จากบ้านช่างฝีมือสู่ชุมชนการค้า
ยุวรี โชคสวนทรัพย์
นักวิจัยในโครงการ “100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
YcUn1py@hotmail.com
“กรุงเทพมหานคร” เป็นเมืองหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นกลางทำให้แบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือ บางกอกฝั่งตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า “ฝั่งพระนคร” และบางกอกฝั่งตะวันตก หรือที่เรียกกันว่า “ฝั่งธนบุรี” เมืองบางกอกมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มอันเกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำ จึงมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้อ่าวไทยซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ความรุ่งเรืองด้านการค้าของกรุงศรีอยุธยา ทำให้บางกอกในฐานะเมืองด่านขนอนเต็มไปด้วยผู้คนและพ่อค้าชาติต่างๆ ดังเช่นที่ เดอ ลา ลูแบร์ ระบุว่าชาวมอญเป็นชนพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่ชาวจีนอาศัยอยู่ในบางกอกมากกว่าชนชาติอื่น ต่อมาเมื่อบางกอกกลายเป็นราชธานีแห่งใหม่ ผู้คนจากกรุงศรีอยุธยารวมถึงชนชาติต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานสำคัญในกิจการของรัฐ ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่รวมกันมากขึ้น ทำให้ “กรุงเทพมหานคร” กลายเป็นย่านชุมชนและพัฒนาเป็นบ้านช่างฝีมือในที่สุด

นักวิจัยในโครงการ “100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
YcUn1py@hotmail.com
“กรุงเทพมหานคร” เป็นเมืองหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นกลางทำให้แบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือ บางกอกฝั่งตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า “ฝั่งพระนคร” และบางกอกฝั่งตะวันตก หรือที่เรียกกันว่า “ฝั่งธนบุรี” เมืองบางกอกมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มอันเกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำ จึงมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้อ่าวไทยซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ความรุ่งเรืองด้านการค้าของกรุงศรีอยุธยา ทำให้บางกอกในฐานะเมืองด่านขนอนเต็มไปด้วยผู้คนและพ่อค้าชาติต่างๆ ดังเช่นที่ เดอ ลา ลูแบร์ ระบุว่าชาวมอญเป็นชนพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่ชาวจีนอาศัยอยู่ในบางกอกมากกว่าชนชาติอื่น ต่อมาเมื่อบางกอกกลายเป็นราชธานีแห่งใหม่ ผู้คนจากกรุงศรีอยุธยารวมถึงชนชาติต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานสำคัญในกิจการของรัฐ ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่รวมกันมากขึ้น ทำให้ “กรุงเทพมหานคร” กลายเป็นย่านชุมชนและพัฒนาเป็นบ้านช่างฝีมือในที่สุด

ฝั่งธนบุรี เป็นพื้นที่แรกๆ ที่ผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาอพยพมาตั้งถิ่นฐานในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ซึ่งในปัจจุบันยังคงหลงเหลือชุมชนช่างฝีมือจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ อาทิ

บ้านบุ ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ใกล้กับวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) เป็นชุมชนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาและมีอาชีพเป็น “ช่างบุ” คือเป็นช่างที่มีความชำนาญในงานฝีมือที่นำโลหะมาตีให้เข้ารูป เป็นชุมชนที่ผลิตภาชนะเครื่องใช้โลหะ อาทิ พาน จาน ชาม และขันลงหินที่มีชื่อเสียง ซึ่งทำด้วยโลหะทองแดงผสมกับดีบุก ขันประเภทนี้ช่วยให้น้ำเย็นกว่าปกติ
บ้านเนิน อยู่ถัดลงไปจากบ้านบุ บ้างเรียกกันว่าบ้านบุล่าง เป็นชุมชนช่างฝีมือซึ่งอพยพเข้ามาในเวลาเดียวกันกับชุมชนบ้านบุและมีความชำนาญแบบเดียวกัน มีผลิตภัณฑ์สินค้าลงหินอันเลื่องชื่อเช่นกัน แต่เป็นประเภทเครื่องดนตรีไทย อาทิ ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น
บ้านลาว บริเวณถนนอิสรภาพ หรือที่นิยมเรียกกันว่าชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ เป็นชุมชนชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชุมชนบ้านลาวมีความสามารถในการทำเครื่องดนตรีขลุ่ยและแคน
ชุมชนบ้านเนินและบ้านลาวนั้นยังสะท้อนให้เห็นการผสมผสานความบันเทิงระหว่างชุมชนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

