วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย : จากบ้านช่างฝีมือสู่ชุมชนการค้า


จากบ้านช่างฝีมือสู่ชุมชนการค้า 
ยุวรี โชคสวนทรัพย์ 
นักวิจัยในโครงการ “100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย” 
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 
YcUn1py@hotmail.com

“กรุงเทพมหานคร” เป็นเมืองหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นกลางทำให้แบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือ บางกอกฝั่งตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า “ฝั่งพระนคร” และบางกอกฝั่งตะวันตก หรือที่เรียกกันว่า “ฝั่งธนบุรี” เมืองบางกอกมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มอันเกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำ จึงมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้อ่าวไทยซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ความรุ่งเรืองด้านการค้าของกรุงศรีอยุธยา ทำให้บางกอกในฐานะเมืองด่านขนอนเต็มไปด้วยผู้คนและพ่อค้าชาติต่างๆ ดังเช่นที่ เดอ ลา ลูแบร์ ระบุว่าชาวมอญเป็นชนพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่ชาวจีนอาศัยอยู่ในบางกอกมากกว่าชนชาติอื่น ต่อมาเมื่อบางกอกกลายเป็นราชธานีแห่งใหม่ ผู้คนจากกรุงศรีอยุธยารวมถึงชนชาติต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานสำคัญในกิจการของรัฐ ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่รวมกันมากขึ้น ทำให้ “กรุงเทพมหานคร” กลายเป็นย่านชุมชนและพัฒนาเป็นบ้านช่างฝีมือในที่สุด 
  
การประกอบสัมมาอาชีพของชุมชนต่างๆ ในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นลักษณะของการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อการยังชีพ เมื่อมีผลิตภัณฑ์เหลือใช้จึงนำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันจนเกิดเป็นกิจกรรมทางการค้า การผลิตสินค้าตามความชำนาญของคนแต่ละชุมชน กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและใช้เป็นชื่อเรียกขานชุมชนนั้นๆ เรื่อยมา นอกจากนั้น สินค้าต่างๆ จากย่านชุมชนยังสามารถสะท้อนวิถีชีวิตของชาวกรุงเทพมหานคร ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย 

ฝั่งธนบุรี เป็นพื้นที่แรกๆ ที่ผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาอพยพมาตั้งถิ่นฐานในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ซึ่งในปัจจุบันยังคงหลงเหลือชุมชนช่างฝีมือจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ อาทิ 
  
บ้านช่างหล่อ บริเวณถนนพรานนก เป็นชุมชนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ประกอบอาชีพปั้นและหล่อพระพุทธรูปสืบมา นอกจากนี้ ช่างฝีมือจากบ้านช่างหล่อยังมีความสามารถทางการช่างอื่นๆ อาทิ ช่างปั้น ช่างเททอง ช่างขัด ช่างลงรักปิดทอง และช่างติดกระจก เป็นต้น 
บ้านบุ ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ใกล้กับวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) เป็นชุมชนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาและมีอาชีพเป็น “ช่างบุ” คือเป็นช่างที่มีความชำนาญในงานฝีมือที่นำโลหะมาตีให้เข้ารูป เป็นชุมชนที่ผลิตภาชนะเครื่องใช้โลหะ อาทิ พาน จาน ชาม และขันลงหินที่มีชื่อเสียง ซึ่งทำด้วยโลหะทองแดงผสมกับดีบุก ขันประเภทนี้ช่วยให้น้ำเย็นกว่าปกติ 

บ้านเนิน อยู่ถัดลงไปจากบ้านบุ บ้างเรียกกันว่าบ้านบุล่าง เป็นชุมชนช่างฝีมือซึ่งอพยพเข้ามาในเวลาเดียวกันกับชุมชนบ้านบุและมีความชำนาญแบบเดียวกัน มีผลิตภัณฑ์สินค้าลงหินอันเลื่องชื่อเช่นกัน แต่เป็นประเภทเครื่องดนตรีไทย อาทิ ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น 

