วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561

การสอนสังคมศึกษาแนวใหม่



การเรียนการสอนสำคัญเสมอไม่ว่ายุคใดสมัยใด
ครูมีบทบาทสำคัญที่สุด
        
      การสอนสังคมศึกษาแนวใหม่ ชื่อหัวเรื่องอาจอ่านแล้วดูดี ในความเป็นจริงไม่มีอะไรใหม่หรอกนะคะ การสอนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ครูผู้สอนจะต้องประมวลความรอบรู้ของตนเอง ผนวกกับการเสาะแสวงหาวิธีการต่างๆมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียน  และสภาพแวดล้อมของโรงเรียนของตนเอง    ผู้เขียนเป็นเพียงครูคนหนึ่งที่เขียนตามประสบการณ์จากการสอนหนังสือมามากกว่า ๓๐ ปีจากอดีตที่เคยเน้นให้นักเรียนท่องจำ   เคยพร่ำสอนเราให้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน  ต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านอย่างสูงยิ่งที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้มาให้ทำให้ใช้ได้อย่างดียิ่งมาถึงปัจจุบัน  

       จากประสบการณ์พบว่าควรเริ่มต้นให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงก่อน   หากเริ่มจากสิ่งที่เขาเคยเรียนรู้มาเขาจะตอบได้และเริ่มสนุกแล้วซิ   เมื่อนักเรียนเริ่มสนุกกับการเรียนคราวนี้ครูจะสอดแทรกอะไรเข้าไปก็จะไปได้อย่างสบาย  จะให้เขาจดจำในภายหลังยิ่งดี   ก็ครูเก่านี่ค่ะยังคงปรารถนาให้นักเรียนจำอยู่ดี   เพราะเมื่อมีความรู้จำได้ย่อมนำไปวิพากย์ได้อย่างมากมาย

      สิ่งสำคัญที่ครูพึงตระหนักให้มากก็คืออย่ายัดเยียดความรู้ให้กับเขา   ให้เขาได้เรียนรู้ตามศักยภาพ 
  บางครั้งในห้องเดียวกันมีทั้งคนเก่งและคนไม่เก่ง รวมทั้งคนที่เรียนปานกลางที่ไม่ค่อยสร้างปัญหาที่ครูมักทอดทิ้งไม่ค่อยสนใจเขา   ครูทั่วไปมักสนใจเด็กที้เรียนเก่งเพราะช่วยครูได้หลายอย่าง  สอนก็ง่าย  ให้ทำอะไรก็ทำได้   กับเด็กที่แย่ที่ครูจะสนใจเป็นพิเศษเพราะเป็นตัวป่วนทำให้การสอนมักวุ่นวายเพราะพวกเขา  เด็กที่เรียนปานกลางไม่เคยสร้างปัญหาใดครูมักไม่สนใพวกเขามากนัก
       วิธีสอนวิธีหนึ่งที่ขอนำเสนอในครั้งนี้อาจจะไม่ใหม่หรอกนะคะ  ตั้งชื่อให้น่าสนใจไปอย่างนั้นเอง   เพราะในความเป็นจริงไม่มีวิธีการสอนอะไรที่ใหม่  มีแต่ว่าเรานำอะไรมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเด็กของเรามากกว่า   ขอเสนอวิธีหนึ่งคือการให้เด็กๆได้เรียนรู้จากการสืบเสาะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  โดยครูเป็นผู้คอบกระตุ้นเตือนและคอยเสริมแรง   เริ่มต้นแบบนี้นะคะ

           
๑. ตั้งประเด็นที่เขาสนใจให้อภิปรายร่วมกันถึงปัญหาในปัจจุบันว่ามีปัญหาอะไรบ้างในสังคมที่เขาอาศัยอยู่  โดยให้สมาชิกแต่ละคนนำเสนอปัญหา  สมาชิกในกลุ่มเลือกปัญหาที่เห็นว่าสำคัญที่สุดมา ๑ ปัญหา
           ๒. ช่วยกันระดมพลังสมอง  หาสาเหตุและแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา   พร้อมมอบหมายสมาชิกให้ไปค้นหาข้อมูลมาเพิ่มเติม
           ๓. นำข้อมูลที่ไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมมานำเสนอกันในกลุ่ม พร้อมทั้งสรุปแนวทางป้องกันและแก้ๆไขปัญหา
           ๔. สรุปองค์ความรู้ที่ได้รับ  และคิดวิธีการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียนว่าจะนำเสนออย่างไร รวมทั้งวิธีการที่จะนำข้อมูลที่ตนเองสรุปเพื่อให้ความรู้แก่เพื่อนๆได้อย่างไร
           ๕. ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงาน
           ๖. ครูและนักเรียนกลุ่มอื่นๆร่วมกันให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม  และร่วมกันสรุปความรู้ที่ได้รับ
           อย่าลืมการวัดผลประเมินผลนะคะ  ประเมินระหว่างเรียนโดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ และประเมินผลการเรียนรู้ในองค์ความรู้โดยใช้แบบทดสอบ
          ผู้เขียนคิดว่าวิธีการนี้น่าสนใจเพราะตนเองได้ใช้บ่อยๆและทุกครั้งที่ใช้วิธีการนี้  เด็กๆเขาเรียนกันอย่างสนุกสนาน...แต่มีข้อสังเกตบางประการที่ขอบอกนะคะ  ถ้าควบคุมไม่ดี  อาจออกนอกทางไปไกลครูต้องคอยคุมเกมให้ดีอย่าให้ออกนอกหลักสูตรมากนัก  จะกลายเป็นสนุกแต่สอนไม่ทันหรือไม่ตรงตามหลักสูตร
          ครั้งนี้คงเสนอเพียง ๑ วิธีนะคะไม่ได้ตั้งชื่อวิธีสอนด้วยเพราะเป็นการเสาะแสวงหาความรู้รูปแบบหนึ่ง แล้วจะพยายามประมวลประสบการณ์เขียนใหม่ในโอกาสต่อไปนะคะ  ยินดีรับข้อเสนอแนะจากคุณครูหรือผู้มีประสบการณ์ทุกท่านนะคะ