เขียนโดย นฤมล เนียมหอม | |
การสอนภาษาแบบธรรมชาติ ( Whole Language Approach ) คือ ปรัชญาและระบบความเชื่อซึ่งทำให้เกิดแนวการสอนภาษาโดยองค์รวม ทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ( Moss and Noden, eds., 1993; Spodek and Saracho, 1994; Stanek,1993 ) ปรัชญาและระบบความเชื่อนี้มีทฤษฎีพื้นฐานมาจากทฤษฎีว่าด้วยระบบของภาษา ทฤษฎีว่าด้วยภาษา ความคิด และสัญลักษณ์สื่อสาร และทฤษฎีว่าด้วยการอ่านเขียนในระบบภาษา ( บุษบง ตันติวงศ์, 2536 ) การสอนภาษาแบบธรรมชาติมีแนวคิดและหลักการที่สอดคล้องกับลักษณะและหน้าที่ของภาษา คือ ใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารอย่างมีความหมายและเหมาะสมกับพัฒนาการด้านการรู้หนังสือของเด็ก
การสอนภาษาแบบธรรมชาตินับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็ก คือ ช่วยให้เด็กมีความสนุกสนานในการเรียนภาษา และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ ช่วยให้เด็กได้รับการพัฒนาทางภาษาทั้งด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียนอย่างครอบคลุมทุกด้านและเต็มศักยภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ครูและผู้ปกครองเกิดความเข้าใจในพัฒนาการทางด้านภาษาด้านการอ่านและการเขียนของเด็กเพิ่มขึ้น (ฉันทนา ภาคบงกช, ม.ป.ป. )
จากความเชื่อ แนวคิด และหลักการสอนภาษาแบบธรรมชาติที่นักการศึกษาหลายท่านได้อธิบายไว้ สรุปเป็นหลักการสำคัญของการสอนภาษาแบบธรรมชาติ ดังนี้
1. การจัดสภาพแวดล้อม การสอนภาษาต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กได้คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอย่างมีความหมายและเป็นองค์รวม ตัวหนังสือที่ปรากฏในห้องเรียนต้องมีเป้าหมายในการใช้จริงๆ หนังสือที่ใช้จะต้องเป็นหนังสือที่ใช้ภาษาที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัว ไม่แบ่งเป็นทักษะย่อยๆ และจะต้องให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดสภาพแวดล้อมด้วย 2. การสื่อสารที่มีความหมาย การสอนภาษาควรให้เด็กมีโอกาสสื่อสารโดยมีพื้นฐานจากประสบการณ์จริงที่มีความหมายต่อเด็ก ครูจะต้องจัดเวลาให้เด็กมีโอกาสอ่านเขียนอย่างมีจุดมุ่งหมายจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการฝึกหัด และให้เด็กได้ใช้เวลาในการอ่านและเขียนตามโอกาสตลอดทั้งวัน โดยไม่ต้องกำหนดตายตัวว่าช่วงเวลาใดต้องอ่าน หรือช่วงเวลาใดต้องเขียน 3. การเป็นแบบอย่าง การสอนภาษาจะต้องให้เด็กเห็นประโยชน์ของการใช้ภาษาในความมุ่งหมายต่างๆ ครูต้องอ่านและเขียนโดยมีจุดมุ่งหมายในการใช้จริงๆให้เด็กได้เห็น เช่น เพื่อการสื่อสาร เพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อค้นหาวิธีการ ฯลฯ นอกจากนี้ครูยังต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กเห็นว่าการอ่านเป็นเรื่องสนุก เพื่อสร้างให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีต่อการอ่าน 4. การตั้งความคาดหวัง การสอนภาษาจะต้องเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับที่เด็กเรียนรู้ที่จะพูด ครูควรเชื่อมั่นว่าเด็กจะสามารถอ่านและเขียนได้ดีขึ้นและถูกต้องยิ่งขึ้น เด็กมีความสามารถในการอ่านและการเขียนตั้งแต่ยังอ่านและเขียนไม่เป็น ดังนั้น เด็กจึงควรได้รับโอกาสที่จะอ่านและเขียนตั้งแต่วันแรกที่มาโรงเรียน และที่สำคัญคือครูไม่ควรคาดหวังให้เด็กอ่านและเขียนได้เหมือนผู้ใหญ่ 5. การคาดคะเน การสอนภาษาควรให้เด็กมีโอกาสที่จะทดลองกับภาษา สร้างสมมุติฐาน-เบื้องต้นของตน และมีโอกาสเดาหรือคาดคะเนคำที่จะอ่าน และมีโอกาสคิดประดิษฐ์สัญลักษณ์และคิดสะกดเพื่อการเขียน 6. การให้ข้อมูลย้อนกลับ การสอนภาษาควรตอบสนองความพยายามในการใช้ภาษาของเด็กในทางบวก