บ้านลาว บริเวณถนนอิสรภาพ หรือที่นิยมเรียกกันว่าชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ เป็นชุมชนชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชุมชนบ้านลาวมีความสามารถในการทำเครื่องดนตรีขลุ่ยและแคน 

ชุมชนบ้านเนินและบ้านลาวนั้นยังสะท้อนให้เห็นการผสมผสานความบันเทิงระหว่างชุมชนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต 
  
บ้านปูน บางยี่ขัน เป็นชุมชนที่มีอาชีพเผาปูนขาว เพื่อใช้ทำปูนแดงกินกับหมากพลู ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนสมัยก่อน จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากการประพาสยุโรป ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยทัดเทียมกับชาวตะวันตก จึงรณรงค์ให้เลิกเคี้ยวหมากเพื่อให้มีฟันที่ขาวสะอาด การเผาปูนขาวจึงค่อยๆ ลดความสำคัญลงและเลิกอาชีพไปในที่สุด ฝั่งธนบุรีนี้ยังมีตลาดพลู ริมคลองบางหลวง มีชาวมุสลิมทำสวนพลูในระยะแรก ต่อมาชาวจีนนิยมทำสวนพลูขึ้นบ้างจนกลายเป็นตลาดซื้อขายพลู และเกิดเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เรียกกันว่าตลาดพลูมาตั้งแต่บัดนั้น แต่ปัจจุบันจะไม่ปรากฏลักษณะของสวนพลูแล้ว 

บ้านข้าวเม่า ถนนพรานนก เป็นชุมชนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาและตั้งบ้านเรือนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ทำข้าวเม่า ข้าวเหนียวแดง และขนมกวนต่างๆ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประกอบสำรับคาวหวานในงานทางศาสนาและงานมงคลจำหน่าย 

หลังจากสิ้นสุดสมัยกรุงธนบุรีเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายมาอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังบริเวณชุมชนจีน และให้ชาวจีนเหล่านั้นขยับขยายบ้านเรือนออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณย่านสำเพ็ง การสร้างศูนย์กลางของพระนครแห่งใหม่จำเป็นต้องเพิ่มประชากรในเมืองหลวงให้มากขึ้น เพื่อความมั่นคงของเมืองและป้องกันปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงมีการกวาดต้อนผู้คนหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน เกิดเป็นบ้านช่างฝีมือเช่นเดียวกับฝั่งธนบุรี 

เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดมหาสุทธาวาสขึ้น (ปัจจุบันคือวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร) พร้อมกับโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้า เพื่อเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์กลางเมือง ต่อมาได้เกิด “ตลาดเสาชิงช้า” ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นตลาดที่มีสินค้าประเภททองเหลืองที่ทำเลียนแบบทองรูปพรรณในราคาถูกจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านเรียกขานกันติดปากว่า “ทองเสาชิงช้า” นอกจากนั้นชุมชนรอบๆ เสาชิงช้ายังเป็นย่านช่างฝีมือที่ผลิตเครื่องไทยธรรมต่างๆ เพื่อส่งมาจำหน่ายยังตลาดอีกด้วย 
  
b>บ้านบาตร บริเวณสี่แยกเมรุปูน ถนนบำรุงเมือง ชุมชนตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เพราะปรากฏคำบอกเล่าที่แตกต่างกันไป บ้างว่าคนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาอพยพมาตั้งแต่เมื่อครั้งเสียกรุงฯ บ้างว่าเป็นชุมชนที่เพิ่งมาตั้งถิ่นฐานเมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นชุมชนที่มีฝีมือในการทำบาตรพระมาช้านาน ในอดีตผลผลิตที่ได้จะส่งไปจำหน่ายที่ตลาดย่านเสาชิงช้าและย่านสำเพ็ง ปัจจุบันเหลือบ้านทำบาตรพระเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้น 

