การสอนภาษาโดยองค์รวม
(Whole Language Approach)
ผู้ศึกษามีความสนใจในเรื่องนี้ จึงได้ศึกษาและรวบรวมเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ทั้งความเป็นมา แนวคิด ทฤษฎี จากเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อการศึกษาเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าได้ลงมือปฏิบัติแล้ว โดยเฉพาะทฤษฎีนี้ซึ่งเป็นแนวการสอนภาษาแบบตรงกันข้ามกับแบบเดิม จึงขอบอกกล่าวแก่ท่านผู้อ่าน มา ณ ที่นี้ และขอขอบคุณผู้เขียน,เว็บที่ใช้ในการศึกษาและเป็นแหล่งข้อมูล
ความเป็นมา
การสอนภาษาโดยองค์รวม (Whole Language Approach) เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่เสนอแนวคิดใหม่ในการสอนภาษา เกิดจากความพยายามของนักการศึกษาและนักภาษาศาสตร์ ซึ่งมองเห็นปัญหาการเรียนรู้ภาษาของเด็ก ซึ่งเกิดจากการสอนที่ครูมุ่งเน้นสาระทางภาษาเป็นหลัก ทําให้การเรียนการสอนไม่น่าสนใจ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ คือไม่เหมาะกับวัย ความสนใจ และความสามารถของเด็ก และเมื่อคํานึงถึงประโยชน์ที่เด็กจําเป็นต้องใช้ภาษาในการเรียนรู้และการสื่อสารในชีวิตจริง พบว่าการสอนภาษาแบบเดิม (Traditional Approaches) ไม่เน้นความสําคัญของประสบการณ์และภาษาที่เด็กใช้ในชีวิตจริง จึงไม่ได้ให้โอกาสเด็กเรียนรู้ภาษา และใช้ภาษาเพื่อสื่อสารอย่างมีความหมายเท่าที่ควร
หลักการและแนวทฤษฎีที่มีอิทธิพล
แนวการสอนภาษาโดยองค์รวม เกิดจากหลักการและแนวทฤษฎีของนักการศึกษาและนักภาษาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง คือ
· เซนแบลตต์ (Rosenblatt)
· เคนเนท กู๊ดแมน (Kenneth Goodman)
· จูดิท นิวแมน (Judith Newman)
· วัตสัน (Watson)
1.เซนแบลตต์ (Rosenblatt) ที่ชี้ให้เห็นความสําคัญของการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนา การคิดและภาษาของเด็กในบริบททางสังคมวัฒนธรรมการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ตอบสนองธรรมชาติ และเหมาะสมกับขั้นพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย หลักการเหล่านี้เมื่อนํามาเป็นแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการสอนภาษา จะทําให้เด็กมีความสนใจเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ภาษาได้ดีขึ้นเพราะสิ่งที่เรียนมีความหมายและไม่เกิดความรู้สึกว่าการเรียนภาษาเป็นเรื่องยากลําบาก
2.เคนเนท กู๊ดแมน (Kenneth Goodman) เชื่อว่า การสอนภาษา เป็นเรื่องสําคัญสําหรับชีวิตเด็ก และโดยที่เด็กต้องเรียนรู้ภาษา และต้องใช้ภาษาเพื่อการเรียนรู้ ครูจะต้องตระหนักในความสําคัญ ดังกล่าว และจากการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ปรัชญา การรู้หนังสือ และการจัดหลักสูตร กู๊ดแมนได้รับการยกย่องในฐานะผู้บุกเบิกแนวการสอนภาษาโดยองค์รวม มีผู้ให้ความสนใจนําความคิดไปใช้ในประเทศต่างๆ และมีผู้ให้การสนับสนุนเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ในช่วงปี 1970 เป็นต้นมา
3.จูดิท นิวแมน (Judith Newman) กล่าวไว้ในหนังสือ Whole Language Theory in Use ว่าการสอนภาษาโดยแนวคิดองค์รวมมีลักษณะเป็นปรัชญา(Philosophical stance) ความคิดของผู้สอนจะก่อตัวขึ้นจากหลักการสอนที่ผู้สอนนํามาประสานกัน