ยอมรับการอ่านและการเขียนของเด็กว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายแม้ว่ายังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ และพยายามตอบสนองเด็กให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ ครูอาจให้เด็กได้เห็นตัวอย่างที่ถูกต้องอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น การอ่านหนังสือเล่มที่เด็กชอบอ่านให้เด็กฟังในโอกาสอื่นๆ หรือเขียนให้ดูเมื่อมีการสนทนาในกลุ่มใหญ่ เป็นต้น 7. การยอมรับนับถือ การสอนภาษาจะต้องตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก ว่าเด็กเรียนรู้การอ่านและเขียนอย่างแตกต่างกัน ตามช่วงเวลา และอัตราที่แตกต่างกัน ครูต้องศึกษาเด็กเป็นรายบุคคล ศึกษาความสนใจ ความสามารถ และสอนเด็กตามความสามารถที่แตกต่างกันของเด็ก เด็กต้องได้ตัดสินใจเลือกกิจกรรมที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ในช่วงเวลาเดียวกันเด็กไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมอย่างเดียวกัน หรือทำกิจกรรมตามลำดับขั้นตอน เพราะการเรียนรู้ภาษาไม่มีลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องตายตัว 8. การสร้างความรู้สึกเชื่อมั่น การสอนภาษาต้องส่งเสริมให้เด็กรู้สึกปลอดภัยที่จะคาดคะเนในการอ่านหรือเขียน แม้ว่าไม่เคยอ่านหรือเขียนมาก่อน ครูต้องทำให้เด็กไม่กลัวที่จะขอความช่วยเหลือด้านการอ่านและเขียนเมื่อจำเป็น เด็กต้องไม่ถูกตราหน้าว่าไม่มีความสามารถในการอ่านและเขียน ดังนั้น การสอนภาษาจึงต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการและความสามารถของเด็ก เพื่อให้เด็กมีความเชื่อมั่นว่าตนมีความสามารถที่จะอ่านและเขียนได้ การสอนภาษาแบบธรรมชาติในโรงเรียนอนุบาล
การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน
การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความเชื่อหรือปรัชญาของผู้จัด จากหลักการสอนภาษาแบบธรรมชาติที่กล่าวไว้ว่าการสอนภาษาจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กได้คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอย่างมีความหมาย และเป็นองค์รวมนั้น แสดงให้เห็นว่าการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่สอนภาษาแบบธรรมชาติเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง นักการศึกษาหลายท่านได้อธิบายลักษณะการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่สอนภาษาแบบธรรมชาติซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่สามารถส่งเสริมการเรียนภาษาของเด็กไว้ สามารถสรุปได้ ดังนี้ 1. สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ในห้องเรียนที่สอนภาษาแบบธรรมชาติจะจัดให้มีมุม-ประสบการณ์ต่างๆ โดยมีมุมที่เด่นชัด คือ มุมห้องสมุด มุมอ่าน มุมเขียน ส่วนมุมอื่นๆที่อาจจัดไว้ ได้แก่ มุมบทบาทสมมุติ มุมวิทยาศาสตร์ มุมบล็อก ฯลฯ โดยมุมทุกมุมสามารถจัดให้เอื้อต่อการเรียนภาษาได้โดยจัดให้มีป้ายสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายต่างๆที่มีความหมายในการสื่อสารกับเด็ก มีวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถกระตุ้นให้เด็กต้องการที่จะเรียนรู้และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ภาษาของเด็ก 2. บรรยากาศภายในห้องเรียน ในห้องเรียนที่สอนภาษาแบบธรรมชาติจะมีบรรยากาศของการเรียนรู้แบบร่วมมือ เด็กมีโอกาสและเวลาที่จะตัดสินใจเลือกลงมือปฏิบัติกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง เด็กๆสนใจที่จะอ่านและเขียนจากความเข้าใจและประสบการณ์ ทั้งนี้ จะต้องเป็นห้องเรียนที่เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข
บทบาทของครูที่สอนภาษาแบบธรรมชาติ