บ้านสาย ตรงข้ามวัดเทพธิดาราม ติดถนนมหาไชย เป็นชุมชนช่างฝีมือถัก-ทอสายรัดประคด หรือที่คาดเอวของพระภิกษุ นอกจากนี้ ชุมชนบ้านสายยังผลิตถุงตะเคียวสำหรับหุ้มบาตรพระอีกด้วย เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะส่งจำหน่ายที่ตลาดย่านเสาชิงช้า กระบวนการผลิตมีความซับซ้อน เริ่มตั้งแต่ย้อมสี ตีเกลียว จับไจไหม ม้วนด้าย เดินด้าย ค้นสาย ทอ ถัก ปักทำพู่ ฯลฯ เมื่อมีเครื่องจักรที่ผลิตได้เร็วกว่าเข้ามาแทนที่ งานฝีมือที่ต้องอาศัยเวลาและความพยายามเช่นนี้จึงเลือนหายไป 

บ้านตีทอง ข้างวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นชุมชนลาวจากเวียงจันทน์และหลวงพระบาง อพยพมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่างตีทองคำเปลวสำหรับปิดพระพุทธรูป รวมทั้งใช้ในการตกแต่งงานศิลปกรรมต่างๆ การตีทองนั้นจะนำทองคำแท่งมารีดให้เป็นแผ่นบาง หลังจากนั้นช่างตีทองสองคนต้องใช้ค้อนขนาดใหญ่ช่วยกันตีให้แผ่นทองกลายเป็นแผ่นบางแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขั้นตอนในการทำยากลำบากและใช้เวลามาก ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง ภายหลังเมื่อทองวิทยาศาสตร์เข้ามาทำให้การตีทองเริ่มลดลง 

บ้านดินสอ หรือ ถนนบ้านดินสอบริเวณใกล้เคียงโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า สันนิษฐานว่าที่มาของชื่อบ้านดินสอมีอยู่สองประการ ประการแรกเป็นชุมชนที่ผลิตดินสอพอง ซึ่งใช้ทาแก้พิษ ผดผื่นคัน ใช้ทำความสะอาดเครื่องเงิน เป็นต้น ประการที่สองเป็นชุมชนทำดินสอที่ใช้เขียนกระดานตามคำสันนิษฐานของพระยาอนุมานราชธน 
  
บ้านหม้อ ตั้งถัดมาจากบ้านลาว เป็นชุมชนชาวญวนที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบอาชีพทำหม้อและภาชนะหุงต้มต่างๆ ต่อมาเมื่อมีภาชนะสมัยใหม่เข้ามาแทนจึงได้เลิกอาชีพนี้ไป ภายหลังกลายเป็นย่านขายเครื่องเพชร อัญมณี และเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงของพระนคร ปัจจุบันเป็นแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเสียงจำนวนมาก 

บ้านกระบะ หรือบ้านลาว ถนนเจริญกรุงใกล้สี่กั๊กพระยาศรี เป็นชุมชนของชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยสงครามเจ้าอนุวงศ์ มีอาชีพทำกระบะ เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารคล้ายๆ กล่องข้าว ดังที่หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ อธิบายว่ากระบะ เป็น “ของทำด้วยไม้เปนสี่เหลี่ยมบ้าง รีๆ บ้าง, สำหรับใส่กับเข้า เปนของคนจนใช้” 

บ้านช่างฝีมือที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของพระนครอยู่รอบภูเขาทอง หรือชุมชนรอบวัดสระเกศ ฝั่งคลองโอ่งอ่าง เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญแห่งหนึ่งของพระนคร ชุมชนช่างฝีมือในละแวกนี้ได้แก่

บ้านดอกไม้ เป็นชุมชนผลิตดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล 

ชุมชนโรงไม้หลังวัดสระเกศ การชักลากซุงมาตามลำคลองเพื่อเข้าสู่พระนครในอดีตจะต้องผ่านมาทางบริเวณนี้ ในหน้าน้ำหลาก ซุงจะถูกนำมาเก็บไว้เพื่อรอซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด เมื่อต้องนำซุงมาผ่าใช้เรื่อยๆ จึงมีธุรกิจโรงเลื่อยซุงเกิดขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดช่างแกะสลักและฉลุลายไม้ ภายหลังจึงกลายมาเป็นธุรกิจโรงไม้แปรรูป 
  
