วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Teach less Learn More ตอน 3 : การออกแบบการเรียนรู้โดยใช้แนวคิด "สอนน้อยเรียนมาก"

การออกแบบการเรียนรู้
โดยใช้แนวคิด “สอนน้อย เรียนมาก”
Teach Less, Learn More



การออกแบบหน่วยการเรียนรู้แบบย้อนกลับ (Backward  Design)
ความหมาย
        หน่วยการเรียนรู้แบบย้อนกลับ (Backward Design) หมายถึงการออกแบบหน่วยการเรียนรู้จากหลังมาหน้าซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนขึ้นมาก่อนแล้วจึงกำหนดภาระงาน (Tasks) และวิธีการประเมิน หรือหลักฐานผลการเรียนแล้วนำมาเขียนแผนจัดประสบการณ์การเรียนรู้    ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้และวัดประเมินผลได้สอดคล้องกับเป้าหมายและมาตรฐาน    การเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
          การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามแนวการออกแบบหน่วยการเรียนรู้แบบย้อนกลับนิยมใช้กับหลักสูตรแบบอิงมาตรฐานและการออกแบบหน่วยการเรียนรู้นี้มีไว้เพื่อส่งเสริมการทำหน่วยการเรียนรู้เชิงบูรณาการ      โดยคำนึงถึงภาพรวมมากกว่าการสอนบทเรียนแต่ละบทเป็นเอกเทศ
          การสร้างหน่วยการเรียนรู้ อาจเริ่มจากการตั้งชื่อหน่วย กำหนดระดับชั้น เวลาและกำหนดความคิดรวบยอด (Concept) อาจมาจากแก่นเรื่อง (Theme) ประเด็นปัญหา (Issue)   แนวคิดหลัก (Core Concept)  ทฤษฎี  (theory) หรือหลักการ (principle)  ที่เป็นเพลาขับเคลื่อน  องค์ความรู้ ซึ่งเมื่อได้ความคิดรวมยอดให้วิเคราะห์ว่าฝังอยู่ในมาตรฐานใดบ้าง หลังจากนั้นจึงนำมาทำเป็นตัวบ่งชี้(Performance indicator) โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าผู้เรียนต้องรู้อะไร สามารถทำอะไรได้ในบริบทใด หรืออาจจะเริ่มจากการกำหนดมาตรฐานแล้วจึงวิเคราะห์เพื่อกำหนดความคิดรวบยอดและทักษะที่ฝังอยู่ในมาตรฐานนั้น นอกจากนี้แล้วครูผู้สอนสามารถนำเรื่องที่ผู้เรียนสนใจมาสร้างเป็นหน่วยการเรียนรู้ แต่ต้องคำนึงว่าเรื่องนั้นมีคุณค่าต่อผู้เรียนและสังคม ประกอบด้วยความคิดรวบยอดของสาขาวิชา และสามารถนำความคิดรวบยอด มากำหนดภาระงานที่มองเห็นเป็นรูปธรรมและท้าทายความรู้ความสามารถของผู้เรียน

          กระบวนการสร้างหน่วยการเรียนรู้แบบย้อนกลับ  มีขั้นตอนดังนี้
          1.  กำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอน ประกอบด้วย 4 ลักษณะ
                   1.1  ความเข้าใจที่คงทน  (Enduring understandings)                
1.2  ความรู้และทักษะเฉพาะวิชา  (Subject specific standards)
                   1.3  ความรู้และทักษะคร่อมวิชา  (Trans-disciplinary skill standards)
                   1.4 จิตพิสัย  (Disposition standards) หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์

2.  หลักฐานผลการเรียน นำเป้าหมายการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ คือ ความเข้าใจที่คงทน    จิตพิสัย ความรู้และทักษะเฉพาะวิชา ทักษะคร่อมวิชามากำหนดเป็นภาระงาน (Tasks)  และวิธีการประเมิน   
          3.  แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับภาระงานและวิธีการประเมินที่กำหนดไว้ กำหนดทรัพยากรหรือสื่อ และ แบ่งเวลาให้เหมาะสมกับแต่ละกิจกรรมแล้วนำกิจกรรมที่กำหนดไว้มาเรียงลำดับก่อนหลัง เพื่อนำไปจัดกระบวนการเรียนรู้ต่อไป
  
การออกแบบหน่วยการเรียนแบบ Backward design
หลักการของ  Backward  Design

กระบวนการออกแบบแบบย้อนกลับ (Backward  Design) ของ Wiggins และ McTighc เริ่มจากคิด   ทุกอย่างให้จบสิ้นสุด จากนั้นจึงเริ่มต้นจากปลายทางที่ผลผลิตที่ต้องการ (เป้าหมายหรือมาตรฐานการเรียนรู้) สิ่งนี้ได้มาจากหลักสูตร เป็นหลักฐานพยานแห่งการเรียนรู้  (Performances) ซึ่งเรียกว่า มาตรฐานการเรียนรู้ แล้วจึงวางแผนการเรียนการสอนในสิ่งที่จำเป็นให้กับนักเรียนเพื่อเป็นเครื่อง มือที่นำไปสู่การสร้างผลงานหลักฐานแห่งการเรียนรู้นั้นได้
กระบวนการออกแบบการสอนของครูเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1   การกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์               
ขั้นตอนที่ 2   การกำหนดหลักฐานที่แสดงว่าผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์
ขั้นตอนที่  3   การวางแผนประสบการณ์การเรียนรู้และการสอน

แต่ละขั้นตอนประกอบด้วยคำถามที่ว่า
ขั้นตอนที่  1  อะไรคือความเข้าใจที่ต้องการและมีคุณค่า
ขั้นตอนที่  2  อะไรคือพยานหลักฐานของความเข้าใจ
ขั้นตอนที่ 3 ประสบการณ์การเรียนรู้และการสอนอะไรที่จะสนับสนุนทำให้เกิดความเข้าใจ  ความสนใจ และความยอดเยี่ยมในหลักฐานนั้นๆ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ.กรุงเทพฯ : เอกสารประกอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2544  คู่มือการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ. โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์. 2544 
เฉลิม  ฟักอ่อน. เอกสารประกอบการประชุมปฏิบัติการออกแบบการสอนตามแนว Backward
Design. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1.อัดสำเนา. 2550.
เพ็ญนี  หล่อวัฒนพงษา. เอกสารประกอบการประชุมปฏิบัติการออกแบบการสอนตามแนว
Backward Design.
สำนักงานพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. อัดสำเนา.2550

วันที่ 24 เมษายน 2556