วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

หลักการสอนภาษาแบบธรรมชาติ



หลักการสอนภาษาแบบธรรมชาติ
        จากความเชื่อ แนวคิด และหลักการสอนภาษาแบบธรรมชาติที่นักการศึกษาหลายท่านได้อธิบายไว้ สรุปเป็นหลักการสำคัญของการสอนภาษาแบบธรรมชาติ ดังนี้


        1. การจัดสภาพแวดล้อม   การสอนภาษาต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กได้คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอย่างมีความหมายและเป็นองค์รวม ตัวหนังสือที่ปรากฏในห้องเรียนต้องมีเป้าหมายในการใช้จริงๆ หนังสือที่ใช้จะต้องเป็นหนังสือที่ใช้ภาษาที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัว ไม่แบ่งเป็นทักษะย่อยๆ และจะต้องให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดสภาพแวดล้อมด้วย

       
2. การสื่อสารที่มีความหมาย  การสอนภาษาควรให้เด็กมีโอกาสสื่อสารโดยมีพื้นฐานจากประสบการณ์จริงที่มีความหมายต่อเด็ก ครูจะต้องจัดเวลาให้เด็กมีโอกาสอ่านเขียนอย่างมีจุดมุ่งหมายจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการฝึกหัด และให้เด็กได้ใช้เวลาในการอ่านและเขียนตามโอกาสตลอดทั้งวัน โดยไม่ต้องกำหนดตายตัวว่าช่วงเวลาใดต้องอ่าน หรือช่วงเวลาใดต้องเขียน


       3. การเป็นแบบอย่าง การสอนภาษาจะต้องให้เด็กเห็นประโยชน์ของการใช้ภาษาในความมุ่งหมายต่างๆ ครูต้องอ่านและเขียนโดยมีจุดมุ่งหมายในการใช้จริงๆให้เด็กได้เห็น เช่น เพื่อการสื่อสาร เพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อค้นหาวิธีการ ฯลฯ นอกจากนี้ครูยังต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กเห็นว่าการอ่านเป็นเรื่องสนุก เพื่อสร้างให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีต่อการอ่าน    
       
       

      4. การตั้งความคาดหวัง  การสอนภาษาจะต้องเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับที่เด็กเรียนรู้ที่จะพูด ครูควรเชื่อมั่นว่าเด็กจะสามารถอ่านและเขียนได้ดีขึ้นและถูกต้องยิ่งขึ้น เด็กมีความสามารถในการอ่านและการเขียนตั้งแต่ยังอ่านและเขียนไม่เป็น ดังนั้น เด็กจึงควรได้รับโอกาสที่จะอ่านและเขียนตั้งแต่วันแรกที่มาโรงเรียน และที่สำคัญคือครูไม่ควรคาดหวังให้เด็กอ่านและเขียนได้เหมือนผู้ใหญ่

       
5. การคาดคะเน  การสอนภาษาควรให้เด็กมีโอกาสที่จะทดลองกับภาษา สร้างสมมุติฐาน-เบื้องต้นของตน และมีโอกาสเดาหรือคาดคะเนคำที่จะอ่าน และมีโอกาสคิดประดิษฐ์สัญลักษณ์และคิดสะกดเพื่อการเขียน

       
6. การให้ข้อมูลย้อนกลับ  การสอนภาษาควรตอบสนองความพยายามในการใช้ภาษาของเด็กในทางบวก ยอมรับการอ่านและการเขียนของเด็กว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายแม้ว่ายังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ และพยายามตอบสนองเด็กให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ ครูอาจให้เด็กได้เห็นตัวอย่างที่ถูกต้องอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น การอ่านหนังสือเล่มที่เด็กชอบอ่านให้เด็กฟังในโอกาสอื่นๆ หรือเขียนให้ดูเมื่อมีการสนทนาในกลุ่มใหญ่ เป็นต้น

       
7. การยอมรับนับถือ  การสอนภาษาจะต้องตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก ว่าเด็กเรียนรู้การอ่านและเขียนอย่างแตกต่างกัน ตามช่วงเวลา และอัตราที่แตกต่างกัน ครูต้องศึกษาเด็กเป็นรายบุคคล ศึกษาความสนใจ ความสามารถ และสอนเด็กตามความสามารถที่แตกต่างกันของเด็ก เด็กต้องได้ตัดสินใจเลือกกิจกรรมที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ในช่วงเวลาเดียวกันเด็กไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมอย่างเดียวกัน หรือทำกิจกรรมตามลำดับขั้นตอน เพราะการเรียนรู้ภาษาไม่มีลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องตายตัว   

           8. การสร้างความรู้สึกเชื่อมั่น  การสอนภาษาต้องส่งเสริมให้เด็กรู้สึกปลอดภัยที่จะคาดคะเนในการอ่านหรือเขียน แม้ว่าไม่เคยอ่านหรือเขียนมาก่อน ครูต้องทำให้เด็กไม่กลัวที่จะขอความช่วยเหลือด้านการอ่านและเขียนเมื่อจำเป็น เด็กต้องไม่ถูกตราหน้าว่าไม่มีความสามารถในการอ่านและเขียน ดังนั้น การสอนภาษาจึงต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการและความสามารถของเด็ก เพื่อให้เด็กมีความเชื่อมั่นว่าตนมีความสามารถที่จะอ่านและเขียนได้        
       
     


แหล่งอ้างอิง จากเว็บไซต์ห้องเรียนครูแมว
ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ : เพื่อประกอบการศึกษา