วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

ตัวอย่างงานวิจัยแบบผสม

จากมุมมองของ Auon Poolook























1.ชื่อเรื่องการวิจัย

เรื่อง การพัฒนาทักษะชีวิตประจำวันของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเรียนได้ โดยวิธีการฝึกตามหลักการวิเคราะห์งาน ที่เน้นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและครอบครัว

ชื่อผู้วิจัย นางสาวโรจน์รวี เล็กวิเชียร
เป็นผลงานระดับดุษฎีนิพนธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


2.วัตถุประสงค์การวิจัย

(1) พัฒนาแผนกิจกรรมการฝึกทักษะชีวิตประจำวัน ด้านทักษะการช่วยเหลือตนเอง ทักษะการช่วยเหลือครอบครัว และทักษะการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยใช้หลักการวิเคราะห์งาน

(2) ศึกษาผลการใช้แผนกิจกรรมการฝึกทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะ ที่ออกแบบไว้ ที่มีต่อพัฒนาการด้านทักษะชีวิตประจำวัน สังคม และอารมณ์ของเด็ก และ

(3) ศึกษาการมีส่วนร่วมของผู้ดูแลเด็กในครอบครัวในการพัฒนาทักษะชีวิตประจำวัน สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเรียนได้


3. กลุ่มประชากร

กลุ่มทดลอง ได้แก่ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเรียนได้ ซึ่งเป็นนักเรียนที่เรียนร่วมอยู่ในโรงเรียนวัดช่างเคี่ยน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ที่ได้จากการเลือกแบบเจาะจง โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกจำนวน 3 คน และผู้ดูแลเด็กในครอบครัวของเด็ก กลุ่มทดลองทั้ง 3 คน


4. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

4.1 เครื่องมือที่ใช้ในการคัดเลือกเด็กที่เป็นกลุ่มทดลอง ได้แก่
(1)แบบสำรวจทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะ
(2)แบบสัมภาษณ์ผู้ดูแลเด็กในครอบครัว
(3)แบบบันทึกพฤติกรรมความสามารถเบื้องต้นจากรายงานพัฒนาการก้าวหน้า และแบบสังเกตพฤติกรรมทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะ


4.2เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาเด็ก ได้แก่
(1)แผนกิจกรรมที่พัฒนาโดยใช้หลักการวิเคราะห์งานแบบก้าวไปข้างหน้า (Forward Chaining) สำหรับการฝึกทักษะการร้อยและผูกเชือกรองเท้า การฝึกทักษะการซักเสื้อผ้า การฝึกทักษะการระบายสีภาพ และการปั้นดินน้ำมัน


4.3เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่
(1)แบบสังเกตพฤติกรรมทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะ
(2)แบบสัมภาษณ์ผู้ดูแลเด็กในครอบครัว


5.การวิเคราะห์ข้อมูล

5.1ข้อมูลเชิงปริมาณ เป็นการวิเคราะห์ผ่านแบบสรุปผลรวมพฤติกรรมทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะ ใช้การแจกแจงความถี่ (ƒ และค่าเฉลี่ย ( ) โดยเทียบกับเกณฑ์การประเมินความสำเร็จของการใช้แบบฝึกทักษะชีวิตประจำวันที่สร้างขึ้น

5.2ข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นข้อมูลที่ได้จาก
(1)การสังเกตโดยผู้วิจัย ผู้ช่วยผู้วิจัย และผู้ดูแลเด็กในครอบครัว
(2)การสัมภาษณ์ผู้ดูแลเด็กในครอบครัวของเด็กกลุ่มทดลอง
(3)ข้อมูลที่ได้จากเครื่องบันทึกภาพ และกล้องดิจิตอล

ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) เพื่อ
1) สรุปลำดับภาระงาน (tasks) ที่สอดคล้องกับเด็กรายบุคคล
2) เพื่อสรุปผลการใช้แผนการฝึกที่มีต่อพัฒนาการด้านทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะ รวมทั้งด้านสังคมและอารมณ์ของเด็ก และ
3) เพื่ออธิบายลักษณะการมีส่วนร่วมของผู้ดูแลเด็กในครอบครัวในการฝึกทักษะชีวิตประจำวันที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก


6.สรุปผลการวิจัย
(1) การพัฒนาแผนกิจกรรมการฝึกทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะ ผู้วิจัยได้พัฒนาแผนต้นแบบ ซึ่งมีขั้นตอนการวิเคราะห์งานในแต่ละทักษะเท่ากัน เพื่อใช้เป็นแผนกลางสำหรับ ใช้ในการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ผู้ช่วยผู้วิจัย และผู้ดูแลเด็กในครอบครัวได้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการฝึกตามหลักการวิเคราะห์งาน สามารถนำแผนต้นแบบที่พัฒนาขึ้นนี้ไปใช้ในการฝึกกับเด็ก ได้ถูกต้องตามขั้นตอน และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เมื่อนำแผนต้นแบบไปใช้ฝึกกับเด็กกลุ่มทดลองแล้วพบว่า จำเป็นต้องยืดหยุ่น ปรับแก้ โดยการปรับเพิ่มขั้นตอนและปรับลดขั้นตอน การวิเคราะห์งาน เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของเด็กแต่ละคน

(2) ผลการใช้แผนกิจกรรมการฝึกทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะที่ได้พัฒนาขึ้นโดยใช้หลักการวิเคราะห์งานแบบก้าวไปข้างหน้า พบว่า แผนกิจกรรมการฝึกที่พัฒนาขึ้น สามารถพัฒนา เด็กกลุ่มทดลองให้มีทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะ จนผ่านเกณฑ์ระดับ 4 ทุกคนคือ ทำได้ถูกต้อง โดยไม่ต้องช่วยเหลือ ติดต่อกัน 3 ครั้งได้ แต่ใช้เวลาและจำนวนครั้งในการฝึกไม่เท่ากัน โดยเด็กชายโจ (นามสมมติ) ใช้เวลาในการฝึกทั้ง 3 ทักษะรวมทั้งสิ้น 5 เดือน เด็กชายบอย (นามสมมติ) 4 เดือน และเด็กหญิงเปิ้ล (นามสมมติ) 3 เดือน ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากศักยภาพของเด็ก ความร่วมมือ ในการฝึก ตลอดจนการใช้สื่อ เทคนิคต่างๆ และแรงเสริมของผู้ดูแลเด็กในครอบครัวแตกต่างกัน เมื่อทดสอบความสามารถด้านทักษะชีวิตประจำวัน ทั้ง 3 ทักษะหลังดำเนินการฝึกเสร็จสิ้นแล้ว 1 สัปดาห์ พบว่า เด็กกลุ่มทดลองทุกคนสามารถปฏิบัติทักษะที่ผ่านมาได้ทุกทักษะ

ส่วนผลที่มีต่อพัฒนาการด้านสังคม และอารมณ์ของเด็กกลุ่มทดลองทั้ง 3 คนนั้น พบว่า เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกล่าวคือ มีความมั่นใจ และมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น กล้าซักถาม พูดคุยกับครู และเด็กบางคนสามารถแนะนำ หรือเป็นพี่เลี้ยงให้กับเพื่อนที่มีความต้องการพิเศษในการฝึกทักษะชีวิตประจำวันได้ ทำให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนมากขึ้น

