"การศึกษา"ทำให้ "รักเมืองไทย"
เสียงเด็กไทใหญ่บนแผ่นดินสยาม
กว่า 7 วัน 7 คืนที่ต้องเดินเท้ากลางป่า ลัดเลาะเทือกเขา เลียบหุบเหว ไม่นับรวมวันเวลาเริ่มเดินทางออกจากบ้านเกิดในรัฐฉาน ประเทศพม่าด้วยรถโดยสาร เป็นระยะเวลาที่ สุนิสา คำหลู่ หรือน้องสา วัย 10 ขวบ ต้องดั้นด้นพร้อมพ่อแม่พี่น้องอีก 3 คน เพื่อให้ถึงจุดหมาย คือประเทศไทย จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่เธอรอดชีวิตจากการเผชิญชะตากรรมความยากลำบากในป่าเข้ามาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ขณะที่เพื่อนบางคนต้องจบชีวิตลงที่ผืนป่าชายแดน
เหตุผลที่เธอและครอบครัวตัดสินใจมาอยู่ประเทศไทย น้องสา บอกว่า พื้นที่ที่เธอจากมาชีวิตยากลำบากมาก และมีการสู้รบระหว่างไทยใหญ่และพม่า น้องสาพร้อมครอบครัวและคนอื่นๆ อีกรวม 30 ชีวิต จึงเลือกที่จะมาหาชีวิตใหม่ แม้จะต้องใช้เวลาเดินทางถึงเกือบ 1 เดือนเต็ม โดยนั่งรถมาจนถึงเขตชายแดน ก่อนจะเบี่ยงเข้าสู่เส้นทางป่า ใช้เวลาเดินเท้า 7 วัน 7 คืน ต้องอยู่กลางดินกินกลางป่า บางครั้งอดข้าวอดน้ำ 2-3 วัน ต้องนอนกลางหุบเขา จนวันหนึ่งฝนตกหนักมาก ทำให้มีคนที่เดินทางมาด้วยกันพลัดตกเขาเสียชีวิต ความรู้สึกในตอนนั้น น้องสา บอกว่า คิดว่าจะมาไม่ถึงประเทศไทยแล้ว
เมื่อถึง จ.เชียงใหม่ น้องสาและครอบครัวอาศัยอยู่กับน้า โดยพ่อแม่ทำงานที่กาดเมืองใหม่ แต่รายได้น้อย จึงย้ายไปรับจ้างทั่วไปและปลูกผักขายที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ จนครอบครัวมีเงินเก็บจำนวนหนึ่งย้ายกลับมาอยู่ในตัวเมือง พ่อแม่รับจ้างทำงานบ้าน และส่งเธอและน้องอีก 3 คนเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน แต่ชีวิตต้องถึงคราพลิกผัน พ่อแม่หย่าร่าง เงินที่ครอบครัวมีอยู่พ่อได้นำติดตัวไปทั้งหมดไม่เหลือไว้ให้พวกเธอแม้แต่บาทเดียว น้องสา ในฐานะพี่คนโตและน้องคนรองต้องลาออกจากโรงเรียน เพื่อหางานทำและส่งน้องที่เหลืออีก 2 คนเรียน
"หนูบอกแม่ว่าอยากเรียนหนังสือต่อ แต่แม่บอกว่าแล้วใครจะช่วยแม่ทำงาน แม่เลยให้หนูลาออกมาช่วยทำงาน จนหนูรู้ว่าที่วัดป่าเป้ามีโรงเรียนให้แก่เด็กไทยใหญ่ โดยไม่ต้องเสียเงิน หนูไปบอกแม่อีกครั้ง แต่แม่บอกอีกว่า ไม่จ่ายค่าเรียน ค่าข้าวแต่ละวันก็ต้องเสีย จะเอาเงินที่ไหนมาเป็นค่าอาหารของน้องๆ หนูเลยขอแม่เรียนกลางวันและทำงานกลางคืน ด้วยการช่วยขายข้าวไข่เจียวตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงตี 2 ได้เดือนละ 5,200บาท แม่จึงตกลงให้เรียนได้" น้องสาเล่าถึงหนทางกว่าที่เธอจะได้กลับเข้าเรียนหนังสืออีกครั้ง
อนาคตน้องสา ตั้งใจจะเรียนให้จบระดับปริญญาตรีและอยากเป็นพิธีกร ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยไม่อยากกลับรัฐฉาน และบอกว่า หากเธอไม่ได้เรียนหนังสือ วันนี้คงทำงานก่อสร้างอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ดีใจมากที่เปิดโอกาสให้เด็กไร้รัฐ ได้เรียนหนังสือเหมือนเด็กไทยทั่วไป สัญญาว่าจะเป็นคนดี ตั้งใจเรียน ไม่ทำตัวให้เป็นที่เดือดร้อนของคนอื่น
"อยากเรียนหนังสือ เพราะอยากรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย อยากรู้จักเมืองไทยให้มากขึ้น ซึ่งการได้เข้าเรียนก็ทำให้ได้อะไรมากกว่าที่คิดไว้ ไม่เพียงแต่อ่านออก เขียนได้และพูดภาษาไทยเป็นเท่านั้น แต่ยังได้ไปในทุกที่ที่ไม่เคยไป เช่น ทะเล และได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศกลาวสุนทรพจน์ภาษาไทใหญ่ ถือเป็นรางวัลแรกในชีวิตดีใจมาก" น้องสากล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือด้วยไม่คิดว่าตนเองจะมีโอกาสเช่นนี้
ไม่ต่างจาก "น้องหมวย" ด.ญ.จันจีรา จันทรา วัย 14 ปี ชาวไทใหญ่เช่นเดียวกัน แม้จะโชคดีกว่าที่การเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยไม่ยากลำบากเหมือนน้องสา เพราะแม่เข้ามาทำงานอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ก่อนหน้าแล้ว วันที่แม่กลับไปเยี่ยมที่รัฐฉาน ทั้งหมดตัดสินใจตามแม่มาอยู่เมืองไทยด้วยความรักและเป็นห่วงแม่ ทั้งที่ขณะนั้นพี่ชายคนโตเรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 1 พี่ชายคนรองเรียนชั้น ม.6 และน้องหมวย อายุ 10 ขวบ เรียนชั้น ป.5
แม่ของน้องหมวยรับจ้างเย็บผ้า พี่ชาย 2 คนทำงานรับจ้างในเวลากลางวันและเรียน กศน. ที่วัดเจ็ดยอด ในเวลากลางคืน ส่วนตัวเธอแม่ฝากเข้าเรียนโรงเรียนวัดเจ็ดยอด หลังอยู่เชียงใหม่ได้ 1 เดือน เพราะที่นี่สอนภาษาพม่าและภาษาไทย แต่โรงเรียนไม่เปิดการเรียนการสอนในส่วนนี้อีก น้องหมวยจึงมาสมัครเข้าเรียนที่วัดป่าเป้า โดยเริ่มเรียนในระดับอนุบาล 3 สอบเทียบเลื่อนชั้นเรื่อยมาจนปัจจุบันอยู่ชั้น ป.4. และหากเรียนจนจบชั้น ป.6 วางแผนจะเรียนต่อ กศน.กลางวัน และทำงานกลางคืนเหมือนพี่ชาย
"เรียนหนังสือที่นี่รู้เรื่องและครูผู้สอนให้ความรักเหมือนเป็นอีกครอบครัวหนึ่ง การที่เรามีการศึกษาช่วยให้ได้ความรู้ รู้เรื่องราวต่างๆ ของประเทศไทย คนที่ไม่ได้เรียนก็ไม่รู้เรื่อง เหมือนคนตาบอดคนหนึ่ง อยากจะไปที่ไหนก็ไปไม่ได้เพราะอ่านภาษาไทยไม่ออก แต่เมื่อได้เรียนก็เข้าใจภาษาไทย ทำให้รักเมืองไทย" น้องหมวยกล่าว
ทุกวันนี้น้องสาและน้องหมวยเรียนชั้น ป.4 ที่ศูนย์การเรียนวัดป่าเป้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 จัดตั้งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเชื้อชาติต่างๆ โดยเฉพาะไทยใหญ่ที่อยู่ใน จ.เชียงใหม่ ได้เรียนหนังสือ เพราะเด็กทั้งหมดถือเป็นผู้บริสุทธิ์ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรัฐบาลเจ้าของประเทศต้องให้สิทธิพื้นฐานเกี่ยวกับการมีอาหารกิน ได้รับการพัฒนาการศึกษา คุ้มครองไม่ให้ถูกรังแก และส่งเสริมให้มีส่วนร่วม
ติดตามรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้วัดป่าเป้า ได้ในหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก
พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน
------------------------------------------------------------
จาก http://www.komchadluek.net/detail/20110610/100029/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1.html