4.วัตสัน(Watson)อธิบายว่าผู้สอนจะประสานแนวการสอนของตนกับองค์ประกอบทางทฤษฎี (theory) ความเชื่อ (belief) และการนําความรู้ทางทฤษฎีและความเชื่อไปปฏิบัติจริง (practice) องค์ประกอบทั้ง 3 มีความสัมพันธ์สนับสนุนกัน และกันเป็นวงจรที่ช่วยให้ผู้สอนเกิดการพัฒนาการสอนด้วยตนเอง โดยใช้ข้อมูลจากการสังเกตเด็กเพื่อทําความเข้าใจในความสามารถและการแสดงออกของเด็กแต่ละคน บันทึกความก้าวหน้าของเด็กเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาของเด็กได้อย่างเหมาะสม ครูจะสามารถสร้างแนวคิดเชิงปรัชญาการสอนจากการแสวงหาคําตอบ (inquiry) โดยพยายามนําทฤษฎีไปใช้ในการสอนจริง (inactive theory active) พิสูจน์ความเชื่อของตนให้ปรากฏ (unexamined belief examined) และพัฒนาการสอนขึ้นเอง (borrowed practice owned)
กระบวนการเรียนการสอนภาษาโดยองค์รวม
บรรยากาศการเรียนภาษาในชั้นเรียน มีลักษณะเป็นการร่วมมือกันระหว่างครูและเด็กๆ ตั้งแต่การวางแผน คือคิดด้วยกันว่าจะทําอะไร ทําเมื่อไร ทําอย่างไร จําเป็นต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไร จะหาสิ่งที่ต้องการมาได้อย่างไร ใครจะช่วยทํางานในส่วนใด
การวางแผนจะมีทั้งแผนระยะยาว (long-range plans) เพื่อวางกรอบความคิดกว้างๆ และแผนระยะสั้น (short-range plans) ซึ่งเด็กและครูจะใช้ความคิดพูดคุยปรึกษากันเพื่อหารายละเอียดและขั้นตอนในการทํากิจกรรม
บทบาทของครู จะเป็นผู้หาวิธีการที่จะเชื่อมโยงประสบการณ์ที่เด็กมีอยู่เดิมให้สัมพันธ์กับกิจกรรมที่จัดขึ้น ซึ่งอาจเป็นการเล่าเรื่องที่เด็กเคยพบเห็น การเปิดโอกาสให้เด็กพูดจากความคิดหรือประสบการณ์ในขณะฟังเรื่องจากหนังสือที่ ครูเลือกมาอ่านให้ฟัง การจัดหาหนังสือที่เหมาะกับวัยไว้ในชั้นเรียน เพื่อให้เด็กมีโอกาสหยิบมาอ่านหรือพลิกดูเสมอ เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับภาพความคิดและตัวหนังสือ ซึ่งครูไม่จําเป็นต้องสอนให้เด็กอ่านออก เช่น การอ่านแบบเรียนเล่ม 1 เล่ม 2 ที่เคยนิยมใช้มาแต่เดิม
การเขียน ก็เช่นกัน เด็กไม่ควรถูกบังคับให้เขียนตัวพยัญชนะ คํา ประโยคตามที่ครูสั่ง แต่ในบรรยากาศการสอนแนวใหม่นี้ เด็กจะแสดงความต้องการให้ครูเห็นว่าเขาต้องการเขียนสิ่งที่มีความหมายสิ่งที่เขายากบอกให้ผู้อื่นเข้าใจ การเขียนในระยะแรกจึงเป็นการที่เด็กสร้างความคิด ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ของเด็กและความต้องการสื่อความหมายให้ผู้อื่นทราบ จะเห็นว่าในระยะแรกเด็กจะเขียนเส้นขยุกขยิกคล้ายตัวหนังสือ หรือเขียนสะกดบางคําได้ แต่ยังไม่ถูกต้อง ครูที่เข้าใจแนวการสอนภาษาโดยองค์รวม จะค่อยๆ ส่งเสริมความคิดความต้องการเขียนหนังสือของเด็ก โดยไม่ตําหนิให้เด็กแก้ไขสิ่งที่เขียนผิดในทันที แต่จะแนะให้เด็กสังเกตจากตัวอย่างต่างๆ ที่เด็กพบเห็นได้บ่อยๆ การสังเกตจะช่วยให้เด็กปรับการเขียนให้ถูกต้องได้ โดยไม่เกิดความรู้สึกผิดหรือถูกลงโทษ ซึ่งอาจจะมีผลทางทัศนคติของเด็กได้มาก ดังนั้นการสังเกตเด็กเป็นเรื่องที่สําคัญอย่างยิ่ง ที่ครูจะต้องเฝ้าดูว่าเด็กแต่ละคนแสดงออกอย่างไร ครูจึงต้องมีบทบาทในการเฝ้าดูเด็ก (kid-watcher) เพื่อประเมินความสามารถและเรียนรู้ และจัดประสบการณ์ที่เอื้ออํานวยการพัฒนาภาษาของเด็กด้วยตัวครูเองตลอดเวลา
การประเมินผล ที่ครูพิจารณาจากการสังเกต การบันทึก การเก็บร่องรอยทางภาษาของเด็กขณะทํากิจกรรมต่างๆ และการสะสมชิ้นงาน ถือว่าสําคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการประเมินการเรียนรู้ภาษาจากสภาพจริง (authentic forms of assessment) และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กมากกว่าการใช้แบบทดสอบทางภาษา