(3) การมีส่วนร่วมในการฝึกทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะของผู้ดูแลเด็กในครอบครัว พบว่า ผู้ดูแลเด็กในครอบครัวทั้ง 3 ครอบครัวให้ความร่วมมือในการพัฒนาทักษะชีวิตประจำวัน ทั้ง 3 ทักษะตามกระบวนการมีส่วนร่วมทั้ง 3 ขั้นตอน ที่กำหนดไว้ในงานวิจัยครั้งนี้เป็นอย่างดี ทั้งก่อนดำเนินการฝึก ระหว่างฝึก และหลังฝึก จึงทำให้เด็กกลุ่มทดลองทั้ง 3 คนนี้ มีพัฒนาการด้านทักษะชีวิตประจำวันผ่านเกณฑ์การประเมินความสำเร็จที่กำหนดไว้ทุกทักษะ ตลอดจนมีพัฒนาการด้านสังคม และอารมณ์ดีขึ้น การที่เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้านดังกล่าวนั้น พบว่านอกจากแผนกิจกรรมการฝึกที่ได้มีการวางแผนและพัฒนาเป็นอย่างดีแล้ว การมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและครอบครัวยังเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ประสบผลสำเร็จดังกล่าว โดยพบว่าลักษณะการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและครอบครัวในการพัฒนาทักษะชีวิตประจำวันสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเรียนได้นั้น ตัวบ่งชี้การมีส่วนร่วมที่สำคัญซึ่งพบในทุกขั้นตอนการพัฒนา คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการให้อิสระ ไม่ครอบงำทางความคิด ให้เกียรติในการเสนอความคิดเห็น และการยอมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

นอกจากนั้นแล้ว พบว่า การพัฒนาแผนกิจกรรมการฝึกทักษะชีวิตประจำวันทั้ง 3 ทักษะ จำเป็นต้องมีการยืดหยุ่น ปรับแก้ โดยการปรับเพิ่มขั้นตอนและปรับลดขั้นตอนการวิเคราะห์งาน เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของเด็กแต่ละคน รวมทั้งมีการสะท้อนบทเรียนที่ได้รับ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้ดูแลเด็กในครอบครัว ผู้วิจัย และผู้ช่วยผู้วิจัยร่วมกันรายงานผลการฝึกแก่กันและกัน รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยครั้งนี้ เพื่อนำไปวางแผนการพัฒนาเด็กต่อเนื่อง


ผลที่ปรากฏจากการสะท้อนบทเรียนการวิจัย

(1)ทำให้ครู ผู้ดูแลเด็กในครอบครัว มีความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเรียนได้มากขึ้น โดยเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายโดยเฉพาะโรงเรียนและครอบครัว
(2)การยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
(3)การให้ข้อมูลแก่กันอย่างเปิดเผย
(4)การเปิดโอกาสให้ผู้ดูแลเด็กในครอบครัวมีส่วนร่วมในการกำหนดจุดมุ่งหมาย เนื้อหาในการเรียนรู้ ปรับกิจกรรมและขั้นตอนการฝึก วิธีการวัดและประเมินผล การใช้สื่อและเทคนิคต่าง ๆ ในการฝึก
(5)การให้แรงเสริมทางบวกที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล จนส่งผลให้เด็กกลุ่มทดลองมีพัฒนาการทุกด้านดีขึ้นดังกล่าว
(6)ผู้ดูแลเด็กในครอบครัวเกิดความตระหนัก ในการพัฒนาเด็กมากขึ้น ตลอดจนมีความภาคภูมิใจ และมีความรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งหรือร่วมเป็นเจ้าของงานวิจัย
(7)ผู้ดูแลเด็กในครอบครัวเกิดความตระหนักยินดีในการเป็นแกนนำในการประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับครอบครัวในการพัฒนาเด็กด้านอื่นๆ ต่อไป



สรุปจากการศึกษางานวิจัยเรื่องนี้

งานวิจัยเรื่องนี้เป็นงานวิจัยแบบผสม ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและวิจัยคุณภาพ โดยปรากฏข้อมูลอย่างชัดเจนจากงานวิจัย ดังนี้

1.การกำหนดวัตถุประสงค์ของงานวิจัย
2.ขั้นตอนและกระบวนการวิจัยที่ผสมผสานกันอย่างต่อเนื่องของผู้วิจัยในด้านปริมาณและคุณภาพ
3.คำตอบการวิจัย ที่อธิบายอย่างชัดเจนทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
4.คำตอบการวิจัยที่ได้จากการวิจัยของผู้วิจัยมีประสิทธิภาพ สามารถใช้เป็นแนวทางการวิจัยต่อไปได้จริง.

ด้วยความขอบคุณเจ้าของผลงานวิจัยมา ณ บันทึกนี้ค่ะ