จุดมุ่งหมายของการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง
โดยทั่วไปนักวิจัยจะทำการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อเพื่อจุดมุ่งหมายประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการดังนี้
1. เพื่อแสวงหาแนวคิดพื้นฐานเชิงทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะทำวิจัย
2. เพื่อสำรวจสถานภาพขององค์ความรู้ในเรื่องที่จะทำวิจัย
3. เพื่อแสวงหาสารสนเทศที่จะช่วยตัดสินใจกำหนดแนวทางการวิจัย
4. เพื่อแสวงหาหลักฐานอ้างอิงมาสนับสนุนความคิดเห็นในการอภิปรายผลการวิจัย
ขั้นตอนในการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง
1. กำหนดจุดมุ่งหมายของการทบทวนเอกสารให้ชัดเจน การกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนจะช่วยให้ทราบว่าเอกสารใดบ้างควรเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะทำวิจัย มีแนวทางในการการคัดเลือกเอกสาร และการจับประเด็นจากเอกสารต่าง ๆ ทำได้ง่ายและชัดเจนขึ้น
2. สำรวจเอกสารที่เกี่ยวข้อง นักวิจัยจะต้องสำรวจว่าการจะทบทวนเอกสารเพื่อจุดมุ่งหมายแต่ละอย่างนั้น ควรจะมีเอกสารอะไรบ้างที่จะต้องนำมาทบทวน การสำรวจอาจจะเริ่มจากเอกสารรอง ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยใช้สารสนเทศจากเอกสารหลัก
3. สืบค้นหาเอกสารที่เกี่ยวข้อง นักวิจัยต้องทราบว่าเอกสารที่ต้องการนั้นอยู่ที่ไหน จะหามาได้อย่างไรนักวิจัยจะต้องรู้จักแหล่งเอกสารประเภทต่างๆ เช่น ห้องสมุด ศูนย์สารนิเทศ ศูนย์เอกสารสนเทศ หอจดหมายเหตุ ฯลฯ เป็นต้น และที่สำคัญคือจะต้องมีทักษะในการสืบค้น (Searching skill) หาเอกสารเหล่านั้นด้วย นั่นคือจะต้องมีความรู้ว่าเอกสารเหล่านั้นจัดเก็บไว้อย่างไร จะเข้าถึงเอกสารนั้นได้อย่างไร ปัจจุบันเทคโนโลยีในการจัดเก็บเอกสารได้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก มีการนำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยจัดเก็บเอกสารไว้ในสื่อรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยให้การสืบค้นเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและกว้างขวาง นักวิจัยจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการสืบค้นเอกสารจากสื่อเหล่านี้ และติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางด้านนี้อย่างต่อเนื่องเพราะมีการพัฒนาไปค่อนข้างจะรวดเร็ว จึงจะทำให้การสืบค้นเอกสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4. คัดเลือกเอกสาร เอกสารที่ได้จากการสืบค้นในข้อ 3 นั้นไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ทั้งหมด นักวิจัยจะทำการคัดเลือกเอาเฉพาะเอกสารที่มีความเกี่ยวข้องจริงๆ ตามจุดมุ่งหมาย อังนั้นเมื่อได้เอกสารมานักวิจัยจะต้องอ่านอย่างคร่าวๆ (Scanning) ก่อนว่าเอกสารนั้นมีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะวิจัยอย่างแท้จริงหรือไม่ และจะคัดเลือกไว้เฉพาะเอกสารที่มีความเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงเท่านั้นเพื่อทบทวนอย่างลึกซึ้งต่อไป
5. ลงมืออ่านเอกสารอย่างละเอียดจับประเด็นสำคัญให้ได้ตามจุดมุ่งหมาย ถ้าเป็นเอกสารงานวิจัยประเด็นสำคัญที่ต้องการมักจะได้แก่ ปัญหาหรือคำถามหรือวัตถุประสงค์ของการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย ข้อสันนิษฐาน วิธีดำเนินการวิจัย สรุปผลการวิจัย เป็นต้น
6. จดบันทึกสาระที่ได้จากการอ่าน ควรจดบันทึกลงในบัตร ขนาดของบัตรที่นิยมใช้บันทึกมักจะมีขนาดประมาณ 3 x 5 นิ้ว ควรบันทึกประเด็นที่ได้จากการอ่านลงในบัตรประเด็นละใบ และไม่ควรลืมบันทึกข้อมูลบรรณานุกรมของเอกสารด้วย เพื่อจะใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงถึงเมื่อจะต้องเรียบเรียงผลการประมวลเอกสารที่เกี่ยวข้อง
7. สังเคราะห์สาระที่ได้จากอ่านเข้าด้วยกัน
8. เรียบเรียงผลการประมวลเอกสารที่เกี่ยวข้อง