วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทความดีๆ เรื่อง แรงงานพม่าในประเทศไทย 1




บทความดีๆ เรื่อง แรงงานพม่าในประเทศไทย 1
ผู้เขียนมาความสนใจเกี่ยวกับ เรื่องแรงงานพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงขออนุญาตศึกษาจากบันทึกต่างๆที่มีผู้รู้ได้ศึกษาและถ่ายทอดไว้ในเว็บไซต์ต่างๆหลายแห่ง  สำหรับบันทึกนี้เป็นของคุณหมอวัลลภ  พรเรืองวงศ์ ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ค่ะ...
ตอนไปซื้อของที่ตลาดไนท์บาซา เชียงใหม่ปรากฏว่า คนขายของที่แวะไปชมหรือพูดคุยสอบถาม 14 แห่ง พูดพม่าได้ประมาณ 11 ร้าน


ทุกวันนี้เมืองไทยเรามีแรงงานต่างด้าวเท่าไร... ไม่มีใครทราบแน่ เพียงแต่ประมาณการณ์กันว่า น่าจะมีรวมกันประมาณ 2 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า   อาจารย์นักเขียนไทยเชื้อสายมอญที่พูดมอญได้ท่านหนึ่งเล่าว่า เมื่อท่านเข้าไปในเขตมอญของพม่าแล้วถามไถ่ชาวบ้านดู... เกือบทุกบ้านมีประสบการณ์ทำงานในไทยมาแล้ว หรือไม่ก็มีสมาชิกในครอบครัวทำงานในไทยอย่างน้อย 1 คน 
...
ท่านประมาณการณ์ว่า แรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในไทย (กรุงเทพฯ และจังหวัดโดยรอบหรือปริมณฑล) ส่วนใหญ่เป็นชาวมอญ  ถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์แล้ว... คนมอญประมาณ 1 ใน 3 หรือมากกว่านั้นน่าจะถูกกวาดต้อนไปพุกาม เป็นแรงงานทาสสร้างพระเจดีย์ที่นั่น (คล้ายๆ กับที่เมื่อก่อนคนไทยเป็นแรงงานทาสอาณาจักรขอมสร้างปราสาทไปทั่วกัมพูชาและไทย)
...
พม่ารบกับมอญหลายร้อยปี... คนมอญอาจจะหลบหนีเข้าไทยประมาณ 1 ใน 3 หรือน้อยกว่านั้น อยู่กับคนไทย ช่วยบรรพบุรุษไทยรบ จนกลายเป็นคนมอญเชื้อสายไทย  คนมอญที่เหลือในเขตมอญทุกวันนี้มีน้อยกว่าคนพม่าในเขตมอญเสียอีก สาเหตุหนึ่งที่น้อยลงไปเป็นเพราะอพยพเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
...
ปีนี้ (2551) ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพกับชาวพม่าที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ท่านได้รับการส่องกล้อง ตัดชิ้นเนื้อ ฉีดยาเคมีบำบัดรักษาจนหายดีในพม่า
หลังจากหายแล้วก็หาโอกาสมาตรวจซ้ำในไทย เลยได้เที่ยวเมืองไทยไปด้วย
...
ตอนไปซื้อของที่ตลาดไนท์บาซา เชียงใหม่ปรากฏว่า คนขายของที่แวะไปชมหรือพูดคุยสอบถาม 14 แห่ง พูดพม่าได้ประมาณ 11 ร้าน
ชาวพม่าที่ไปด้วยบอกว่า เป็นคน "ชาน" (พม่าเขียนตัวอักษรเรียกว่า เป็นคน "สยาม" ออกเสียงว่า "ชาน")
...
อาจารย์อนงค์ ภูมชาติ นักวิชาการสาธารณสุข ทำการสำรวจแรงงานต่างด้าวภาคเกษตรกรรมในตำบลสินปุน อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ จำนวน 189 คน
ผลการสำรวจพบว่า เป็นชาวมอญประมาณ 2 ใน 3 หรือ 67.1% ส่วนใหญ่มีอายุในระหว่าง 20-30 ปี
...
ผู้เขียนมีโอกาสร่วมติดตามไปส่งท่านพระอาจารย์อมร พระไทยที่เข้าไปศึกษาและปฏิบัติธรรมที่วัดพะเอ้า ตอย่า เมืองเมาะละแหม่ง เขตมอญ พม่าในช่วงวันที่ 15-22 กรกฎาคม 2551
โยมอุปัฏฐากของท่านพระอาจารย์อมรเป็นชาวพม่าเชื้อสายจีน อาศัยอยู่ในเขตมอญมานานแล้ว ท่านบอกว่า เคยทำงานก่อสร้างในไทยมา 14 ปี คุณก้อง โยมอุปัฏฐากชาวชัยภูมิเรียกท่านว่า "อาแปะ"
...
ภาพที่ 1: ภาพถ่ายจากหน้าต่างรถทัวร์จากย่างกุ้งไปเมาละแหม่ง 15 กรกฎาคม 2551 บริเวณด่านตรวจบัตรประชาชน-พาสส์ปอร์ตก่อนข้ามสะพาน ชีวิตที่นั่นทุกอย่างต้องใช้แบบประหยัด แม้แต่รถอีแต๋นคันนี้ก็เช่นกัน


...
อาแปะบอกว่า ตอนนี้ทำงานไม่ไหวแล้ว เพราะเวลาทำอะไรหนักๆ ใจจะสั่นง่าย (ผู้เขียนนั่งมอเตอร์ไซค์ซ้อนท้ายท่านไปสถานีแล้วใจสั่นกลัวตายมาก เพราะอายุเกือบ 60 ปีแล้ว ยังขับรถเร็วแบบเด็กวัยรุ่น)
ท่านมีลูก 5 คน และยินดีเล่าประวัติครอบครัว ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟัง
...
ตอนนี้ภรรยาของท่านกับลูกสาวคนหนึ่ง(จบปริญญาตรีแต่หางานทำในพม่าไม่ได้)ทำงานในบริษัททำความสะอาดแถวลาดกระบัง
ลูกของท่านอีก 2 คนทำงานโรงงานปลาที่สมุทรสาคร ลูกสาวคนถัดไปจบปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์ ตอนนี้ยังหางานทำในพม่าไม่ได้เช่นกัน ลูกคนสุดท้องกำลังเรียนปริญญาตรีสาขาคอมพิวเตอร์อยู่
...
สรุปคือ ครอบครัวอาแปะครอบครัวเดียว 7 คนมีประสบการณ์ทำงานในไทยรวมกันแล้ว 5 คนจาก 7 คน และคนที่เหลือก็อาจจะเข้ามาทำงานในไทย(ในอนาคต)
อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมาะละแหม่งท่านหนึ่งเป็นชาวมอญ... พูดไทยชัดเปรี๊ยะ บ้านของท่านอยู่ปากซอยตรงข้ามวัด ท่านไปเยี่ยมผู้เขียนที่วัด
...
ภาพที่ 2: "ห้องพระ" สร้างให้ยื่นออกจากตัวบ้านเล็กน้อยตามความเชื่อที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นที่เคารพสักการะ หรือเป็นของสูง ไม่ควรให้ชาวบ้านอยู่ร่วมชายคาเดียวกับพระพุทธเจ้า
การใช้กระจกสีนับว่า มีส่วนได้ถวายไฟสีต่างๆ เป็นพุทธบูชา ไม่ทำให้โลกร้อน และเข้ากับบรรยากาศที่นั่น ซึ่งไฟดับ "เกือบทั้งวันและทุกวัน" บ้านอาแปะเป็นบ้านแห่งการบูชา คือ ไหว้ทั้งพระ ไหว้เจ้า(แบบจีน) ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้นัต(เทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อพม่า)



...
ท่านเล่าให้ฟังว่า ทำงานร้านทำกระจกและอลูมิเนียมแถวพระโขนง 8 ปี ตอนนี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
ท่านบอกว่า อาหารพม่า-อาหารมอญมี(น้ำ)มันมากไปหน่อย ท่านชอบอาหารไทย อาหารไทยมีวิตะมินมาก(ท่านบอกอย่างนั้น)
...
พระภิกษุในวัดมีประมาณ 200 กว่ารูป เมื่อท่านที่พูดไทยได้รู้ว่า ผู้เขียนมาจากเมืองไทยก็เข้ามาทักทาย
พระรูปหนึ่งเป็นชาวทวาย(ทางใต้ของพม่า)พูดไทยชัดมาก ท่านบอกว่า ทำงานก่อสร้างที่ระนองมาก่อน
...
ภาพที่ 3: อาหารเช้าแบบง่ายๆ สบายๆ ที่วัดพะโอ๊ะ ตอย่า... พระ แม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรมต้องถือถาด ชาม ช้อน และถ้วยไปรับอาหาร
อาหารเช้าซึ่งเกือบทุกวันจะมีข้าวต้ม หัวหอมสับ ถั่วทอดเป็นหลัก บางวันโชคดีมีเจ้าภาพมาทำบุญ จะมีโปรตีนถั่วเหลืองปนลงไป มีชาใส่นม(ละพะแย) ขนม อาหารพิเศษ (เช่น ปอเปี๊ยะในภาพ ฯลฯ) และอาจมีคนถามว่า "เมียนม่าร์ (คนพม่ารวมทุกเชื้อชาติ) หรือเปล่า" ถ้าใช่... เขาจะให้ "งาปิ๊" หรือกะปิพม่ากลิ่นคล้ายปลาร้า(แต่แรงกว่า) ทำจากปลาหมัก ให้ด้วย คนต่างชาติก็รับเจ้างาปิ๊ได้... ถ้าชอบกลิ่นปลาร้า
คนที่นั่นฉลาดเรื่องอาหาร... มีการใส่วิตามินบีชนิดต่างๆ ให้ด้วย เนื่องจากอาหารทำรวมกันแบบเดียวคือ มังสวิรัติ เพื่อให้ทุกคนกินได้คล้ายๆ กัน คนที่กินมังสวิรัตินานๆ มักจะขาดวิตามิน B12 การกินวิตามิน B12 เสริมจึงมีประโยชน์มาก

...
พระอีกรูปหนึ่งเป็นชาวมอญ พูดไทยชัดมากเช่นกัน ท่านบอกว่า ทำงานที่ระนองมาก่อน ตอนหลังย้ายไปทำงานในโรงแรมที่ภูเก็ต ตอนนี้มีพี่น้องทำงานที่ภูเก็ตอยู่ 15 คน
ผู้ปฏิบัติธรรมในพม่าเรียกกันว่า "โยคี" ตอนผู้เขียนไปมีฆราวาสเข้าไปปฏิบัติธรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะปฏิบัติธรรมกันแบบจริงจังตลอดพรรษา รวมมีโยคีทั้งหมดประมาณ14 ท่าน
...
โยคีท่านหนึ่งบอกว่า ท่านเป็นกัปตันเรือมาก่อน แต่งงานกับคนอำเภองาว ลำปาง เลยพูดไทยได้
พอพูดไทยกัน... โยคีฝรั่งเศสก็เข้ามาพูดไทยด้วย ท่านพูดไทยชัดเปรี๊ยะเช่นกัน ท่านบอกว่า เข้ามาปฏิบัติธรรมในไทยหลายแห่ง รู้จักพระและแม่ชีดังๆ มากมาย โดยเฉพาะพระป่า
...
ภาพที่ 4: คนมอญและคนพม่าเป็นคนมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาดีมากๆ วัดป่าพะเอ้ามีพื้นที่ประมาณ 1,250 ไร่ กินรวมตั้งแต่พื้นที่ราบไปจนพื้นที่บนเขาเตี้ยๆ
อาสาสมัครของวัด (เรียกว่า "กัปปิยะ") จะเข้าไปทำงานหลายอย่าง เช่น ตื่นก่อนตี 4 เพื่อกรีดยางเอาบุญ โดยมีอาสาสมัครอีกทีมทำงานออฟฟิซ เพื่อดูแลการเงินให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ


ท่านบอกว่า อีกหน่อยจะกลับไปบวชที่เมืองไทย วัดพม่าจะว่าดีก็ดี แต่วัดใหญ่ไปหน่อย ท่านชอบวัดไทยเล็กๆ ที่ระยองมากกว่า
โยคีอีกท่านหนึ่งโกนหัวเรียบร้อย (คนที่ปฏิบัติธรรมในพม่า 2-4 สัปดาห์ขึ้นไปนิยมโกนหัว) เป็นชาวมอญลูกครึ่งกะเหรี่ยง พูดไทยชัดเจน ท่านบอกว่า ทำงานที่สมุทรสาครมา 8 ปี
...
หลังเข้าร่วมปฏิบัติธรรมได้เกือบ 6 วัน... ผู้เขียนมีโอกาสพักที่บ้านอาแปะ และได้ออกเดินสำรวจหมู่บ้านรอบๆ ตอนค่ำ  เจ้าของร้านขายของชำเล็กๆ ที่นั่นร้านหนึ่งจากร้านที่แวะไป 4 แห่งบอกว่า ทำงานก่อสร้างในไทยมาก่อน 20 ปี
...
ตอนขึ้นรถไฟกลับจากเมาะละแหม่งไปย่างกุ้ง... ผู้เขียนพบผู้หญิงท้องแก่ท่านหนึ่ง ท่านพูดไทยได้ชัดเปรี๊ยะเช่นกัน  ท่านบอกว่า ทำงานก่อสร้างแถวๆ ระนอง กลับไปคลอดลูกที่พะโค (หงสาวดี) พอคลอดเสร็จก็จะฝากยายเลี้ยง
...
"ชอบอยู่เมืองไทย... อยากกินอะไรก็ได้กิน" ท่านว่าอย่างนั้น
มีความเป็นไปได้มากที่ว่า
  • แรงงานพม่าในไทยทางภาคเหนือส่วนใหญ่เป็น "คนไต (ชาวไทยใหญ่ในพม่าออกเสียง "คนไทย" เป็น "คนไต")
  • แรงงานแถวๆ แม่สอดน่าจะเป็นคนกะเหรี่ยง พม่า และมอญผสมผสานกันไป
  • แรงงานพม่าในกรุงเทพฯ ปริมณฑล โดยเฉพาะสมุทรสาครเป็น "คนมอญ" ซึ่งก็เป็นพี่ๆ น้องๆ ของคนไทยเรา
...
แรงงานที่กล่าวได้ว่า เป็นพี่ๆ น้องๆ กับคนไทยจริงๆ คงจะเป็นชาวไทยใหญ่ และชาวมอญ ซึ่งเป็นพี่ๆ น้องๆ กับคนไทยมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน
ชาวไทยใหญ่จริงๆ แล้วก็เป็นคนไทย แต่เป็นคนไทยที่อยู่ไกลออกไป... คนไทยเรากระจัดกระจายไปทั่วภูมิภาคนี้
...
ครั้งหนึ่งผู้เขียนไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดีย(วัดป่าพุทธคยา)... พระที่นั่นหลายรูปคล้ายคนอีสานมากๆ ทว่า... พูดไทยไม่ได้ พูดได้แต่ภาษาอังกฤษและภาษาอินเดีย
ท่านบอกว่า เป็นไทยอาหม... นี่ก็ไทยเหมือนกัน แต่อยู่ไกลไปจนถึงอินเดีย
...
ทุกวันนี้เรายังไม่รู้ว่า แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานพม่าในไทยมีจำนวนที่แท้จริงเท่าไร
ทว่า... ถ้ามีการลดราคาค่าบัตรทำงาน (work permit)เพื่อให้แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่จดทะเบียนถูกต้อง น่าจะดีกว่าการคิดค่าบัตรทำงานสูงๆ และปล่อยให้แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีทะเบียน
...
เรื่องที่น่าสนใจมากๆ คือ เวลาคนไทยเราไปต่างบ้านต่างเมือง... นอกจากจะได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกันแล้ว ยังได้รับความช่วยเหลือจากคนที่เคยอยู่ในไทยอีกด้วย
เมืองไทยคงจะมีอะไรดีหลายอย่าง... ผู้เขียนเคยถามผู้บริจาคเลือดชาวพม่าหลายท่านว่า ชาติหน้าอยากจะเกิดที่ไหน ผู้บริจาค 2 ท่านตอบกลับมาเบาๆ ว่า ขอเกิดเมืองไทย
...
ท่านบอกว่า เมืองไทยเป็นเมืองพระพุทธศาสนา มีความร่มเย็น... เวลาได้ไปเมืองไทยแล้ว มีความสุข    ขอให้พวกเราช่วยกันรักษาอะไรๆ ที่ดีแบบไทยๆ ไว้ครับ...
...


ที่มา
  • กราบขอบพระคุณ > ท่านพระอาจารย์อมร
  • ขอขอบพระคุณ > คุณก้องจากชัยภูมิ + อาแปะ(อุปัฏฐากชาวพม่า)
  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์อนงค์ ภูมชาติ. นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขกระบี่. สุขภาพภาคประชาชน. ปี 3. ฉบับ 4. เมษายน-พฤษภาคม 2551. หน้า 33-36.

แหล่งข้อมูล http://www.gotoknow.org/blogs/posts/198896