บ้านข้าวเม่า ถนนพรานนก เป็นชุมชนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาและตั้งบ้านเรือนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ทำข้าวเม่า ข้าวเหนียวแดง และขนมกวนต่างๆ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประกอบสำรับคาวหวานในงานทางศาสนาและงานมงคลจำหน่าย
หลังจากสิ้นสุดสมัยกรุงธนบุรีเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายมาอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังบริเวณชุมชนจีน และให้ชาวจีนเหล่านั้นขยับขยายบ้านเรือนออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณย่านสำเพ็ง การสร้างศูนย์กลางของพระนครแห่งใหม่จำเป็นต้องเพิ่มประชากรในเมืองหลวงให้มากขึ้น เพื่อความมั่นคงของเมืองและป้องกันปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงมีการกวาดต้อนผู้คนหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน เกิดเป็นบ้านช่างฝีมือเช่นเดียวกับฝั่งธนบุรี
เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดมหาสุทธาวาสขึ้น (ปัจจุบันคือวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร) พร้อมกับโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้า เพื่อเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์กลางเมือง ต่อมาได้เกิด “ตลาดเสาชิงช้า” ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นตลาดที่มีสินค้าประเภททองเหลืองที่ทำเลียนแบบทองรูปพรรณในราคาถูกจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านเรียกขานกันติดปากว่า “ทองเสาชิงช้า” นอกจากนั้นชุมชนรอบๆ เสาชิงช้ายังเป็นย่านช่างฝีมือที่ผลิตเครื่องไทยธรรมต่างๆ เพื่อส่งมาจำหน่ายยังตลาดอีกด้วย

บ้านสาย ตรงข้ามวัดเทพธิดาราม ติดถนนมหาไชย เป็นชุมชนช่างฝีมือถัก-ทอสายรัดประคด หรือที่คาดเอวของพระภิกษุ นอกจากนี้ ชุมชนบ้านสายยังผลิตถุงตะเคียวสำหรับหุ้มบาตรพระอีกด้วย เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะส่งจำหน่ายที่ตลาดย่านเสาชิงช้า กระบวนการผลิตมีความซับซ้อน เริ่มตั้งแต่ย้อมสี ตีเกลียว จับไจไหม ม้วนด้าย เดินด้าย ค้นสาย ทอ ถัก ปักทำพู่ ฯลฯ เมื่อมีเครื่องจักรที่ผลิตได้เร็วกว่าเข้ามาแทนที่ งานฝีมือที่ต้องอาศัยเวลาและความพยายามเช่นนี้จึงเลือนหายไป
บ้านตีทอง ข้างวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นชุมชนลาวจากเวียงจันทน์และหลวงพระบาง อพยพมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่างตีทองคำเปลวสำหรับปิดพระพุทธรูป รวมทั้งใช้ในการตกแต่งงานศิลปกรรมต่างๆ การตีทองนั้นจะนำทองคำแท่งมารีดให้เป็นแผ่นบาง หลังจากนั้นช่างตีทองสองคนต้องใช้ค้อนขนาดใหญ่ช่วยกันตีให้แผ่นทองกลายเป็นแผ่นบางแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขั้นตอนในการทำยากลำบากและใช้เวลามาก ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง ภายหลังเมื่อทองวิทยาศาสตร์เข้ามาทำให้การตีทองเริ่มลดลง
บ้านดินสอ หรือ ถนนบ้านดินสอบริเวณใกล้เคียงโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า สันนิษฐานว่าที่มาของชื่อบ้านดินสอมีอยู่สองประการ ประการแรกเป็นชุมชนที่ผลิตดินสอพอง ซึ่งใช้ทาแก้พิษ ผดผื่นคัน ใช้ทำความสะอาดเครื่องเงิน เป็นต้น ประการที่สองเป็นชุมชนทำดินสอที่ใช้เขียนกระดานตามคำสันนิษฐานของพระยาอนุมานราชธน

บ้านกระบะ หรือบ้านลาว ถนนเจริญกรุงใกล้สี่กั๊กพระยาศรี เป็นชุมชนของชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยสงครามเจ้าอนุวงศ์ มีอาชีพทำกระบะ เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารคล้ายๆ กล่องข้าว ดังที่หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ อธิบายว่ากระบะ เป็น “ของทำด้วยไม้เปนสี่เหลี่ยมบ้าง รีๆ บ้าง, สำหรับใส่กับเข้า เปนของคนจนใช้”
บ้านช่างฝีมือที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของพระนครอยู่รอบภูเขาทอง หรือชุมชนรอบวัดสระเกศ ฝั่งคลองโอ่งอ่าง เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญแห่งหนึ่งของพระนคร ชุมชนช่างฝีมือในละแวกนี้ได้แก่
บ้านดอกไม้ เป็นชุมชนผลิตดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล
ชุมชนโรงไม้หลังวัดสระเกศ การชักลากซุงมาตามลำคลองเพื่อเข้าสู่พระนครในอดีตจะต้องผ่านมาทางบริเวณนี้ ในหน้าน้ำหลาก ซุงจะถูกนำมาเก็บไว้เพื่อรอซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด เมื่อต้องนำซุงมาผ่าใช้เรื่อยๆ จึงมีธุรกิจโรงเลื่อยซุงเกิดขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดช่างแกะสลักและฉลุลายไม้ ภายหลังจึงกลายมาเป็นธุรกิจโรงไม้แปรรูป

บ้านลาน ย่านบางขุนพรหม บริเวณใกล้เคียงกับบ้านพานถม เป็นชุมชนมอญที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและรับใบลานมาผลิตคัมภีร์ใบลานสำหรับใช้จารหรือเขียนเพื่อให้พระใช้ในการเทศน์
บ้านช่างทองตรอกสุเหร่า บริเวณวัดชนะสงคราม เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่อพยพมาจากหัวเมืองปักษ์ใต้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความชำนาญในการทำเครื่องทองด้วยฝีมืออันประณีตวิจิตร
บ้านนางเลิ้ง หรือ บ้านอีเลิ้ง คำว่า อีเลิ้ง เป็นภาษามอญ หมายถึง ตุ่มหรือโอ่ง สันนิษฐานว่าเป็นการนำเอาตุ่มและภาชนะดินเผาอื่นๆ จากบ้านสามโคก ปทุมธานี ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญเข้ามาค้าขายในพระนครตามเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ภายหลังพัฒนาเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บ้านครัว ริมคลองมหาราช เป็นชุมชนชาวจามที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อาชีพดั้งเดิมของชาวจามก็คือการทำประมง และเป็นชุมชนช่างฝีมือที่ชำนาญการทอผ้า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2488) ชาวอเมริกันชื่อ จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) ได้พัฒนาลวดลายผ้าให้ทันสมัยจนเป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีคุณภาพและนำไปจำหน่ายจนมีชื่อเสียงโด่งดัง

ถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่สี่กั๊กเสาชิงช้าไปถึงสำราญราษฎร์ เป็นย่านจำหน่ายเครื่องอัฏฐบริขารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ รวมถึงเครื่องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาประเภทอื่นๆ
ถนนเฟื่องนคร แบ่งเป็นสองช่วง คือ บริเวณสี่กั๊กพระยาศรี และสี่กั๊กเสาชิงช้า เรื่อยมาทางบ้านตะนาว ปรากฏห้างฝรั่ง ห้างจีน ห้างแขกเปอร์เซีย และห้างจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศของชาวสยามมาจนถึงแหล่งผลิตเพชรพลอยย่านบ้านหม้อ
ถนนอุนากรรณ บริเวณหลังวังบูรพา ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าของชาวอินเดีย จำหน่ายสินค้านำเข้าจากยุโรป อาทิ เครื่องแก้ว น้ำหอม เป็นต้น

ถนนเจริญกรุงตอนนอก ถัดมาจากเชิงสะพานดำรงสถิต เป็นที่ตั้งของเวิ้งนครเขษม ซึ่งจำหน่ายของเก่าตลอดจนโบราณวัตถุต่างๆ ทั้งยังมีห้างขายยาทั้งของฝรั่งและจีนปะปนกัน
ถนนเยาวราช เป็นย่านการค้าที่สำคัญของชุมชนชาวจีน สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่นำเข้ามาจากเมืองจีน ต่อมาเป็นย่านจำหน่ายทองรูปพรรณที่มากที่สุดแห่งหนึ่งของพระนคร
ย่านการค้าของชาวตะวันตกนอกเขตพระนคร อยู่ในย่านที่อยู่อาศัยของชาวตะวันตกถัดจากชุมชนชาวจีนย่านตลาดน้อยลงไป ตั้งแต่ถนนสี่พระยาเรื่อยไปตามถนนบางรักจนถึงวัดพระยาไกร ตามริมแม่น้ำมักเป็นโรงแรม ห้างร้าน โกดังสินค้า อู่ต่อเรือ เป็นต้น
ทุกวันนี้การเติบโตของกรุงเทพมหานคร ทำให้ย่านชุมชน บ้านช่างฝีมือและย่านการค้า ซึ่งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนแบบเดิมค่อย ๆ เลือนหายไปในที่สุดจนเหลือไว้เพียงภาพแห่งความทรงจำ
http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id_colum=2963