เนื่องจากการสอนภาษาแบบธรรมชาติเป็นปรัชญาและระบบความเชื่อซึ่งเป็นกรอบให้ครูในการตัดสินใจและออกแบบการสอน ดังนั้น เมื่อมีการนำการสอนภาษาแบบธรรมชาติมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ครูจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนจากการสอนแบบเดิม มีนักการศึกษาหลายท่านได้อธิบายบทบาทของครูที่สอนภาษาแบบธรรมชาติไว้ สรุปได้ดังนี้ 1. ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ครูต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดสภาพ-แวดล้อม การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ หรือแหล่งข้อมูลสำหรับเด็ก และเป็นผู้ที่จัดให้ห้องเรียนมีบรรยากาศของการเรียนรู้ ซึ่งได้แก่การให้เด็กมีโอกาสเลือกทำกิจกรรม ส่งเสริมให้เด็กแสดงความคิดเห็น จัดให้เด็กมีโอกาสอ่านและเขียน สนับสนุนให้เด็กกล้าเสี่ยงที่จะอ่านและเขียนคำที่ไม่เคยพบมาก่อน ยอมรับสิ่งที่เด็กอ่านและเขียน และตอบสนองต่อความพยายามของเด็กในทางบวก ไม่ตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์เมื่อเด็กอ่านหรือเขียนยังไม่ถูก 2. ครูเป็นแบบอย่างของการเรียนรู้ ครูต้องเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาในลักษณะต่างๆ ทั้งในลักษณะของการสาธิตกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรู้หนังสือ เช่น การอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวัน การชี้คำขณะที่อ่าน การถ่ายทอดความคิดโดยการเขียน ฯลฯ หรือในลักษณะที่ครูเป็นนักอ่านหรือนักเขียน เช่น การเขียนบันทึกถึงกัน การอ่านเพื่อความมุ่งหมายต่างๆตามโอกาส 3. ครูเป็นผู้จัดการให้เกิดการเรียนรู้ ครูต้องจัดการให้การเรียนรู้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ต้องให้เด็กได้เรียนรู้แบบร่วมมือ และต้องให้เด็กได้ทำงานร่วมกัน 4. ครูเป็นผู้ประเมินพัฒนาการ ครูต้องประเมินพัฒนาการของเด็กเพื่อดูความก้าวหน้า และสามารถส่งเสริมเด็กได้อย่างเหมาะสมต่อไป
บทบาทเด็กในห้องเรียนที่สอนภาษาแบบธรรมชาติ
นักการศึกษาหลายท่านได้อธิบายบทบาทของเด็กในห้องเรียนที่สอนภาษาแบบธรรมชาติไว้ สรุปได้ ดังนี้ 1. เด็กเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอ่านและการเขียนด้วยการอ่านและการเขียนอย่างมีความหมายจริงๆ 2. เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ตั้งแต่การสร้างหัวข้อที่จะเรียนร่วมกัน การตัดสินใจเลือกทำกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการและใช้ในชีวิตจริงของเด็ก และ การประเมินผลงานของตัวเอง 3. เด็กเรียนรู้โดยการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนและครู ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เด็กได้เรียนรู้แบบร่วมมือมากขึ้น
การประเมินพัฒนาการทางภาษาตามแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติ
การประเมินพัฒนาการทางภาษาตามแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติสามารถสรุปได้ดังนี้ 1. การประเมินต้องเป็นไปตามธรรมชาติการรู้หนังสือของเด็ก ครูต้องศึกษาพัฒนาการด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนของเด็กแล้วนำหัวข้อเหล่านี้มาสร้างเป็นตัวบ่งชี้ (Indicators) ในการประเมิน ( Bolton and others, 1989; Sulzby, 1990; Morrow, 1990 ) 2. การประเมินเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอน และต้องประเมินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ครูทราบพัฒนาการของเด็ก เข้าใจเด็ก และรู้ว่าจะพัฒนาเด็กอย่างไร (Blanche, 1996; Cutting, 1992; Mason and Stewart, 1990; Schlosser and Phillips, 1991 ) 3. การประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย ควรเป็นการประเมินแบบไม่เป็นทางการ เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่แท้จริง วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสม คือ การใช้พอร์ทโฟลิโอ (Portfolio) ซึ่งจะต้องมีทั้งการสังเกตแล้วบันทึกอย่างเป็นระบบ และการเก็บตัวอย่างงาน โดยครูจะต้องแปลผล (Interpret) ข้อมูลอย่างรอบคอบเพื่อให้ผลการประเมินมีความตรงและความเที่ยง (ประทีป จินงี่, 2538; Morrow, 1990; ; Teale, 1990 ) ทั้งนี้ การประเมินที่ไม่สอดคล้องกับปรัชญา และหลักการสอนภาษาแบบธรรมชาติ คือ การประเมินโดยใช้แบบทดสอบ ( Blanche, 1996; Schlosser and Phillips, 1991; Stallman and Pearson, 1990 ) จากการที่สทอลแมนและเปียสัน ( Stallman and Pearson ) ได้นำแบบทดสอบความพร้อมด้านการอ่านที่ใช้ในอเมริกามาวิเคราะห์ พบว่า แบบทดสอบส่วนใหญ่จะมีรูปแบบของการเลือกตอบ และประเมินทักษะย่อยๆในการอ่าน เขาสรุปว่า แบบทดสอบเหล่านี้มีลักษณะคล้ายๆกัน คือ ผลจากการทดสอบไม่สามารถสะท้อนความคิดเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการรู้หนังสือได้
การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง
ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้ของเด็ก จึงจำเป็นต้องจัดให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษามาเป็นการสอนภาษาแบบธรรมชาติ นักการศึกษาหลายท่านได้เสนอแนะแนวทางการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในโรงเรียนที่สอนภาษาแบบธรรมชาติสรุปได้ ดังนี้ 1. ผู้ปกครองควรศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร และการเรียนรู้ในโรงเรียนอนุบาล ซึ่งครูควรเป็นผู้ที่สื่อสารให้ผู้ปกครองรับทราบด้วยวิธีการต่างๆ การที่โรงเรียนแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและแนวทางที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติจะทำให้ผู้ปกครองสามารถพัฒนาเด็กในทิศทางเดียวกันกับทางโรงเรียน ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรใจเย็นและมีความอดทนเพียงพอที่จะเฝ้ารอดูผลงานของเด็กซึ่งจะพัฒนาขึ้นทีละน้อย 2. ผู้ปกครองอาจมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยการร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เช่น เข้าร่วมประชุมกับทางโรงเรียน เยี่ยมชมชั้นเรียน สังเกตการสอน ฯลฯ หรือให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินการของโรงเรียน เช่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเด็ก เป็นอาสาสมัครในการอ่านหนังสือให้เด็กฟังที่โรงเรียน ฯลฯ 3. ผู้ปกครองสามารถช่วยพัฒนาภาษาของเด็กได้โดยการสนทนาและตอบคำถามของเด็กอย่างสม่ำเสมอ จัดหาหนังสือนิทานให้เด็ก อ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นประจำทุกวัน ส่งเสริมให้เด็กอ่านจากสิ่งแวดล้อม เช่น ป้ายโฆษณา กล่องสินค้า ป้ายประกาศ ฯลฯ จัดให้เด็กมีโอกาสอ่านและเขียนทุกวัน ให้ความสนใจในสิ่งที่เด็กอ่านหรือเขียนเพื่อเป็นกำลังใจแก่เด็กและเพื่อให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านและการเขียน พยายามไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิสิ่งที่เด็กเขียนเพราะจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจว่าตนเองมีความสามารถในการอ่านและเขียน และผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษา ขอบคุณความรู้จากห้องเรียนครูแมว แบ่งปันมาเพื่อเผยแพร่เป็นวิทยาทานด้านความรู้แก่คุณครูปฐมวัย http://www.nareumon.com/index.php?option=com_content&task=view&id=17&Itemid=50 |
วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
การสอนภาษาแบบธรรมชาติ (Whole Language Approach)
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)