การสร้างหลักสูตรสำหรับท้องถิ่นใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น โดยไม่ต้องมีหลักสูตรแม่บทเป็นกรอบในการกำหนด ซึ่งอาจจัดทำเป็นหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในท้องถิ่น