ในสายตาของกัปตัน วิลเลียม แม็กคลายด์

นักวิจัยในโครงการ “100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
wtissana@yahoo.com
เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสำคัญ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 จนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณหนึ่งล้านคนต่อปี ก่อนที่นักเดินทางจะเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นในปัจจุบัน เคยมีนักเดินทางคนสำคัญเข้ามาหลายราย บางคนเข้ามาด้วยภารกิจทางการเมือง บางคนเข้ามาเพื่อการศึกษาค้นคว้าต่างๆ รวมทั้งกัปตัน วิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ (Captain William C. McLeod) นายทหารอังกฤษ ซึ่งเดินทางเข้ามาในล้านนาใน ค.ศ. 1837

กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ เป็นชาวตะวันตกคนที่ 4 ต่อจากราล์ฟ ฟิตช์ (Ralph Fitch ค.ศ. 1586-1587) โทมัส ซามูแอล (Thomas Samuel 1612-1613) และนายแพทย์เดวิด ริชาร์ดสัน (David Richardson ค.ศ. 1829-1830, 1834, 1835-1836, 1839) ที่เดินทางมายังเชียงใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากในปลาย ค.ศ. 1836 เอ็ดเวิร์ด บลันเดลล์ (Edward Blundell) ข้าหลวงอังกฤษที่ตะนาวศรี ต้องการรื้อฟื้นเส้นทางการค้าสายยูนนานคือ เส้นทางจีนตอนใต้กับชายฝั่งพม่า เส้นทางการค้าสายสำคัญที่มีมาตั้งแต่ต้นคริสตกาล และต้องการส่งเสริมให้พ่อค้าฮ่อมาค้าขายที่มะละแหม่งด้วย

ระหว่างการเดินทาง แม็กคลายด์บันทึกเรื่องราวที่เขาพบเห็นไว้อย่างละเอียด โดยเน้นไปที่การเจรจาความเมืองกับชนชั้นปกครองในเมืองต่างๆ ต่อมาจดหมายเหตุฉบับนี้เป็นเอกสารที่ทรงคุณค่ายิ่ง เพราะผู้เขียนได้บันทึกการสำรวจเส้นทางในภาคพื้นทวีปตอนบนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

ในกรณีการศึกษาเรื่องสังคมเชียงใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 จดหมายเหตุการเดินทางของแม็กคลายด์ได้ให้ภาพที่น่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพของเมือง จำนวนประชากร ลักษณะของชาวเชียงใหม่ รวมถึงขนบธรรมประเพณีต่างๆ และชนชั้นนำในเชียงใหม่ด้วย แม็กคลายด์เล่าว่า เชียงใหม่หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่า ซิมเม (Zimmé) ตามอย่างชาวพม่า ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มทางฝั่งขวาของแม่น้ำปิง เป็นเมืองที่มีกำแพงอิฐล้อมรอบสองชั้น และมีกำแพงดิน ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลพระยามังรายหลวง (ค.ศ. 1264-1311) แต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 พบว่า กำแพงอิฐที่ล้อมรอบเชียงใหม่นั้น เหลือเพียงกำแพงชั้นเดียว อันเนื่องมาจากการขยายเมืองเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่มีประชากรอาศัยอยู่ แต่จะมารวมตัวกันอย่างหนาแน่นทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของเมือง เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับการทำกสิกรรม กำแพงเมืองด้านนอก เป็นที่ประทับของบรรดาเจ้าฟ้าเชื้อพระวงศ์ และไพร่พลทางตอนเหนือ ซึ่งเจ้าหลวงเชียงใหม่กวาดต้อนเข้ามาในยุคที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ส่วนกำแพงเมืองด้านในเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นที่ตั้งคุ้มของเจ้านายเชียงใหม่ต่างๆ

กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ อธิบายสถานที่ในเชียงใหม่ในยุคก่อนการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty ค.ศ. 1855) ไว้อย่างละเอียดสามแห่ง ได้แก่ ตลาด พระเจดีย์หลวงและพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่มีตลาดอยู่แถบกำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งสันนิษฐานว่าต่อมาคือตลาดวโรรส ลักษณะของตลาดเชียงใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นค่อนข้างคล้ายคลึงกับตลาดในยุคปัจจุบัน มีกระท่อมหลังเล็กๆ ตั้งอยู่เรียงราย พ่อค้าแม่ขายจำนวนมากนิยมขายสินค้าบนเสื่อที่ปูไว้กับพื้น พ่อค้าแม่ค้ามาจากหลายที่ และมีหลายชนชาติ ผู้ประกอบการค้าคนสำคัญจะเป็นผู้หญิงและเป็นพ่อค้าฮ่อจากยูนนาน ผู้ชายเชียงใหม่จะค้าเฉพาะเนื้อสัตว์เท่านั้น ส่วนพระเจดีย์หลวงในสมัยที่แม็กคลายด์เข้ามา องค์ระฆังด้านบนได้พังลงมาแล้ว แต่ความโดดเด่นของพระเจดีย์ก็ยังคงอยู่ เพราะเมื่อขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพ จะมองเห็นพระเจดีย์หลวงได้อย่างชัดเจน แม้เมฆหมอกจะปกคลุมทัศนียภาพก็ตาม
เรื่องจำนวนประชากร แม็กคลายด์ได้ประเมินว่า ในเชียงใหม่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นมีประชากรประมาณ 40,000 คน เป็นพวกฉาน พม่า มอญ จีนและชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่มาอาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งต่อมาภายหลังในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี (Daniel McGilvery) หมอศาสนาและครอบครัวได้เข้ามาเผยแผ่พระคริสต์ธรรมในล้านนา ชาวตะวันตกจึงเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเชียงใหม่มากขึ้น แม็กคลายด์บรรยายลักษณะของชาวเชียงใหม่ไว้ว่า ผู้ชายมักรูปร่างสูง ล่ำสันและมีท่าทางกระฉับกระเฉง บรรดาเจ้านายจะดูภูมิฐาน สูง จมูกโด่งและดวงตาสีอ่อน ในขณะที่ผู้หญิงมีรูปร่างสูง ได้สัดส่วน และงดงามมาก เสียแต่เพียงจมูกของพวกเธอนั้นแบน
ประเพณีวัฒนธรรมของเชียงใหม่เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมสยามกับพม่า แต่อิทธิพลของพม่าจะเด่นชัดกว่า เป็นผลมาจากการที่ล้านนาตกเป็นเมืองประเทศราชของพม่าหลายร้อยปี ผู้ชายนิยมนุ่งโสร่ง บ้างก็ใส่เสื้อ บ้างก็ไม่ใส่ ผู้หญิงนิยมเกล้ามวย และนุ่งผ้าถุงไว้ที่ราวนม บางคนใส่เสื้อ บางคนไม่ใส่ ทำให้หมอสอนศาสนาที่เข้ามาเชียงใหม่ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 พยายามส่งเสริมให้สตรีสวมเสื้อที่ทอจากผ้ามัสลินสีขาวจากอินเดีย ชาวเชียงใหม่ทั้งหญิงชายนิยมใส่ตุ้มหู แต่คนที่มีฐานะยากจนจะประดับด้วยช่อดอกไม้หรือบุหรี่ พวกเขานิยมเคี้ยวหมากและสูบบุหรี่ขี้โย ซึ่งแม็กคลายด์วิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งเหล่านี้ได้ทำลายความงามของสตรีเสียสิ้น
กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ บรรยายว่า สิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวเชียงใหม่มีอยู่สองประการ คือ การนับถือภูตผีและพุทธศาสนา ในกรณีพุทธศาสนานั้น ปัจจุบันคนไทยทราบข่าวเรื่องพระสงฆ์ประพฤติย่อหย่อนพระวินัยจากสื่อต่างๆ อยู่เสมอ เป็นวิกฤตในวงการสงฆ์ แต่จดหมายเหตุ กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องภิกษุนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แม็กคลายด์เล่าว่าแม้ในเชียงใหม่จะมีภิกษุอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากเปรียบเทียบกับภิกษุในพม่านั้น สงฆ์ในเชียงใหม่ย่อหย่อนต่อพระวินัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกท่านมักหมดเวลาไปกับสิ่งไร้สาระ ปนเปไปกับฝูงชน นั่งอยู่ในตลาด สนทนาใกล้ชิดกับสีกา เข้าไปในบ้านพักส่วนตัว ขี่ช้าง ฉันอาหารหลังเพล ดื่มสุรา เล่นการพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นชนไก่ และพระภิกษุน้อยรูปเท่านั้นที่เดินด้วยเท้าเปล่า การปฏิบัติดังกล่าวของภิกษุในเชียงใหม่นี้ยังปรากฎอีกหลายครั้งในจดหมายเหตุของนักเดินทางตะวันตก โดยเฉพาะผู้ที่คุ้นชินกับการปฏิบัติตนของภิกษุในพม่าที่เคร่งครัดเป็นอย่างยิ่ง

เนื่องจาก กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ เข้ามาในเชียงใหม่เพื่อเจรจาความเมือง ดังนั้น เขาจึงบันทึกเรื่องชนชั้นปกครองเชียงใหม่ไว้พอสมควร ชนชั้นปกครองในเชียงใหม่ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดมีห้าตำแหน่งหรือที่เรียกว่า เจ้าขั้นห้าตน ได้แก่ เจ้าหลวง เจ้าหอหน้า เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตรและเจ้าบุรีรัตน์ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดที่พบในบันทึกฉบับนี้ คือ แม้บรรดาเจ้าเชียงใหม่จะมีพระราชอำนาจอย่างสูง แต่เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ พระองค์จะนำบริวารและพระราชวงศ์ไปร่วมด้วย เช่นการทำนา ในขณะที่กษัตริย์ในกรุงเทพมหานครจะร่วมแค่พิธีแรกนาขวัญ อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ธรรมเนียมดังกล่าวของชนชั้นนำในล้านนาสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมเกษตรกรรมของรัฐแห่งนี้อย่างชัดเจน
แม้กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์จะเข้ามาในเชียงใหม่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่จดหมายเหตุการเดินทางของเขากลับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่งในฐานะหลักฐานที่สะท้อนสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิตและประเพณีพิธีกรรมในเชียงใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งแทบจะไม่ปรากฎในเอกสารสยาม แม้ภาพวิถีชีวิตหลายๆ แง่มุมตามบันทึกของแม็กคลายด์จะเสื่อมลง พร้อมกับการเข้ามาของวัฒนธรรมสยามในยุคปฏิรูปการปกครอง และต่อมาความเจริญทางด้านเทคโนโลยี และการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกยิ่งทำให้ความเป็นล้านนาแทบจะสูญหายไปจากเมืองเชียงใหม่
ธรรมเนียม และวิถีชีวิตหลายๆ ด้าน เช่น สีสันในตลาดของเชียงใหม่ก็ยังคงปรากฏร่องรอยอยู่บ้าง จดหมายเหตุแม็กคลายด์ยังทิ้งข้อคิด และแนวทางการปฏิบัติที่ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน การให้ความร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการทำกิจกรรมของชุมชน กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมในยุคที่ต่างคนต่างอยู่ นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นมรดกสำคัญจากอดีตที่สังคมควรเรียนรู้ นั่นคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่มีความแตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ยอมรับ และความเข้าใจความแตกต่างระหว่างกัน
http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id_colum=2962