บ้านพานถม ย่านบางขุนพรหม ปรากฏคำบอกเล่าว่า เป็นบ้านช่างฝีมือที่ประกอบอาชีพทำเครื่องถมประเภทขันน้ำและพานรองเป็นหลัก แต่ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้แน่นอนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด เครื่องถมของชุมชนนี้ได้รับเอารูปแบบมาจากกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองนครศรีธรรมราช จึงเรียกกันทั่วไปว่า “ถมนคร” ปัจจุบันไม่หลงเหลืออยู่แล้ว 

บ้านลาน ย่านบางขุนพรหม บริเวณใกล้เคียงกับบ้านพานถม เป็นชุมชนมอญที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและรับใบลานมาผลิตคัมภีร์ใบลานสำหรับใช้จารหรือเขียนเพื่อให้พระใช้ในการเทศน์ 

บ้านช่างทองตรอกสุเหร่า บริเวณวัดชนะสงคราม เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่อพยพมาจากหัวเมืองปักษ์ใต้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความชำนาญในการทำเครื่องทองด้วยฝีมืออันประณีตวิจิตร 

บ้านนางเลิ้ง หรือ บ้านอีเลิ้ง คำว่า อีเลิ้ง เป็นภาษามอญ หมายถึง ตุ่มหรือโอ่ง สันนิษฐานว่าเป็นการนำเอาตุ่มและภาชนะดินเผาอื่นๆ จากบ้านสามโคก ปทุมธานี ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญเข้ามาค้าขายในพระนครตามเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ภายหลังพัฒนาเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

บ้านครัว ริมคลองมหาราช เป็นชุมชนชาวจามที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อาชีพดั้งเดิมของชาวจามก็คือการทำประมง และเป็นชุมชนช่างฝีมือที่ชำนาญการทอผ้า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2488) ชาวอเมริกันชื่อ จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) ได้พัฒนาลวดลายผ้าให้ทันสมัยจนเป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีคุณภาพและนำไปจำหน่ายจนมีชื่อเสียงโด่งดัง 
  
หลังจากการทำสนธิสัญญาค้าขายกับชาติตะวันตก ทำให้สยามปรับเปลี่ยนประเทศสู่ความทันสมัย ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น พร้อมกับการขยายตัวของเมือง การตัดถนนหนทางทำให้ย่านการค้าเก่าพัฒนารูปแบบไปตามสมัยนิยม พร้อมกับการเกิดย่านการค้าแห่งใหม่ อาทิ 

ถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่สี่กั๊กเสาชิงช้าไปถึงสำราญราษฎร์ เป็นย่านจำหน่ายเครื่องอัฏฐบริขารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ รวมถึงเครื่องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาประเภทอื่นๆ 
ถนนเฟื่องนคร แบ่งเป็นสองช่วง คือ บริเวณสี่กั๊กพระยาศรี และสี่กั๊กเสาชิงช้า เรื่อยมาทางบ้านตะนาว ปรากฏห้างฝรั่ง ห้างจีน ห้างแขกเปอร์เซีย และห้างจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศของชาวสยามมาจนถึงแหล่งผลิตเพชรพลอยย่านบ้านหม้อ 

ถนนอุนากรรณ บริเวณหลังวังบูรพา ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าของชาวอินเดีย จำหน่ายสินค้านำเข้าจากยุโรป อาทิ เครื่องแก้ว น้ำหอม เป็นต้น 
  
