วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Teach less Learn More ตอน 1 : ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21


ทักษะแห่งอนาคตใหม่  :

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ อย่างไร ?




      

ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์โลกมีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 และ 19
ระบบการศึกษา ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง

         ในประเทศสหรัฐอเมริกาแนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยภาคส่วนที่เกิดจากวงการนอกการศึกษา ประกอบด้วย บริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อๆว่า เครือข่าย P21

        หน่วยงานเหล่านี้มีความกังวลและเห็นความจำเป็นที่เยาวชนจะต้องมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21      ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 จึงได้พัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21ขึ้น สามารถสรุปทักษะสำคัญอย่างย่อๆ ที่เด็กและเยาวชนควรมีได้ว่า ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม หรือ 3R  และ 4C ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้ Reading (การอ่าน), การเขียน(Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic) และ 4 C (Critical Thinking-การคิดวิเคราะห์, Communication- การสื่อสาร Collaboration-การร่วมมือ และ Creativity-ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ 



       แนวคิดทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คืออย่างไร และคุณลักษณะที่เด็กและเยาวชนพึงมีในโลกยุคใหม่คืออย่างไร คลิกเพื่ออ่านที่นี่

       นอกจากนี้อีกคนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องการฎิรูปการเรียนรู้ดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้น คือ เซอร์เคน โรบินสัน นักการศึกษาระดับโลก โดยได้เน้นยำ้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดการศึกษาระบบโรงงาน มาเป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดอย่างสร้างสรรค์และเข้ากับบริบทของโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงไป  ชมแอนิเมชั่นด้านบน การเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21  (Changing Education Paradigms) โดย เซอร์เคน โรบินสัน 

         กรอบแนวคิดข้างต้นเองก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตใหม่ในประเทศไทยและท่านที่ริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันได้แก่ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช โดยท่านได้เขียนลงบล็อก  http://www.gotoknow.org อยู่เป็นประจำ รวมถึงได้เขียนหนังสือออกมาชื่อว่า
วิถีสร้างการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21

(สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ที่ http://learning.thaissf.org/document/media/media_396.pdf)



หรือชมวีดีทัศน์  "วิถีสร้างการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21" โดย ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช

         ภาพจาก Langwitches.org
         ขอบคุณบทความดีๆ ที่เห็นควรแบ่งปันบอกต่อ
         จาก http://www.qlf.or.th/Home/Details?contentId=417


วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โจทย์วิจัย สู่อาเซียนของ สกว.





สกว.พัฒนาโจทย์วิจัย...สู่อาเซียน
แนะ "ปั้นคนรุ่นใหม่-เน้นยุทธศาสตร์ 3 เสาหลัก"


            ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผอ.สถาบันรามจิตติ หัวหน้าโครงการจับกระแสความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมในการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชน(INTREND)กล่าวในการเสวนา เรื่อง "จับกระแสการเตรียมคนรุ่นใหม่เข้าสู่อาเซียน : วางทิศคิดทางประเทศไทย" ว่าประเทศไทยเรายังมีปัญหาพื้นฐานทั้งในเรื่องโอกาสและคุณภาพการศึกษา โดยยังมีเด็กด้อยโอกาสหลุดจากระบบการศึกษานับล้านคน กลายเป็นแรงงานที่ด้อยคุณภาพ ขาดโอกาสการพัฒนา   คุณภาพการศึกษาโดยรวมก็ยังตกต่ำ จากการขาดกำลังครูและปัจจัยสนับสนุนที่มีคุณภาพและทั่วถึง

           ส่วนการเตรียมคนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตนอยากเน้นยุทธศาสตร์เชิงประเด็นที่สำคัญๆ และมีผลกระทบสูงเพื่อตอบโจทย์สามเสาหลักอาเซียน โดยในเสาหลักด้านสังคมวัฒนธรรม อยากเน้นมากเพราะเป็นรากฐานความเข้มแข็งของประชาคมระยะยาว อยากให้รัฐส่งเสริมการศึกษาเพื่อความเข้าใจในรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัยที่จะพัฒนาทักษะการคิดเด็ก ส่วนเชิงเนื้อหาควรเน้นประเด็นการค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่เกี่ยวพันกับประเทศเพื่อนบ้านที่เด็กจับต้องได้

           ส่วนเสาหลักทางเศรษฐกิจตนอยากเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะแรงงานทั้งในกลุ่มอายุวัยเรียนและแรงงานนอกกลุ่มอายุวัยเรียนอีกหลายสิบล้านคน อาศัยกลไกสถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน การศึกษานอกระบบเป็นสำคัญ โดยให้ท้องถิ่นร่วมสนับสนุนและรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นร่วมกับเพื่อนบ้าน ส่วนเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคงตนขอให้เน้นเรื่องการเคารพในพันธสัญญาหรือข้อปฏิบัติที่มีร่วมกัน โดยเฉพาะพันธสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน

       
ที่มา: ข่าวสด ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย


น่าสนใจมากทีเดียวกับโจทย์วิจัยนี้   3 เสาหลัก ได้แก่
1.เสาหลักด้านสังคมวัฒนธรรม ** สำคัญที่สุด เพราะเป็นรากฐานของความเข้มแข็ง
2.เสาหลักทางเศรษฐกิจ
3.เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง