วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

การพัฒนาหลักสูตร

การพัฒนาหลักสูตร

การพัฒนาหลักสูตร มีรูปแบบหลายรูปแบบ และหลายขั้นตอน การแสวงหารูปแบบในการพัฒนาหลักสูตรเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็น
เพราะรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวที่มุ่งชี้ต่อการพัฒนาหลักสูตรให้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น การนำรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรมาใช้จะต้องมีการเลือกหรือปรับใช้ให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงของชีวิตและสังคมของผู้ใช้หลักสูตร โดยแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรนั้น มีหลายรูปแบบ ได้แก่


ไทเลอร์ (Tyler. 1949 : 1)

ได้ให้แนวคิดในวางแผนโครงร่างหลักสูตร โดยใช้วิธี Means-Ends Approach เป็นหลักการและเหตุผลในการสร้างหลักสูตรและการสอน ที่เน้นการตอบคำถามพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่

1.มีจุดมุ่งหมายทางการศึกษาอะไรบ้าง ที่สถาบันการศึกษาจะต้องกำหนดให้ผู้เรียน

2.มีประสบการณ์การศึกษาอะไรบ้าง ที่สถาบันการศึกษาควรจัดขึ้นเพื่อช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้

3.จะจัดประสบการณ์ทางการศึกษาอย่างไร จึงจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ

4.จะประเมินผลประสิทธิภาพของประสบการณ์ในการศึกษาอย่างไร จึงจะตัดสินใจได้ว่าบรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้

จากคำถามทั้ง 4 ข้อ ชี้ให้เห็นว่าการสร้างหรือพัฒนาหลักสูตร ต้องคำนึงถึงการกำหนดจุดมุ่งหมาย การกำหนดประสบการณ์ทางการศึกษา การจัดประสบการณทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียน และการประเมินสัมฤทธิผลของหลักสูตร


ในการกำหนดจุดมุ่งหมาย ไทเลอร์ ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ต่างๆว่า นักพัฒนาหลักสูตรควรกำหนดจุดประสงค์ทั่วไป (General Objectives) โดยศึกษาข้อมูล 3 แหล่ง คือ เนื้อหาวิชาจากผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลผู้เรียน และข้อมูลสังคม จุดประสงค์ทั่วไปนี้ จะเป็นจุดประสงค์ชั่วคราว(Tentative Objectives)จากจุดประสงค์ชั่วคราว จะถูกกลั่นกรอง จากข้อมูลด้านปรัชญาการศึกษา สังคม ที่สถานศึกษายึดถืออยู่ และด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ซึ่งจะตัดทอนจุดประสงค์ที่ไม่จำเป็นออก และทำให้จุดประสงค์มีความชัดเจนขึ้น จุดประสงค์ที่ได้นี้จะเป็นจุดประสงค์ที่แท้จริงในการพัฒนาหลักสูตร จากนั้นจึงเลือกและจัดประสบการณ์การเรียนรู้หรือประสบการณ์ทางการศึกษาสำหรับผู้เรียน เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ที่กำหนดขึ้น และกำหนดการประเมินผลหลักสูตร


เซย์เลอร์ อเล็กซานเดอร์ และเลวิส (Saylor,Alexander and Lewis)
ได้เสนอรูปแบบและกระบวนการพัฒนาหลักสูตร มีขั้นตอน รายละเอียดในการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้

1.เป้าหมาย จุดมุ่งหมาย และขอบเขต (Goals , Objectives and Domains)

นักพัฒนาหลักสูตรควรกำหนดเป้าหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรเป็นสิ่งแรก เป้าหมายในแต่ละประเด็นควรบอกถึงขอบเขตของ
หลักสูตร เซย์เลอร์ อเล็กซานเดอร์ และเลวิส ได้เสนอขอบเขตที่สำคัญ 4 ขอบเขต ได้แก่ พัฒนาการส่วนบุคคล (Personal Development) มนุษยสัมพันธ์ (Human Relation)ทักษะการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง (Continued Learning Skills) และความชำนาญเฉพาะด้าน (Specialization)ทั้งนี้ อาจจะมีขอบเขตที่สำคัญอื่นๆอีก ซึ่งนักพัฒนาหลักสูตรสามารถพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้เรียน และลักษณะของสังคม

เป้าหมาย จุดมุ่งหมาย และขอบเขต จะถูกคัดเลือกจากการพิจารณาตัวแปรภายนอก (External Variables) อย่าง
รอบคอบ ได้แก่ ทัศนะและความต้องการของสังคม ข้อบังคับทางกฎหมายของรัฐ ข้อค้นพบจากงานวิจัย ปรัชญาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านหลักสูตร เป็นต้น


2. การออกแบบหลักสูตร (Curriculum Design)
หลังจากที่ได้กำหนดเป้าหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแล้ว
นักพัฒนาหลักสูตรต้องวางแผนออกแบบหลักสูตร ตัดสินใจเลือกและจัดเนื้อหาสาระ เลือกประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม และ
สอดคล้องกับเนื้อหาสาระ รูปแบบหลักสูตรที่เลือกแล้ว ควรให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับ เป้าหมาย จุดมุ่งหมายของหลักสูตร
รวมทั้งความต้องการของผู้เรียน ลักษณะของสังคม ตลอดจนข้อกำหนดต่างๆของสังคม และปรัชญาการศึกษา


3.การใช้หลักสูตร (Curriculum Implementation)
หลังจากตัดสินใจเลือกรูปแบบของหลักสูตรแล้ว เป็นขั้นตอนของการนำหลักสูตรไปใช้ ครูผู้สอนควรวางแผน และจัดทำแผนการสอนในรูปแบบต่างๆ โดยเลือกวิธีการสอน และวัสดุสื่อการเรียนการสอนที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามที่ได้กำหนดไว้


4.การประเมินผลหลักสูตร (Curriculum Evaluation)
การประเมินผลหลักสูตรเป็นขั้นตอนสุดท้ายของรูปแบบนี้ นักพัฒนาหลักสูตร และครูผู้สอนจะต้องตัดสินใจเลือกเทคนิคการประเมินผลที่สามารถตรวจสอบความสำเร็จของหลักสูตร คือ สามารถบอกได้ว่าหลักสูตรบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ การประเมินผลหลักสูตรควรเน้นการประเมินตัวหลักสูตร คุณภาพการสอน และพฤติกรรมทางการเรียนรู้ของผู้เรียน ผลจากการประเมินจะช่วยให้นักพัฒนาหลักสูตรสามารถตัดสินใจได้ว่า จะใช้หลักสูตรนี้ต่อไป ควรปรับปรุงแก้ไขหรือควรจะยกเลิกหลักสูตรดังกล่าว



โอลิวา (Oliva. 1992 : 171 - 175)
ได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร โดยเสนอองค์ประกอบในการพัฒนาหลักสูตร 12 องค์ประกอบ และมีการดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้

1.กำหนดเป้าหมายของการจัดการศึกษา ปรัชญา และหลักจิตวิทยาการศึกษาซึ่งเป้าหมายนี้เป็นความเชื่อที่ได้มาจากความต้องการของสังคม และผู้เรียน

2.วิเคราะห์ความต้องการของชุมชน ผู้เรียน และเนื้อหาวิชา

3.กำหนดจุดหมายของหลักสูตร

4.กำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

5.จัดโครงสร้างของหลักสูตร และนำหลักสูตรไปใช้

6.กำหนดจุดหมายของการเรียนการสอน

7.กำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน

8.เลือกยุทธวิธีการจัดการเรียนการสอน

9.เลือกวิธีการประเมินผลก่อนเรียนและหลังเรียน

10.นำยุทธวิธีการจัดการเรียนการสอนไปใช้

11.ประเมินผลการจัดการเรียนการสอน

12.ประเมินผลหลักสูตร


จากแนวคิดของนักพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า รูปแบบและกระบวนการพัฒนาหลักสูตร เป็นกระบวนการที่
ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ โดยในแต่ละขั้นตอนมีกิจกรรมเพื่อการจัดทำหลักสูตร ให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้เรียน
สภาพการณ์ของสังคม จากรูปแบบและกระบวนการพัฒนาหลักสูตรข้างต้น ในภาพรวมมีความคล้ายคลึงกัน ต่างกันเพียงใน
รายละเอียด ผู้วิจัยได้สังเคราะห์รูปแบบ และกระบวนการพัฒนาหลักสูตร เพื่อเป็นกรอบแนวคิดทางทฤษฎีที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้
ซึ่งมีขั้นตอนหลักในการพัฒนาหลักสูตร 4 ขั้นตอนได้แก่

1.การศึกษาความต้องการของผู้เรียน สังคมชุมชน เนื้อหาวิชา รวมทั้งปรัชญาทางการศึกษา จิตวิทยาการศึกษา รวมทั้งกฎเกณฑ์ข้อระเบียบต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งเป็นขั้นตอนการศึกษาสภาพทั่วไป
ก่อนการพัฒนาหลักสูตร

2.กำหนดหลักการ เป้าหมาย จุดประสงค์ของหลักสูตร การจัดเนื้อหาวิชา กิจกรรมการเรียนการสอน

3.การนำหลักสูตรไปใช้

4.การวัดผลและประเมินผล



เอกสารอ้างอิง
Oliva , Peter F. Developing the Curriculum. 3 rd ed. New York : Harper Collins Publisher , 1992.

Saylor , Galen J., Alexander , William M. & Lewis , Arthur J. Curriculum Planning for Better

Teacher and Learning. 4 th ed. New York : Holt Rinehart and Winston , 1981.

Tyler, Ralph W. Basic Principles of Curriculum and Instruction. Chicago : University of Chicago Press, 1949
.....................................
จาก http://trat.nfe.go.th/trat/topic5_old.php?page=4