ถนนเจริญกรุงตอนใน มีทั้งร้านค้าของชาวตะวันตกและชาวญี่ปุ่น จำหน่ายสินค้านานาชนิด รวมถึงร้านถ่ายภาพและร้านเครื่องจักร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดสร้างตลาดบำเพ็ญบุญขึ้นบริเวณสะพานถ่าน ตลาดเป็นอาคารสองชั้น ชั้นบนเป็นโรงระบำ ส่วนชั้นล่างเป็นตลาดสด 

ถนนเจริญกรุงตอนนอก ถัดมาจากเชิงสะพานดำรงสถิต เป็นที่ตั้งของเวิ้งนครเขษม ซึ่งจำหน่ายของเก่าตลอดจนโบราณวัตถุต่างๆ ทั้งยังมีห้างขายยาทั้งของฝรั่งและจีนปะปนกัน 

ถนนเยาวราช เป็นย่านการค้าที่สำคัญของชุมชนชาวจีน สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่นำเข้ามาจากเมืองจีน ต่อมาเป็นย่านจำหน่ายทองรูปพรรณที่มากที่สุดแห่งหนึ่งของพระนคร 

ย่านการค้าของชาวตะวันตกนอกเขตพระนคร อยู่ในย่านที่อยู่อาศัยของชาวตะวันตกถัดจากชุมชนชาวจีนย่านตลาดน้อยลงไป ตั้งแต่ถนนสี่พระยาเรื่อยไปตามถนนบางรักจนถึงวัดพระยาไกร ตามริมแม่น้ำมักเป็นโรงแรม ห้างร้าน โกดังสินค้า อู่ต่อเรือ เป็นต้น 

ทุกวันนี้การเติบโตของกรุงเทพมหานคร ทำให้ย่านชุมชน บ้านช่างฝีมือและย่านการค้า ซึ่งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนแบบเดิมค่อย ๆ เลือนหายไปในที่สุดจนเหลือไว้เพียงภาพแห่งความทรงจำ 
แหล่งที่มา : ประชาคมวิจัย    ฉบับที่ : 109    หน้าที่ : 20    จำนวนคนเข้าชม : 147   คน
http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id_colum=2963

“วิถีชีวิตชาวเชียงใหม่” ในสายตาของกัปตัน วิลเลียม แม็กคลายด์



“วิถีชีวิตชาวเชียงใหม่” 
ในสายตาของกัปตัน วิลเลียม แม็กคลายด์ 

ธิษณา วีรเกียรติสุนทร 
นักวิจัยในโครงการ “100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย” 
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 
wtissana@yahoo.com

เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสำคัญ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 จนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณหนึ่งล้านคนต่อปี ก่อนที่นักเดินทางจะเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นในปัจจุบัน เคยมีนักเดินทางคนสำคัญเข้ามาหลายราย บางคนเข้ามาด้วยภารกิจทางการเมือง บางคนเข้ามาเพื่อการศึกษาค้นคว้าต่างๆ รวมทั้งกัปตัน วิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ (Captain William C. McLeod) นายทหารอังกฤษ ซึ่งเดินทางเข้ามาในล้านนาใน ค.ศ. 1837 

กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1805 ณ เมืองปองดิเชอร์รี (Pondicherry) ในอินเดีย ครอบครัวของแม็กคลายด์เป็นครอบครัวทหาร ทำให้เขาได้เข้ารับราชการในกองทัพแห่งมัทราสตั้งแต่อายุ 15 ปี ใน ค.ศ. 1834 กัปตันแม็กคลายด์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยข้าหลวงที่เมืองมะริด และอีกสองปีต่อมาจึงได้รับภารกิจให้ไปราชการที่เมืองเชียงตุง โดยใช้เส้นทางผ่านล้านนา ใน ค.ศ. 1863 แม็กคลายด์รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารอังกฤษประจำหงสาวดี ซึ่งพม่าเสียให้แก่อังกฤษภายหลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 2 (Second Anglo-Burmese War ค.ศ. 1851-1852) หลังจากปลดประจำการแล้ว เขาได้รับแต่งตั้งเป็นพันตรีใน ค.ศ. 1877 ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรม ณ กรุงลอนดอนในอีกสามปีต่อมา

กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ เป็นชาวตะวันตกคนที่ 4 ต่อจากราล์ฟ ฟิตช์ (Ralph Fitch ค.ศ. 1586-1587) โทมัส ซามูแอล (Thomas Samuel 1612-1613) และนายแพทย์เดวิด ริชาร์ดสัน (David Richardson ค.ศ. 1829-1830, 1834, 1835-1836, 1839) ที่เดินทางมายังเชียงใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากในปลาย ค.ศ. 1836 เอ็ดเวิร์ด บลันเดลล์ (Edward Blundell) ข้าหลวงอังกฤษที่ตะนาวศรี ต้องการรื้อฟื้นเส้นทางการค้าสายยูนนานคือ เส้นทางจีนตอนใต้กับชายฝั่งพม่า เส้นทางการค้าสายสำคัญที่มีมาตั้งแต่ต้นคริสตกาล และต้องการส่งเสริมให้พ่อค้าฮ่อมาค้าขายที่มะละแหม่งด้วย 

แม็กคลายด์ออกเดินทางจากเมืองมะละแหม่งพร้อมกับริชาร์ดสันในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1836 มุ่งหน้าสู่ลำพูน เชียงใหม่ เชียงรุ่งและเชียงตุงต่อไป ที่เมืองเชียงใหม่ แม็กคลายด์ได้เข้าเฝ้าเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (ค.ศ. 1826-1846) เพื่อขอพระราชทานพระราชานุญาตเดินทางผ่านไปยังเชียงตุง แต่พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยตามลำพัง ทำให้แม็กคลายด์รอคอยในเชียงใหม่เป็นเวลานาน ก่อนที่เจ้าหลวงจะทรงอนุญาต

ระหว่างการเดินทาง แม็กคลายด์บันทึกเรื่องราวที่เขาพบเห็นไว้อย่างละเอียด โดยเน้นไปที่การเจรจาความเมืองกับชนชั้นปกครองในเมืองต่างๆ ต่อมาจดหมายเหตุฉบับนี้เป็นเอกสารที่ทรงคุณค่ายิ่ง เพราะผู้เขียนได้บันทึกการสำรวจเส้นทางในภาคพื้นทวีปตอนบนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม 
  

  ในกรณีการศึกษาเรื่องสังคมเชียงใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 จดหมายเหตุการเดินทางของแม็กคลายด์ได้ให้ภาพที่น่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพของเมือง จำนวนประชากร ลักษณะของชาวเชียงใหม่ รวมถึงขนบธรรมประเพณีต่างๆ และชนชั้นนำในเชียงใหม่ด้วย แม็กคลายด์เล่าว่า เชียงใหม่หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่า ซิมเม (Zimmé) ตามอย่างชาวพม่า ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มทางฝั่งขวาของแม่น้ำปิง เป็นเมืองที่มีกำแพงอิฐล้อมรอบสองชั้น และมีกำแพงดิน ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลพระยามังรายหลวง (ค.ศ. 1264-1311) แต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 พบว่า กำแพงอิฐที่ล้อมรอบเชียงใหม่นั้น เหลือเพียงกำแพงชั้นเดียว อันเนื่องมาจากการขยายเมืองเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่มีประชากรอาศัยอยู่ แต่จะมารวมตัวกันอย่างหนาแน่นทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของเมือง เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับการทำกสิกรรม กำแพงเมืองด้านนอก เป็นที่ประทับของบรรดาเจ้าฟ้าเชื้อพระวงศ์ และไพร่พลทางตอนเหนือ ซึ่งเจ้าหลวงเชียงใหม่กวาดต้อนเข้ามาในยุคที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ส่วนกำแพงเมืองด้านในเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นที่ตั้งคุ้มของเจ้านายเชียงใหม่ต่างๆ 
  

กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ อธิบายสถานที่ในเชียงใหม่ในยุคก่อนการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty ค.ศ. 1855) ไว้อย่างละเอียดสามแห่ง ได้แก่ ตลาด พระเจดีย์หลวงและพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่มีตลาดอยู่แถบกำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งสันนิษฐานว่าต่อมาคือตลาดวโรรส ลักษณะของตลาดเชียงใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นค่อนข้างคล้ายคลึงกับตลาดในยุคปัจจุบัน มีกระท่อมหลังเล็กๆ ตั้งอยู่เรียงราย พ่อค้าแม่ขายจำนวนมากนิยมขายสินค้าบนเสื่อที่ปูไว้กับพื้น พ่อค้าแม่ค้ามาจากหลายที่ และมีหลายชนชาติ ผู้ประกอบการค้าคนสำคัญจะเป็นผู้หญิงและเป็นพ่อค้าฮ่อจากยูนนาน ผู้ชายเชียงใหม่จะค้าเฉพาะเนื้อสัตว์เท่านั้น ส่วนพระเจดีย์หลวงในสมัยที่แม็กคลายด์เข้ามา องค์ระฆังด้านบนได้พังลงมาแล้ว แต่ความโดดเด่นของพระเจดีย์ก็ยังคงอยู่ เพราะเมื่อขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพ จะมองเห็นพระเจดีย์หลวงได้อย่างชัดเจน แม้เมฆหมอกจะปกคลุมทัศนียภาพก็ตาม 


เรื่องจำนวนประชากร แม็กคลายด์ได้ประเมินว่า ในเชียงใหม่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นมีประชากรประมาณ 40,000 คน เป็นพวกฉาน พม่า มอญ จีนและชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่มาอาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งต่อมาภายหลังในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี (Daniel McGilvery) หมอศาสนาและครอบครัวได้เข้ามาเผยแผ่พระคริสต์ธรรมในล้านนา ชาวตะวันตกจึงเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเชียงใหม่มากขึ้น แม็กคลายด์บรรยายลักษณะของชาวเชียงใหม่ไว้ว่า ผู้ชายมักรูปร่างสูง ล่ำสันและมีท่าทางกระฉับกระเฉง บรรดาเจ้านายจะดูภูมิฐาน สูง จมูกโด่งและดวงตาสีอ่อน ในขณะที่ผู้หญิงมีรูปร่างสูง ได้สัดส่วน และงดงามมาก เสียแต่เพียงจมูกของพวกเธอนั้นแบน 
  

ประเพณีวัฒนธรรมของเชียงใหม่เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมสยามกับพม่า แต่อิทธิพลของพม่าจะเด่นชัดกว่า เป็นผลมาจากการที่ล้านนาตกเป็นเมืองประเทศราชของพม่าหลายร้อยปี ผู้ชายนิยมนุ่งโสร่ง บ้างก็ใส่เสื้อ บ้างก็ไม่ใส่ ผู้หญิงนิยมเกล้ามวย และนุ่งผ้าถุงไว้ที่ราวนม บางคนใส่เสื้อ บางคนไม่ใส่ ทำให้หมอสอนศาสนาที่เข้ามาเชียงใหม่ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 พยายามส่งเสริมให้สตรีสวมเสื้อที่ทอจากผ้ามัสลินสีขาวจากอินเดีย ชาวเชียงใหม่ทั้งหญิงชายนิยมใส่ตุ้มหู แต่คนที่มีฐานะยากจนจะประดับด้วยช่อดอกไม้หรือบุหรี่ พวกเขานิยมเคี้ยวหมากและสูบบุหรี่ขี้โย ซึ่งแม็กคลายด์วิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งเหล่านี้ได้ทำลายความงามของสตรีเสียสิ้น 
กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ บรรยายว่า สิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวเชียงใหม่มีอยู่สองประการ คือ การนับถือภูตผีและพุทธศาสนา ในกรณีพุทธศาสนานั้น ปัจจุบันคนไทยทราบข่าวเรื่องพระสงฆ์ประพฤติย่อหย่อนพระวินัยจากสื่อต่างๆ อยู่เสมอ เป็นวิกฤตในวงการสงฆ์ แต่จดหมายเหตุ กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องภิกษุนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แม็กคลายด์เล่าว่าแม้ในเชียงใหม่จะมีภิกษุอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากเปรียบเทียบกับภิกษุในพม่านั้น สงฆ์ในเชียงใหม่ย่อหย่อนต่อพระวินัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกท่านมักหมดเวลาไปกับสิ่งไร้สาระ ปนเปไปกับฝูงชน นั่งอยู่ในตลาด สนทนาใกล้ชิดกับสีกา เข้าไปในบ้านพักส่วนตัว ขี่ช้าง ฉันอาหารหลังเพล ดื่มสุรา เล่นการพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นชนไก่ และพระภิกษุน้อยรูปเท่านั้นที่เดินด้วยเท้าเปล่า การปฏิบัติดังกล่าวของภิกษุในเชียงใหม่นี้ยังปรากฎอีกหลายครั้งในจดหมายเหตุของนักเดินทางตะวันตก โดยเฉพาะผู้ที่คุ้นชินกับการปฏิบัติตนของภิกษุในพม่าที่เคร่งครัดเป็นอย่างยิ่ง 
  

เนื่องจาก กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์ เข้ามาในเชียงใหม่เพื่อเจรจาความเมือง ดังนั้น เขาจึงบันทึกเรื่องชนชั้นปกครองเชียงใหม่ไว้พอสมควร ชนชั้นปกครองในเชียงใหม่ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดมีห้าตำแหน่งหรือที่เรียกว่า เจ้าขั้นห้าตน ได้แก่ เจ้าหลวง เจ้าหอหน้า เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตรและเจ้าบุรีรัตน์ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดที่พบในบันทึกฉบับนี้ คือ แม้บรรดาเจ้าเชียงใหม่จะมีพระราชอำนาจอย่างสูง แต่เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ พระองค์จะนำบริวารและพระราชวงศ์ไปร่วมด้วย เช่นการทำนา ในขณะที่กษัตริย์ในกรุงเทพมหานครจะร่วมแค่พิธีแรกนาขวัญ อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ธรรมเนียมดังกล่าวของชนชั้นนำในล้านนาสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมเกษตรกรรมของรัฐแห่งนี้อย่างชัดเจน 

      แม้กัปตันวิลเลียม ซี. แม็กคลายด์จะเข้ามาในเชียงใหม่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่จดหมายเหตุการเดินทางของเขากลับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่งในฐานะหลักฐานที่สะท้อนสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิตและประเพณีพิธีกรรมในเชียงใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งแทบจะไม่ปรากฎในเอกสารสยาม แม้ภาพวิถีชีวิตหลายๆ แง่มุมตามบันทึกของแม็กคลายด์จะเสื่อมลง พร้อมกับการเข้ามาของวัฒนธรรมสยามในยุคปฏิรูปการปกครอง และต่อมาความเจริญทางด้านเทคโนโลยี และการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกยิ่งทำให้ความเป็นล้านนาแทบจะสูญหายไปจากเมืองเชียงใหม่

     ธรรมเนียม และวิถีชีวิตหลายๆ ด้าน เช่น สีสันในตลาดของเชียงใหม่ก็ยังคงปรากฏร่องรอยอยู่บ้าง จดหมายเหตุแม็กคลายด์ยังทิ้งข้อคิด และแนวทางการปฏิบัติที่ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน การให้ความร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการทำกิจกรรมของชุมชน กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมในยุคที่ต่างคนต่างอยู่ นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นมรดกสำคัญจากอดีตที่สังคมควรเรียนรู้ นั่นคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่มีความแตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ยอมรับ และความเข้าใจความแตกต่างระหว่างกัน 
แหล่งที่มา : ประชาคมวิจัย    ฉบับที่ : 109    หน้าที่ : 17    จำนวนคนเข้าชม : 73   คน
http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id_colum=2962